ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ต้นเค้ากำเนิด “แว่นตา” สันนิษฐานว่าเริ่มมาจากการค้นพบผลึกหินที่มีคุณสมบัติเป็นเลนส์ขยาย เมื่อราว 1,200 ปีก่อนคริสตกาล บนเกาะครีต อริสโตปานิส นักแต่งละครชาวกรีกก็เคยกล่าวถึง “เลนส์” ที่ทำจากผลึกหินนี้ในละครชวนหัวเรื่อง The Clouds
แรกปรากฏแว่นตาในประวัติศาสตร์
ในสมัยจักรพรรดินีโรแห่งจักรวรรดิโรมัน ก็ทรงใช้อุปกรณ์ที่ทำจากมรกต ส่องดูการแข่งขันต่อสู้ที่สนามโคลอสเซียม ซึ่งนับเป็นหลักฐานการใช้อุปกรณ์ช่วยมองเห็นยุคแรก ๆ ต่อมา มนุษย์จึงเริ่มนำแก้วที่มีลักษณะเป็น “เลนส์” มาใช้
ขณะที่ ซีนากา นักแสดงละครโศกนาฏกรรมสมัยโรมัน ราวคริสต์ศตวรรษที่ 1 บันทึกไว้ว่าเขาเคยอ่าน “หนังสือหมดกรุงโรม” ผ่านลูกแก้วซึ่งมีลักษณะคล้ายลูกโลก ภายในบรรจุน้ำเต็มเพื่อขยายตัวอักษรให้ใหญ่มากยิ่งขึ้น
ถึงยุคกลาง เชื่อว่าแว่นตาได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้คิดค้นขึ้นเป็นคนแรก หลักฐานในช่วงเวลานั้นที่กล่าวถึงแว่นตา เช่น นิโคลัส บุลเลต นักบวชชาวฝรั่งเศส สวมใส่แว่นในการลงนามสัญญาฉบับหนึ่ง ใน ค.ศ. 1282, กวีชาวเยอรมันเคยกล่าวถึงความอัศจรรย์ของแว่นตา ในงานเขียนระหว่าง ค.ศ. 1260-1284, มาร์โคโปโล ที่เดินทางมายังเอเชียได้บันทึกใน ค.ศ. 1295 ว่าได้พบ “งูใส่แว่นตาในอินเดีย” ซึ่งหมายถึงส่วนหลังของงูเห่ามีลวดลายคล้ายแว่นตา
แต่การประดิษฐ์แว่นตาสันนิษฐานว่าน่าจะกระทำกันอย่างแพร่หลายในดินแดนอิตาลี ปรากฏหลักฐานที่เขียนขึ้นใน ค.ศ. 1301 ระบุว่า ศิลปะและการประดิษฐ์แว่นตาและแว่นขยายเป็นของ “สมาคมวิชาชีพแก้วเจียระไน” แห่งเวนิส
นอกจากนี้ กิออร์คาโน ดาริวอลโต นักบวชคนหนึ่งได้กล่าวสรรเสริญแว่นตาที่โบสถ์ในเมืองฟลอเรนซ์เมื่อ ค.ศ. 1306 ว่า
“นับเวลาได้ 20 ปีแล้ว ที่ได้มีผู้ค้นคิดประดิษฐ์แว่นตาขึ้นมา ซึ่งช่วยให้เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น…ข้าพเจ้าสามารถมองเห็นในสิ่งที่แต่ก่อนเคยได้ยินแต่เสียงเท่านั้น…”
หากสังเกตแล้วจะพบว่า ผู้ที่ใช้แว่นตาในยุคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักบวช อันเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการผูกขาดความรู้ต่าง ๆ ทุกระดับ ทุกแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอักษรศาสตร์และเทววิทยา แว่นตาจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญของคนกลุ่มนี้ จึงไม่แปลกที่ผู้สวมใส่แว่นตาจะถูกมองว่าเป็นผู้คงแก่เรียน
พัฒนาการ “แว่นตา”
แต่อีกด้านหนึ่ง แว่นตาก็ถูกมองว่าเป็นการปฏิวัติคริสต์ศาสนา เป็นจุดเริ่มต้นของการกบฏและท้าทายต่อพระเป็นเจ้าและศาสนจักรก็ว่าได้
เพราะในสมัยนี้ที่ศาสนจักรกำลังเรืองอำนาจ ความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าการยุ่งเกี่ยวหรือเสริมเติมแต่งนอกเหนือจากสิ่งที่เป็นธรรมชาติโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับร่างกายมนุษย์ที่ถือว่าเป็นผลงานของพระเจ้านั้น เป็นบาปและความผิดอย่างมหันต์
