ดาบซามูไร ตำนานอาวุธสังหาร-งานศิลปะ และสุดยอดดาบของมาซามูเน่-มารามาซะ

ภายใต้ความประณีตผสมผสานเนื้อเหล็กชั้นดี และวิวัฒนาการขั้นสูงสุดของชาวญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยโบราณราวหนึ่งพันปีเศษ ทำให้ดาบญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นอาวุธที่ร้ายแรงที่สุดเหนือกว่าดาบของชนชาติอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง

ราวพันปีก่อนช่างตีดาบเขาผลิตดาบเนื้อดีแข็งแกร่งและคมอย่างมีดโกนได้อย่างไร

ภายใต้อาวุธสังหารอันคมกริบ ดาบซามูไรก็เป็นงานศิลปะชั้นยอด เป็นของที่มีค่าและวิธีการตีดาบซามูไรยังเป็นศาสตร์ที่สูงส่งอย่างไม่น่าเชื่อ

คนไทยเริ่มรู้จักดาบซามูไรเมื่อติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยอยุธยา สงครามโลกครั้งที่สอง…ดาบซามูไรเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทหารญี่ปุ่นใช้ตัดหัวเชลยศึกขาด…ได้ด้วยการฟันเพียงครั้งเดียวและทำให้ดาบซามูไรเริ่มรู้จักกันอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา และแทบไม่น่าเชื่อว่า…ยุคทองของดาบซามูไรนั้นมีมานานกว่า 700 ปี ถือเป็นยุคที่ดาบมีคุณภาพดีที่สุดเหนือกว่ายุคใดๆ ของดาบญี่ปุ่น

ซามูไร (Samurai) คือนักรบหรือมีความหมายว่าผู้รับใช้ ดาบคู่กายซามูไรเปรียบเหมือนจิตวิญญาณของซามูไรทุกคน หากซามูไรลืมดาบ…เท่ากับว่านำตนเองไปสู่ความตายได้ทุกเมื่อ ลัทธิ “บูชิโด” สอนให้เหล่าซามูไรยึดมั่นในความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และจงรักภักดีต่อเจ้านายของตน ซามูไรถือว่าความตายเป็นเรื่องเล็กน้อย ปรัชญาแห่งบูชิโดกล่าวไว้ว่า “ความตายเป็นสิ่งเบาบางยิ่งกว่าขนนก”

(ซ้าย) ภาพเขียนซามูไรจากหนังสือ Samurai Warriors, (ขวา) ดาบญี่ปุ่นภายใต้ความเก่าแก่ บนสุด-ดาบทหารมรดกของสงครามโลก กลาง-ดาบฝักไม้ราวยุคปลายสมัยเอโะ ล่าง-ดาบเก่าไม่ทราบอายุ น่าจะเก่ากว่า ๘๐๐ ปี จากลักษณะของรูปแบบเนื้อเหล็กและใบดาบ

ชาวญี่ปุ่นโบราณยกย่องชาวนาและช่างฝีมือเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ “ช่างตีดาบ” เดิมนักรบชาวญี่ปุ่นใช้ดาบจากจีนและเกาหลีในการสู้รบ ในสมัย “นาร่า” (Nara Period) ประมาณปี พ.ศ. 1193-1336 หรือประมาณ 1,300 ปีเศษล่วงมาแล้ว ปัญหาที่ตามมาคือเวลาสู้รบดาบมักหักออกเป็นสองท่อน จักรพรรดิจึงสั่งให้ช่างตีดาบปรับปรุงดาบให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ช่างตีดาบยุคแรกมีชื่อว่า “อามากุนิ” เขาพัฒนาการตีดาบไม่ให้หักง่ายด้วยการใช้เหล็กที่ดี และมีการศึกษาวิธีทำให้เหล็กแข็งแกร่งกว่าเดิม เหล็กที่ดีของญี่ปุ่นได้จากการถลุง มีชื่อว่า “ทามาฮากาเน่” (Tamahagane)

อามากุนิพบว่า…การที่จะให้ได้ดาบคุณภาพดีต้องควบคุมของสามสิ่ง คือ การควบคุมความเย็น, การควบคุมปริมาณคาร์บอน และการนำสิ่งปะปนที่อยู่ในเหล็กออก

