เผยแพร่ |
---|
“แม่ย่านาง” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยกราบไหว้บูชาในฐานะผู้คุ้มครองป้องกันภยันตรายประจำพาหนะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เรือ รถยนต์ เครื่องบิน แต่ก่อนหน้านี้ “แม่ย่านาง” ไม่เคยปรากฏมาก่อน เดิมสังคมไทยมีความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” มีการทำขวัญสัตว์พาหนะ เช่น ทำขวัญช้าง ทำขวัญควาย, รวมถึงการทำขวัญพาหนะ เพื่อให้เป็นสิริมงคล คุ้มครองป้องกันภยันตราย และเป็นการกราบไหว้บูชาขอขมาเทพารักษ์ อันได้นำต้นไม้ซึ่งเดิมเป็นที่สถิตมาทำเป็นพาหนะ เช่น การทำขวัญเกวียน การทำขวัญเรือ การทำขวัญราชรถ-ราชยาน
“แม่ย่านาง” เพิ่งจะปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเป็นความเชื่อของคนจีน ก่อนจะค่อย ๆ แพร่หลายสู่สังคมไทย ผสมผสานทางวัฒนธรรมจนกลายเป็น “แม่ย่านาง” แบบไทย ๆ โดยต้นฉบับของจีนเรียกกันว่า เทียนเฟย (พระชายาสวรรค์), หรือเทียนโฮ่ว (พระราชินีสวรรค์), หรือเหนียงเหนียง (พระนาง) หรือที่นิยมเรียกว่า “มาจู่” (พระแม่ย่า) ฮกเกี้ยนว่า พระหมาจ่อ หรือ หมาจอ, จีนกลางว่า มาจู่ แต้จิ๋วว่า มาโจ้ว เป็นเทพพื้นบ้านของจีนผู้คุ้มครองทางทะเล ซึ่งตำนานของเทพองค์นี้มีเล่าขานแตกต่างกันไป แต่เชื่อว่า ต้นกำเนิดของมาจู่อาจอยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ
มาจู่เป็นใคร? มีความเห็นต่างกันเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า มาจู่มีที่มาจากบุคคลจริง มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า มาจู่เป็นเทวีแห่งมหาสมุทรที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่มีตัวจริง
ฝ่ายที่เชื่อว่ามาจู่มีตัวจริงก็ยังมีความเห็นต่างกันอีก บ้างว่ามาจู่เป็นธิดาของหลินย่วนผู้บัญชาการทหารในอำเภอผู่เถียน มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) บ้างว่าเป็นธิดาของหลินหลิงซู่ผู้วิเศษแห่งเมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง บ้างว่าเป็นธิดาสกุลไช่ (ฉั่ว) ในเขตฮกเกี้ยนกลาง สมัยที่ถือกำเนิดนั้นบ้างว่าเกิดในรัชกาลพระเจ้าถังเสวียนจง บ้างว่าในยุคห้าราชวงศ์ บ้างว่าในรัชกาลพระเจ้าซ่งไท่จู่ ทั้งหมดนี้ความเชื่อว่าเป็นธิดาหลินหยวนและเกิดในรัชกาลพระเจ้าซ่งไท่จู่ (พ.ศ. 1503-1519) แพร่หลายที่สุด
จากหลักฐานหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบันทึกเก่าตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซ่ง เชื่อได้ว่ามาจู่มีตัวตนจริง เป็นคนอำเภอผู่เถียน มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) แต่ประวัติถูกแต่งเติมต่อ ๆ กันมาจนมีเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์อยู่มาก เช่น ช่วยลู่หยุ่นตี๋ ทูตจีนที่เดินทางไปเกาหลีให้รอดจากเรือแตก, บันดาลให้เกิดลมขับไล่เรือโจรสลัดที่มาปล้นสะดมคนจีน, ช่วยทัพหลวงปราบโจร โดยบันดาลให้เกิดหมอกปกคลุม พวกโจรมองไม่เห็นทหารหลวง แต่ทหารหลวงเห็นโจร จนพวกโจรหนีไม่รอด, เมื่อเกิดโรคระบาด แสดงนิมิตบอกให้ชาวบ้านขุดบ่อน้ำ กินรักษาโรคได้, สมัยราชวงศ์หยวน ช่วยการขนส่งทางทะเลของทางการ เป็นต้น
