“ตุยบ้วยเต้งเหนียง” เจ้าแม่ทับทิมของจีนไหหลำ

ตุยบ้วยเต้งเหนียง ศาล เจ้าแม่ทับทิม ไหหลำ เชิงสะพานซังฮี้
ศาลเจ้าแม่ทับทิมไหหลำเชิงสะพานซังฮี้ (ภาพจาก วิภา จิรภาไพศาล / ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2561)

ชื่อ ตุยบ้วยเต้งเหนียง (水尾圣娘) นี้เรียกตามเสียงจีนไหหลำ เสียงจีนกลางว่า “สุ่ยเว่ยเซิ่งเหนียง” ท่านเป็นเทพท้องถิ่นองค์สำคัญที่สุดของ จีนไหหลำ ศาลท่านในโพ้นทะเลเป็นศูนย์กลางของจีนกลุ่มนี้ มักใช้เป็นที่ทำการของสมาคมจีนไหหลำในยุคแรกของท้องถิ่นนั้นไปด้วย

ชื่อตุยบ้วยเต้งเหนียงนั้น คำเต้งเหนียง (圣娘) แปลว่า “พระแม่เจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์” ตุยบ้วย (水尾) แปลว่า ปลายน้ำ, ท้ายน้ำ มีความสัมพันธ์กับที่มาของท่าน คนไหหลำยังนิยมเรียกท่านอีกอย่างว่า “โผ่โต่ว (婆祖)” เสียงจีนกลางว่า “ผอจู่” แปลว่า “ย่าผู้เป็นบรรพบุรุษ”

เทวรูป เจ้าแม่ทับทิม ตุยบ้วยเต้งเหนียง
เทวรูปตุยบ้วยเต้งเหนียงที่หมู่บ้านโผบวย (หล.) ตำบลด้งเกียว (หล.) อำเภอบุนโส (หล.) เกาะไหหลำ ข้างหน้ามีบริวารชายแต่งชุดขุนนาง 2 คน หญิงแต่งชุดนางข้าหลวง 2 คน (ภาพจาก คุณ Fortunism www.pantip.com)

ความเป็นมา เจ้าแม่ทับทิม “ตุยบ้วยเต้งเหนียง”

ที่มาของพระแม่เจ้าองค์นี้ ตำนานหนึ่งกล่าวว่า ท่านเป็นเทพนารีที่มีมาแต่ครั้งราชวงศ์ฮั่น วิตต์ ว่องวทัญญู ได้เขียนไว้ในเรื่องตำนานเทพยุดา เจ้าแม่ทับทิม (ตุ้ยบ้วยเต๋งเหนี่ยง) ซึ่งแปลมาจากเอกสารภาษาจีนว่า “มูลเดิมของการกำเนิดเจ้าแม่ทับทิม มีประวัติจากการบอกเล่าสืบต่อกันมา ปรากฏว่าเริ่มมาแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นในสมัยกษัตริย์ฮั่นกวงอู่ตี้ (ประมาณระหว่าง พ.ศ. 538-600) ซึ่งในระหว่างรัชสมัยนี้เองเจ้าแม่ทับทิมก็ได้รับการยกย่องและแต่งตั้งให้เป็นเทพยุดาแห่งความเมตตาการุณย์ ช่วยคุ้มครองมวลมนุษย์ให้พ้นจากสรรพภัยและความทุกข์ยากทั้งมวล”

นั่นคือ เจ้าแม่ทับทิม (ตุยบ้วยเต้งเหนียง) เป็นเทพธิดา ได้รับสถาปนาเป็นเทพแห่งความเมตตากรุณาในรัชกาลพระเจ้าฮั่นกวงอู่ตี้

