“ชง” ความหมาย-ความเชื่อ ในภาษาและวัฒนธรรมจีน

ชง ปีชง แก้ชง
ภาพประกอบบทความ

คำว่า “ชง” ที่ใช้ในความหมายเชิง โหราศาสตร์จีน เดิมใช้อักษร ต่อมาเปลี่ยนเป็นอักษร ถึงยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีการใช้อักษรตัวตัด จึงเขียนเป็น แต่รูปมาตรฐานที่ใช้มานาน 2,000 กว่าปีคือ

ชง คืออะไร?

คำว่า ชง (冲–衝) ตามหลัก “โหราศาสตร์จีน” เป็นความหมายเก่าที่สืบทอดมาตามความเชื่อและศาสตร์เฉพาะวิชาของจีน ตามความเข้าใจเชิงโหราศาสตร์จีนอย่างชาวบ้าน ชง (冲) คือ ขัดแย้ง, เข้ากันไม่ได้ เช่น ก ชงกับ ข ก็คือ ก กับ ข เข้ากันไม่ได้ หรือขัดกันตามเกณฑ์โหราศาสตร์จีน ไม่ใช่ชนหรือปะทะกัน ปีชวดชงกับปีมะเส็ง (สมมุติ) หมายถึงคนที่เกิดสองปีนี้มีดวงขัดกันหรือเข้ากันไม่ได้ คงไม่ถึงชนหรือปะทะกันตามความหมายในภาษาไทย

ชง (冲) ในความหมายว่า ขัดแย้งกัน ตามโหราศาสตร์จีนน่าจะตรงกับคำภาษาจีนว่า 冲突 (ชงถู-ขัดแย้ง) หรือ 冲犯 (ชงฟ่าน-ล่วงเกิน ขัดแย้ง) มากกว่า ชน ปะทะ ซึ่งภาษาจีนว่า 冲撞 (ชงจ้วง)

มหาพจนานุกรมจีน (汉语大词典) เล่ม 3 อธิบายคำ 衝 (冲 Chong ชง) และคำผสมที่เกิดจากคำนี้ไว้ใน น. 1,083-1090 มีความหมายของ “ชง” ในเชิงโหราศาสตร์จีนอยู่ในคำ 衝犯 (Chongfàn) แต้จิ๋วอ่าน ชงหวม ดังนี้

衝犯 (Changfàn) 1. ฝ่า กระทบ (冲, 触犯) 2. บุกรุก (进犯) 4. ล่วงเกิน ปะทะ ขัดแย้ง (犯, 冲撞) 4. ความเชื่องมงายในอดีตอย่างหนึ่ง เชื่อว่าธาตุทั้งห้า (ปัญจธาตุ) ขัดข่มกันอยู่ (旧时– 种迷信说法,谓五行相冲克) 2 คำสุดท้ายในคำนิยามของความหมายนี้คือ 冲克 คำ 冲 ก็คือ ขัดแย้ง 克 คือ ข่ม ปราบ เอาชนะกัน นี่เองคือที่มาของคำว่า “ชง” ในเชิงโหราศาสตร์จีน

คำอธิบายนี้อิงอยู่กับหลักปัญจธาตุ (五行 ธาตุทั้งห้า) ของปรัชญาสำนักยินหยาง

สำนักยินหยางถือว่าโลกนี้มีธาตุมูลฐานอยู่ 5 อย่าง คือ ดิน (土) น้ำ (水) ไฟ (火) ไม้ (木) และโลหะ (金) คำสุดท้ายนี้มักแปลผิดเป็นทอง อักษร 金 (Jin จิน แต้จิ๋ว กิม) แปลว่าโลหะ หรือทองคำ แต่ในเรื่องปัญจธาตุหมายถึงโลหะ สรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนมีธาตุเหล่านี้ประกอบหรือกำกับอยู่ เช่น เรื่องทิศและสีประจำทิศ ทิศเหนือธาตุน้ำ สีดำ ทิศใต้ธาตุไฟ สีแดง ทิศตะวันออกธาตุไม้สีเขียว (หรือน้ำเงิน) ทิศตะวันตกธาตุโลหะสีขาว ศูนย์กลางธาตุดินสีเหลือง ปีเกิดของคนก็มีธาตุประจำปีซึ่งแยกย่อยเป็นยิน (阴) กับหยาง (阳) คือ ปีชวดธาตุน้ำหยาง ฉลู-ดินยิน ขาล-ไม้หยาง เถาะ-ไม้ยิน มะโรง-ดินหยาง มะเส็ง-ไฟยิน มะเมีย-ไฟหยาง มะแม-ดินยิน วอก-โลหะหยาง ระกา-โลหะยิน จอ-ดินหยาง กุน-น้ำยิน ธาตุดินประจำปีเกิดรวม 4 ปี นอกนั้นธาตุละ 2 ปี โดยแยกเป็นยินกับหยาง