ในสมัยราชวงศ์หยวน การค้าขายขนส่งทางทะเลมีความสำคัญมากขึ้น มาจู่จึงได้รับยกย่องเป็นเทพแห่งทะเล ทางการและประชาชนต่างนิยมเซ่นไหว้ จนก่อให้เกิดตำนานเกี่ยวกับชีวิตของมาจู่สารพัดเรื่อง มีการตั้งศาลบูชามาจู่ไม่เพียงแพร่หลายไปทั่วชายทะเลของจีนเท่านั้น แต่ยังแพร่ไปกับการค้าต่างประเทศและการตั้งถิ่นฐานในโพ้นทะเลของคนจีนอีกด้วย ถึงสมัยราชวงศ์หมิง-ชิง ความเชื่อเรื่องมาจู่ก็รุ่งเรืองแพร่หลายยิ่งขึ้น
บุคคลแรก ๆ ที่นำความเชื่อเรื่องมาจู่สู่ดินแดนอุษาคเนย์คือ “เจิ้งเหอ” เมื่อเขาประสบคลื่นลมทะเลจึงได้เซ่นไหว้ขอให้มาจู่คุ้มครอง กระทั่งเห็นมาจู่มายืนอยู่บนเสากระโดงเรือ จากนั้นคลื่นลมก็สงบลงทันที ครั้นเจิ้งเหอเดินทางถึงกรุงศรีอยุธยา เขาจึงจัดพิธีบวงสรวงมาจู่ขึ้น ด้วยเหตุที่เจิ้งเหอนับถือศรัทธามาจู่มาก จึงอาจนำความเชื่อนี้เผยแพร่สู่กรุงศรีอยุธยาด้วย ประกอบกับการอพยพของคนจีนฮกเกี้ยน ซึ่งนับถือศรัทธามาจู่เป็นอย่างมาก (จีนฮกเกี้ยนออกเสียงเป็น หมาจ่อ) พวกเขาได้อพยพสู่กรุงศรีอยุธยานับตั้งแต่สมัยกลางราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา และอพยพมามากขึ้นเมื่อราชวงศ์ชิงยึดครองจีนได้ ความเชื่อมาจู่จึงหยั่งรากในสังคมไทยแน่นขึ้นตามลำดับ
นอกจากนี้ ในอดีตการเดินเรือทะเลของไทยอาศัยคนจีนเป็นหลัก ในการเดินเรือของไทยจึงมีพิธีเซ่นไหว้มาจู่อยู่ด้วย ดังปรากฏในนิราศกวางตุ้งของพระยามหานุภาพ ซึ่งแต่งเมื่อ พ.ศ. 2313 สมัยกรุงธนบุรี ตอนหนึ่งว่า
แล้วเขาทำเป็ดไก่ไหว้เทเวศร์
ตามเพศที่ทะเลแล้วเทถวาย
แต่ขลุ่ยขลุกแล้วลุกขึ้นโปรยปราย
กระดาษพรายเผาเพลิงเถกิงเรือง
เย็นเช้าไหว้เจ้าด้วยม้าล่อ
พระหมาจอฟังอึงคะนึงเนื่อง
ครั้นค่ำแขวนโคมเคียงเรียงเรือง
ตลอดเบื้องหน้าท้ายที่รายไป
เรื่องมาจู่นี้ยังได้มีการนำไปผูกโยงกับเทพอินเดีย ดังปรากฏในหนังสือนารายณ์สิบปาง (ฉบับคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ พิมพ์ พ.ศ. 2466) ซึ่งเสฐียรโกเศศ (นามปากกาของพระยาอนุมานราชธน) เล่าไว้ว่า เมื่อพระอิศวรและพระอุมาเสด็จประพาสทะเล กุ้งได้ออกมาร้องเรียนว่า กุ้งมีแต่ก้าม ร่างกายก็มีแต่เนื้อ เปลือกหุ้มก็บาง สัตว์ทั้งปวงพากันข่มเหงจับกินจนจะสูญพันธุ์ พระอุมาจึงประทานพรให้บนหัวกุ้งเป็นเลื่อยสองคม ปลายแหลมต้นเป็นบ้อง ข้างหางเป็นหอกปลายแหลม เมื่อสัตว์ใดกินกุ้ง กุ้งจะได้เลื่อยเจาะออกจนพ้นแต่การที่ประทานพรนี้มีเงื่อนไขว่า กุ้งจะต้องกินแต่ของที่ตายเน่าเปื่อยเท่านั้น
