รู้จัก “มะม่วง” พันธุ์โบราณ นาม “พราหมณ์ขายเมีย”

มะม่วง ผลมะม่วง ต้นมะม่วง
(ภาพประกอบเนื้อหา) มะม่วง (ภาพจาก pixabay.com - public domain)

อกร่อง, เขียวเสวย, น้ำดอกไม้, แรด, มหาชนก เหล่านี้คือพันธ์ุมะม่วงที่รู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี แต่ยังมีมะม่วงพันธุ์หายาก ที่เป็นพันธุ์โบราณ แทบจะหากินไม่ได้ในปัจจุบัน แถมยังมีชื่อแปลก ๆ อีกหลายชนิด อีกหลากสายพันธุ์ เช่น มะม่วงพราหมณ์ขายเมีย

ดังที่ปรากฏในหนังสือ พรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ที่ประพันธ์เป็นกาพย์ยานี 11 รวบรวมพันธุ์มะม่วงในสมัยรัชกาลที่ 5 ไว้จำนวนมาก

Advertisement

ในหนังสือเล่มดังกล่าวมีเกณฑ์ (อย่างคร่าว) ในการเรียกชื่อพันธุ์มะม่วง ดังนี้

1. ตั้งชื่อตามรสที่คนชอบกิน เช่น แขกขายตึก, ผัวพรากเมีย, สาวรัญจวน, แก้วลืมรัง

2. ตั้งตามลักษณะของผล เช่น หัวช้าง, เหนียงนกกระทุง, ตลับนาค, อกร่อง

3. ชื่อบุคคลที่ปลูก เช่น ขุนแผน

4. ชื่อจากการกระทำของบุคคล เช่น สาวกระทืบยอด

ในบรรดามะม่วงพันธุ์โบราณเหล่านี้ หนึ่งในนั้นที่น่าสนใจคือ “พราหมณ์ขายเมีย”

มะม่วงชนิดนี้ เป็นมะม่วงโบราณ นิยมปลูกเฉพาะถิ่นแถบ อำเภอบางกรวย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี กับย่านตลิ่งชัน เขตบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี มาช้านาน ที่มาของชื่อพันธุ์เกิดจากรสชาติความอร่อยของมะม่วง ทำให้พราหมณ์ต้องยอมขายเมียตัวเองเพื่อเอาเงินไปซื้อผลสุกมากิน จึงถูกเรียกว่า “พราหมณ์ขายเมีย”

มะม่วงพราหมณ์ขายเมีย

มะม่วงพราหมณ์ขายเมีย เป็นไม้ยืนต้นสูง 10-15 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเยอะ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับรอบกิ่งก้าน ส่วนปลายยอด ใบเป็นรูปรีแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนมน เนื้อในหนา สีเขียวสด ทรงผลรูปกลมรี น้ำหนักเฉลี่ย 3-4 ผล ต่อกิโลกรัม ผลดิบสีเขียว รสชาติเปรี้ยวปนหวานและมัน ผลสุกสีเหลือง เนื้อในสีเหลืองอมส้ม หวานหอมไม่เละ ไม่มีเสี้ยน เมล็ดเล็กบาง ความหวานวัดได้ถึง 19.2 องศาบริกซ์ ติดผลปีละครั้งตามฤดูกาล

“ม่วงพราหมณ์ขายเมียนี้   ดูท่วงทีรถขยัน

เมียรักดังชีวัน   ยังสู้ขายจ่ายอัมพา”

คำว่า อัมพา ในที่นี้แปลว่า มะม่วง แต่เป็นศัพท์เรียกของอินเดีย ซึ่งก็มีความนิยมผลไม้ชนิดนี้เช่นเดียวกับบ้านเรา เพราะหากินง่ายมีหลากพันธุ์ รสชาติก็แตกต่างกันไป นำมาปรุงได้หลายเมนู ดังที่ พระยาศรีสุนทรโวหาร ประพันธ์ถึงมะม่วงว่ามีจำนวนมาก ยังนิยมปลูกกันไปทั่ว ความว่า

“มะม่วงมะละลอ   สาเกก่อเป็นสมยา

เทพรสรสโอชา   อัมพาดื่นพื้นดินดอน”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปาริบุตร บุญโต. (พฤษภาคม, 2529). มะม่วงและทุเรียนไทย. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 7 : ฉบับที่ 7.

มะม่วง 10 สายพันธุ์โบราณ น่าปลูก. (2565). เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565, จาก www.matichonacademy.com/content/article_41501


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 เมษายน 2565