รู้หรือไม่? ปีชงแบบจีน มีแต่ “ชงตรง-ชงเฉียด” และไม่มี “แก้ชง”

วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ คน นิยม แก้ชง ใน ปีชง
วัดมังกรกมลาวาส หรือ "เล่งเน่ยยี่" เป็นวัดจีนที่คนนิยมมาแก้ชง

หลายปีมานี้ กระแส “ปีชง” มาแรงในสังคมไทย มีการแบ่งว่าปีไหนชง 25% 50% 75% ไปจนถึงชงเต็มๆ แบบ 100% จนต้องไป “แก้ชง” ทั้งที่จริงแล้ว ตามความเชื่อแบบจีน ไม่มีการแบ่งว่าชงมากหรือชงน้อย และไม่มีการแก้ชง

เรื่องนี้ สมชาย แซ่จิว ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมจีน เจ้าของหนังสือ “พลิกสุสานอ่านจิ๋นซี” (สำนักพิมพ์มติชน) เล่าว่า “ปีชง” ไม่ใช่เรื่องงมงาย แต่เป็นเรื่องดวงดาวและสถิติ ในความเชื่อจีนมี “ไท้ส่วยเอี๊ย” เทพเจ้าจีนที่ดูแลคุ้มครองดวงชะตา มีทั้งหมด 60 องค์ มนุษย์แต่ละคนจะมีไท้ส่วยเอี๊ยประจำ และมีไท้ส่วยเอี๊ยที่จรมาในแต่ละปี ซึ่งปี 2567 นี้ ไท้ส่วยเอี๊ยคือ “หลีเซ้งไต่เจียงกุง”

“คนจีนถึงมี ‘แซยิด’ เมื่ออายุถึง 60 ปี ในแง่หนึ่งคือเก่งมากที่ฝ่าไท้ส่วยเอี๊ยมาได้ถึง 60 องค์” สมชาย อธิบาย

ส่วนที่บอกกันว่า “ปีชง” มีทั้งชงมาก-ชงน้อย กูรูวัฒนธรรมจีนยืนยันว่า ไม่มี! เพราะตามความเชื่อจีนมีแต่ “ชงตรง” และ “ชงเฉียด” เท่านั้น

ปี 2567 ปีที่ชงตรงคือ ปีจอ ส่วนปีที่ชงเฉียดคือ ปีมังกร ปีฉลู และ ปีเถาะ และแม้จะมีความเชื่อเรื่องปีชง แต่จีนก็ไม่มีเรื่อง “แก้ชง” แต่อย่างใด

“เราแก้ชงไม่ได้ แต่เรากันชงได้ คือหลีกเลี่ยง สำรวม และระวัง เช่น ปีจอ ที่ชงโดยตรง พลังชี่เราจะอ่อน ดังนั้นก็อาจเลี่ยงด้วยการไม่ไปงานอวมงคลต่างๆ เลี่ยงงานศพ และอีกทางก็ปฏิบัติอย่างที่อาจารย์ถาวร สิกขโกศล กล่าวไว้ คือ ทำตัวให้มีคุณภาพและมีคุณธรรม ก็จะเป็นการแก้ชงที่ดีที่สุด ส่วนการแก้ชงโดยไปที่วัด เป็นการทำเพื่อความสบายใจ แต่วิธีที่ดีสุดคือปัดอวิชชาออกไป”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สมชาย แซ่จิว ในงานทอล์ก “BAOBOOK: เมาท์เรื่องมู ปีมังกรทอง” จัดโดยสำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ ซีเจ มอร์ ที่บาว คาเฟ่ สีลมซอย 7 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2567