พลับพลึงแดง “ฮิกังบานะ” มรณะสีชาด ดอกไม้แห่งความตายของคนญี่ปุ่น

ฮิกังบานะ พลับพลึง ดอกไม้แห่งความตาย ญี่ปุ่น
ดอกฮิกังบานะ หรือ Spider lilies (ภาพโดย Big Ben in Japan ใน Flickr สิทธิ์การใช้งาน CC BY-SA 2.0) - มีการตกแต่งกราฟิกเพิ่มโดย กอง บก.ศิลปวัฒนธรรม

ดอกพลับพลึงแดง “ฮิกังบานะ” (彼岸花 / Higanbana) หรือพลับพลึงแมงมุม (Spider Lily) คือ “ดอกไม้แห่งความตาย” ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น เหตุใดเป็นเช่นนั้น?

ฮิกังบานะเป็นพืชล้มลุกอวบน้ำ อยู่ในวงศ์ Amaryllidaceae เช่นเดียวกับพลับพลึงสายพันธุ์อื่น ๆ และต้นซ่อนกลิ่น มีหัวคล้ายหอมหัวใหญ่ ลำต้นมีกาบใบหุ้มเป็นชั้น ๆ คล้ายกล้วย ใบแผ่ออกไปโดยรอบ มีช่อดอกใหญ่สีแดงสดออกมาจากกลางลำต้น ขณะที่พลับพลึงไทยส่วนใหญ่มีดอกสีขาว เมื่อบานเต็มที่กลีบดอกจะโค้งเข้าหาก้านดอกอย่างสวยงาม

ดอกฮิกังบานะมักปรากฏอยู่ตามสุสาน โดยเฉพาะเหนือหลุมศพ เนื่องด้วยวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นที่จัดการศพด้วยวิธีการฝังมากกว่าเผา การปลูกต้นไม้ที่มียางเป็นพิษอย่างฮิกังบานะไว้รอบหลุมศพจึงเป็นวิธีป้องกันสัตว์ป่า (โดยเฉพาะตัวตุ่น) มากินซากหรือทำลายหลุมศพของผู้วายชนม์ ซึ่งได้ผลค่อนข้างดีทีเดียว

นอกจากนี้ วงจรชีวิตอันโดดเด่นของต้นฮิกังบานะจะมี “ดอก” ที่บานในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลไหว้บรรพบุรุษของชาวญี่ปุ่นพอดี นั่นคือวัน “ชูบุนโนะฮิ” หรือวันศารทวิษุวัต เมื่อผู้คนเดินทางมาเคารพหลุมศพบรรพชน พวกเขาจึงได้พบกับทัศนียภาพของสุสานที่เต็มไปด้วยดอกไม้มีแดงชาดบานสะพรั่งไปทั่ว เกิดเป็นภาพจำของดอกไม้ที่ชอบขึ้นอยู่ตามสถานที่ที่มีผู้เสียชีวิต และเชื่อมโยงกับโลกแห่งวิญญาณนั่นเอง

ฮิกังบานะ พลับพลึง ดอกไม้แห่งความตาย ญี่ปุ่น
ทุ่งดอกฮิกังบานะ ที่สวนคินชาคุดะ-มันจูชาเกะ ประเทศญี่ปุ่น (ภาพโดย Raita Futo ใน Flickr สิทธิ์การใช้งาน CC BY 2.0)

ดอกสีแดงของฮิกังบานะยังนำไปสู่เรื่องเล่าว่า นี่คือต้นไม้ที่ดูดเลือดจากศพ ทำให้มีดอกสีแดงสดเหมือนเลือด…

ชาวญี่ปุ่นยังเชื่อด้วยว่า วันชูบุนโนะฮิ คือวันที่ประตูของโลกแห่งวิญญาณเปิด ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ “ดอกไม้แห่งความตาย” ของฮิกังบานะเข้าไปอีก

อีกหนึ่งชื่อเรียกของฮิกังบานะคือ “ชิบิโตะบานะ” หรือบุปผาแห่งผู้วายชนม์ เพราะเป็นต้นไม้มีพิษ มีตำนานเล่าว่า เมื่อเกิดภาวะขาดแคลนอาหารขึ้นในอดีต มีคนนำหัวฮิกังบานะมารับประทานเพราะมีแป้งสูง แต่พิษจากยางที่หลงเหลืออยู่ในต้นฮิกังบานะกลับทำให้พวกเขาท้องเสีย เกิดภาวะอัมพาต และบางคนถึงขั้นเสียชีวิต

ความเชื่อในศาสนาพุทธแบบญี่ปุ่นยังเล่าถึงแม่น้ำซันสึที่กั้นฝั่งคนเป็น หรือ “ชิกัง” ออกจากฝั่งคนตาย หรือ “ฮิกัง” ซึ่งเป็นฝั่งที่เต็มไปด้วยดอกฮิกังบานะเบ่งบานต้อนรับเหล่าวิญญาณที่จะข้ามไป คติโบราณนี้บอกว่าฮิกาบานะจะนำทางดวงวิญญาณของผู้วายชนม์ให้ไปเกิดใหม่และวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารต่อไป

นอกจากดอกฮิกังบานะจะถูกเชื่อมโยงกับโลกหลังความตายแล้ว ตอกไม้นี้ยังมีความหมายเกี่ยวกับการหลงใหลในความรัก จิตใจที่จมอยู่ในห้วงคำนึง โหยหา เฝ้ารอการพบกันใหม่ แม้วันนั้นจะไม่มีทางมาถึง หรือการคิดถึงผู้ล่วงลับ ซึ่งถือเป็น “การพรากจากที่ไร้วันหวนคืน” นั่นเอง…

ความหมายดังกล่าวสอดคล้องกับวัฏจักรของต้นฮิกังบานะที่มีดอกและใบขึ้นไม่พร้อมกัน ดอกฮิกังบานะจะผลิบานหลังจากลำต้นผลัดใบจนหมดแล้วเท่านั้น สะท้อนลักษณะของการพลัดพราก

แอนิเมชันญี่ปุ่นหลายเรื่องจึงมักนำเสนอดอกฮิกังบานะในแง่ของการสื่อความหมายเรื่องการจากลา การพลัดพราก หรือแม้แต่ความตาย

ฮิกังบานะ ยังถูกรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า “มันจูชาเงะ” หรือบุปผาสวรรค์ เพราะชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าหากมีเรื่องมงคลกำลังจะอุบัติขึ้น จะมีดอกไม้สีแดงโปรยลงมาจากฟ้าเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง

ฮิกังบางนะยังมีดอกสีเหลืองและขาวด้วย แต่โด่งดังน้อยกว่าสีแดงที่สวยงามโดดเด่นมากกว่า…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หมอชาวบ้าน (วันที่ 1 มีนาคม 2545) : “พลับพลึง ช่อหอมขนาดใหม่ที่ถูกลืม”. <https://www.doctor.or.th/article/detail/3598>

Garden-Review.com (วันที่ 22 สิงหาคม 2564) : “ฮิกันบานะ มนต์เสน่ห์ที่แสนอันตราย”. <ออนไลน์>

Johannes Schonherr, Japan Experience.com (Dec 25, 2012) : “Higanbana – The Flower of the Dead. <https://www.japan-experience.com/plan-your-trip/to-know/understanding-japan/higanbana>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 เมษายน 2566