จาก “จดหมายเวร” ของกรมดำรง-กรมนริศ สู่หนังสือทรงคุณค่า “สาส์นสมเด็จ”

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จเยี่ยมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระธิดา ที่เมืองปีนัง พ.ศ. 2480

จากจดหมายเวรของเจ้านาย 2 พระองค์ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สู่หนังสือทรงคุณค่าที่ชื่อว่าสาส์นสมเด็จ

“—ขอเขียนต่อไป โดยระวังมิให้ร้อนพระทัย หวังว่าท่านก็จะทรงเห็นอกและทรงเขียนต่อไป—” เป็นข้อความตอนหนึ่งในลายพระหัตถ์ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงมีโต้ตอบกับ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ครั้งที่ทรงมีความจำเป็นต้องเสด็จไปประทับที่ปีนัง ต่อมามีเหตุให้หนังสือโต้ตอบกันนี้จะต้องยุติลง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงขอร้องมิให้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยุติการมีลายพระหัตถ์โต้ตอบกัน ภายหลังลายพระหัตถ์นี้กลายเป็นหนังสือสำคัญที่ให้ความรู้ด้านวิชาการแขนงต่างๆ ในชื่อหนังสือว่า สาส์นสมเด็จ

การที่เจ้านายพระพี่น้องทั้ง 2 พระองค์ต้องทรงพรากจากกันนั้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง .. 2475 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ต้องเสด็จจากแผ่นดินเกิดไปประทับอยู่ที่ปีนังก็ด้วยเหตุผลที่ว่า “—ไม่มีอะไรเป็นประกันว่าที่ในกรุงเทพฯ จะเรียบร้อยได้โดยเร็ว ส่วนพระเจ้าอยู่หัวเชื่อว่าปลอดภัย แต่ส่วนเรายังเชื่อไม่ได้ว่าปลอดภัยจากถูกจับเป็นตัวจำนำสำหรับบังคับในหลวง—”

เป็นที่แน่นอนว่าการเสด็จไปประทับอยู่ในต่างแดน ห่างไกลแผ่นดินเกิด ห่างไกลญาติพี่น้องทั้งที่ต้องรู้สึกมาก คือความว้าเหว่พระทัย แม้จะทรงพยายามปรับพระองค์ให้ประทับอยู่ที่ปีนังอย่างสงบสบาย แต่ก็ยังมีความรู้สึกที่ว่า “—ใคร่จะมีเพื่อนพูด พูดกันถึงใจ—” และผู้ที่ทรงเห็นว่าจะเป็นเพื่อนพูดกันให้ถึงใจ ก็มีแต่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ด้วยเหตุที่เจ้านายทั้ง 2 พระองค์มีพระชันษาไล่เลี่ยกัน ทรงรับใช้สนองพระเดชพระคุณใต้เบื้องพระยุคลบาทในพระมหากษัตริย์มาด้วยกันถึง 3 พระองค์ จึงทรงมีประสบการณ์และความรู้เหมือนกัน ประการสำคัญ เจ้านายทั้ง 2 พระองค์มีพระอุปนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนคล้ายกัน จึงทรงมีเรื่องราวที่เป็นสาระแลกเปลี่ยนกัน และจดหมายเท่านั้นที่จะสามารถเป็นสื่อดุจได้พูดคุยกันอย่างเข้าใจและถึงใจ กิจกรรมการเขียนจดหมายถึงกันที่โปรดเรียกว่าจดหมายเวรจึงเกิดขึ้น สร้างความสุขเพลิดเพลินให้แก่เจ้านายทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งต่างก็ทรงรอคอยลายพระหัตถ์จากกันถึงกัน ผู้ทรงได้รับจดหมายเวรจากกรุงเทพฯ ก็จะทรง “—รู้สึกชื่นใจ เหมือนกับไปไหนมาแล้วกำลังร้อนได้กินน้ำแข็ง—” ส่วนผู้ที่อยู่กรุงเทพฯ เมื่อได้ทรงอ่านจดหมายเวรจากปีนังก็ทรงรู้สึก “—เป็นยาหอมอันหนึ่ง ซึ่งได้รับประทานแล้วทำให้ชูชื่นใจ—”

จดหมายเวรจึงเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในบั้นปลายพระชนมชีพของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพราะนอกจากจะทำให้เพลิดเพลินพระทัยแล้ว ก็ยังสอดคล้องกับพระพลานามัยโดยเฉพาะพระอาการพระกรรณตึงซึ่งทำให้ทรงรู้สึกรำคาญในการที่จะต้องตรัสโต้ตอบกับผู้คนรอบข้าง ดังที่ทรงเล่าว่า “—ความสบายดูก็พอเหมาะกับหูตึง ด้วยไม่ต้องไปหาใคร ไม่มีกิจที่ต้องพูดกับใคร และไม่ต้องฟังคำเล่าลือร้อยหูรำคาญใจ—”

