กำเนิด “ไฉ่ซิงเอี๊ย” เทพเจ้าแห่งทรัพย์สินของจีน เทวดาที่มาทีหลัง แต่ไฉนดังกว่าองค์อื่น

(ซ้าย) เจ้ากงหมิง ไฉ่ซิ้งฝ่ายบู๊ (ขวา) ภาพมงคลไฉ่ซิ้งที่นิยมประดับบ้านในเทศกาลตรุษจีน

ปัจจุบันทรัพย์สินเงินทองมีความสำคัญยิ่ง เป็นหนึ่งในยอดปรารถนา 5 ประการ (เบญจพิธพร) ของคนจีน คือ ฮก ต.(ฝู 福 โชควาสนา) ลก ต.(ลู่ 禄 ยศศักดิ์) ซิ่ว ต. (โซ่ว 寿 อายุยืนแข็งแรง) ฮี่ ต.(สี่ 喜 ความสุข) และ ไช้ ต.(ไฉ 财 ความมั่งคั่ง) เทพผู้กำกับทรัพย์สินประทานความมั่งคั่งภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกไฉ่ซิ้ง (ไฉเสิน 财神) เป็นเทพที่คนนิยมเซ่นไหว้สูงสุดในเทศกาลตรุษจีน

คำว่า ไช้ (ไฉ) เมื่อรวมกับคำว่า ซิ้ง ต. (เสิน) เสียงจะเปลี่ยนเป็นไฉ่ซิ้ง ต. (ไฉเสิน 财神) ไช้ (ไฉ) แปลว่า ทรัพย์สินเงินทอง ซิ้ง (เสิน) แปลว่า เทวดา ไฉ่ซิ้ง (ไฉเสิน) จึงหมายถึงเทพแห่งทรัพย์สินเงินทอง โดยปริยายหมายถึงเทพผู้ประทานความมั่งคั่งนั่นเอง

Advertisement

ความหมายดั้งเดิมของคำว่าไช้ (财) หรือไฉนั้น พจนานุกรมซัวเหวินเจี่ยจื้อ (说文解子 อธิบายลายสือวิเคราะห์อักษร) นิยามไว้ว่า “สิ่งที่คนเห็นว่ามีค่า” พจนานุกรมอี้ว์เพียน (玉篇 รัตนมาลา) อธิบายว่าได้แก่ “ข้าว ผ้า ทอง และหยก” ของมีค่าของมนุษย์ต่างยุคต่างถิ่นย่อมต่างกันไป

สมัยโบราณ ข้าวและผ้าเป็นปัจจัยสำคัญในการยังชีพ ทองและหยกเป็นแร่ธาตุสวยงามมีราคาจึงจัดเป็นของมีค่า ส่วนเงินตรามีบทบาทในวิถีชีวิตคนทั่วไปน้อย จึงไม่ถือเป็นของมีค่าหรือทรัพย์สินสำคัญ สิ่งใดมีความสำคัญต่อชีวิต มนุษย์ย่อมเชื่อว่าเทวดาประจำอยู่ ดังนั้นในสมัยโบราณจึงไม่มีเทพแห่งทรัพย์สินอยู่ในสารบบของเทวดาจีน

ในสมัยโบราณยุคราชวงศ์โจว (ก่อน พ.ศ. 503-พ.ศ. 322) เทพสำคัญ องค์ที่คนจีนเซ่นไหว้อยู่เป็นประจำได้แก่ เทพแห่งประตูบ้าน เทพแห่งประตูห้อง เทพแห่งเตาไฟ เทพแห่งห้องโถงกลาง และเทพแห่งทางเดิน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งสำคัญในวิถีชีวิตคนจีนโบราณ รวมเรียกว่า “การเซ่นไหว้ทั้งห้า” ในยุคนั้นแม้แต่ส้วมก็เชื่อกันว่ามีเทพประจำ มีการเซ่นไหว้เพราะส้วมเป็นแหล่งปุ๋ยสำคัญของคนจีน เทพแห่งทรัพย์สินในสังคมจีนเกิดขึ้นช้า เพราะจีนเป็นสังคมเกษตร เศรษฐกิจแบบพึ่งตัวเองมายาวนาน เงินทองมีความสำคัญน้อย