ส่วนศาลแห่งแรกของท่านที่เกาะไหหลำนั้นสร้างในช่วงปลายราชวงศ์หมิงต่อต้นราชวงศ์ชิง พ.ศ. 2187 ที่หมู่บ้านบักกาง (北港村 หล.) ตำบลด้งเกียว (东郊镇 หล.) อำเภอบุนโส (文昌县 หล.) มีชาวประมงแซ่พาน (潘 หล. พัว) คนหนึ่งออกหาปลาในทะเล ทีแรกไม่ได้ปลาเลย ได้แต่ไม้ท่อนหนึ่งติดยอขึ้นมา จึงโยนทิ้งลงทะเล แล้วลงยอยกใหม่ไม้ท่อนนั้นกลับติดขึ้นมาอีก เขาเห็นเป็นอัศจรรย์จึงบนบานว่าถ้าได้ปลาดี จะเอาขอนไม้นี้ไปแกะสลักเป็นเทวรูปเซ่นไหว้

ปรากฏว่าเขาได้ปลามากดั่งที่บนบานไว้ จึงเอาไม้ท่อนนั้นกลับไปบ้านด้วย ตั้งแต่นั้นมาเขาหาปลาได้มากทุกเที่ยว แต่ก็ยังไม่ได้แกะเทวรูปบูชาตามที่บนไว้ ท่อนไม้ถูกทิ้งอยู่นอกบ้าน เมียเขาไม่รู้ว่าเป็นท่อนไม้อะไร จึงเอาไปใช้ในเล้าหมู (เป็นที่มาของข้อห้ามไม่ให้เอาหมูเซ่นไหว้ท่าน เพราะถือเป็นการลบหลู่) ต่อมาหมูตายโดยไม่ทราบสาเหตุ คนที่เล่นขอนไม้นั้นอย่างไม่เคารพก็เจ็บป่วย ชายแซ่พานจึงเซ่นไหว้ขอขมาท่อนไม้นั้น เรื่องร้ายก็หายไป

ตั้งแต่นั้นเวลาพลบค่ำ คนในหมู่บ้านจะเห็นหญิงสาวรูปงาม หน้าตาเปี่ยมการุณย์ ปรากฏกายบนต้นลำไยใหญ่ที่หน้าบ้านชายแซ่พาน ก็รู้ว่าเป็นเทพธิดา จึงเร่งรัดให้ชายแซ่พานแก้บน แล้วเรี่ยไรเงินเอาท่อนไม้แกะเป็นรูปเทพธิดานั้น และหาที่เหมาะสมสร้างศาล เชิญร่างทรงมาเลือกหาสถานที่ ในที่สุดได้ที่ชายน้ำของหมู่บ้าน “โผบวย (坡尾 หล.)” จึงสร้างศาลไว้ที่นั่น เนื่องจากท่อนไม้ที่ใช้แกะเทวรูปนั้นได้มาจากทะเล จึงเรียกชื่อท่านว่า “ตุยบ้วยเต้งเหนียง” แปลว่า “เจ้าแม่ท้ายน้ำ” หรือ “เจ้าแม่ปลายน้ำ” และเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “ตุยบ้วยชุน (水尾村 หล.)”

บางตำนานก็ว่า ทีแรกสร้างศาลไว้ที่หมู่บ้านบักกาง สามวันต่อมากระถางธูปหายไป ผู้คนออกตามหา พบว่าลอยไปตกที่หมู่บ้านโผบวย จึงสร้างศาลใหม่ไว้ที่นั่นตั้งแต่รัชศกเจิ้งเต๋อ (พ.ศ. 2049-2064)

แต่ตำนานอีกกระแสหนึ่งกล่าวว่า ชาวประมงแซ่พานเก็บท่อนไม้ไว้ในบ้าน คืนหนึ่งเขาฝันว่ามีขุนพลหญิงมาเชิญเขาไปเฝ้าเจ้าแม่ เจ้าแม่บอกให้เขารีบแกะเทวรูปสร้างศาลตามที่ได้บนบานไว้ เขาจึงสร้างศาลไว้ที่หมู่บ้านของเขาเอง หมู่บ้านนี้ชื่อว่า “ตุยบ้วย (水尾 หล.)” ผู้คนจึงเรียกท่านว่า “ตุยบ้วยเต๊งเหนียง” หมายถึง “พระแม่เจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งหมู่บ้านตุยบ้วย”

ตามตำนานนี้ตุยบ้วยเต้งเหนียงเป็นเทพธิดาที่ไม่มีตัวตนบุคคลจริง

….

