“โฮลี” เทศกาลสาดสีของอินเดีย เกี่ยวข้องกับสงกรานต์ไทยจริงหรือ?

โฮลี อินเดีย สงกรานต์ สงกรานต์ไทย
(ซ้าย) เด็กๆ อินเดียในเทศกาล "โฮลี" (ขวา) เด็กไทยในเทศกาลสงกรานต์ (ภาพโดย Pavan Prasad ใน Pixabay / ศูนย์ข้อมูลมติชน)

“โฮลี” เทศกาลสาดสีอันโด่งดังของ “อินเดีย” หลายคนมองว่าอาจเกี่ยวข้องกับเทศกาลสาดน้ำ หรือประเพณี “สงกรานต์” ของไทย เพราะสงกรานต์ไทยก็มีรากฐานมาจากอินเดีย แท้จริงสองเทศกาลนี้เกี่ยวข้องกันหรือไม่?

“ศิลปวัฒนธรรม” ร่วมกับ ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ผู้เชี่ยวชาญปรัชญาอินเดียและศาสนาฮินดู พาไปเจาะลึกสงกรานต์อินเดีย ต้นแบบสงกรานต์แห่งดินแดนในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า “โฮลี” หรือเทศกาลโฮลี ประเพณีสาดสีใน อินเดีย เกี่ยวข้องกับสงกรานต์ไทยหรือไม่ เพราะเป็นการสาดเหมือนกัน เพียงแต่อินเดียเป็นสี บ้านเราเป็นน้ำ แถมช่วงเวลาของเทศกาลทั้งสองยังใกล้เคียงกันด้วย

อาจารย์คมกฤช เล่าว่า อันที่จริง แม้แต่การสาดน้ำของไทยเรา นักวิชาการหลายท่านยังเถียงไม่จบว่ามาจากไหน พูดง่าย ๆ ว่าไม่มีข้อสรุปตายตัวเรื่องต้นกำเนิดการสาดน้ำ อย่างไรก็ตาม พิธีสรงน้ำหรืออาบน้ำ (เทวรูป) เป็นเรื่องปกติในอินเดีย เพราะเทศกาลไหนก็มีการรดน้ำ สรงน้ำ หรือถวายอภิเษกพระเป็นเจ้ากันตลอด

“อันนี้เป็นกิจกรรมหลักในเทวสถานอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการสาดน้ำของคนข้างนอก” อาจารย์คมกฤชกล่าว

แต่เมื่อไทยมีธรรมเนียมการเล่นน้ำสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานเป็นหลัก กอปรกับหลักฐานหลาย ๆ อย่างบ่งชี้ว่า “สงกรานต์” ของไทยอาจมาจากอินเดีย จึงมีผู้ให้ข้อสังเกตว่า หรือการละเล่นดังกล่าวจะเทียบเคียงได้กับประเพณีหนึ่งของอินเดีย นั่นคือเทศกาล “โฮลี” (Holi)

อาจารย์คมกฤช กล่าวว่า “ข้อสันนิษฐานของผม ผมคิดว่า (การสาดน้ำ) ไม่ได้มาจากโฮลี เป็นข้อเสนอของผมนะครับ เพราะผมคิดว่ามันค่อนข้างจะมีข้อแตกต่างกันอยู่หลายอย่าง หนึ่งคือในแง่ของเวลา เพราะโฮลีเป็นคนละระบบปฏิทิน คนละระบบเวลากัน แม้ว่าจะอยู่ในเดือนใกล้เคียงกัน แต่ไม่ตรงกับสงกรานต์เรา นี่คือข้อแรก เรื่องของระยะเวลา

สอง เอาจริงๆ แล้ว โฮลีในอินเดียแต่เดิมไม่ได้เป็นการเล่นสาดน้ำเป็นหลัก แต่มีกิจกรรมแบบชาวบ้าน เช่น การเอาขยะกุมฝอยไปรวมกันไว้ แล้วทำเป็น ‘นางโหลิกา’ (ตัวแทนความแห้งแล้ง) แล้วจุดไฟเล่นรอบกองไฟ เอาปฏิกูลมาแกล้งกัน ส่วนกิจกรรมสาดน้ำมาเสริมทีหลัง ซึ่งฉลองกันในอินเดียภาคเหนือเป็นหลัก ไม่ใช่กิจกรรมที่มักนิยมกันในอินเดียภาคใต้ ซึ่งหลัก ๆ เรารับประเพณีของอินเดียภาคใต้”

อาจารย์คมกฤชจึงยืนยันว่า เทศกาลโฮลีไม่ใช่ต้นแบบประเพณีสงกรานต์ไทย หรือธรรมเนียมการละเล่นสาดน้ำบ้านเราแน่นอน

ทั้งให้ข้อคิดเห็นเพิ่มว่า แม้กระทั่งสงกรานต์ไทยแต่เดิม กิจกรรมสาดน้ำก็ไม่ใช่กิจกรรมหลัก เราเน้นการไปทำบุญที่วัด ทำบุญกับญาติผู้ใหญ่ ประเพณีนี้ยังอาจเกี่ยวข้องกับประเพณี “เซ่นผี” เดือน 5 ก่อนรับเอาภูมิปัญญาจากอินเดียมาผสมผสานแล้วกลายป็นการทำบุญเดือน 5 และประเพณีสงกรานต์ในภายหลัง

ติดตามเรื่องราวแบบเต็ม ๆ ได้ใน SILPA PODCAST “มหาสงกรานต์ ย่านอุษาคเนย์” EP.4 “สงกรานต์อินเดีย” รากฐานสงกรานต์ไทย โดย ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง วันพุธ ที่ 10 เมษายน 2567 เวลา 20.00 น. ที่ YouTube : Silpawattanatham

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มีนาคม 2567