ต่อมาเมื่อสังคมเปลี่ยนไป การค้ามีบทบาทมากขึ้น คนสะสมทรัพย์สินส่วนตัวมากขึ้น เงินทองมีความสำคัญสูงขึ้น เทพแห่งทรัพย์สินจึงเกิดขึ้นและเป็นที่เคารพแพร่หลายยิ่งขึ้นตลอดมา ถึงยุคสาธารณรัฐจีนสังคมเปลี่ยนไป วิทยาศาสตร์เจริญขึ้น ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสื่อมถอยลง เทพทั้งหลายลดความสำคัญลง แต่เทพแห่งทรัพย์สินกลับแพร่หลายยิ่งขึ้น จนในปัจจุบันคนนิยมกราบไหว้มากที่สุดก็ว่าได้ อาจกล่าวเป็นสำนวนพูดง่ายๆ ได้ว่า “ไฉ่ซิ้ง (เทพแห่งทรัพย์สิน) มาทีหลังแต่ดังกว่า” ชื่อที่คุ้นเคยในภาษาไทยมักเรียกตามภาษาจีนแต้จิ๋วว่า “ไฉ่ซิ้ง” มากกว่า “ไฉเสิน” ในภาษาจีนกลาง ในบทความนี้จะอนุโลมใช้ตาม

ภาพมงคลไฉ่ซิ้งที่นิยมประดับบ้านในเทศกาลตรุษจีน

ที่มาของความเชื่อเรื่องไฉ่ซิ้ง (เทพแห่งทรัพย์สิน)

ความเชื่อเรื่องไฉ่ซิ้งของจีนมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามยุคตามถิ่น มีมากมายหลายองค์หลายประเภท ที่มาจึงซับซ้อน ไม่ชัดเจน หนังสือประชุมอรรถาธิบาย (集说诠真) อธิบายเรื่องไฉ่ซิ้งไว้สั้นๆ ว่า “ไฉ่ซิ้งที่ผู้คนเซ่นไหว้นั้นบ้างก็ว่าเป็นอิสลามที่เซ่นไหว้กันทางภาคเหนือ บ้างก็ว่าเป็นคนจีนชื่อเจ้าหลัง บ้างก็ว่าเป็นคนสมัยราชวงศ์หยวนชื่อเหออู่ลู่ บ้างก็ว่าได้แก่ ลูกชาย 5 คนของกู้ซีเฝิงคนยุคราชวงศ์เฉิน แตกต่างกันไป ตามความเชื่อของตน เรียกรวมๆ ว่าไฉ่ซิ้ง ไม่แน่ชัดว่าคือใคร”

หนังสือหลากเรื่องวัฒนธรรมผีสางเทวดาของจีน (中国古代鬼神文化大覌) อธิบายว่าไฉ่ซิ้งมีที่มาจากเทพแห่งทางเดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าเทพสำคัญของจีนโบราณ เดิมทีคนเซ่นไหว้เทพองค์นี้เพื่อให้อำนวยสวัสดิภาพในการเดินทาง จีนเป็นสังคมเกษตรคนอยู่ติดที่ พวกที่เดินทางมากคือพ่อค้าเร่และสัญจรชน (江潮人) ผู้ต้องเดินทางทำมาหากิน เช่น ศิลปินเร่ คนพวกนี้เมื่อเดินทางก็จะมีรายได้ จุดประสงค์ในการเซ่นไหว้เทพแห่งทางเดินจึงเพิ่มเรื่องขอให้มีรายได้ดีอีกด้วย นานวันเข้ากลายเป็นจุดประสงค์หลัก เทพแห่งทางเดินก็ค่อยๆ กลายเป็นเทพแห่งทรัพย์สิน (ไฉ่ซิ้ง) เพราะคนส่วนมากเดินทางเพื่อทำมาหากิน เทพแห่งทางเดินจึงเสื่อมสูญไป