ปริมาณคาร์บอนคือหัวใจสำคัญในการตีดาบ หากใส่คาร์บอนในเหล็กมากไปเหล็กจะเปราะ, ใส่น้อยไปเหล็กจะอ่อน จึงต้องใส่ในปริมาณที่พอเหมาะ

เหล็กถูกนำมาหักแบ่งเป็นชิ้นเล็กวางซ้อนกันก่อนหลอม และนำไปตีให้เป็นเนื้อเดียวกัน หลังจากนั้นจึงพับเหล็กเป็นสองชั้นขณะยังร้อนๆ แล้วตีซ้ำอีกครั้งแล้วครั้งเล่า เหล็กจะซ้อนกันเป็นชั้นๆ ทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นหมื่นๆ ชั้น ทำให้คาร์บอนกระจายไปจนทั่วเนื้อเหล็ก แล้วจึงนำไปตีแผ่ออกให้เป็นใบดาบ จะได้ใบดาบที่ดีเนื้อเหล็กแกร่งและคมไม่หักอีกต่อไป

แต่…นี่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นดาบที่สุดยอด

สี่ร้อยปีผ่านมาเข้าสู่สมัยคามาคูระ (Kamakura Period) ราวปี พ.ศ. 1735-1879 จักรพรรดิบอกให้ช่างตีดาบศึกษาวิธีการตีเหล็กจากยุคโบราณ

ยุคนี้ถือเป็นจุดเริ่มยุคทองของดาบซามูไร มีการพัฒนาดาบให้ดีขึ้นกว่าเดิมเมื่อกว่า 400 ปีก่อน ถือเป็นเทคนิคที่สุดยอดของดาบ มีการเพิ่มวิธีการผสมเหล็กสองชนิดเข้าด้วยกัน เหล็กที่มีความแข็งจะมีปริมาณคาร์บอนสูงใช้ทำเป็นตัวดาบ และเหล็กอ่อนที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำใช้ทำเป็นไส้ดาบเพื่อให้ยืดหยุ่น

จากเหล็กสองชนิดที่ถูกนำมาพับและตีมากกว่าสิบชั้น ทำให้เกิดชั้นเล็กๆ เป็นทวีคูณเป็นหมื่นชั้น ช่างตีดาบจะพับเหล็กแข็งให้เป็นรูปตัว และนำเหล็กอ่อนมาวางไว้ตรงกลางเพื่อทำเป็นไส้ใน แล้วนำไปหลอมและตีรวมกันใหแผ่ออกเป็นใบดาบ จากนั้นนำไปหลอมในอุณหภูมิที่เหมาะสมซึ่งมากกว่า ๗๐๐ องศาเซลเซียส แล้วจึงนำมาแช่น้ำเย็น

การแช่น้ำต้องระมัดระวังมาก หากแช่ไม่ดีดาบจะโค้งเสียรูป เหล็กที่มีความแข็งต่างกันเมื่อทำให้เย็นทันทีจะหดตัวต่างกัน ถือเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ใบดาบโค้งได้รูปตามธรรมชาติ

ภาพเขียนช่างตีดาบจากหนังสือ Samurai Warriors

ดาบสามารถฟันคอขาดได้เพียงครั้งเดียว บาดแผลที่ได้รับจากดาบจะเจ็บปวดมาก ซามูไรยังต้องเรียนรู้การใช้ดาบอย่างช่ำชองว่องไวและคล่องแคล่ว ให้เปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย จากความสามารถนี้เองทำให้ซามูไรเพียงคนเดียวสามารถสังหารศัตรูที่รายล้อมตนกว่าสิบคนได้ภายในชั่วพริบตาด้วยดาบเพียงเล่มเดียว

แต่ประเพณีการต่อสู้ของชนชั้นซามูไรคือการต่อสู้ “ตัวต่อตัวอย่างมีมารยาทด้วยดาบ” ผู้แพ้ที่ยังมีชีวิตอยู่คือผู้ที่ไร้เกียรติ ซามูไรจึงไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ การฆ่าตัวตายอย่างสมเกียรติด้วยการทำ “เซปปุกุ” คือเกียรติยศของซามูไร

เดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 1817 ชาวมองโกลของกุบไลข่านบุกญี่ปุ่นที่อ่าวฮากาตะ ด้วยกองทัพเรือ 800 ลำ และกองพลสามหมื่นนาย เหล่าซามูไรต้องการจะสู้กันตัวต่อตัวอย่างมีมารยาทเยี่ยงสุภาพบุรุษกับนักรบระดับผู้นำ แต่ไม่ได้ผล พวกซามูไรต้องปะทะสู้ที่ชายหาดกับฝูงธนูอาบยาพิษและระเบิด เป็นสงครามที่ไม่มีระเบียบและตกเป็นรอง พายุไต้ฝุ่นช่วยทำลายกองเรือของชาวมองโกลจนหมดสิ้น การรบครั้งแรกเหมือนการหยั่งเชิงของชาวมองโกลเพื่อดูกำลังของศัตรู

อีกเจ็ดปีต่อมาพวกมองโกลกลับมาอีกครั้งด้วยกองเรือ 4,000 ลำ กองทหารอีกสองแสน พวกซามูไรรบพุ่งกับลูกธนูอย่างกล้าหาญ พวกเขาตัดเรื่องมารยาททิ้งไป ตกกลางคืนเหล่าซามูไรพายเรือลอบเข้าโจมตีพวกมองโกลประชิดตัวด้วยการใช้ดาบที่ช่ำชอง ดาบทหารมองโกลไม่มีทางสู้ดาบซามูไรได้เลย ระหว่างสงครามพายุไต้ฝุ่นก็ทำลายกองเรือของมองโกลอีกครั้ง กองเรือสองในสามจมไปกับทะเลพายุ, ทหารมองโกลจมน้ำตายนับหมื่น พวกที่ว่ายน้ำเข้าฝั่งก็ตายด้วยคมดาบอย่างหมดทางสู้ ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าเมืองนี้ถูกปกป้องจากพระเจ้า และตั้งชื่อลมพายุนี้ว่า “กามิกาเซ่” (Kami-Kaze) หมายถึงลมศักดิ์สิทธิ์ หรือลมผู้หยั่งรู้

หลังจากนั้นพวกมองโกลก็ไม่ได้กลับมาตีญี่ปุ่นอีกเลย

หลังจากสงครามสิ้นสุด บ้านเมืองอยู่ในความสงบ พบว่าหลังจากการรบที่ผ่านมาดาบมักจะบิ่น จักรพรรดิจึงบอกให้ช่างตีดาบหาวิธีแก้ไข ช่างตีดาบที่สร้างสมดุลของความแข็งและความอ่อนของเหล็กและพัฒนาโครงสร้างของดาบออกเป็นเหล็กสามชิ้น คือ “มาซามูเน่” (Masamune)

ราวปี พ.ศ. 1840 ดาบของมาซามูเน่ถือเป็นดาบที่พัฒนาถึงขั้นสูงสุด ในญี่ปุ่นไม่มีช่างตีดาบคนใดจะเทียบได้ เขาสร้างความสมดุลของความแข็งของคมดาบ

เคล็ดลับการทำดาบคือการผสมเหล็กสามชนิดเข้าด้วยกัน เหล็กที่มีปริมาณคาร์บอนสูงจะใช้เป็นใบดาบด้านข้างที่เรียกว่า Gawa-gane และด้านคมดาบ (Ha-gane) ใช้เหล็กที่แข็งมากโดยผ่านการพับและตีถึง 15 ครั้ง ซึ่งสามารถสร้างชั้นของเหล็กที่ซ้อนกันถึง 32,768 ชั้น ทำให้เหล็กเหนียวและแกร่งมากกว่าส่วนอื่นๆ ส่วนเหล็กที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำจะใช้เป็นส่วนไส้ใน (Core Steel) ทำให้มีความยืดหยุ่นเรียกว่า Shi-gane แล้วนำไปหลอมที่อุณหภูมิประมาณ 800 องศาเซลเซียสให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วจึงนำมาตีแผ่ออกเป็นใบดาบ

