“วัดทิพยวารีวิหาร” (กัมโล่วยี่) สถานที่มูเตลูสุดปัง หมุนกังหันเปลี่ยนดวงได้ ไม่ต้องไปไกลถึงฮ่องกง

วัดทิพยวารีวิหาร กัมโล่วยี่ มี เทพเปลี่ยนใจ มังกรเขียว

เข้าสู่ปี 2567 หลายคนน่าจะมีความเชื่อว่าต้องไปมูเตลูเพื่อสิริมงคลในชีวิต ชะล้างสิ่งไม่ดีไว้ปีเก่า แล้วเริ่มอะไรดี ๆ ในปีใหม่ “วัดทิพยวารีวิหาร” หรือ “กัมโล่วยี่” อดีตวัดญวนแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งที่ที่หลายคนแวะเวียนเข้าไปกราบไหว้ เพราะเชื่อว่าเทพเจ้าในวัดแห่งนี้จะช่วยคุ้มครอง ทั้งยังมี “เทพเปลี่ยนดวง” เปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี ที่ไม่ต้องบินไปไกลถึงฮ่องกงก็สามารถหมุนกังหันเสริมบารมีได้ นอกจากนี้ยังมี “เจ้าพ่อมังกรเขียว” ไว้สักการะบูชา ซึ่งตรงกับนักษัตรประจำปีนี้ คือ ปี “มังกร” อีกด้วย

“วัดทิพยวารีวิหาร” สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี ทั้งยังเป็นวัดญวนมาก่อน เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้พระราชทานที่ดินฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือฝั่งพระนคร ให้เป็นพื้นที่อาศัยของชาวญวน ทำให้พื้นที่ดังกล่าวซึ่งถูกเรียกว่า “บ้านญวน” เต็มไปด้วยชาวญวน รวมไปถึงชาวจีนบางส่วน ซึ่งทั้งหมดอพยพติดตาม องเชียงชุน โอรสเจ้าเมืองเว้ และพระยาราชาเศรษฐี ญวนม่อเทียนซื่อ เข้ามาในสยามช่วง พ.ศ. 2319

ทว่าต่อมา สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท “วังหน้า” ในรัชกาลที่ 1 ทรงไม่ไว้ใจชาวญวนขึ้นมา เนื่องจากในตอนนั้น องเชียงสือ พระนัดดาเจ้าเมืองเว้ที่หนีมาสยาม ได้ลักลอบกลับไปที่เมืองญวน ทำให้ชาวบ้านบริเวณดังกล่าวต้องย้ายออกไปจากพระนคร ชุมชนดังกล่าวจึงกลายมาเป็นที่อยู่อาศัยของคนไทยและคนไทยเชื้อสายจีนสืบมา ทำให้วัดแห่งนี้กลายเป็นวัดร้าง

กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 พระอาจารย์ไหซัน (พระธรรมรสจีนศาสน์ ปลัดสงฆ์จีนนิกาย) พระภิกษุชาวหูหนาน ได้เข้ามาพำนักที่วัดกามโล่ตื่อ (ชื่อเดิม) ที่ร้างอยู่ ก่อนเชิญชวนให้คหบดีชาวจีนที่ค้าอยู่แถบนั้นมาช่วยกันบูรณะวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2449 จนเมื่อแล้วเสร็จก็เรียกชื่อใหม่ว่า “กัมโล่วยี่” ส่วนชื่อไทยนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงช่วยคิดนามถวายว่า “ทิพยวารี” มาจากบ่อน้ำทิพย์ที่อยู่คู่กับวัดมายาวนานตั้งแต่แรก

ภายในวัดทิพยวารีวิหาร ประกอบไปด้วยพระประธาน 3 องค์ ได้แก่ พระศากยมุนี พระไภษัชยคุรุ และ พระอมิตาภะ แต่ที่แนะนำและเป็นไฮไลต์ของวัดแห่งนี้ที่ทุกคนต้องมากราบไหว้คือ “เจ้าพ่อมังกรเขียว” และ “เทพเปลี่ยนดวง” 

เหตุที่หลายคนล้วนมาสักการะบูชา “เจ้าพ่อมังกรเขียว” หรือ “เทพมังกรเขียว” (แซเล่งเอี๊ย) เพราะเชื่อว่าเป็นผู้ปกปักรักษาน้ำทิพย์ประจำวัด มีพลังเข้มขลัง ช่วยคุ้มครองชะตา เสริมบารมี อีกทั้งชื่อ “แซเล่งเอี๊ย” ยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงมังกรเขียวที่ศาลเจ้าพ่อมังกรเขียว แชเล่งโกวเบี่ย ที่ริมแม่น้ำหั่งกั่ง อีกด้วย 

ส่วนอีกความเชื่ออาจได้รับมาจากตำนานเจ้าพ่อมังกรเขียว ที่ ศาลเจ้าแชเล้ง หรือ ศาลเจ้าอังจี่เสี่ยอ๊วง ที่แต้จิ๋ว ซึ่งมีตำนานเล่าขานมาว่าเดิมเคยเป็นงูเขียวร่วมเดินทางทัพในสมัยราชวงศ์ซ่ง จนกองทัพรบชนะ งูนี้ก็มาร่วมอวยชัยด้วย จึงทำให้ราชสำนักยกย่องให้เป็นมังกรเขียว ทั้งยังเชื่อว่ามังกรเขียวยังช่วยให้ฝนตกตามฤดู ทำให้ผู้คนสัญจรทางน้ำปลอดภัย (แอบกระซิบว่าเหมาะกับการไหว้ในช่วงปีนี้อย่างมาก เพราะตรงกับนักษัตรมังกรพอดิบพอดี)

ด้าน “เทพเปลี่ยนดวง” เชื่อว่าใครหลายคนที่เป็นสายมูต้องรู้จัก วัดกังหัน หรือ แชกงหมิว ใน ฮ่องกง ว่ากันว่าองค์เทพจะช่วยเปลี่ยนดวง จากร้ายให้กลายเป็นดี คนเกลียดให้กลับมารัก ซึ่งที่วัดกัมโล่วยี่ก็มีเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องบินไกลไปถึงต่างประเทศ จึงทำให้เมื่อใครมาเยือนที่วัดแห่งนี้จะต้องมาไหว้บูชาสักการะท่านอยู่เสมอ

ในวัดยังมี “เทพอุ้มสม” หรือ เทพฮัว-ฮะหน่อเซียน ที่เหมือนกับวัดบำเพ็ญจีนพรต ซึ่งช่วยเรื่องความรัก เมตตามหานิยม หากใครที่อยากให้ลูกน้องบริวารรักใคร่กลมเกลียวกันก็เพียงนำลูกอมไปไหว้แล้วนำมาแจกให้ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ช่วยได้เป็นอย่างดี 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ภิญโญ พงศ์เจริญ, ดาวพลูโต, วิกรานต์ ปอแก้ว, บุศรินทร์ ปัทมาคม, ซินแสภาณุวัฒน์ พันธุ์วิชาติกุล, สมชาย แซ่จิว, โหรวสุ, การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ และธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล. ศาสตร์แห่งโหร 2567. กรุงเทพฯ: มติชน, 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มกราคม 2567