พวกที่ต้องเดินทางทำมาหากินนั้น พวกพ่อค้าเกี่ยวข้องกับเงินทองมากที่สุด การค้าที่ทำรายได้ดีคือการค้าข้ามถิ่น นำสินค้าถิ่นหนึ่งไปขายอีกถิ่นหนึ่งเส้นทางที่ทำรายได้ดีที่สุดคือเส้นทางสายไหม ซึ่งคู่ค้าส่วนมากเป็นรัฐอิสลาม จึงมีความเชื่อหนึ่งว่า ไฉ่ซิ้งเป็นมุสลิม แต่ก็ไม่ปรากฏชัดเจนว่าคือใคร ไฉ่ซิ้งต่างยุคต่างถิ่นก็ต่างองค์กัน

แรกทีเดียวไฉ่ซิ้งเป็นเทพของพวกที่มีอาชีพเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ คือ พ่อค้า โรงรับจำนำ สัญจรชนผู้ต้องเดินทางประกอบอาชีพ และนักเล่นการพนัน ต่อมาก็แพร่ไปสู่คนกลุ่มอื่น พวกขุนนางก็ต้องการความมั่งคั่งก้าวหน้าในราชการ ไฉ่ซิ้งจึงแยกออกเป็นฝ่ายบุ๋น (พลเรือน) กับบู๊ (นักรบ) พวกขุนนางนิยมไหว้ไฉ่ซิ้งบุ๋น พวกพ่อค้านิยมไหว้ไฉ่ซิ้งบู๊ เพราะต้องการให้คุ้มครองการเดินทางค้าขายและทรัพย์สินของตนด้วย

บทบาทสำคัญของไฉ่ซิ้งจึงมีทั้งช่วยให้กิจการรุ่งเรืองมีทรัพย์มาก และช่วยคุ้มครองรักษาทรัพย์สินให้พ้นจากผองภัยด้วย เป็นเหตุให้เทพแห่งทรัพย์สินฝ่ายบู๊มีความสำคัญเหนือฝ่ายบุ๋น นอกจากนี้ยังเกิดเทพแห่งทรัพย์สินประเภทต่างๆ ตามความต้องการเฉพาะด้านของผู้เซ่นไหว้อีก เช่น เทพแห่งลาภลอย ความเชื่อเรื่องเทพแห่งทรัพย์สินหรือไฉ่ซิ้งจึงสะท้อนภาพสังคมและความต้องการของผู้คนในสังคมได้ดีอีกด้วย

สาเหตุที่คนจีนสร้างความเชื่อเรื่องไฉ่ซิ้งขึ้นนั้น หลิวฮั่นเจี๋ยเขียนไว้ในหนังสือเล่าเรื่องไฉ่ซิ้ง (话说财神) ว่า ความร่ำรวยมีเงินทอง เป็นความต้องการสำคัญประการหนึ่งของมนุษย์ ผู้คนจึงทุ่มเททำมาหากิน ดังมีคำกล่าวในภาษาจีนว่า “ใต้ฟ้าอันสับสนล้วนมาเพื่อผลประโยชน์ ใต้ฟ้าอันชุลมุน ล้วนวุ่นไปเพื่อผลประโยชน์” และ “นกตายเพราะกิน คนตายเพราะสินทรัพย์” ความต้องการร่ำรวยมีเงินทองมาก
เป็นแรงขับให้มนุษย์สร้างเทพแห่งทรัพย์สินขึ้น

หลี่เย่ว์จงผู้เขียนหนังสือเรื่องไฉ่ซิ้ง : เทพแห่งทรัพย์สิน (财神) วิเคราะห์ว่า เหตุที่คนจีนสร้างไฉ่ซิ้งขึ้นมานั้นมีสาเหตุสำคัญสองประการ

