ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2549 |
---|---|
ผู้เขียน | พิทยา บุนนาค |
เผยแพร่ |
“ปลัดขิก” หรือ ขุนเพ็ด เป็น “ของขลัง” ที่คนไทยส่วนมากคุ้นชื่อ เดิมนั้นใช้ปลัดขิกในการหลอกผี ต่อมามีพัฒนาการสู่การเป็นของขลัง แต่ช่วงหนึ่งกลับมีการกวาดล้าง เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
“ผี” ในสังคมไทย มีทั้งผีบรรพบุรุษ ผีบ้าน ผีเรือน ผีเจ้าที่ ผีเจ้าทาง ฯลฯ แต่ยังมีผีอีกจำพวกที่ส่งอิทธิพลแก่ความเป็นอยู่ทุกข์สุขของชาวบ้าน ผีเหล่านี้ดูออกจะเป็นผีชั้นเลว ผีเกเร ผีอันธพาล รังแต่จะคอยรังควานชีวิตไม่ให้สงบราบรื่น ผีกลุ่มนี้เองที่ทำให้เกิด “พิธีกรรมหลอกผี” ขึ้น
วิธีหลอกผีในชีวิตประจำวันเกี่ยวข้องกับการเกิดอยู่มาก ทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะอัตราการอยู่รอดในช่วงแรกเกิดตลอดไปถึงทารกและเด็กในสมัยโบราณนั้นค่อนข้างจะต่ำ ด้วยเหตุนี้พวกผีๆ ทั้งหลายจึงต้องรับกรรมจำยอมตกเป็นจำเลยของสังคมไปโดยปริยาย
เมื่อท้องแก่ใกล้คลอดก็จำเป็นจะต้องหลอกผี โดยให้ผีเข้าใจไปว่า หญิงนั้นได้ตายไปแล้วในการคลอดลูก และเมื่อถึงการคลอดจริงก็หวังว่าผีจะไม่มาข้องแวะ อย่างน้อยก็คงทำให้สบายใจขึ้น วิธีหลอกผีในที่นี้จะต้องทำตัวแทนเป็นตุ๊กตาดินปั้นอยู่ในรูปหญิงนั่งอุ้มเด็ก จากนั้นจึงทำพิธีหักคอตุ๊กตา และนำไปฝังไว้ทางสามแพร่ง อันเป็นที่สัญจรของเหล่าผีๆ เพื่อให้พวกผีรับรู้กันทั่วว่า หญิงนั้นได้ตายแล้วในการคลอดลูก หรือหากเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะใช้กรรมวิธีเดียวกันนี้หลอกผีว่าผู้ป่วยได้สิ้นชีวิตไปแล้ว ปรากฏหลักฐานในการขุดพบตุ๊กตาดังกล่าวเป็นจำนวนมากในสุโขทัย ที่นิยมเรียกกันว่า “ตุ๊กตาเสียกบาล”
หลังจากคลอดก็ต้องตั้งชื่อเด็กมิให้เป็นมงคล ชมกันว่าน่าเกลียดน่าชัง ไม่มีใครต้องการรับเป็นลูก ดูเหมือน 3 วันแรกคลอดจะนับว่าเป็นช่วงวิกฤต “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน” หากพ้นช่วงนี้ไปแล้วก็ใช่ว่าผีจะไม่มารังควาน ยังจำเป็นจะต้องหลอกหลอนพวกผีๆ กันอีกต่อไป มิให้มารบกวนเด็ก เพราะผีสางนั้นดูเหมือนจะคอยแกล้งมิให้ใครได้อะไรที่รักที่ปรารถนา ฉะนั้นต้องทำเสแสร้งหลอกผีว่าไม่ต้องการ ใครอยากได้ก็เอาไป เพราะเป็นเด็กที่ไม่มีใครปรารถนา
“ทางเมืองเชียงใหม่ ถ้าลูกเจ้าหลานนายเกิดมามักใช้ชื่อ 2 ชื่อ ชื่อหนึ่งเป็นสามัญสำหรับตัว อีกชื่อหนึ่งสำหรับให้ผีเกลียด เช่น ชื่อว่า “อึ่ง” บ้าง “กบ” บ้าง “เขียด” บ้าง” (ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. “ตำนานเสภา”.)