แม้ประวัติความเป็นมาของท่านจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่ทุกตำนานกล่าวตรงกันว่า พอสร้างศาลเสร็จ เชิญเทวรูปท่านเข้าประดิษฐานในวัน 15 ค่ำ กลางเดือนสิบจีน (ตรงกับ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบสอง วันลอยกระทงของไทย) จึงถือเอาวันนี้เป็นวันประสูติกาล (วันเกิด) ของท่าน จัดงานเฉลิมฉลอง 3 วัน ตั้งแต่ 15-17 ค่ำ เดือนสิบจีน แต่ศาลอื่นของท่านในเกาะไหหลำจัดวันเซ่นไหว้ไม่ตรงกัน เพื่อให้ท่านไปรับเครื่องเซ่นสังเวยได้ทั่วถึง และเชื่อกันว่าวัน 15 ค่ำ เดือนสิบ ท่านจะมารับการเซ่นไหว้ที่ศาลเชิงสะพานซังฮี้ของไทย

ตุยบ้วยเต้งเหนียงเป็นเทพผู้คุ้มภัยทางทะเลเช่นเดียวกับ “มาจู่” (แม่ย่านาง – ผู้เขียน) คนไหหลำเคารพมาก จะทำการสิ่งใดก็มักไปเซ่นไหว้ขอพรท่าน รัชศกเจียชิ่ง 14 (พ.ศ. 2352) จางเยว์ซง (พ.ศ. 2316-2385) ชาวอำเภอติ้งอัน เกาะไหหลำ ไปสอบบัณฑิตจิ้นสื้อที่เมืองหลวง ได้อันดับสามเป็นทั่นฮวา (อันดับหนึ่งคือจ้วงหยวน – จอหงวน) พอกลับไปบ้านได้ไปไหว้ขอบคุณตุยบ้วยเต้งเหนียง เขียนป้ายชื่อศาลถวาย แล้วรวบรวมตำนานคุณูปการด้านต่าง ๆ ของท่าน เอากลับไปถวายพระเจ้าชิงเหญินจง (เจียชิ่ง) จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาตุยบ้วยเต้งเหนียงเป็นเทพ มีสมญานามตามเสียงจีนกลางว่า “หนันเทียนส่านเตี้ยนกั่นอิ้งหั่วเหลยสุ่ยเว่ยเซิ่งเหนียง (南天闪电感应火雷水尾圣娘)”

วิตต์ ว่องวทัญญู อ่านเป็นเสียงจีนไหหลำว่า “หน่ำเทียนเอี้ยมเดี้ยนก้ำเอ๋งห้วยหลุ่ยตุ๋ยบ้วยเต้งเหนียง” แปลเอาความได้ว่า “เจ้าแม่ปลายน้ำแห่งฟ้าแดนใต้ผู้บันดาลสายฟ้า” ชื่อนี้บ่งบอกว่าเป็นเทวีแห่งฝนฟ้าคลื่นลมในทะเลใต้…

เทวรูปเจ้าแม่สร้างขึ้นใหม่แทนของเก่า สวมอาภรณ์แดง ศิราภรณ์ประดับไข่มุกและอัญมณี ข้างหน้ามีบริวารสี่คน ชายสองหญิงสอง ชายแต่งชุดขุนนาง หญิงแต่งชุดนางข้าหลวง ตามตำนาน ตุยบ้วยเต้งเหนียง มีขุนพลประจำตัว ขุนพลหยุนหลิง (云灵将军)

ตุยบ้วยเต้งเหนียงมีตำนานปาฏิหาริย์ช่วยเรือที่ประสบภัยในทะเลเช่นเดียวกับมาจู่หลายเรื่อง เช่น ตำนานหนึ่งว่ามีเรือประมงเกยหินโสโครก เจ้าของเรือขอให้ท่านช่วย ทันใดนั้นก็เกิดคลื่นใหญ่ซัดเรือลอยพ้นแนวหินโสโครกไปได้ อีกครั้งหนึ่งเรือประมงแล่นกลับเข้าอ่าวชายฝั่ง หมอกตกหนักจนจับทิศทางไม่ถูก เจ้าของขอให้ตุยบ้วยเต้งเหนียงช่วย แล้วเห็นปลาตัวหนึ่งว่ายนำทาง เขาแล่นเรือตามไปจนเข้าฝั่งได้โดยสวัสดิภาพ

