กำเนิด ธรรมยุติกนิกาย พุทธศาสนาแนวสัจนิยม สมัยร.4 นำมาสู่อะไรบ้าง

ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ หรือรัชกาลที่ 4 และ พระสงฆ์ ธุดงค์ ฉากหลัง เป็น เจดีย์ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สุโขทัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ครั้ง ผนวช เป็น พระวชิรญาณเถระ ได้ ก่อตั้ง ธรรมยุติกนิกาย
รัชกาลที่ 4 ขณะทรงผนวชเป็น “วชิรญาณภิกขุ” เสด็จธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ ภาพวาดโดย นายวุฒิชัย พรมมะลา แหม่มแอนนา แอนนา พระปิ่นเกล้า

กำเนิด “ธรรมยุติกนิกาย” พุทธศาสนาแนวสัจนิยม ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาขึ้น เมื่อครั้งทรงเป็น “พระวชิรญาณเถระ” นำมาสู่อะไรบ้าง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี เสด็จพระราชสมภพใน พ.ศ. 2347 ครั้นพระชนมายุ 20 พรรษา ได้ทรงผนวช ทรงพระนามว่า พระวชิรญาณเถระ และเสด็จไปจำพรรษา ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส)

Advertisement

แต่เมื่อผนวชได้ 15 วัน พระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงทรงอยู่ในสมณเพศต่อมาถึง 27 พรรษา

ระหว่างที่ผนวชอยู่นั้น พระวชิรญาณเถระ ได้ทรงเรียนรู้ภาษา และวิทยาการสมัยใหม่ทางตะวันตกจากมิชชันนารีชาวตะวันตก ผู้เข้ามาเพื่อเผยแพร่คริสตศาสนาแก่ประชาชนในโลกตะวันออก เช่น ทรงเรียนภาษาละตินกับสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ประมุขมิซซังสยามตะวันออก และยังได้ทรงศึกษาวิทยาการตะวันตกเช่น ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมทั้งภาษาอังกฤษจากหมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน 3 คน ได้แก่ หมอแคสเวลล์ (Jesse Caswell) หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) และ หมอเฮาส์ (Samuel Reynolds House) อันเป็นมิตรที่ดีของพระองค์ยิ่งนัก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานธรรมเทศนาให้กรมการฝ่ายในฟังในวันวิสาขบูชา (ภาพจากหนังสือ “ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”)

ด้วยความที่ทรงสนิทสนมกับหมอสอนศาสนาชาวตะวันตก ทำให้พระองค์ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากชาวตะวันตก รวมถึงโลกทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาและสามารถพิสูจน์ได้ หรือคือแนวคิดสัจนิยมนั่นเอง

ประกอบกับได้ทรงเห็นถึงความหย่อนยานทางพระวินัยของพระภิกษุสงฆ์ในขณะนั้น เมื่อทรงพบกับ พระสุเมธมุนี (ซาย พุทธวํโส) พระเถระแห่งรามัญนิกายที่มีข้อวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใส จึงก่อให้เกิด ธรรมยุติกนิกาย อันได้รับแรงบันดาลใจมาจากรามัญนิกาย และสีหลนิกาย ที่ทรงเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของคณะสงฆ์นิกายเถรวาททั้งปวง ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามแนวความคิดของพระองค์ขึ้น ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้คือ 

ธรรมยุติกนิกาย กับการตีความพุทธธรรมใหม่

พระวชิรญาณเถระ ได้ทรงตีความพุทธธรรมและพุทธวจนะเสียใหม่ด้วยทัศนะแบบวิทยาศาสตร์ คือมองโลกด้วยความจริงที่เน้นการใช้เหตุผล และสิ่งที่สามารถประจักษ์ได้ด้วยตนเอง ให้ความสำคัญกับโลกนี้ และผลที่จะเกิดขึ้นในโลกนื้ จึงทรงเน้นคำสอนที่เป็นโลกิยธรรม เช่น ทาน ศีล เมตตา ซึ่งทำให้เกิดความสำเร็จทางโลกอันได้แก่ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณะ รวมทั้งทรัพย์สมบัติ ที่จะให้ประโยชน์สุขแก่เราในภพภูมินี้

ทำให้โลกุตตรธรรม ซึ่งเป็นธรรมขั้นที่เลยการรับรู้ได้ของปุถุชนธรรมดาทั่วไป เช่นการตั้งจิตปรารถนาพระนิพพาน ปรารภพุทธภูมิ ที่พระมหากษัตริย์ในอดีตทรงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ปุถุชนทั่วไปควรหวัง และสามารถเข้าถึงได้ค่อยๆ หายไปจากคำสอนของพระองค์ที่ทรงมีต่อพุทธศาสนิกชนทั่วไป ดังจะเห็นตัวอย่างหลักคำสอนด้านโลกุตตรธรรมของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ไทยได้จาก พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต โดย พระไพศาล วิสาโล ความว่า

…ยังมีอิทธิพลในความคิดของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ในหมายรับสั่งประกาศสงกรานต์ ซึ่งทรงมีถึงประชาชนทั่วไป ก็ทรงแนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรว่า

“ผู้มีปัญญาให้รำพึงดูสิ่งใดเปนฝักฝ่าย บาปกำม์แลอกุศลกำม์ละวางเสีย สิ่งใดที่เปนกุศลให้อุสาหะ ปรนิบัติไปตามสติปัญญา กว่าวาศนาบารมีจแก่ขึ้น ก็จะปลงลงเห็นพระไตรลักษณญาณ คือทุกขัง อนิจจัง อนัตตา แล้วก็บ่ายหน้าไปสู่พระนิพพาน” (จาก พุทธธรรมที่เป็นรากฐานสังคมไทย ก่อนสมัยสุโขทัยถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดย สุภาพรรณ ณ บางช้าง)

การใช้ทัศนะและการให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์นี่เอง ที่ทำให้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ถูกตัดไปจากพุทธศาสนาด้วย ทั้งยังดึงพระพุทธเจ้าให้ทรงใกล้ชิดกับมนุษย์มากขึ้น อันเป็นมูลเหตุให้เกิดพุทธศิลป์แนวใหม่ขึ้น

ก่อกำเนิดพุทธศิลป์แนวใหม่

พระนิรันตราย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้หล่อขึ้นด้วยทองคำเพื่อสวมทับพระนิรันตรายองค์เดิม ซึ่งทรงได้มาจากดงพระศรีมหาโพธิ เมืองปราจีนบุรี (ภาพจากหนังสือ “พระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง”)

อีกสิ่งหนึ่งที่นับได้ว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ได้แก่ “พุทธลักษณะ” ของพระพุทธรูป อันพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังยังทรงเป็น พระวชิรญาณเถระ ได้ทรงค้นคว้าพระอรรถกถาบาลี เพื่อหาพุทธลักษณะและขนาดพระวรกายของพระพุทธเจ้าที่แท้จริง

ทำให้พระวชิรญาณเถระทรงสร้างพระพุทธปริตรจากไม้ไผ่สาน ซึ่งเชื่อกันว่ามีขนาดของพระวรกายที่คล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้า และพระสัมพุทธพรรณี ขึ้นใน พ.ศ. 2373 ให้มีริ้วจีวรเป็นริ้วผ้าตามธรรมชาติ ตามแนวคิดสัจนิยมอันได้รับอิทธิพลจากตะวันตก และที่สำคัญคือไม่มีพระเกตุมาลา แต่ก็ยังคงรักษามหาปุริสลักษณะ 32 ประการไว้อย่างครบถ้วน

จนเมื่อพระวชิรญาณเถระทรงขึ้นเถลิงราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ก็ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปในธรรมยุติกนิกายอีกหลายองค์ แต่องค์ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีที่สุดคือ พระนิรันตราย อันทรงสร้างครอบพระกริ่งทองคำที่ทรงได้มาจากดงพระศรีมหาโพธิ เมืองปราจีนบุรี ซึ่งเป็นการปรับแก้พุทธลักษณะในธรรมยุติกนิกายครั้งสุดท้ายในช่วงพระชนมชีพของพระองค์ กล่าวคือ ปลายพระกรรณของพระพุทธองค์เริ่มสั้นเท่ามนุษย์ปกติ และจีวรยังดูเป็นธรรมชาติมากกว่าที่ปรากฏในพระพุทธสัมพรรณี

แต่จะถือว่าพุทธศิลป์ในธรรมยุติกนิกายนั้นได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกทั้งหมดเลยมิได้ เพราะมหาปุริสลักษณะ อันเป็นความเชื่อของอินเดียที่ว่าด้วยลักษณะของมหาบุรุษนั้นก็ยังคงอยู่

และอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นพระราชนิยมของพระองค์คือ ทรงฟื้นฟูเจดีย์ทรงลังกา ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากพระเจดีย์ประธานวัดบวรนิเวศ เพราะทรงถือว่าพระเจดีย์ทรงลังกานั้นเป็นเจดีย์ที่มีการสร้างมาแต่ครั้งแรกประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป อันเป็นเจดีย์ที่มีความถูกต้องมากกว่าเจดีย์รูปแบบอื่นในทัศนะของพระองค์

จะเห็นได้ว่าการเข้ามาของวิทยาศาสตร์ รวมถึงแนวคิดสัจนิยมที่เข้ามาในสยามพร้อมกับมิชชันนารีชาวตะวันตกนั้น ได้มีอิทธิพลทางความคิดของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงเป็นพระวชิรญาณเถระ จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด “ธรรมยุติกนิกาย” ขึ้นจนถึงทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

พิชญา สุ่มจินดา. ถอดรหัสพระจอมเกล้า. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.

กรมศิลปากร สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548.

พระไพศาล วิสาโล. พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, 2546.

ส. พลายน้อย. พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้า พระเจ้ากรุงสยาม. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ, 2545.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2562