ช่างตีดาบคนอื่นๆ เริ่มเลียนแบบในเวลาต่อๆ มา

ช่างตีดาบในยุคเดียวกันที่มีชื่อเสียงเทียบเคียงมาซามูเน่ คือ “มารามาซะ” กล่าวกันว่าใครที่มีดาบของ “มารามาซะ” ไว้ครอบครอง เลือดจะสูบฉีดให้อยากที่จะชักดาบออกมาสังหารคู่ต่อสู้เพราะความคมของมัน ในขณะเดียวกันซามูไรที่ครอบครองดาบของ “มาซามูเน่” กลับสงบนิ่งเยือกเย็น

ดาบญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาช่วงสมัยเอโดะ (พ.ศ. 2146-2410) จากการติดต่อค้าขาย ญี่ปุ่นนำพัดและดาบเข้ามาในอยุธยา

โดยเฉพาะดาบมีความสำคัญต่อพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางในราชสำนักสยามแต่งตัวในชุดเต็มยศ ห้อยดาบเข้าพิธีสำคัญๆ ต่างๆ ในพระราชสำนัก อีกทั้งหนึ่งในห้าของ “เบญจราชกกุธภัณฑ์” คือ “พระแสงขรรค์ชัยศรี” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สูงสุดแห่งอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน แม้แต่ดาบหรือกระบี่ของตำรวจและทหารในชุดเต็มยศของไทยในปัจจุบัน เรียกว่าดาบทหารม้า (Parade Saber) ซึ่งได้รับอิทธิพลพื้นฐานมาจากดาบญี่ปุ่นทั้งสิ้น

ในสมัยอยุธยา ขณะที่ญี่ปุ่นต้องการสินค้าจากสยาม เช่น ไม้กฤษณา, ไม้ฝาง, น้ำกุหลาบ, พริกไทย เป็นต้น มีการตั้งหมู่บ้านญี่ปุ่นในอยุธยา เมื่อมีชาวญี่ปุ่นมาอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์โดยลี้ภัยทางศาสนาและส่วนหนึ่งเป็นพวกซามูไรแตกทัพที่สูญเสียเจ้านายหรือที่เรียกว่า “โรนิน” (Ronin) แตกทัพจากสงครามเซกิงาฮาร่า ได้โดยสารเรือสำเภาที่กำลังจะเดินทางมาค้าขายยังชมพูทวีปและมาตั้งรกรากในประเทศสยาม สิ่งสำคัญที่นำติดตัวมาด้วยก็คือดาบญี่ปุ่น

(ซ้าย) การผลิตดาบทหาร (Gunto) สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยการผลิตจำนวนมากภาพจากเว็บไซต์ japanese-sword.com, (ขวา) ช่างตีดาบและการจุ่มดาบลงในน้ำ ภาพจากหนังสือ Samurai Warriors

ซามูไรเหล่านี้ได้กลายเป็นทหารอาสาญี่ปุ่นในเวลาต่อมา

ดาบทหารในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชื่อเรียกว่า “Gunto” เป็นดาบที่ถูกผลิตขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2411 และสิ้นสุดการผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งถือว่าเป็นยุค Modern เป็นดาบที่ทำเพื่อการสงคราม ผลิตจำนวนมาก ยังคงความคมกริบ แต่ไม่ประณีต และไม่มีขั้นตอนการทำอย่างประเพณีโบราณ ดาบรุ่นนี้ตกค้างอยู่ในแถบอินโดจีนจำนวนมากหลังจากสงครามสิ้นสุด ซึ่งอาจจะพบได้ในประเทศพม่าและประเทศไทย ถูกฝังดินอยู่กลางป่าหรือในถ้ำตามเส้นทางเดินทัพของทหารญี่ปุ่น ดาบยุคสงครามจะเป็นดาบที่ใช้ฝักทำด้วยเหล็ก มีห่วงทองเหลืองหรือทองแดงเรียกว่า “โอบิ-โทริ” ใช้สำหรับห้อยกับเข็มขัด ตัวดาบและฝักเหล็กมีน้ำหนักมาก จึงไม่เหมาะที่จะใช้เหน็บเอวอย่างดาบฝักไม้แบบโบราณ ซึ่งมีห่วงผูกเงื่อนที่ทำจากผ้าไหมใช้เหน็บเอวของซามูไร ดาบทหารที่ไม่มีขั้นตอนการผลิตในแบบพิธีกรรมโบราณ จึงไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อย่างดาบของพวกซามูไร