เลนส์แว่นในยุคแรกทำจากหินควอทซ์ มีลักษณะโค้งนูน จึงเหมาะสำหรับคนสายตายาว ดังนั้น แว่นตาในยุคแรกจึงถูกมองว่าเป็น “แว่นคนแก่” เพราะใช้กับคนสูงอายุที่มีปัญหาสายตายาว
ส่วนกรอบแว่นตาก็ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ กระดูกสัตว์ กระดองเต่า โลหะ ฯลฯ ส่วนรูปร่างนั้นจะเป็นแว่นขยายกลม ๆ 2 อัน มีแผ่นโลหะคล้ายรูปตัว V ติดเชื่อมกัน และมีหมุดยึดเพื่อให้ตั้งอยู่บนดั้งจมูก
กระทั่ง ราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 โยฮันเนส เคปเลอร์ นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันตีพิมพ์คำอธิบายคุณสมบัติที่แตกต่างของเลนส์นูนและเลนส์เว้า จึงเริ่มมีการประดิษฐ์แว่นตาสำหรับคนสายตาสั้น
จากนั้นแว่นตาได้รับการพัฒนาและปรับปรุงแว่นตาเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน นำมาสู่แว่นตาหลากรูปแบบ โดยในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 ช่างแว่นตาชาวสเปนคิดนำริบบิ้นผูกกับกรอบแว่นตาไว้กับใบหู ต่อมาใน ค.ศ. 1599 เอลกรีโอ นักบวชชาวสเปนก็คิดค้นขาแว่นตาชนิดคล้องหูได้สำเร็จ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องความเทอะทะ น้ำหนักมาก กดทั้งดั้งจมูกและใบหู ก่อนที่ใน ค.ศ. 1730 เอ็ดวาร์ด สการ์เลตด์ จักษุแพทย์ชาวอังกฤษจะพัฒนาปรับปรุงประดิษฐ์แว่นตาที่มีขา ซึ่งสามารถปรับความกว้างให้เหมาะสมกับผู้สวมใส่ได้เป็นผลสำเร็จ ไม่กดทั้งดั้งจมูกและใบหู
ค.ศ. 1752 เจมส์ เอสคอฟ ช่างแว่นตาชาวอังกฤษก็คิดดัดแปลงให้ขาแว่นพับได้เพื่อเก็บสะดวกยิ่งขึ้น อันเป็นรูปแบบที่ใช้มาจนปัจจุบัน และ ค.ศ. 1756 เบนจามิน มาร์ติน ช่างทำแว่นตาชาวอังกฤษ ผลิตแว่นตาที่มีวงแหวนสีชาซ้อนในเลนส์แว่นอีกชั้นหนึ่ง วัตถุประสงค์เพื่อลดแสงที่เป็นอันตรายต่อดวงตา นับแว่นตาป้องกันแสงแดดในยุคแรก ๆ
นอกจากนี้ เบนจามิน แฟรงกลิน ยังได้ค้นคิดเลนส์สองชั้นได้ในช่วง ทศวรรษ 1780 และเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายสำหรับคนสูงอายุที่มีปัญหาทั้งสายตาสั้นและสายตายาวให้สามารถใช้แว่นตาอันเดียวกันได้โดยสะดวกโดยไม่ต้องเปลี่ยนแว่นไปมาอีกต่อไป
แม้แว่นตาที่มีขาหนีบดั้งจมูกจะใช้ในยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แต่กลับได้รับความนิยมในศตวรรษที่ 19 ทั้งที่มีการพัฒนารูปแบบ และรูปทรงหลากหลาย ซึ่งมักเป็นแบบมีห่วงร้อยเชือกหรือสายคาดศีรษะ นี่แสดงให้เห็นว่า ผู้คนเชื่อว่าแว่นตาเป็นสิ่งที่ช่วยบ่งบอกฐานะและช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพให้ดูเป็นคนสำคัญ
ทั้งนี้ก็เพราะ แว่นตาถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย นิยมกันในหมู่ชนชั้นสูงผู้มีอันจะกิน หากยิ่งเป็นแว่นตาที่ผลิตจากวัสดุที่มีค่าด้วยแล้ว ก็จะทำให้แว่นตานั้นมีมูลค่าเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกที่คนในศตวรรษหลังถึงคิดหวนกลับไปนิยมแว่นตาที่มีรูปแบบอย่างเก่า
นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา แว่นตาได้พัฒนาและเปลี่ยนรูปทรงให้เหมาะสมกับรสนิยมของแต่ละยุคแต่ละสมัย ในกึ่งกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 18 พวกผู้ดีชนชั้นสูงชาวฝรั่งเศสนิยมแว่นตาชนิดมีด้ามจับ ซึ่งมักนิยมติดกระจกเงาขนาดเล็ก ๆ ไว้ภายในที่ทำมุมเป็นองศาพอเหมาะที่จะสะท้อนให้ผู้ใช้ที่สอดรู้สอดเห็น สามารถแอบมองเหตุการณ์ด้านหลังของตนเองได้โดยไม่ต้องเสียมารยาทหันไปจ้องมอง
นอกจากนี้ชาวอังกฤษยังประดิษฐ์แว่นตาที่เรียกว่า แว่นวงแหวน ใน ค.ศ. 1800 และได้รับความนิยมจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีเลนส์กระจกเพียงข้างเดียวและใช้เหน็บที่เบ้าตาแทนการใส่ ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็มีการผลิตแว่นตาชนิดพิเศษที่เรียกว่า “เลนส์สัมผัส” หรือคอนแทคเลนส์ที่รู้จักกันอย่างดี
ขณะที่แว่นกันแดดยุคใหม่อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบันนั้นได้รับการพัฒนาโดย บริษัท Bausch & Lomb โดยแบรนด์ “Ray-Ban” ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เดิมมีจุดประสงค์ผลิตแว่นตาป้องกันแสงจากดวงอาทิตย์สำหรับนักบิน มีชื่อรุ่นว่า Aviator โดยมีเลนส์แว่นมีขนาดใหญ่โค้งมนเพื่อกันแสงทุกมุม ภายหลังสื่อมวลชนจับภาพนายพล ดักลาส แมกอาร์เทอร์ สวมแว่นนี้ขณะตั้งฐานทัพในฟิลิปปินส์ส่งผลให้แว่นกันแดดได้รับความนิยมอย่างสูง
ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านจักษุก้าวล้ำมาก โดยเฉพาะการเข้ามาของการทำเลสิก (Lasik) ซึ่งสามารถแก้ไขค่าสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น ยาว เอียง นั่นทำให้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม การสวมใส่แว่นตาอาจไม่ได้แค่ช่วยเรื่องปัญหาสายตา สำหรับบางคน แว่นตาช่วยสร้างบุคลิกภาพ สร้างความมั่นใจ สำหรับบางคน แว่นตามีมูลค่านำไปซื้อขายเพื่อเก็งกำไร สำหรับบางคน แว่นตามีคุณค่าต่อจิตใจ
แว่นตา จึงไม่เพียงแค่แว่นตาอีกต่อไป
อ่านเพิ่มเติม :
- เครื่องปรับอากาศ มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร
- ที่มาของ “ยิลเล็ตต์” ใบมีดโกนชนิดใช้แล้วทิ้ง ตอนแรกคนมองผู้คิดค้นว่า “เพ้อฝัน”
- “หลอดสี” สิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์ของ “จอห์น จี. แรนด์” ปฏิวัติวงการศิลปะ “อิมเพรสชันนิสม์”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อนันต์ชัน เลาหะพันธุ. (ตุลาคม, 2531). พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของแว่นตา. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 9 : ฉบับที่ 12.
แว่นตา-แว่นกันแดด. (สิงหาคม, 2557). สารคดี. ปีที่ 30 : ฉบับที่ 354.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มกราคม 2565