ช่วงที่ยังเป็นเด็กอยู่นี้ หากเป็นเด็กชายก็จะนิยมให้แขวน “ปลัดขิก”
คำว่า ปลัด หมายถึง “ตำแหน่งรองจากตำแหน่งที่เหนือกว่า” แต่คำว่า ขิก ยังหาที่มาไม่ได้ แต่ก็คงมีความหมายถึง อวัยวะเพศชาย อย่างไม่มีข้อสงสัย และคงเป็นคำท้องถิ่นภาคกลางมาแต่เดิม เพราะรูปลักษณะของปลัดขิกก็คืออวัยวะเพศชายจำลองย่อส่วนที่ปราศจากหนังหุ้มปลาย
คำว่าขิก คงจะเลิกใช้มานานแล้ว เพราะคงจะเห็นว่าเป็นคำหยาบ โดยได้หันมาใช้คุยฺหํ ซึ่งเป็นคำภาษาบาลีแทน และแผลงมาเป็นควยในภาษาไทย แต่อยู่ไปในที่สุดคำนี้ก็กลายเป็นคำหยาบไปอีก แต่ก็ยังคงไม่เลิกใช้กัน ปัจจุบันกลับกลายเป็นคำกำนัลที่มอบให้แก่กันในยามเกิดการพิพาทบาดหมาง
ปลัดขิก บางครั้งก็เรียกว่า “ขุนเพ็ด”
ปลัดขิก หรือ ขุนเพ็ด จะทำจากไม้มงคล กัลปังหา เขาสัตว์ หรืองา นิยมแขวนไว้ที่ระดับเอว เพราะฉะนั้นเด็กที่แขวนปลัดขิกจึงควรมีอายุประมาณ 3-4 ขวบขึ้นไป เพราะจะเริ่มมีเอวแล้ว ระยะนี้ภูมิคุ้มกันของเด็กจะลดถอยลง ด้วยว่าหย่านมแล้ว จึงมีแนวโน้มที่จะเจ็บไข้ได้ง่าย และในกรณีนี้พวกผีๆ ที่น่าสงสารก็ต้องตกเป็นจำเลยสังคมอีกตามเคย
จะสังเกตได้ว่า ปลัดขิกที่นำมาแขวนให้กับเด็กชายนั้น จะอยู่ในลักษณะของ “องคชาต” จำลองย่อส่วนโดยปราศจากหนังหุ้มปลาย ระดับของการแขวนก็อยู่ที่เอว มิใช่คอ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ห้อยลงมาใกล้กับระดับองคชาต (อ้ายจู๋) ของเด็กให้มากที่สุด เพื่อจะหลอกผีให้เข้าใจผิดไปว่าเด็กชายนั้นใช่เด็ก หากเป็นผู้ชายเต็มตัวแล้ว โดยมีองคชาตที่ปลายเปิดไม่มีหนังหุ้ม ส่วนปลัดขิกเหล่านี้ หากจะให้มีความขลังยิ่งขึ้นก็ควรจะต้องผ่านการปลุกเสกเสียด้วยอีกต่างหาก
ปลัดขิกเริ่มด้วยเป็นเครื่องมือหลอกผี แต่แล้วต่อมาก็ได้ยกระดับตัวเองให้กลายสภาพจากเครื่องมือหลอกผีมาเป็น “ของขลัง” ในตัวของมันเอง โดยไม่จำกัดอยู่กับวัยอีกต่อไป ผู้ใหญ่ซึ่งไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดที่จะหลอกผีให้เข้าใจผิด ก็ยังนิยมที่จะแขวนไว้เป็น “เครื่องราง” ป้องกันสิ่งชั่วร้าย โดยไม่รู้ถึงสาเหตุหน้าที่ของมัน
