“วัดราชประดิษฐฯ” กับปริศนาสร้อยชื่อ ที่แม้แต่ “กรมดำรง” ยังยกธงขาวยอมแพ้

วัดราชประดิษฐฯ (ภาพจากเฟซบุ๊ก วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม https://bit.ly/3k2x4KU)

วัดราชประดิษฐฯ หรือชื่อเต็มว่า วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สร้างขึ้นบนที่ดิน 2 ไร่เศษ เริ่มก่อสร้างในวันศุกร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีชวด พ.ศ. 2407 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 9 เดือนเศษจึงแล้วเสร็จ แม้เป็นวัดขนาดเล็ก แต่ก็งดงามโดดเด่นทางศิลปะ และเป็นวัดที่มี “ปริศนา” เรื่องสร้อยชื่อ ที่แม้แต่ กรมดำรง หรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านประวัติศาสตร์ไทย ก็ยังไขไม่ออก จนต้องทรงยกธงขาว ยอมแพ้ไปในที่สุด

ปริศนา วัดราชประดิษฐฯ มีอยู่ว่า เมื่อครั้ง “กรมดำรง” และ “กรมนริศ” หรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีจดหมายถึงกัน (ภายหลังมีการรวบรวมขึ้นเป็น “สาส์นสมเด็จ”) กรมนริศทรงมีลายพระหัตถ์ ลงวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2477 ว่า

Advertisement

“พบสำเนาคำจารึกอักษรที่วัดราชประดิษฐ์ สร้อยชื่อวัดเป็น ‘วัดราชประดิษฐ์ สถิตธรรมยุตติการาม’ ไม่ใช่ ‘วัดราชประดิษฐ์ สถิตมหาสีมาราม’ เช่นใช้กันอยู่ทุกวันนี้ จะเปลี่ยนเมื่อไร เปลี่ยนด้วยปรารภอย่างไร ถ้ากรมดำรงทรงทราบก็โปรดตรัสชี้แจงให้ทราบ”

กรมดำรงทรงมีหนังสือตอบ ลงวันที่ 10 สิงหาคม ปี 2477 กล่าวถึงตำนาน วัดราชประดิษฐฯ ว่า เมื่อทูลกระหม่อม (ทรงหมายถึงรัชกาลที่ 4) ทรงตั้งพระสงฆ์ธรรมยุติกาขึ้นในเวลาที่ทรงผนวชนั้น ไม่ได้หมายจะตั้งเป็นนิกายสงฆ์ขึ้นอีกนิกายหนึ่งต่างหาก พระราชประสงค์เพียงจะตั้งอย่างเป็นสโมสรพระสงฆ์ ซึ่งนิยมถือคติธรรมวินัยอย่างเดียวกัน เมื่อเสวยราชย์ พระราชประสงค์ก็ยังคงอยู่เช่นนั้น

ทรงกล่าวอีกว่า อีกประการหนึ่งตามที่ได้ยินมา งานพิธีสงฆ์ในรัชกาลที่ 4 ไม่มีที่จะนิมนต์แยกกันเป็นธรรมยุติกาหรือมหานิกาย เว้นแต่งานเดียวคือเมื่อวันเฉลิมพระชันษา โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ธรรมยุติกา 5 รูปสวดมนต์ในพระราชมณเทียร แต่ก็ทำอย่างเงียบ ๆ อ้างว่าทำเหมือนอย่างเมื่อทรงผนวชอยู่ เมื่อคิดดูก็พอจะเข้าใจพระราชปรารภได้ไม่ยาก เพราะทรงเกรงพระสงฆ์จะแตกกันเป็น 2 หมู่ 2 คณะ เป็นพระสงฆ์พวกในหลวงและมิใช่พวกในหลวงเกิดขึ้น จะกลับให้โทษแก่บ้านเมือง

“กรมดำรง” ทรงได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย

กรมดำรงทรงมีลายพระหัตถ์ต่อไปว่า ถึงกระนั้นเมื่อถึงรัชกาลที่ 4 มีคนแสดงความเลื่อมใสในพระสงฆ์ธรรมยุติกาแพร่หลาย เป็นเหตุให้ทรงระแวงว่าจะเป็นการเลื่อมใสเอาหน้า ถึงทรงห้ามปราม แม้เจ้านายที่เคยให้ลูกหลานบวชเป็นมหานิกายมาแต่ก่อน มิให้บวชเป็นธรรมยุติกา หม่อมเจ้าในกรมพระเทเวศรฯ และกรมหลวงวงศาฯ จึงต้องบวชเป็นมหานิกายทั้งนั้น และเคยได้ยินท่านผู้ใหญ่เล่า จะเป็นใครก็จำไม่ได้เสียแล้วว่าทูลกระหม่อมมีพระราชประสงค์จะให้มีพระสงฆ์ธรรมยุติกาแต่เพียงสักพันเดียว มิให้มากกว่านั้น

“เรื่องสร้างวัดราชประดิษฐ์นั้น ทรงเจตนาแต่แรกว่าจะให้เป็นวัดพระสงฆ์ธรรมยุติกาอยู่เป็นนิตย์ ดูเหมือนจะมีเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็นึกไม่ออกว่าอยู่ในหนังสืออะไร ที่ทรงสร้างเป็นวัดขนาดเล็ก ก็เนื่องด้วยพระราชดำริจะให้มีพระสงฆ์ธรรมยุติกาแต่จำนวนน้อย

