วัดราชประดิษฐฯ พระอารามหลวงเนื้อที่ 2 ไร่เศษ ที่สถิตของปูชนียวัตถุสถานสำคัญยิ่ง

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ในมุมมองบริเวณหน้าวัดเมื่อไม่มีอาคารของกรมแผนที่ทหาร (ภาพถ่ายโดย ธีรภัทร์ จิตประไพกุลศาล)

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร หรือถ้าจะอธิบายในรายละเอียดต่อไปคงจะกล่าวได้ว่า วัดราชประดิษฐฯ ตั้งอยู่ริมถนนสราญรมย์ หน้าพระบรมมหาราชวังทางด้านทิศตะวันออก ใกล้กับพระราชวังสราญรมย์ ทำเนียบองคมนตรี สวนสราญรมย์ และกรมแผนที่ทหาร (ปัจจุบัน กรมแผนที่ทหารได้ย้ายออกจากพื้นที่ มีการปรับปรุงรื้ออาคารเดิมเพื่อเตรียมก่อสร้างอาคารของหน่วยงานใหม่ ถ้ามองวัดราชประดิษฐฯ มุมมองใหม่ที่ไม่มีอาคารสูงจะเห็นวัดราชประดิษฐฯ ในมุมมองที่เปิดโล่งของพื้นที่บริเวณหน้าวัด ถ้าในอนาคตจะมีโครงการขยายพื้นที่ของถนนสราญรมย์ ให้มีขนาดกว้างพอกับถนนราชบพิธ เฉพาะบริเวณหน้าวัดราชประดิษฐฯ คงเกิดมุมมองบริเวณหน้าวัดราชประดิษฐฯ วัดประจำรัชกาลที่ 4 ที่งามสง่าเช่นเดียวกับหน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดประจำรัชกาลที่ 5)

ถนนราชบพิธ ที่กว้างทำให้บริเวณหน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามมีมุมมองที่ดูงามสง่า
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ถ้าถนนสราญรมย์มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น บริเวณหน้าวัดราชประดิษฐฯ จะดูงามสง่าเช่นเดียวกับวัดราชบพิธฯ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นในปลายรัชกาลของพระองค์ เมื่อ พ.ศ.2407 โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นวัดสำหรับพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ

ในสาส์นสมเด็จ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า เรื่องสร้างวัดราชประดิษฐ์ฯ นั้น ทรงเจตนาแต่แรกว่าจะให้เป็นวัดพระสงฆ์ธรรมยุติกาอยู่เป็นนิตย์ ดูเหมือนจะมีเป็นลายลักษณ์อักษร แต่นึกไม่ออกว่าอยู่ในหนังสืออะไร ที่ทรงสร้างเป็นวัดขนาดเล็ก ก็เนื่องด้วยพระราชดำริจะให้มีพระสงฆ์ธรรมยุติกาแต่จำนวนน้อย”

ที่ดิน 2 ไร่เศษนี้ก่อนสร้างวัดราชประดิษฐฯ แต่เดิมเป็นพื้นที่หลวงสำหรับพระราชทานเป็นที่อาศัยแก่ข้าราชการที่จะต้องพระราชประสงค์ ให้อยู่ใกล้ๆ ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ที่ดินบริเวณนี้เป็นสวนกาแฟ พอถึงรัชกาลที่ 4 บริเวณนี้ไม่มีการทำสวนกาแฟพระองค์มีพระราชดำริว่าที่ดินบริเวณนี้เหมาะแก่การสร้างวัดสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต เพราะใกล้กับพระบรมมหาราชวังเป็นประโยชน์ต่อพระองค์เอง เจ้านายและข้าราชการฝ่ายหน้าในทั้งหลายที่จะทำบุญได้อย่างสะดวก

ก่อนก่อสร้างพระองค์มีพระราชดำริว่าที่ดินผืนนี้เป็นส่วนกลางของแผ่นดิน ไม่สมควรยกถวายเฉพาะพระสงฆ์ธรรมยุตเป็นพิเศษ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระนครบาลไปตรวจวัดพื้นที่ แล้วใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินแห่งอื่นแลกกับที่ดินผืนนี้เพื่อใช้ราชการ

การก่อสร้างนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงคราม (ทองสุก) เป็นแม่กองดำเนินการเริ่มก่อสร้างในวันศุกร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีชวด จุลศักราช 1226  ตรงกับวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2407 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 9 เดือนเศษจึงแล้วเสร็จ

ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณ “วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม” เมื่อ พ.ศ. 2489 พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 4 พระอารามหลวงที่มีเนื้อที่น้อยที่สุดในประเทศไทยเพียง 2 ไร่เศษเท่านั้น ถนนที่อยู่หน้าวัดราชประดิษฐฯ คือ ถนนสราญรมย์ ที่ตัดตรงไปยังประตูเทวาพิทักษ์ ประตูเสด็จเข้าออกพระบรมมหาราชวัง บริเวณหน้าวัดจะเห็นอาคารของกรมแผนที่ทหาร