ประการแรก เกิดจากความต้องการความร่ำรวยแต่ในวัฒนธรรมจีนเก่า ให้ความสำคัญแก่ศีลธรรม ผดุงความชอบธรรม (义) มากกว่าเงินทองผลประโยชน์ (利) ดังมีสุภาษิตจีนว่า “ศีลธรรมมีค่าพันตำลึงทอง ทรัพย์สินก่ายกองไร้ค่าดังอาจม” คำสอนของนักปราชญ์ เช่น ขงจื๊อ เม่งจื๊อ ล้วนเป็นไปในแนวทางนี้ คนจีนจึงละอายที่จะพูดเรื่องผลประโยชน์เงินทอง เป็นความสุดโต่งไปในทางอุดมคตินิยม เพราะในความเป็นจริงเงินทองเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการดำรงชีวิต

ด้วยเหตุนี้คนจีนจึงแสดงความปรารถนาร่ำรวยผ่านสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สร้างไฉ่ซิ้งขึ้นมากราบไหว้บูชา เพื่อเป็นพลังเสริมความขยันหมั่นเพียร ให้เกิดความมั่งคั่งซึ่งเป็นความปรารถนาที่ถูกค่านิยมเก่าควบคุมอยู่การพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดแม้ในสมัยโบราณเงินทองจะไม่มีความสำคัญเท่ายุคหลัง แต่ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้คนทำดีร่ำรวยได้ก็มีมานานแล้ว

ดังปรากฏบันทึกในพงศาวดารราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง (后汉书) ว่า ในรัชกาลพระเจ้าฮั่นซวนตี้ ยินจื่อฟางเป็นลูกกตัญญูและมีเมตตาช่วยเหลือผู้อื่น วันสิ้นปีเจ้าเตาไฟปรากฏกายให้เห็น เขาจึงจัดของเซ่นไหว้ ภายหลังร่ำรวยขึ้นทันตาเห็น ในสมัยราชวงศ์ฮั่นและวุ่ย (สามก๊ก) ก็มีความเชื่อเรื่องเซ่นไหว้รูป “พฤกษาโปรยทรัพย์ (揺钱树)” ซึ่งเชื่อกันว่าเขย่าที่ต้นแล้วจะมีเงินทองร่วงลงมา ภายหลังยังมีประเพณี “ไล่ผีแห่งความยากจน” อีก ความเชื่อเหล่านี้เป็นที่มาของไฉ่ซิ้ง (เทพแห่งทรัพย์สิน) ซึ่งปรากฏชัดในยุคหลัง

ประการที่สอง เพื่อเป็นแบบอย่างคุณธรรมและควบคุมศีลธรรมที่เกี่ยวกับผลประโยชน์และเงินทอง คนจีนมีลักษณะนิสัยที่โดดเด่นประการหนึ่งคือ ขยันหมั่นเพียร พึ่งความพยายามของตนเป็นสำคัญ แม้จะเชื่อเรื่องอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่อาศัยเป็นกำลังใจมากกว่าพึ่งพา ฉะนั้นในเรื่องความร่ำรวยก็ต้องอาศัยความรู้ความสามารถขยันหมั่นเพียรสร้างด้วยตัวเอง ไฉ่ซิ้งที่คนจีนสร้างขึ้นมาจึงสะท้อนเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน ดังจะแสดงตัวอย่างในตอนหลัง

ในสังคมจีนเก่า กฎหมายยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างทั่วถึงและยุติธรรม การเอารัดเอาเปรียบคดโกง ฉ้อฉลทุจริตในลักษณะต่างๆ มีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพที่มีผลประโยชน์เรื่องเงินทองสูง เช่นการค้าขาย มักมีความไม่ซื่อตรง คดโกงกันในลักษณะต่างๆ กฎหมายไม่สามารถควบคุมได้ทั่วถึง ดังนั้นคนจึงอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยควบคุมในเรื่องนี้

ในสังคมจีนเก่า มีเทพประจำอาชีพต่างๆ แทบทุกอาชีพ จุดประสงค์สำคัญก็เพื่อรวมกลุ่ม สร้างสำนึกร่วมในคนอาชีพเดียวกัน และคุมจริยธรรมของคนในอาชีพนั้นด้วย