เรื่องราวของตุยบ้วยเต้งเหนียงที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มีส่วนคล้ายเรื่องของมาจู่อยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องชาวประมงแซ่พานได้ท่อนไม้จากทะเลแล้วนำมาแกะเป็นเทวรูป คล้ายกับตำนานมาจู่เรื่องเฉินสวินทูตจีนได้ท่อนไม้จันทน์หอมที่ลอยมาในทะเล แล้วนำมาแกะเป็นเทวรูปมาจู่บูชา เจ้าแม่ทั้งสององค์นี้มีตำนานว่าได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็นคล้ายกัน

ชื่อมาจู่ (妈祖) กับชื่อโผ่โต่ว (婆祖) ซึ่งคนเรียกด้วยความเคารพรักก็มีความหมายว่า “ย่าผู้เป็นบรรพชน” เหมือนกัน มาจู่มีตัวตนจริงอยู่ในยุคต้นราชวงศ์ซ่ง แต่ตุยบ้วยเต้งเหนียงไม่มีตัวตนที่ชัดเจน เรื่องราวของท่านเพิ่งปรากฏชัดในช่วงราชวงศ์หมิง-ชิง จึงเป็นไปได้ว่าตุยบ้วยเต้งเหนียงเป็นเทพที่สร้างขึ้นเลียนแบบมาจู่ ให้เป็นเทพท้องถิ่นของจีนไหหลำ และแยกเป็นคนละองค์ ได้รับสถาปนาจากฮ่องเต้ต่างยุคกัน มีราชทินนามเป็นเทวสมัญญาต่างกัน…

มาจู่ บนเสากระโดงเรือ สยบคลื่นลม ช่วยเจิ้งเหอ
มาจู่ยืนอยู่บนเสากระโดงเรือ สยบคลื่นลมช่วยเจิ้งเหอเมื่อครั้งเป็นทูตไปสยาม (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2561)

จีนไหหลำเป็นชาวเกาะ ชีวิตเกี่ยวข้องกับทะเลมาก จึงมีเทพแห่งทะเลหลายองค์ ที่สำคัญได้แก่ มาจู่ (妈祖) ตุยบ้วยเต้งเหนียง (水尾圣娘) และเทพ 108 พี่น้อง (108 兄弟) ซึ่งตามตำนานว่าเป็นคนจีนไหหลำที่ตายในทะเล ในเมืองไทยก็มีศาลท่าน เช่น ศาลเจ้าองค์ก๋ง 108 และเจ้าแม่ทับทิมที่เกาะช้าง จังหวัดตราด ตามความเชื่อนี้บ่งชัดว่ามาจู่กับตุยบ้วยเต้งเหนียงเป็นเทพแห่งทะเลคนละองค์กัน ในเกาะไหหลำเจ้าแม่สององค์มีศาลแยกกัน ในชุมชนจีนไหหลำในโพ้นทะเลบางแห่งก็มีทั้งศาลตุยบ้วยเต้งเหนียงและศาลมาจู่ ซึ่งเสียงภาษาจีนไหหลำว่ามาโต่ว

เมื่อจีนไหหลำไปตั้งถิ่นฐานในโพ้นทะเลได้สร้างศาลตุยบ้วยเต้งเหนียงไว้บูชาและใช้เป็นศูนย์กลางของจีนไหหลำด้วย จีนไหหลำมีอยู่ทั่วไปในเอเชีย ทางตะวันตกไปไกลถึงแคนาดา ศาลตุยบ้วยเต้งเหนียงที่นั่นสร้างเมื่อ พ.ศ. 2532 อาจกล่าวได้ว่า “มีจีนไหหลำที่ไหน มีศาลตุยบ้วยเต้งเหนียงที่นั่น”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจาก “มาจู่สู่เจ้าแม่ทับทิมไหหลำ” เขียนโดยถาวร สิกขโกศล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2561 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มิถุนายน 2566