วัดราชประดิษฐฯ ถือได้ว่าเป็นวัดแรกที่สร้างขึ้นเพื่อพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต ด้วยเหตุที่วัดธรรมยุตอื่นๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้นเป็นวัดที่แปลงมาจากฝ่ายมหานิกายทั้งสิ้น

ภายในพื้นที่อันเป็น “มหาสีมาราม” เพียง 2 ไร่ครึ่งเศษของวัดราชประดิษฐฯ เป็นที่สถิตของปูชนียวัตถุสถานสำคัญยิ่งหลายอย่างด้วยกัน อาทิ

ปาสาณเจดีย์ พระเจดีย์ประดับหินอ่อนทั้งองค์

ปราสาทพระจอมที่ประดิษฐานพระบรมรูปปิดทองของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปราสาทพระไตรปิฎก ตั้งอยู่ตรงข้ามกัน เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกใบลานบรรจุในกล่องไม้ซึ่งทำรูปเล่มอย่างหนังสือ

พระที่นั่งทรงธรรมหรือศาลาการเปรียญ เป็นที่ตั้งของธรรมาสน์ยอดมงกุฎอันงดงามยิ่ง

ส่วนภายในพระวิหารหลวง นอกจากจะมีจิตรกรรมภาพเทพชุมนุมบนกลีบเมฆ “เทวดามีรัศมีเป็นพวกๆ ครั้งแรก ซึ่งวัดอื่นเอาอย่าง” และจิตรกรรมภาพพระราชพิธีสิบสองเดือนแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมของพระพุทธรูปซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจำลองจากพระพุทธรูปสำคัญที่ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสเป็นพิเศษหลายองค์ด้วยกัน อันได้แก่ พระประธาน คือ พระพุทธสิหังคปฏิมากร ประดิษฐานภายในบุษบก ทรงหล่อจำลองจากพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และภายหลังได้บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ไว้ใต้ฐานพระพุทธรูป พระพุทธสิหังคปฏิมากรน้อย ประดิษฐานด้านหน้าของพระประธาน พระนิรันตรายพร้อมเรือนแก้วในครอบแก้ว เป็น 1 ใน 18 องค์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2411 จากพิมพ์เดียวกับพระนิรันตรายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อพระราชทานไว้ในพระอารามของคณะสงฆ์ธรรมยุต

ภายในพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นแหล่งรวมของพระพุทธรูปซึ่งจำลองจากพระพุทธรูปองค์สำคัญ ได้แก่ พระประธาน คือ พระพุทธสิหังคปฏิมากร และพระพุทธสิหังคปฏิมากรน้อย ภายในบุษบกใหญ่ รัชกาลที่ 4 ทรงหล่อจำลองจากพระพุทธสิหิงค์ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล พระนิรันตราย ในครอบแก้ว ทรงหล่อจำลองจากพระนิรันตรายในพระบรมมหาราชวัง พระพุทธชินราชน้อย พระพุทธชินศรีน้อย และพระศรีศาสดาน้อย ในบุษบกน้อยด้านหลังพระประธาน ทรงหล่อจำลองจากพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา ที่เคยประดิษฐานในพระวิหารทิศของพระอารามเดียวกัน คือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

ด้านหลังบุษบกพระประธาน ยังมีบุษบกน้อยสร้างติดกับผนังด้านสกัดเบื้องหลังพระประธานเรียงกัน 3 หลัง แต่ไม่ค่อยเป็นที่สังเกตมากนัก ภายในบุษบกน้อยนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดน้อย 3 องค์ที่จำลองจากพระพุทธรูปสำคัญถึง 3 องค์ด้วยกัน เรียงตามลำดับนับจากทางด้านขวาของพระประธาน คือ “พระพุทธชินราชน้อย” “พระพุทธชินศรีน้อย” และ “พระศรีศาสดาน้อย” ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อจำลองจากพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดาองค์ใหญ่ อันเคยประดิษฐานในพระวิหารทิศต่างๆ ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ก่อนที่พระพุทธชินศรีและพระศรีศาสดาจะเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานครและเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถและพระวิหารของวัดบวรนิเวศวิหาร จนเหลือเพียงพระพุทธชินราชเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่ยังคงประดิษฐานยังที่เดิม

ที่น่าสนใจก็คือพระพุทธรูปจำลองขนาดน้อยทั้ง 3 องค์นี้ยังนับเป็นพระพุทธรูปหมวดพระพุทธชินราชที่ได้รับการจำลองครบถ้วนทั้งสำรับ 3 องค์เป็นรุ่นแรกอีกด้วย

 


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 2 มิถุนายน 2562