ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เกียงจูแหย (เสียงจีนกลางว่า “เจียงจื่อหยา”) นิยมเรียกกันทั่วไปอย่างยกย่องว่า “เกียงไท้กง – ผู้อาวุโสแซ่เกียง”
เกียงไท้กง เป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ และยังจัดเป็นยอดคนผู้ยิ่งใหญ่ทั้งคุณธรรมและความสามารถ มีความรู้เชี่ยวชาญทั้งบุ๋นและบู๊ แม้แต่ขงเบ้งก็ยังนับถือเป็นบุคคลในอุดมคติของตน แต่ชะตาชีวิตก็เล่นตลก ทั้งๆ ที่เกียงไท้กงเป็นคนใฝ่รู้ มีความรู้มาก แต่ในวัยหนุ่มกลับไม่ประสบความสำเร็จ ต่อเมื่อบั้นปลายจึงได้ดี เพราะเมื่อเกียงไท้กงอายุ 70 กว่าปี โจวเหวินหวาง ปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนาราชวงศ์โจว มาเชิญเขาด้วยตนเอง เพื่อให้ไปเป็นที่ปรึกษาและแม่ทัพเพื่อล้มราชวงศ์ซาง
เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ เป็นภาพจิตรกรรมหนึ่งที่เห็นบ่อยตามศาลเจ้า, โรงเจ ฯลฯ คือภาพขุนนางยืนอยู่กับคนแก่ที่ตกปลาริมน้ำ ชื่อว่าภาพ “โจวเหวินหวางเชิญเมธี” ชายที่ใส่ชุดขุนนางคือโจวเหวินหวาง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โจว ส่วนคนแก่ตกปลาคือเกียงไท้กง เป็นปราชญ์เมธีผู้มีความสามารถ (ซึ่งเป็นตอนหนึ่งในวรรณกรรมจีนเรื่องห้องสิน)
ภาพนี้สื่อความหมายเป็นนัยๆ เรื่องการเลือกใช้คนให้เหมาะสมกับงาน แล้วยังเป็นกำลังใจให้คนยังไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพ ให้สะสมความรู้ ฝึกฝนฝีมือ รอเวลาของตัวเอง
เมื่อเกียงไท้กงไปอยู่กับโจวเหวินหวางก็ช่วยวางแผนทำศึกโค้นราชวงศ์ซาง และสถาปนาราชวงศ์โจวสำเร็จ ตัวท่านเองได้เป็นเจ้าผู้ครองนครไปครองแคว้นฉี ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าตงอี๋ ต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม แต่เกียงไท้กงไม่ได้ใช้อํานาจบังคับให้พวกตงอี๋ทิ้งวัฒนธรรมตนเอง กลับศึกษายอมรับวัฒนธรรมท้องถิ่น และปรับปรุงพัฒนาอย่างเหมาะสม ให้เกิดความกลมกลืนก้าวหน้า จนแคว้นฉีกลายเป็นมหาอำนาจและอู่อารยธรรมจีนสำคัญแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการศึกษา ก็เพราะเกียงไท้กงวางรากฐานไว้
นอกจากความรู้ความสามารถ เกียงไท้กงยังมีชื่อเสียงเรื่องความยุติธรรมและเสียสละ ในวรรณกรรม “ห้องสิน-สถาปนาเทวดา” เกียงไท้กงจึงได้รับเทวโองการให้แต่งตั้งวิญญาณนักรบและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรบ ระหว่างฝ่ายโจวเหวินหวางกับฝ่ายของราชวงศ์ซาง ให้เป็นดาวหรือเทพประจำถิ่นตามความเชื่อของจีน