ส่วนพิธีกรรมโบราณนั้นมีขั้นตอนมากมายและถือเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ ช่างตีดาบต้องถือศีลกินเจในขณะที่หลอมเหล็ก ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร เพื่อผลิตดาบให้เป็นมงคลแก่ผู้เป็นเจ้าของดาบเล่มนั้นๆ ดาบคล้ายกับเครื่องลางของขลัง หรืออย่างพระเครื่องของคนไทยที่ปลุกเสกจากเกจิอาจารย์ดัง

ช่างตีดาบและลูกมือจะร่วมมือกันทำดาบเพียงหนึ่งเล่มในระยะเวลามากกว่าเดือน ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าช่างตีดาบที่ดีจะทำดาบที่ดีออกมา หากช่างตีดาบมีจิตใจไม่ดีดาบที่ตีออกมาก็จะไม่ดีไปด้วย ดาบแต่ละเล่มจึงมีราคาไม่เท่ากัน กล่าวกันว่า…บางเล่มราคามากกว่าที่ดินหนึ่งผืน หรือดาบที่ดีเพียงเล่มเดียวอาจจะมีราคาสูงกว่าหอกสามร้อยเล่ม

ในสมัยโบราณดาบจึงไม่ใช่อาวุธที่สามารถจะซื้อมาใช้ในกองทัพได้ นอกจากเป็นสมบัติส่วนตัวของเหล่าซามูไรเท่านั้น

(ซ้าย) ใบดาบที่ทำจากวิธีผสมเหล็กสองชนิดเข้าด้วยกันโดยใช้เหล็กแข็ง (มีปริมาณคาร์บอนสูง) เป็นตัวดาบ และเหล็กอ่อนที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำทำเป็นไส้ดาบ นำไปพับและตีมากกว่าสิบชั้นก่อนหลอมและตีเป็นใบดาบ, (ขวา) โครงสร้างใบดาบเหล็กสามชนิดของ “มาซามูเน่”

ช่างตีดาบที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน

ซาดาอิจิ กัสสัน” Sadaeji Gassan ช่างตีดาบที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง เราอาจจะเคยเห็นท่านถือดาบไว้ในมือกับโฆษณานาฬิกาโรเล็กซ์เมื่อหลายปีก่อน

กัสสันเป็นตระกูลช่างตีดาบที่ตกทอดมากว่า 700 ปี ปัจจุบันยังคงรักษาขนบธรรมเนียมการตีดาบอย่างประณีตตามขั้นตอนและวิธีการแต่โบราณจากยุคทอง สมัยคามาคูระ โดยเป็นมรดกตกทอดมาถึง “ซาดาโตชิ กัสสัน” (Sadatoshi Gassan) ดาบซามูไรยังคงความประณีตงดงามถือเป็นงานศิลปะขั้นสูงสุดตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ปัจจุบันยังมีช่างตีดาบอีกจำนวนมากที่ตีดาบตามแนวทางดั้งเดิม

ยุคสมัยของดาบซามูไร แบ่งออกได้ 4 ยุค

1. ยุคดาบโบราณ (Ancient Sword) ก่อนคริสต์ศักราช 900 (ก่อน พ.ศ. 1443) ยุคที่ดาบของ “อามากุนิ” ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการถลุงเหล็กเนื้อดีในสมัยนาร่า

2. ยุคดาบเก่า (Old Sword) ราวปี พ.ศ. 1443-2073 ถือเป็นยุคทองของดาบซามูไร แทบไม่น่าเชื่อเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ศิลปะไทย จะอยู่ในช่วงเดียวกับศิลปะสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-18) จนถึงสมัยศิลปะสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 18-20) ในขณะที่ปี พ.ศ. 1840 เป็นปีที่ดาบของ “มาซามูเน่” ถือกำเนิดขึ้นและภูมิปัญญาขั้นสูงสุดที่ตกทอดเป็นมรดกของดาบชั้นยอด