ต่อมา กุ้งมีจำนวนมาก ตายน้อยกว่าเกิด จึงแย่งชิงอาหารกันจนกินไม่พออิ่ม กั้งจึงออกอุบายชักชวนให้กุ้งใช้อาวุธที่หัวและหางเจาะท้องเรือสำเภาให้ทะลุรั่ว ครั้นสำเภาล่มแล้ว “เจ๊ก” ที่ไม่รู้จักว่ายน้ำก็จมน้ำตายเป็นอันมาก จากนั้นกุ้งกับกั้งก็แบ่ง “เจ๊ก” กิน โดยกุ้งตัดศีรษะออกไว้เป็นส่วนแบ่งของกั้ง กุ้งนั้นกิน “เจ๊ก” ที่ตายในน้ำเป็นอาหาร จนพวก “เจ๊ก” เดือดร้อน พากันไปร้องต่อ “เจ้าหมาจ่อ” ขอบุญบารมีท่านช่วยคุ้มครอง อย่าให้กุ้งทำอันตรายเรือสำเภาได้ เจ้าหมาจ่อก็รับไปปรึกษากับเจ้าทั้งแปดทิศ เมื่อร่วมปรึกษาหารือกันแล้วจึงไปกราบทูลพระอิศวรและพระอุมา
พระอุมาจึงสั่งให้พระอนันตนาคราชไปทรมานปราบพยศกุ้งและกั้ง พระอนันตนาคราชเห็นว่า “กุ้งเป็นสัตว์โลภอาหาร ทำอุบายเจาะท้องเรือสำเภาให้ล่มจม เจ๊กจีนตายเสียเป็นอันมากประสงค์แต่จะกินศพเจ๊กเป็นอาหาร สำเภาและสินค้าในลำเล่าก็เป็นของมีเจ้าของหวงแหน กองเวรกรรมอันนี้จงบันดาลให้เป็นสำเภาประดิษฐานติดอยู่ในแก้มขวาซ้ายแห่งกุ้ง ถ่วงให้หนักอย่าให้ผุดน้ำเงยหัวขึ้นเจาะท้องเรือสำเภาได้ อันหนึ่งเทพอาวุธทั้งหัวและหางให้กลายเป็นอัฏฐิพอกันตัว จะไปในสถานที่ใดให้เดินถอยหลังไปกว่าจะสูญสิ้น พระคงคาจึงจะพ้นทุกข์ตามเทวโองการสาป
ครั้นขาดคำพระอนันตนาคราชดำเนินข้อรับสั่งพระผู้เป็นเจ้า สำเภาก็อุบัติแล่นเข้าในปากกุ้งติดอยู่ที่แก้มซ้ายขวาข้างละลำ แล้วก็สาปสั่งเจ๊สัวนายสำเภา ซึ่งจะใช้เรือสำเภาค้าขายสืบไป ให้นับถือเจ้ายอดสวรรค์ ขออำนาจเธอไปคุ้มครองรักษาเรือสำเภาจงทุกเที่ยวไปมาชั่วกัลปาเป็นนิสสัยจนทุกวันนี้”
ซึ่ง “เจ้ายอดสวรรค์” นี้ก็คือ “เจ้าหมาจ่อ” หรือ มาจู่ นั่นเอง
สำหรับคำว่า “แม่ย่านาง” นี้ อาจแปลมาจากคำว่า “มาจู่ (หมาจ่อ)” หรือ “มาจู่ผอ (หมาจ่อโป๋)” คำว่า “เจ้ายอดสวรรค์” ก็อาจแปลมาจากคำว่า “เทียนโฮ่ว” คำว่า เทียน แปลว่า ฟ้า สวรรค์, คำว่า โฮ่ว เดิมหมายถึง ประมุข ผู้สูงสุด ถ้าใช้เรียกมเหสี หมายถึง มเหสีผู้มียศศักดิ์สูงสุด เป็นประมุขของฝ่ายใน ดังนั้น เทียนโฮ่ว จึงแปลตามรูปศัพท์ได้ว่า “เจ้ายอดสวรรค์”
ถาวร สิกขโกศล สรุปว่า แม่ย่านางของไทยมาจากมาจู่ของจีน แต่ในระยะแรกเรียกทับศัพท์ตามเสียงจีนฮกเกี้ยนว่า หมาจ่อ หรือ หมาจอ ก่อน ต่อมาจึงแปลความหมายเรียกว่า “แม่ย่านาง” โดยชื่อนี้ก็อาจใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนกลายเป็นเทพของไทยไปอย่างกลมกลืน ความเชื่อ “แม่ย่านาง” ของจีนอาจผสมกลมกลืนสู่สังคมไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ดังปรากฏในบทละครเรื่องพิกุลทอง ซึ่งเรื่องเดิมมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า แม่ย่านางเอานางพิกุลทองไปซ่อนไว้ในเสากระโดงเรือ ไม่ให้ถูกพญาแร้งกิน กลอนตอนนี้ว่า
มาจะกล่าวบทไป
ย่านางรักษาสำเภาใหญ่
มีจิตเมตตานางทรามวัย
สำแดงให้เห็นกายา
จึงบอกกับนางโฉมศรี
บัดนี้ผัวเจ้าคือปักษา
มันจะแกล้งฆ่าเจ้าให้มรณา
อย่าช้ามาหนีไปเร็วพลัน
จึงนิมิตแยกเสากระโดงกลาง
ให้โฉมนวลนางขมีขมัน
ในนั้นดังวิมานเทวัญ
ให้นางจอมขวัญอยู่สำราญ
