มูสายมังกร ปีใหม่ไปไหว้เจ้าขอพรที่ไหนดี

เทพเจ้า
บางส่วนของเทพเจ้า ที่วัดทิพย์วารี ที่คนนิยมไปไหว้ขอพร (ภาพจาก วิภา จิรภาไพศาล)

ปีใหม่ “ไหว้ขอพร” จากพระวัดต่างๆ เป็นธรรมเนียมซึ่งเป็นที่นิยมมาสัก 10 กว่าปี ทำเนียบวัดที่ควรไหว้จึงมีมาให้เลือกหลากหลาย แล้วปีใหม่ถ้าจะไปไหว้ขอพรจากเทพต่างๆ ตามคติจีนดูบ้าง จะไปที่ไหนดี แต่ละที่จะขออะไร จึงขอรวบรวมมาเป็นตัวอย่างดังนี้

1. วัดบำเพ็ญจีนพรต (ย่งฮกยี่) วัดจีนแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่บนถนนเยาวราช ในซอยเยาวราช 8 นอกจากจะมีการประดิษฐานพระศากยมุนีพุทธเจ้า, พระอมิตาภะพุทธเจ้า, พระไภษัชยะคุรุพุทธเจ้า และมีพระอรหันต์ 18 องค์ ขนานซ้ายขวา ตามแบบวัดจีนทั่วไปแล้ว ที่วัดบำเพ็ญจีนพรตยังมี “เทพ” ให้ไป ไหว้ขอพรอีกหลายองค์ ไม่ว่าจะเป็น ไท่ส่วยเอี๊ย-เทพคุ้มครองดวงชะตา, ไฉ่สิ่งเอี๊ย-เทพแห่งโชคลาภ ฯลฯ

แต่ที่อยากแนะนำคือ ฮัว-ฮะ หน่อเซียน หรือเทพอุ้มสม เป็นเทพ 2 องค์ มีตำนานเล่าขานเรื่องความมงคลหลายกระแส ไปไหว้ ฮัว-ฮะ ขอเรื่องเดียว คือ ความรักใคร่สามัคคี ไม่ว่าจะเป็นของหนุ่มสาว, พี่น้อง

2. ศาลเจ้ายี่กอฮง ตั้งอยู่บนดาดฟ้าของสถานีตำรวจพลับพลาไชย เดิมเป็นที่ตั้งคฤหาสน์ของยี่กอฮง อดีตนายอากรบ่อนเบี้ย ไปไหว้ยี่กอฮงขอเรื่องเดียวเลย โชคลาภ ไม่ว่าตัวสองตัว สามตัว ฯลฯ แม่นหรือเปล่าไม่ทราบ แต่กาแฟ หมากพลู ฯลฯ ที่คนไปไหว้มีตั้งให้เห็นไม่ขาด

3. ศาลเจ้าโจวซือกง ตั้งอยู่ในซอยภาณุรังษี ย่านตลาดน้อย เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ ประวัติการสร้างไม่แน่ชัด แต่ป้ายหินหน้าศาลระบุว่าสร้างตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ 1 โจวซือกง-เป็นพระภิกษุที่ชาวจีนฮกเกี้ยนนับถือ (ขณะที่ชาวจีนแต้จิ๋วนับถือไต้ฮงกง)

โจวซือกง ตัวจริงท่านเป็นบุคคลสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ มีเรื่องเล่าถึงคุณวิเศษความสามารถหลายอย่าง หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “การแพทย์” ที่ท่านใช้ตัวเองทดลองยาที่ปรุงก่อนใช้รักษาคนอื่น ซึ่งทำให้ท่านกลายเป็น “พระหน้าดำ” เพราะฤทธิ์ยา เช่นนั้นไปที่นี่หลักๆ จึงไปไหว้โจวซือกง ขอพรเรื่องสุขภาพ

4. วัดทิพย์วารี (กัมโยวยี่) ตั้งอยู่ถนนตรีเพชร ตรงข้ามดิโอลด์สยาม นอกจากประดิษฐานพระพุทธรูปตามแบบวัดจีน แต่สำหรับสายมู ที่นี่ยังมีเทพหลายองค์ให้ไหว้พร ได้แก่

แชเล่งเอี๊ย-เทพมังกรเขียว ที่ปกปักรักษาบ่อน้ำทิพย์ของวัด เป็นเทพเจ้าท้องถิ่นแต้จิ๋วที่ช่วยให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล, การสัญจรทางน้ำปลอดภัย ปี 2567 ปีนักษัตรมังกรดีซะด้วย

จวงซิมถงจื้อ-เทพเปลี่ยนดวง (บ้างเรียกเทพเปลี่ยนใจ) เพราะเชื่อกันว่า เมื่อไหว้ขอพรกับท่านแล้ว สามารถเปลี่ยนศัตรูเป็นมิตร เปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี ฯลฯ โดยมีกังหันให้หมุน แบบเดียวกับวัดกังหัน หรือแชกงหมิว ที่ฮ่องกง

5. ศาลเจ้ากวนอู มีหลายแห่งด้วยกัน แต่ที่จะแนะนำเป็นศาลเจ้ากวนอู ที่ซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 เขตคลองสาน เพราะเป็นศาลเก่าแก่ตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา ที่นี่มีรูปเคารพกวนอู 3 แผ่นดิน 1. ทำจากไม้จันทน์หมอ อัญเชิญมาจากฮกเกี้ยน (ฟูเจี้ยน) ประเทศจีนปลายแผ่นดินกรุงศรีฯ 2. อัญเชิญจากจีนอีกเช่นกัน แต่ในรัชกาลที่ 1 3. เจ้าสัวคุงเส็งบูรณะศาลใหม่แล้วอัญเชิญรูปเคารพอีกองค์มาในสมัยรัชกาลที่ 2

สำหรับการไหว้ “กวนอู” ก็ต้องขอเกี่ยวกับคดีความ ขอให้ชนะคดีความ แต่อย่าลืมว่าท่านต้องสุจริต เพราะกวนอูได้ชื่อว่าซื่อสัตย์ เที่ยงตรง ไม่งั้นขอไปก็อาจไม่ชนะ

6. ศาลเจ้าปุดจ้อ-ปุดจ้ออ๊าม ซอยภูธร ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมือง ภูเก็ต เป็นศาลเจ้าเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เดิมชื่อ “ศาลเจ้าเต้กุ๊น” แต่ภายหลังอัญเชิญรูปเคารพเจ้าแม่กวนอิมมาประดิษฐาน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ปุดจ้อ” หรือ ฝอจู่ ซึ่งหมายถึง พระอวโลกิเตศวร หรือพระกวนอิมนั่นเอง ซึ่งกวนอิมที่นี่เป็นปางประทานบุตร การไหว้ขอพรที่ดีจึงเป็นเรื่องขอบุตร และคู่ครอง 

ที่ยกมาก็แต่ตัวอย่าง ยังมีศาลเจ้า, วัดจีน, โรงเจ อีกหลายแห่ง ที่ผู้คนให้ความนับถือศรัทธา “ไหว้ขอพร” ส่วนใครได้อย่างที่ขอหรือเปล่าไม่ทราบได้ แต่ถ้าทำให้มีกำลังใจ ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่รบกวนคนอื่น ก็จัดไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก สมชาย แซ่จิว. “มู เหนือ มังกร” ใน, ศาสตร์แห่งโหร 2567, สำนักพิมพ์มติชน, ธันวาคม 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2566