“เรื่องสร้อยชื่อนั้นหม่อมฉันนึกว่าเดิมจะเป็น มหาสีมาราม จึงใช้ในราชการเสมอมา เพราะดูเหมือนจะเป็นวัดมหาสีมาแต่อย่างเดียวแรกมีขึ้น ผิดกับวัดมงกุฎฯ และวัดโสมนัสฯ ซึ่งมีพัทธสีมาและมหาสีมา

“สร้อยว่าธรรมยุติการาม หม่อมฉันนึกว่าจะเกิดขึ้นภายหลัง อาจจะเกิดในรัชกาลที่ ๕ ก็เป็นได้ เห็นจะไม่ใช่เป็นพระราชนิพนธ์ของทูลกระหม่อม คิดดูว่าถ้าสร้อยชื่อเดิมทูลกระหม่อมทรงขนานไว้ว่าธรรมยุติการาม ใครจะกล้าแก้เป็น มหาสีมาราม และจะแก้เพราะเหตุใดก็คิดไม่เห็น ข้อนี้เป็นหลักฐานของความคิด”

หลังจากกรมนริศได้รับลายพระหัตถ์จากกรมดำรงแล้ว ก็ทรงมีหนังสือตอบ ลงวันที่ 29 สิงหาคม ปี 2477 ว่า เรื่องวัดราชประดิษฐฯ นั้น กรมดำรงทรงดำริผิดทางไป เพราะพระองค์กราบทูลไม่ชัดเจนเอง จึงขอประทานกราบทูลใหม่ว่า ตั้งแต่เล็กเคยได้ยินชื่อใช้ในราชการว่า “วัดราชประดิษฐสถิตยมหาสีมาราม” เพิ่งได้เห็นสำเนาคำจารึกศิลาที่เขาว่าติดอยู่ที่หลังพระอุโบสถ พบเมื่อสักสองสัปดาห์มานี้เอง มีความเป็นประกาศพระราชทานที่ดินสร้างเป็นวัดถวายพระธรรมยุตติกนิกายโดยจำเพาะ พระราชทานชื่อว่า “วัดราชประดิษฐสถิตยธรรมยุตติการาม” ประกาศลงวันศุกร์ แรม 12 ค่ำ ปีชวด พ.ศ. 2407

“ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยได้ยินสร้อยสถิตยธรรมยุตติการามอย่างนั้นเลย ได้ไปดูสอบจนถึงแผ่นศิลาจริงก็เห็นถูกต้อง มีพระปรมาภิไธยเป็นลายพระราชหัตถ์แกะลากรอยด้วยซ้ำไป ไม่มีสงสัยว่าจะมีอะไรคลาดเคลื่อนอยู่ในนั้น จึงมานึกว่าแต่ก่อนพระราชทานชื่อมีสร้อยว่าสถิตยธรรมยุตติการาม แล้วทำไมจึงมากลายเป็นสถิตยมหาสีมาราม

“ความเปลี่ยนแปลงอันนั้นต้องเปลี่ยนมานานแล้ว จึงได้ยินติดหูมาแต่เล็ก ถ้าทูลกระหม่อมมิได้ทรงแปลงด้วยพระองค์เองแล้ว ก็ใครเล่าที่จะบังอาจเปลี่ยนแปลงได้ ก็เหตุใดจึงได้ทรงเปลี่ยน นี่แหละที่ทูลปรึกษาขอประทานพระดำริ

“อันคำว่า ‘ธรรมยุตติกนิกาย’ มีอยู่ในคำประกาศจารึกนั้นบริบูรณ์แล้ว เป็นของแน่เหมือนกัน ที่ว่าคำ ‘ธรรมยุตติกนิกาย’ กับคำ ‘มหานิกาย’ นั้น ต้องเป็นทูลกระหม่อมทรงบัญญัติให้เรียก ไม่เช่นนั้นใครจะกล้าสามารถตั้งขึ้นเรียกทักขปฏิสันถารเช่นนั้นได้”

เรื่องสร้อยชื่อ “วัดราชประดิษฐฯ” อาจเป็นเพียงไม่กี่เรื่องที่กรมดำรงทรงหาคำตอบไม่พบ ถึงขั้น “อ้นอั้นตันใจ” ทรงมีลายพระหัตถ์ตอบกรมนริศ ลงวันที่ 1 กันยายน ปี 2477 ว่า

“เรื่องชื่อวัดราชประดิษฐฯ นั้น หม่อมฉันเข้าใจผิดทีเดียว มาคิดดูเมื่อได้เห็นหลักฐานในลายพระหัตถ์ก็ยังอ้นอั้นตันใจ คิดไม่เห็นว่าเหตุใดจึงเปลี่ยนสร้อย ‘ธรรมยุตติการาม’ เป็น ‘มหาสีมาราม’ เห็นจะต้องยอมแพ้”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่ม 1. นนทบุรี : ต้นฉบับ, 2563. (ฉบับรวมพิมพ์จากหนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์ (10 เล่มชุด)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2566