มาจู่เป็นเทพองค์สำคัญของคนจีนฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นคนจีนกลุ่มใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา และจีนแต้จิ๋วซึ่งเป็นจีนกลุ่มใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มาจู่ในไทยส่วนมากมีชื่อไทยว่า “เจ้าแม่ทับทิม” แต่ก็มีชื่ออื่นบ้าง เช่น ศาลเจ้าแม่เขาสามมุข ชลบุรี, ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ นราธิวาส, ทางภาคใต้ มักเรียกชื่อจีนสำเนียงฮกเกี้ยน เช่น ศาลเจ้าแม่มาจ้อโป๋ที่พังงา, ศาลซิมซานเทียนเฮวกึ๋งที่ภูเก็ต เทียนเฮว คือเทียนโฮ่ว (ราชินีสวรรค์) ในภาษาจีนกลาง ศาลนี้ยังเรียกกันว่าศาลมาจ้อโป๋ และศาลแม่ย่านางเรือภูเก็ตอีกด้วย แต่โดยทั่วไปแล้วคนไทยเรียกมาจู่ว่าเจ้าแม่ทับทิม
(หมายเหตุ มีเทพอีกองค์หนึ่งชื่อ “ตุยบ้วยเต้งเหนียง” ที่มีลักษณะความเชื่อคล้ายกับ มาจู่ เป็นที่นับถือศรัทธาของคนจีนไหหลำ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเจ้าแม่ทับทิมในไทยเช่นกัน แต่เชื่อว่า มาจู่ส่งอิทธิพลในสังคมไทยมาก่อนตุยบ้วยเต้งเหนียง จึงขอละการกล่าวถึงตุยบ้วยเต้งเหนียงในที่นี้)
ดังนั้น คนไทยจึงรับเอาความเชื่อเรื่องมาจู่ของคนจีนเข้ามาด้วย ผสมผสานกับความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” และการกราบไหว้บูชาขอขมาเทพารักษ์ จึงนำมาสู่ “แม่ย่านาง” แบบไทย ๆ อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นเทพารักษ์ที่สถิตอยู่หัวเรือ ชาวเรือนิยมบูชาหัวเรือด้วยผ้าสามสี เครื่องเซ่น มาลัยต่าง ๆ ต่อมา เมื่อสังคมพัฒนาขึ้น มีการนำรถเข้ามาใช้ทดแทนเรือมากขึ้น ความเชื่อเรื่องแม่ย่านางจึงติดตามมาอยู่ที่รถด้วย เนื่องจากถือว่าเป็นเทพารักษ์ที่ประจำอยู่กับพาหนะ
จากแนวคิดเดิมที่ว่าหัวเรือเป็นที่สถิตของแม่ย่านางเรือ ดังนั้น ด้านหน้ารถหรือคอนโซลรถจึงสมมติเป็นที่สถิตของแม่ย่านางรถเช่นกัน จึงมักพบว่า คนไทยนำผ้าสามสีและพวงมาลัยผูกและแขวนไว้ที่กระจกหน้ารถเพื่อบูชาแม่ย่านางรถ และตั้งเครื่องรางและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ไว้ที่บริเวณใกล้เคียง เช่น พระพุทธรูป ยันต์ หรือวัตถุมงคลต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นเกี่ยวกับรถและการขับขี่โดยเฉพาะ เพื่อคุ้มครองป้องกันภยันตรายจากการขับขี่ รวมไปถึงโชคลาภเงินทอง การทำมาค้าขาย ฯลฯ
อ้างอิง :
บทความ “กราบรถ” : หลักฐานทางคติชนว่าด้วยการ “กราบรถ” ในวัฒนธรรมไทย โดย อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2560
บทความ เจ้าแม่ทับทิม – แม่ย่านาง จากจีนสู่ไทย โดย ถาวร สิกขโกศล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2561
บทความ มาจู่สู่เจ้าแม่ทับทิมไหหลำ โดยถาวร สิกขโกศล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2561
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2563