3. ยุคดาบใหม่ (New Sword) ราวปี พ.ศ. 2139-2410 ซึ่งอยู่ช่วงเดียวกับศิลปะสมัยอยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์ คือช่วงสมัยเอโดะ และยุคที่ญี่ปุ่นปิดประเทศห้ามคนเข้าออกอย่างเด็ดขาด (พ.ศ. 2182)

4. ยุคดาบสมัยโมเดิร์น (Modern Sword) ราวปี พ.ศ. 2411 ถึงปัจจุบัน ยุคที่ดาบทหารถือกำเนิดขึ้น (พ.ศ. 2411-2488) การผลิตเป็นจำนวนมากเพื่อการสงครามไม่มีพิธีกรรมแบบโบราณ ดาบญี่ปุ่นมัวหมองเพราะถูกใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 การตัดคอเชลยศึกไม่ใช่ประเพณีของชนชั้นซามูไร พอมาถึงสมัยปัจจุบันดาบกลายเป็นงานศิลปะชั้นสูงที่มีราคาแพง

 

ดาบทหาร (Gunto) สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ฝักดาบทำจากเหล็ก มีห่วงสำหรับห้อยกับเข็มขัด

ชนิดของดาบซามูไร

ดาบมีหลายแบบและหลายประเภท แต่สามารถแบ่งชนิดหลักๆ ออกได้ 3 ชนิดดังนี้

ดาบยาว (Long Sword)

1. “ตาชิ” (Tachi) ดาบยาวของทหารม้า มีความโค้งของใบดาบมาก ใช้ฟันจากหลังม้า มีความยาวของใบดาบมากกว่า 70 เซนติเมตร

2. “คาตานะ” (Katana) ดาบที่มาแทนที่ดาบตาชิของทหารม้า ตั้งแต่กลางสมัยมุโรมาชิ (ราว พ.ศ. 2000) สามารถใช้ต่อสู้บนพื้นดินได้คล่องตัวกว่า เพราะมีความโค้งน้อยควบคุมได้ง่าย ความยาวใบดาบโดยประมาณ 60.6 เซนติเมตรขึ้นไปถึง 70 เซนติเมตร

ดาบขนาดกลาง (Medium Sword)

“วากิซาชิ” (Wakizashi) ดาบที่ใช้พกพาคู่กับดาบคาตานะของซามูไร ใบดาบมีความยาวตั้งแต่ 12 นิ้วถึง 24 นิ้ว ดาบที่ซามูไรใช้สำหรับทำ “เซปปุกุ” เมื่อยามจำเป็น และเป็นดาบที่ซามูไรสามารถนำติดตัวเข้าเคหสถานของผู้อื่นกรณีเป็นผู้มาเยือนได้โดยไม่ต้องฝากไว้กับคนรับใช้

ตามปกติซามูไรจะพกดาบสองเล่ม และโดยธรรมเนียมห้ามพกดาบยาวเข้ามาในบ้านของผู้อื่น ต้องฝากไว้หน้าบ้านเท่านั้น

ดาบขนาดสั้น (Short Sword)

1. “ตันโตะ” (Tanto) มีลักษณะคล้ายมีดสั้น ความยาวน้อยกว่าดาบวากิซาชิ

2. “ไอกุชิ” (Aikuchi) คล้ายมีดไม่มีที่กั้นมือ ใช้สำหรับพกในเสื้อ เหมาะกับสตรี

ความงามของดาบซามูไร

ตลอดทั้งตัวดาบหากสังเกตจะเห็นว่าดาบนั้นมีความงดงามมาก งามตามธรรมชาติทั้งๆ ที่ไม่มีเครื่องประดับใดๆ จุดเด่นคงอยู่ที่ลักษณะใบดาบที่โค้งได้รูป ถือเป็นการออกแบบที่สุดยอด

ลวดลายน้ำบนใบดาบเรียกว่า “ฮามอน” ถูกประดิษฐ์ขึ้นมากว่าพันปีโดย “อามากุนิ” ไม่เป็นเพียงลวดลายที่งดงามอย่างเดียว แต่เป็นความลับของคมดาบด้วย