เทพแห่งทรัพย์สินเดิมเป็นเทพของพวกอาชีพที่เกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้า การพนัน ซึ่งมีความฉ้อฉลคดโกงกันสูง การบูชาเทพแห่งทรัพย์สินหรือไฉ่ซิ้งจึงหวังให้ท่านผดุงความถูกต้องยุติธรรมให้ด้วย ไฉ่ซิ้งของจีนซึ่งมีมากมายหลายองค์นั้น ส่วนมากสร้างจากบุคคลที่มีตัวตนจริงหรือบุคคลในตำนานซึ่งเป็นแบบอย่างคุณธรรมด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจน เช่น เจ้ากงหมิง ไฉ่ซิ้งองค์สำคัญที่สุด เป็นเทพเก่าแก่ มีตำนานว่าตาบอด จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของการไม่เห็นทรัพย์สินอยู่ในสายตา แบ่งให้คนอย่างถ่องเที่ยงยุติธรรม กวนอู เป็นคนซื่อสัตย์รักษาความถูกต้องชอบธรรม เป็นยอดคนกล้าหาญ (英雄) ยอดผู้ผดุงศีลธรรม (义绝) สองคนนี้เป็นเทพแห่งทรัพย์สินฝ่ายบู๊ คุ้มครองและประทานความยุติธรรมในเรื่องทรัพย์สิน

ส่วนเทพแห่งทรัพย์สินฝ่ายบุ๋นที่สำคัญที่สุดสององค์ คือ ปี่กัน บุคคลยุคปลายราชวงศ์ซางกับฟ่านหลี สามีของไซซี ยอดหญิงงามในยุคชุนชิวปี่กันยึดความถูกต้อง ทักท้วงกษัตริย์จนถูกควักหัวใจ ขงจื๊อยกย่องว่าเป็นยอดของผู้ทรงคุณธรรม เป็นสัญลักษณ์ของความสุจริตยุติธรรม ฟ่านหลีมีปรีชาสามารถรอบด้าน ค้าขายจนร่ำรวย แล้วใช้ทรัพย์นั้นเกื้อกูลคนยากจน เป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญาในการหาทรัพย์ เพราะคนจะร่ำรวยได้ต้องมีปัญญาในการหาทรัพย์เป็นสำคัญ ไฉ่ซิ้งอีกมากมายหลายองค์ของจีนนั้นล้วนเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังจะอธิบายในตอนที่กล่าวถึงเทพองค์นั้นๆ

หลี่เย่ว์จงได้กล่าวสรุปเรื่องที่มาของไฉ่ซิ้งว่า ที่มาเบื้องต้นคือคนหวังรวย ต้องการใช้ไฉ่ซิ้งเป็นพลังเสริมและกำลังใจในการสร้างความมั่งคั่ง เบื้องปลาย คือใช้เป็นแบบอย่างคุณธรรมและควบคุมศีลธรรมจริยธรรมของคนในเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ เงินทอง และความร่ำรวย ไฉ่ซิ้งเป็นผู้สร้างความสมดุลในเรื่องผลประโยชน์กับศีลธรรม ซึ่งปกติแล้วเป็นขั้วตรงข้ามกัน แต่ความเชื่อเรื่องไฉ่ซิ้งมุ่งเน้นเรื่องสร้างความร่ำรวยอย่างถูกศีลธรรมและใช้ความร่ำรวยไปอย่างมีคุณธรรม

ความเป็นมาของความเชื่อเรื่องไฉ่ซิ้ง

ความเชื่อเรื่องเทพแห่งทรัพย์สินหรือไฉ่ซิ้งมีมาแต่ครั้งใด นักวิชาการจีนส่วนมากมีความเห็นว่า “โบราณไม่มีเทพแห่งทรัพย์สิน” หลี่เย่ว์จงค้นคว้าเรื่องนี้จากงานของนักวิชาการรุ่นเก่า เอกสารโบราณ ได้ข้อสรุปดังต่อไปนี้ ในทำเนียบของเทวดาของคนจีน เทพแห่งทรัพย์สินเป็นเทพรุ่นหลัง ปัจจุบันสืบค้นที่มาไปได้แค่ยุคราชวงศ์ซ่ง