ด้วยเหตุนี้จึงมีความพอพระทัยในการพูดคุยกันทางจดหมายเวร “—สำหรับตัวเราทั้งสอง การเขียนจดหมายเวร เป็นบ่อเกิดความรื่นรมย์ในเวลาเมื่อแก่ชรา—” ดังนั้นกิจวัตรที่ทรงปฏิบัติก็วนเวียนอยู่กับการอ่าน การค้นคว้า ตรวจสอบ และการเขียน ดังที่ทรงเล่าไว้ว่า

“—ตอนเช้าอ่านหนังสือข่าวแล้ว เขียนหนังสือกับค้นสอบหนังสือ ซึ่งจะเอามาประกอบการเขียน ตอนบ่ายอ่านหนังสือพิมพ์ข่าวอีกพักหนึ่ง ตอนค่ำตั้งแต่กินอาหารเย็นแล้วอ่านหนังสือไปจนเวลาเข้านอน หนังสือซึ่งอ่านโดยปกตินั้น ตอนหัวค่ำอ่านหนังสือเรียนหาความรู้เพิ่มเติม เป็นหนังสือไทยบ้าง ฝรั่งบ้างตอนดึกอ่านหนังสือประโลมโลก Novel อันเป็นแต่ทำให้เพลิดเพลินหย่อนใจ พอสิ้นกังวลแล้วเข้านอน—”

นอกจากการอ่าน การค้นคว้าสอบทานแล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังทรงเก็บประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในปีนังโดยเปรียบเทียบกับสยาม ซึ่งล้วนเป็นความรู้ในมุมมองของนักปราชญ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี ราชประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี และทางศิลป์ หรือแม้แต่เรื่องเล็กน้อย เช่นเรื่องอาหารการกินที่ทรงเขียนเล่าในความรู้สึกของผู้ใฝ่ความรู้ เช่น ทรงพบอาหารที่มีลักษณะคล้ายขนมจีนน้ำยาของไทย ทรงเล่าไว้ว่า “—มีคนซื้อนั่งล้อมกินกันเอร็ดอร่อย—” จึงทรงให้ซื้อมาและ “—แยกส่วนดูเพื่อการไต่สวนทำรายงานถวายมาทางกรุงเทพฯ—” และทรงรายงานว่า “—ตัวน้ำยานั้นหม่อมฉันเอามาดู ดมกลิ่น เหมือนแกงส้มต้มกะปิ วานให้หญิงเหลือชิมรส บอกว่ารับไม่อยู่—”

และสิ่งที่มักทรงเล่าอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นทั้งความสุขและความทุกข์ของพระองค์ คือการเล่าเรื่องพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ ซึ่งเสด็จประพาสและประทับพักผ่อนที่ปีนัง โดยมักทรงรับเป็นพระธุระนำเสด็จไปทอดพระเนตรสถานที่ต่างๆ ซึ่งก็มักมีเรื่องทุกข์สุขต่างๆ มาเล่าสู่กันฟังในภาวะที่บ้านเมืองไม่ปกติมีผลกระทบต่อพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ไม่มากก็น้อย จึงทรงมีความสุขที่ได้ทรงมีโอกาสพบปะพี่น้อง ความทุกข์เมื่อทรงทราบถึงเหตุการณ์เลวร้ายของบ้านเมือง อีกเรื่องหนึ่งที่มักทรงเล่าและวิจารณ์คือเรื่องภาพยนตร์ ซึ่งโปรดทอดพระเนตร หากมีเรื่องใดน่าสนพระทัยก็จะทรงเขียนเล่า และแนะนำให้ทรงไปทอดพระเนตรเมื่อภาพยนตร์เรื่องนั้นไปฉายที่กรุงเทพฯ

ดังปรากฏในลายพระหัตถ์ฉบับหนึ่งว่า “—หม่อมฉันได้เห็นในหนังสือพิมพ์ เขาประกาศจะเล่นหนังฉายเรื่อง Tarzan and his Mate ในกรุงเทพฯ พร้อมๆ กับเล่นที่ปีนังนี้ หม่อมฉันได้ไปดูแล้ว น่าดูมาก หวังใจว่าทางกรุงเทพฯ ท่านจะได้เสด็จไปทอดพระเนตรแล้ว—” ยังเมื่อทรงทวีอาการพระกรรณตึง ก็ยิ่งทรงเบื่อหน่ายสิ่งรอบตัวเป็นทวีคูณ ในช่วงหลังกิจวัตรส่วนใหญ่ของพระองค์จึงทรงวนเวียนอยู่ในโลกส่วนพระองค์ด้วยการอ่านและเขียนเกือบตลอดเวลา จึงไม่น่าแปลกที่จดหมายเวรของเจ้านายทั้ง 2 พระองค์ จะมีทั้งปริมาณมหาศาลและเข้มข้นด้วยคุณภาพจนกลายเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติ

แม้ขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทั้งปีนังและไทย ต่างก็มีระเบียบเข้มงวดกวดขันในการส่งข่าวสารถึงกัน จดหมายเวรได้รับผลกระทบ คือ ทั้งล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดและถูกตรวจตราทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายปีนัง แต่เจ้านายทั้ง 2 พระองค์ ก็มิทรงย่อท้อ ดังที่ทรงให้คำมั่นสัญญาไว้ในลายพระหัตถ์ฉบับหนึ่งว่า “—สำหรับตัวเราทั้งสอง การเขียนจดหมายเวร เป็นบ่อเกิดความรื่นรมย์ในเวลาเมื่อแก่ชราด้วยกันมากว่า 5 ปีแล้ว ถ้ายังเขียนได้อยู่ตราบใด ควรเขียนต่อไปตามเดิม เมื่อเขาจะตรวจหรือทำอย่างไรก็ตามใจเขา—”

ด้วยเหตุนี้แม้ที่ปีนังหรือกรุงเทพฯ จะอยู่ในภาวะคับขันเพียงใด ตั้งแต่เริ่มมีการพรางไฟ ซ้อมหลบภัยและเตรียมการเข้าสู่สงคราม จนถึงเข้าสู่สงครามอย่างเต็มรูปแบบ แต่สำหรับเจ้านายไทยทั้ง 2 พระองค์นั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมิได้เป็นอุปสรรคในการที่จะติดต่อถึงกันทั้งเชิงความรู้และสายใยแห่งความระลึกถึงกัน จดหมายเวรจึงได้ดำเนินต่อไปจน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีโอกาสเสด็จกลับประเทศไทยใน .. 2485

ฟังดูว่าอุปสรรคขวากหนามต่างๆ ที่ต้องทรงเผชิญนั้น เจ้านายทั้ง 2 พระองค์ก็มิได้ทรงย่อท้อต่างทรงช่วยกันฟันฝ่าข้ามพ้นอุปสรรคทั้งปวงมาจนได้ แต่ก็มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่น่าจะกล่าวถึงว่าเกือบจะเป็นสาเหตุให้จดหมายเวรของเจ้านายทั้ง 2 พระองค์ต้องสะดุดหยุดลง เหตุการณ์นั้นคือภัยการเมืองอันจะมีผลเกี่ยวพันถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ทรงยกไว้เหนือเกล้า สาเหตุครั้งนั้นเกิดจากความระแวงแคลงใจของรัฐบาลซึ่งยังไม่มีความมั่นใจกับความมั่นคงของตนเองและพวกพ้อง เมื่อพบข้อความในจดหมายเวรวิจารณ์การทำงานของหน่วยงานในรัฐบาล ความว่า

“— เมื่อได้อ่านหนังสือพิมพ์ถึงการปรึกษาและโต้ตอบกันในรัฐสภาเห็นหลายเรื่องที่มูลเหตุเกิดขึ้นภายในเวลาเพียง 25 ปี ช่างไม่มีใครรู้มูลเหตุนั้นเสียเลย ทั้งฝ่ายถามและฝ่ายตอบ หนังสือจดหมายเหตุเรื่องเหล่านั้นก็มีอยู่ตามกระทรวงทบวงการ ดูไม่ตรวจตราสืบสวนกันเสียเลย—”

พระวิจารณ์นี้แม้อาจเป็นประโยชน์กับรัฐบาลก็ตาม แต่รัฐบาลก็ไม่ยอมที่จะมองถึงประโยชน์ กลับระแวงว่าจะเป็นภัยกับตน จึงส่งผลกระทบมาถึง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ทำให้ต้องทรงระวังพระองค์มิให้ฝ่ายรัฐบาลถือเป็นข้ออ้างตำหนิพระองค์ ซึ่งหมายถึงพระเกียรติยศของพระเจ้าอยู่หัวด้วย ครั้งนั้นถึงกับมีพระประสงค์จะยุติการเขียนจดหมายเวร ดังปรากฏเหตุผลที่ทรงกราบทูลไปยัง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า “—อย่างไรก็ดีฝ่าบาทประทับอยู่ที่ปีนัง จะตรัสอะไรก็ตรัสได้ เกล้ากระหม่อมเป็นสถานีกรุงเทพฯ ย่อมมีภัย ตัวตายนั้นไม่เป็นไร แต่จะพาเอาพระราชกิจและพระเกียรติยศแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสียหายไปด้วยนั้นสำคัญมาก จึงขอประทานหยุดระงับหนังสือเสียทีตั้งแต่บัดนี้ไป—”

ดหมายเวรจึงน่าจะถึงคราวจะต้องยุติลงในครั้งนั้น แต่เพราะข้อความในจดหมายเวรของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงอ้อนวอนและให้คำมั่นสัญญาว่า “—ขอเขียนต่อไป โดยระวังมิให้ร้อนพระทัย หวังว่าท่านก็จะทรงเห็นอกและทรงเขียนต่อไป—”

จึงอาจกล่าวได้ว่าข้อความดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่ทำให้จดหมายเวรคงดำเนินต่อไป จนทำให้เกิดหนังสือที่ทรงคุณค่าที่สุดของชาติไทยเล่มหนึ่งคือ สาส์นสมเด็จ ก็ไม่ผิดนัก

 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤษภาคม 2563