ในที่สุด ปลัดขิก หรือ ขุนเพ็ด ก็ได้ประกาศอิสรภาพยกฐานะตัวเองขึ้นไปอีกระดับ กลายเป็นสิ่งสมควรแก่การเคารพบูชากราบไหว้ สถิตอยู่ตามศาลหรือเป็นเครื่องนำโชคลาภตั้งไว้บูชา หรือเป็นเครื่องมือเพื่อนำความเจริญก้าวหน้าเนื่องในการทำมาค้าขาย โดยทั่วไปจะนำปลัดขิกไปจิ้มลงบนสินค้าพร้อมกับมีคาถากำกับว่า “โอม ระรวยมหาระรวย สามสิบสอง-วยแห่ห้อมล้อม-ีค้าง่ายขายดีแหก-ีกลับบ้าน ฮ่า ฮ่า ฮ่า” (ควรร่ายด้วยลมหายใจเฮือกเดียว แต่ทำไมจึงต้องสามสิบสอง เรื่องนี้ยังสืบไม่ได้)
หรือ “…โอม ไอ้ขลิกไอ้ขลัก เงี่ยงหักเงี่ยงหงิก ปกเอยปกหาง หางเอยหางอะไร บุรุษชอบ-ี สตรีชอบ-วย ทำให้กูร่ำรวย โพะหัว โพะหัว โพะหัว” (คาถาของหลวงพ่อซ่วน เมืองแปดริ้ว ฉะเชิงเทรา) แต่หากจะตรองดูก็จะเห็นว่า การที่ใช้คำที่ไม่ค่อยสุภาพเป็นคาถากำกับ ก็เพื่อจะให้พวกผีๆ เข้าใจไปว่า สินค้าที่วางขายนั้นเป็นของที่ไม่มีราคาค่างวดวิเศษวิโสอะไร ไม่คุ้มกันที่พวกผีจะมาใส่ใจเสียเวลามารบกวน
การเปลี่ยนหน้าที่ยกฐานะ 3 ระดับ จากเครื่องมือหลอกผี มาเป็นเครื่องรางของขลัง และในที่สุดกลายมาเป็นสิ่งควรแก่การเคารพบูชา หรือเครื่องนำโชคลาภ ยังให้เกิด “ลัทธิบูชาปลัดขิก” ขึ้น โดยมีศาลผุดขึ้นทั่วไป ศาลใดมีอานุภาพเฉพาะกิจสามารถบันดาลให้มีลูกชายได้สมตามที่ได้บนบานไว้ มีผู้คนที่จะนำเอาปลัดขิกไปบูชาเพิ่มขึ้น ลามไปถึงความก้าวหน้าทางธุรกิจทำมาหากิน
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ราว พ.ศ. 2549 จำนวนศาลเหล่านี้ได้ถูกกำจัดไปเสียมากโดยทางการ จึงคงยังมีเหลือไม่มากนัก ที่ยังมีเหลืออยู่ในบริเวณพื้นที่ส่วนบุคคลที่ทางการไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ หรือไม่ก็เป็นศาลที่อยู่ไกลหูไกลตา
เหตุผลที่ทางการใช้อ้างในการกวาดล้างศาลเหล่านี้ก็เพราะ “อายชาวต่างชาติ” ซึ่งเรื่องนี้ความสำคัญมิได้อยู่ที่การคุกคามกวาดล้างจัดระเบียบศาลทั้งหลาย หากเป็นเกณฑ์ที่สามารถส่อให้เห็นถึงการขาดขั้นตอนในความสืบเนื่องของสังคมเสียมากกว่า
อ่านเพิ่มเติม :
- “งั่ง” เครื่องรางสายเสน่ห์ฤทธิ์เหลือร้าย และที่มาของคำด่า “ไอ้งั่ง”
- ทำไมยุคหนึ่ง “จตุคามรามเทพ” เครื่องรางของขลัง ถึงมีมูลค่านับหมื่นล้าน?
- ความเชื่อเรื่อง “เวทมนตร์คาถา” มูเตลูสมัยอยุธยา? นิยมทั้งราษฎรไปจนถึงราชสำนัก
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ปลัดขิกและองคชาต” เขียนโดย พิทยา บุนนาค ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2549
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 สิงหาคม 2566