(ซ้าย) เจ้ากงหมิง ไฉ่ซิ้งฝ่ายบู๊

ในหนังสือฝันถึงความรุ่งเรืองในเมืองหลวงเก่า (东京婪华录) ของยุคราชวงศ์ซ่งใต้ (พ.ศ. 1670-1822) เขียนเล่ารำลึกถึงความเจริญรุ่งเรืองในนครเปียนเหลียง เมืองหลวงเก่าครั้งราชวงศ์ซ่งเหนือ (พ.ศ. 1503-1669) ตอนหนึ่งเล่าถึงประเพณีในช่วงเทศกาลตรุษจีนว่า ผู้คนซื้อรูปเทพทวารบาล เทพจงขุย…และรูปประตูทรัพย์สิน แสดงว่ายุคนั้นมีความรู้เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินแล้ว แต่รูปประตูแห่งทรัพย์สินเก่าสุดที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันเป็นของราชวงศ์หยวน

ในภาพมีรูปขุนนางฝ่ายบุ๋นสองคนยืนหันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางมีอ่างแก้วแหวนเงินทอง ด้านหลังมีรูปประตูใหญ่หับใบบานทั้งสองด้านบนมีอักษรว่า “ประตูคลังทรัพย์สิน” ในหนังสือเมิ่งเหลียงลู่ (梦粱录) ของคนราชวงศ์ซ่งใต้ กล่าวถึงเทศกาลตรุษจีนในนครหาวโจวเมืองหลวงยุคนั้นว่า ในเทศกาลตรุษจีนตามร้านค้ามีรูป “ม้าของเทพแห่งทรัพย์สิน” จำหน่าย เป็นหลักฐานสำคัญว่าถึงยุคราชวงศ์ซ่งใต้ ความเชื่อเรื่องเทพแห่งทรัพย์สินแพร่หลายแล้ว

ตั้งแต่นั้นมาการเซ่นไหว้เทพแห่งทรัพย์สินก็คึกคักแพร่หลายยิ่งขึ้น และเกิดเทพแห่งทรัพย์สินด้านต่างๆ ขึ้นอีกมากมายหลายองค์ คำว่า “เทพแห่งทรัพย์สิน (ไฉ่ซิ้ง 财神)” เกิดขึ้นอย่างช้าสุดไม่เกินปลายราชวงศ์หยวน ในบทละครเรื่องหนี้ชาติหน้า (耒生债) ของยุคปลายหยวนต้นหมิงองก์ที่หนึ่งมีบทร้องวรรคหนึ่งว่า “ไม่ว่าใครก็รอเซ่นไหว้เทพแห่งทรัพย์สิน”

ถึงยุคราชวงศ์หมิง การค้าขยายตัว ความอยากร่ำรวยของผู้คนก็ขยายตามไปด้วย เนื่องจากการค้ามีความไม่มั่นคงและความเสี่ยงสูงขึ้น พ่อค้าต่างปรารถนาให้การค้าทุกครั้งประสบความสำเร็จ ได้กำไรงาม การเซ่นไหว้เทพแห่งทรัพย์สินจึงกลายเป็นประเพณีสำคัญของคนพวกนี้ ปรากฏเรื่องราวอยู่ในเรื่องสั้นและนิยายยุคนั้นมากมาย

ต่อมาพวกอาชีพอื่นก็นิยมตามไปด้วย ดังปรากฏในวรรณกรรมนิทานเรื่องหนึ่งของยุคกลางราชวงศ์หมิงว่า “นักพนันกัดจิ้งหรีดคนหนึ่งเซ่นไหว้เทพแห่งทรัพย์สินอยู่ประจำต่อมาได้จิ้งหรีดกัดเก่งตัวหนึ่ง กัดชนะทุกครั้ง จนใช้หนี้พนันที่เคยมีอยู่หมดแล้วยังมีเงินเหลือร่ำรวย” เทพแห่งทรัพย์สินในนิทานเรื่องนี้มีลักษณะเป็น “เทพแห่งลาภลอย” มากกว่าเทพแห่งทรัพย์สินปกติ

