ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หากถามผู้คนมากมายว่ารู้จัก วัดกันมาตุยาราม ซึ่งสร้างโดย “แม่เล้า” หรือไม่ จำนวนไม่น้อยอาจส่ายหน้าและเข้าใจว่ามีเพียง “วัดคณิกาผล” เท่านั้นที่สร้างโดยแม่เล้า แต่แท้จริงแล้ววัดกันมาตุยารามเป็นอีกวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับนางโลม ทั้งยังเกี่ยวข้องกับ วัดคณิกาผล เนื่องจากผู้สร้างวัดคณิกาผลคือ “ยายแฟง” เป็นแม่ของ “นางกลีบ” ผู้สร้างวัดกันมาตุยาราม
วัดกันมาตุยารามตั้งอยู่ในย่านเยาวราช สร้างขึ้นช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีที่มาจาก นางกลีบ เจ้าสำนักหอนางโลมย่านเยาวราช ที่อุทิศสวนดอกไม้ให้สร้างวัด ต่อมาลูกชายของนางกลีบคือ พระดรุณรักษา (กัน สาครวาสี) ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 4 นางกลีบจึงถวายวัดดังกล่าวแก่พระเจ้าอยู่หัว
จากนั้น รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานชื่อวัดว่า “วัดกันมาตุยาราม” มีความหมายว่าวัดที่มารดาของนายกันเป็นผู้สร้าง โดย “กัน” มาจากชื่อของนายกัน สาครวาสี ส่วน “มาตุ” แปลว่าแม่
อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) เล่าถึงเกร็ดประวัติวัดว่า วัดกันมาตุยาราม เป็นวัดธรรมยุตเช่นเดียวกับวัดอื่น ๆ ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนา เช่น วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร, วัดโสมนัสราชวรวิหาร ฯลฯ
วัดนิกายธรรมยุตจะแตกต่างจากวัดที่สร้างสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ เช่น ไม่มีความคิดแนวจักรวาล ไม่มีเทพเทวดา ลดอิทธิปาฏิหาริย์ให้มีความสมจริง เป็นมนุษย์มากขึ้น เนื่องจากรัชกาลที่ 4 ได้รับอิทธิพลความคิดเรื่องสัจนิยมมาจากตะวันตก
ความคิดดังกล่าวปรากฏภายในพระอุโบสถที่ค่อนข้างแตกต่างจากที่อื่น อย่างจิตรกรรมด้านในพระอุโบสถจะเป็นการเล่าพระพุทธประวัติตามหนังสือ “ปฐมสมโพธิกถา” หรือหนังสือเกี่ยวกับประวัติพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ครั้งก่อนประสูติจนถึงดับขันธ์ปรินิพพาน ไร้ซึ่งภาพวาดของเทวดาหรือจักรวาลไตรภูมิ
อพิสิทธิ์ยังเล่าอีกว่า นอกจากนี้ยังมีภาพวาดที่บานประตู เป็นรูปเนื้อสัตว์ 10 ชนิด ที่พระไม่สามารถฉันได้ เช่น เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เป็นต้น ส่วนบานหน้าต่างยังมีจิตรกรรมเป็นรูปน้ำผลไม้หรือน้ำปานะที่พระพุทธเจ้าให้ฉันได้ และเมื่อไล่สายตาไปยังด้านบนหน้าต่างภายในพระอุโบสถ จะพบองค์พระพุทธรูป 37 องค์ และภาพพระสงฆ์หลายรูป ทว่าน่าเสียดายที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นพระสงฆ์รูปใดบ้าง เนื่องจากบางภาพซีดจนแทบมองไม่เห็นใบหน้าได้อย่างชัดเจน หรือบางรูปก็หายไปจากการลักลอบขโมย
ไม่เพียงแค่การตกแต่งอันสวยงาม แต่พระประธานภายในพระอุโบสถคือ “พระอริยกันต์มหามุนี” ยังเป็นจุดเด่นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นรูปแบบของวัดนิกายธรรมยุต
โดยปกติแล้วพระประธานก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 จะเน้นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ แต่ที่นี่เป็นองค์เล็กและเสริมความสวยงามด้วยบุษบก เช่นเดียวกับวัดปทุมวนาราม และวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร รวมถึงพระเศียรที่ไม่มีอุษณีษะ แต่มีพระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวไฟปักลงพระเศียรลงไปตรง ๆ แทน เนื่องจากรัชกาลที่ 4 ทรงมองว่าแบบเดิมนั้นไม่สวยงาม
ภายในวัดกันมาตุยารามยังมี “เจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบลังกา” สร้างเลียนแบบธัมเมกขสถูปหรือสถานที่แสดงปฐมเทศนาในอินเดีย ซึ่งเจดีย์ดังกล่าวนี้ไม่ได้พบเห็นในประเทศไทยบ่อยนัก แต่ปรากฏในวัด “กันมาตุยาราม”
จะเห็นได้ว่า วัดกันมาตุยาราม ซึ่งอยู่ในถิ่นฐานชาวจีนอย่างเยาวราชนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ ไม่เพียงสร้างด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาของ “แม่เล้า” อย่างนางกลีบ แต่ยังมีงานศิลปกรรมทรงคุณค่าน่าชมอีกจำนวนมากที่รอให้ทุกคนค้นพบ
อ่านเพิ่มเติม :
- “วัดราชประดิษฐฯ” กับปริศนาสร้อยชื่อ ที่แม้แต่ “กรมดำรง” ยังยกธงขาวยอมแพ้
- วัดโสมนัสฯ “ทัชมาฮาล” เมืองไทย ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้าง
- กำเนิด ธรรมยุติกนิกาย พุทธศาสนาแนวสัจนิยม สมัยร.4 นำมาสู่อะไรบ้าง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2566