เกียงไท้กงแต่งตั้งทุกตำแหน่งอย่างยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเดียวกันหรือฝ่ายศัตรู เช่นในเรื่องห้องสินกล่าวว่า “เกียงจูแหยยกความชอบว่าบุนไท้สือเข้าด้วยพระเจ้าติวอ๋อง [กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซาง] ผู้ผิดก็จริง แต่ซื่อสัตย์ต่อเจ้าของตนจนตัวตายในที่รบ ให้เป็นกี๋เถียนเอง หงวนหลุยเสียโผฮั่วเทียนจุ๋น แปลว่าเป็นเจ้ารามสูรในเก้าชั้นฟ้า”
ท่านแต่งตั้งผู้อื่นเป็นดาวและเทพต่างๆ ทั่วหน้า แต่ตัวเองไม่ได้ตำแหน่งอะไรเลย
นิทานชาวบ้านเรื่องหนึ่งเล่าถึงความเสียสละของเกียงไท้กงว่า เดิมที่เกียงไท้กงจะเอาตำแหน่ง “เจ้าแห่งเขาไท่ซัน” คุมยมโลกทั้งหมดและการเซ่นสรวงฟ้าดินของกษัตริย์จีน (ซึ่งต้องไปทำพิธีที่เขาไท่ซัน) แต่เผอิญท่านลืมแต่งตั้งอึ้งปวยฮอ แม่ทัพตงฉินของพระเจ้าติวอ๋อง จึงต้องยกตำแหน่งนี้ให้อึ้งปวยฮอ ทำให้ตนเองกลายเป็น “เจ้าไม่มีศาล”
พวกเทพทั้งหลายซาบซึ้งในความสุจริตยุติธรรมของเกียงไท้กงมาก จึงประชุมลงมติกันว่า ถ้าเกียงไท้กงไปถึงที่ใด เทพเจ้าของถิ่นและเทพแห่งความชั่วร้ายทั้งหลายต้องถอยห่างออกไป เพื่อให้ถิ่นนั้นมีแต่ความสุขสวัสดีด้วยบารมีของเกียงไท้กง
ฉะนั้นคนจีนจึงนิยมเขียนรูปท่าน พร้อมกับข้อความว่า “姜太公在此 百无禁忌 เกียงไท้กงต่อชื่อ แป๊ะบ่อกิ้มกี๋-เกียงไท้กงอยู่ที่นี่ ไม่มีข้อห้ามอัปมงคลทั้งสิ้น” (บ้างใช้ว่า “姜太公在此 百事无忌 เกียงไท้กงต่อชื่อ แป๊ะสื่อบ่อกี๋-เกียงไท้กงอยู่ที่นี่ งานทุกเรื่องไม่มีข้อห้ามไม่ชง”) ปัจจุบันนิยมเขียนแต่เฉพาะวรรคหลังว่า “百事无忌 แป๊ะสื่อบ่อกี๋-งานทุกเรื่องไม่มีข้อห้ามไม่ชง”
ส่วนมากข้อความข้างต้นมักพบเห็นในงานศพของชาวจีน โดยเขียนบนกระดาษเหลือง เพราะตามหลักโหราศาสตร์จีน ผู้ตายหรือเจ้าภาพกับแขกผู้มางานบางคนดวงชะตา “ชง- ขัดแย้ง” กัน การเขียนข้อความดังกล่าวไว้แม้จะเป็นความเชื่อเรื่องโชคลางผีสาง แต่ก็แสดงไมตรีของเจ้าภาพทีี่มีต่อแขก
อ่านเพิ่มเติม :
- “ตุยบ้วยเต้งเหนียง” เจ้าแม่ทับทิมของจีนไหหลำ
- พัฒนาการพระราชพิธี “เลี้ยงพระตรุษจีน” ในราชสำนักสยามสามแผ่นดิน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ถาวร สิกขโกศล. “ชวนอ่านเรื่องห้องสิน” ใน, ห้องสิน สถาปนาเทวดาจีน, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, พฤศจิกายน 2549
เสี่ยวจิว. ตัวตนคน ‘แต้จิ๋ว’, สำนักพิมพ์มติชน, กันยายน 2554
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤษภาคม 2564