ในส่วนของที่กั้นมือเรียกว่า “Tsuba” (Handguard) มักทำจากเหล็ก ทองเหลือง ทองแดง หรือเงิน เป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยม มีการทำลวดลายต่อเนื่องทั้งสองด้านมาตั้งแต่โบราณ มีมากมายหลายแบบจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว (ยกเว้นของดาบทหารที่มีลวดลายเดียวเฉพาะเท่านั้น)

ดาบซามูไร และที่กั้นมือ Tsuba ลักษณะต่างๆ

ส่วนด้ามจับที่ทำด้วยไม้ หุ้มทับด้วยหนังปลากระเบนและผ้าไหม พับเว้นช่องเป็นรูปข้าวหลามตัด คือเอกลักษณ์ของดาบที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

เรื่องราวของดาบยังมีอีกมากมาย ล้วนแต่เป็นรายละเอียดที่ไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็นลายของเนื้อเหล็กที่เกิดจากการตีเหล็กและหลอม, ชนิดของลวดลายฮามอนบนใบดาบ หรือดาบกับการทำ “เซปปุกุ” หรือการคว้านท้อง เป็นต้น

จากประสบการณ์ของผู้เขียน…ที่ได้สัมผัสกับดาบซามูไรเก่า พบว่าตัวดาบมีคุณลักษณะพิเศษ คือสามารถทรงตัวให้วางตั้งอยู่บนฝ่ามือได้โดยตัวดาบไม่ล้มแม้จะขยับมือไปมา จากการทดลองดูด้วยดาบซามูไรจำนวน 3 เล่ม ซึ่งสามารถตั้งได้ทั้งหมด คงไม่ใช่เพราะความบังเอิญ เพราะว่ายังทดลองเอาดาบของไทยมาวางดู แต่ไม่สามารถตั้งได้อย่างดาบญี่ปุ่น

ปัจจุบันดาบญี่ปุ่นกลายเป็นงานศิลปะที่มีราคาสูงมาก ดาบที่ขายเป็นของที่ระลึกนั้นจะไม่คม และทำด้วยสเตนเลส เป็นของประดับบ้าน

ที่กั้นมือ Tsuba ของดาบทหาร และปลายด้ามดาบ

ดาบยังมีการผลิตในต่างประเทศด้วย เช่น ประเทศสเปนและไต้หวัน ส่วนดาบที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นตามขั้นตอนแบบพิธีโบราณนั้น ก็ยังมีอยู่มากมาย ยังคงเป็นดาบแท้ตีใบดาบด้วยเหล็ก หลายๆ ตระกูลอย่าง “ตระกูลกัสสัน” ยังใช้เหล็กเนื้อดีมีความคมกริบเหมือนเกือบพันปีที่ผ่านมา

ดาบถูกตกแต่งหลายๆ แบบมากมายด้วยเงิน, ทอง การประดับประดาและการแกะลวดลายลงบนใบดาบ

รัฐบาลญี่ปุ่นดูแลการผลิตดาบอย่างเข้มงวดเพื่อให้ทรงคุณค่าต่อไปอย่างมีเอกลักษณ์ แม้ปัจจุบันดาบจะไม่ได้เป็นจิตวิญญาณของซามูไรอย่างแต่ก่อน แต่ก็คงเป็นตำนานแห่งอาวุธสังหาร และงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่มีที่สิ้นสุดสืบไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลประกอบการเขียน :

อิชิอิ โยเนะโอะ, โยชิกาวะ โทชิฮารุ. ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพฯ, 2542.

ภิรมย์ พุทธรัตน์ แปล. ซามูไร นักรบชนชั้นของญี่ปุ่น. อมรการพิมพ์, กรุงเทพฯ, 2530.

John M. Yumoto. Samurai Swords a Handbook. thirty-sixth printing, Charles E. Tuttle Publishing Company, Inc. Tokyo, 2000.

David Miller. Samurai Warriors. Pegasus Publishing Ltd, New York, 1999.

Soul of The Samurai Sword. Discovery Channel.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ธันวาคม 2560