ในร้อยกรองและนิทานยุคราชวงศ์หมิงอีกหลายเรื่อง สะท้อนให้เห็นว่าถึงยุคกลางและปลายราชวงศ์หมิง การเซ่นไหว้เทพแห่งทรัพย์สินเป็นประเพณีที่แพร่หลายไปในหมู่ชนทุกหมู่เหล่าแล้ว

ต่อมาในยุคราชวงศ์ชิง (พ.ศ. 2279-2454) และยุคสาธารณรัฐ (พ.ศ. 2454-2492) การเซ่นไหว้เทพแห่งทรัพย์สินเป็นประเพณีนิยมประการหนึ่งของคนทั่วไปในสังคม มีบันทึกอยู่ในหนังสือบันทึกประเพณีทั่วจีน (中华全国风俗志) ของหูพ่ออันคนยุคปลายราชวงศ์ชิงถึงต้นสาธารณรัฐ เช่น แถบผิงเซียง มณฑลเจียงซี พวกพ่อค้าไหว้เจ้ากงหมิงเป็นพระโพธิสัตว์เรียกทรัพย์ ฟ่านหลีเป็นเทพแห่งทรัพย์สินของหลายมณฑล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคใต้ พ่อค้าเมืองเซ่าซิงยกย่องฟ่านหลีเป็นปรมาจารย์แห่งการค้า จัดงานเซ่นไหว้ในวัน 11 ค่ำ เดือนห้า ทางภาคตะวันออกของมณฑลเหอหนัน ผู้คนเชื่อว่าภรรยาฟ่านหลีเป็นเทพธิดามีฤทธิ์มาก ช่วยให้เขาได้เงินทองมากมายไม่รู้สิ้น

ชาวมณฑลซานตงยกย่องว่าฟ่านหลีสอนให้คนค้าขายและบอกกับผู้คนว่า “เงินทองนั้นมีหนึ่งแล้วเพิ่มเป็นสิบได้ จากสิบเพิ่มเป็นร้อย แล้วเพิ่มมากยิ่งๆ ขึ้นไปไม่มีที่สิ้นสุด” นี่คือที่มาของการค้าขาย คนจีนแต้จิ๋วยกย่องว่าฟ่านหลีคือเทพแห่งทรัพย์สินและการค้า มีพิธีเซ่นไหว้ในวัน 24 ค่ำ เดือนหก

เมื่อฟ่านหลีปลอมตัวค้าขายจนมั่งคั่งนั้น ผู้คนเรียกว่าเถาจูกง ซึ่งเสียงจีนแต้จิ๋วว่า “เถ่าจูกง” เป็นที่มาของคำว่า “เถ่าเก-เถ้าแก่” ยังมีรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องเทพแห่งทรัพย์สินบันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้อีกมาก

ในยุคเดียวกันนี้เอง ผู้คนในแต่ละถิ่นต่างสร้างเทพแห่งทรัพย์สินองค์ใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการทางจิตใจของตน จึงมีเทพแห่งทรัพย์สินมากมายต่างกันไปตามถิ่นตามยุค มีตำนานที่มาและคุณสมบัติแตกต่างกันไป มีทั้งเทวดา เซียน เทพท้องถิ่น บุคคลในตำนาน ตลอดจนพระโพธิสัตว์พระสงฆ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา

การมีเทพแห่งทรัพย์สินเกิดขึ้นใหม่อีกมากมายนี้สะท้อนอยู่ในวรรณกรรมเรื่องหนึ่งของอู๋เจี่ยน (พ.ศ. 2409-2453) คนยุคปลายราชวงศ์ชิงว่า “เทพแห่งทรัพย์สิน (ไฉ่ซิ้ง-ไฉเสิน) มีนามเต็มว่า ‘ตูเทียนจื้อฟู่ไฉป๋อซิงจวิน (都天致富财帛星君- ดาวแห่งทรัพย์สินแพรพรรณผู้กำกับความมั่งคั่งทั่วฟ้า)’ แต่คนผู้ขอทรัพย์สินไปทราบว่าท่านคือเทพแห่งทรัพย์สิน กลับไปยกย่องเจ้ากงหมิงเป็นเทพแห่งทรัพย์สินฝ่ายบู๊ บ้างก็ยกย่องเห้งเจียเป็นเทพแห่งทรัพย์สิน บ้างก็ยกย่องจาวไฉถงจื่อ (กุมารเรียกทรัพย์) เป็นเทพแห่งทรัพย์สิน บ้างก็ยกย่องผีแห่งท้องถิ่นผู้ไว้ทุกข์เป็นเทพแห่งทรัพย์สิน

ตั้งแต่ความเชื่อเรื่องเทพแห่งทรัพย์สินแห่งหนทางทั้งห้าเกิดขึ้นแล้ว เทพไฉป๋อซิงจวินผู้กำกับทรัพย์สินองค์เดิมก็ตกต่ำลง จนท่านน่าจะต้องถอนใจพูดว่า ‘เดี๋ยวนี้ข้าก็เหมือนฮ่องเต้ในโลกมนุษย์ มีแต่ยศศักดิ์สูงอันว่างเปล่า ถูกเจ้าพวกตัวเล็กตัวน้อยยึดอำนาจหมดกลายเป็นผู้สูงส่งเดียวดายจริง’”

ตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซ่งเป็นต้น ไม่เพียงแต่พ่อค้าแม้ปัญญาชน ขุนนาง ชาวไร่ชาวนา และคนทุกหมู่เหล่าต่างมีประเพณีไหว้เทพแห่งทรัพย์สินประเภทต่างๆ กันทั่วหน้า พิธีการเซ่นไหว้ก็มีหลายลักษณะต่างกันไป มีทั้งขอทรัพย์ เชิญทรัพย์ เรียกทรัพย์สารพัดอย่างมายาวนาน ถึงยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. 2492-ปัจจุบัน) ช่วงแรก ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซบเซาไป แต่หลังจากเติ้งเสี่ยวผิงเปิดประเทศ ทุนนิยมเข้าสู่จีน ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์กลับฟื้นขึ้นมา เทพแห่งทรัพย์สินเป็นเทพที่ผู้คนนิยมกราบไหว้มากที่สุดองค์หนึ่งตามสภาพสังคมซึ่งเงินมีความสำคัญมากขึ้น

ส่วนในไต้หวัน หนังสือรับทรัพย์รับโชค (接财迎福) สรุปความเชื่อเรื่องเทพแห่งทรัพย์สินในไต้หวันไว้ว่า “ในไต้หวัน ผู้คนอพยพจากแผ่นดินใหญ่มาเพื่อสร้างชีวิตที่ดี มีความสุข จึงมุ่งหวังทรัพย์สินเงินทอง ลูกหลาน และความมีอายุยืนแข็งแรงเป็นสำคัญ เบื้องแรกต้องมีทรัพย์ก่อน จึงจะมีทุนส่งเสียลูกหลานเล่าเรียนมีความรู้ ประกอบอาชีพที่มั่นคงได้ จากนั้นจึงต้องการความมีอายุยืนแข็งแรง อยู่เห็นความสำเร็จของลูกหลาน ความมั่นคงของวงศ์ตระกูล เงินทองเป็นปัจจัยสำคัญเบื้องต้น เพราะถ้ามีเงินย่อมจะช่วยเหลือญาติมิตร เพื่อนมนุษย์ ทำสาธารณกุศลต่างๆ ได้เต็มที่ ทรัพย์สินเงินทองความร่ำรวยจึงเป็นความปรารถนาเบื้องต้นของคนจีนในไต้หวัน”

ในหมู่คนจีนโพ้นทะเลมีความเชื่อเรื่องเทพแห่งทรัพย์สินติดมาแต่เดิม และเพิ่มความสำคัญยิ่งขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม และ “กระแส” ในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้ชัดเจนในเมืองไทยว่าการไหว้ไฉ่ซิ้งคึกคักกว่าในอดีตมาก

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ไฉ่ซิ้ง : เทพแห่งทรัพย์สินของจีน เทวดาผู้มาแรงในปัจจุบัน” เขียนโดย ถาวร สิกขโกศล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ตุลาคม 2562