ธาตุทั้งห้านี้ให้กำเนิดและขัดข่มกันเองเป็นวงจร คือ ธาตุดินให้กำเนิดโลหะ โลหะให้กำเนิดน้ำ น้ำให้กำเนิดไม้ ไม้ให้กำเนิดไฟ ไฟให้กำเนิดดิน ในแง่การขัดข่มกัน ดินข่มน้ำ น้ำข่มไฟ ไฟข่มโลหะ โลหะข่มไม้ ไม้ข่มดิน เป็นวงจร

ธาตุที่เป็นคู่ให้กำเนิดนั้นช่วยเหลือกัน ส่วนคู่ขัดข่มนั้นควบคุมข่มกัน แต่แยกออกจากกันไม่ขาด มีคู่ให้กำเนิดสิ่งนั้นจึงเกิดขึ้น มีคู่ขัดข่มสิ่งนั้นจึงเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปอย่างสมดุลกลมกลืน เป็นปรัชญาเรื่องการเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง และแตกดับของสรรพสิ่งในโลก

ในทางโหราศาสตร์เรื่องชง ได้เอาหลักการขัดข่มกันของปัญจธาตุนั้นเป็นฐานศึกษาวิเคราะห์และเพิ่มเติมรายละเอียดไปตามศาสตร์ของตน ซึ่งไม่ขอกล่าวรายละเอียด แต่ขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ชงหรือขัดข่มกันนั้นไม่ได้มีแต่ด้านร้าย แต่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างสันติ ไม่หยุดนิ่งอยู่ ทำให้มีพัฒนาการของชีวิตและสรรพสิ่ง

ชง กับความหมายตามหลักโหราศาสตร์จีน

วกกลับมาที่คำว่า “ชง (冲-衝)” ตามหลัก “โหราศาสตร์จีน” ว่าควรแปลเป็นไทยว่าอะไร

แม้ว่าความหมายหนึ่งของอักษร ชง (衝) จะตรงกับคำว่า “ชน” ในภาษาไทย แต่ที่ใช้ไม่ตรงกัน จึงไม่ควรใช้เป็นคำแปล คำจีน-ไทยที่เสียงและความหมายพ้องกัน แต่ที่ใช้ไม่ตรงกันในลักษณะนี้ยังมีอีก เช่น คำ 错 cuò-ชั่ว เสียงตรงกับคำว่า “ชั่ว” ของไทย แต่ในภาษาจีนหมายถึง ผิด ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ชั่วช้า เลวร้าย อย่างในภาษาไทย ใช้แทนกันหรือใช้เป็นคำแปลกันไม่ได้ ได้แค่ใช้เทียบเคียงกันว่าพ้องเสียงกันและความหมายไปในทำนองเดียวกัน คงเป็นคำที่มาจากคำดั้งเดิมคำเดียวกัน (cognate) แต่ต่อมาความหมายและที่ใช้ต่างกันไป

โหราศาสตร์หรือวิชาหมอดูของไทยมีความเชื่อเรื่อง “ขัด” อยู่ด้วย หมายถึง “เกิดปัญหาหรือทุกข์ภัยเพราะขัดแย้งหรือล่วงเกินสิ่งศักดิ์สิทธิ์” ความขัดแย้งล่วงเกินนั้นมักเกิดเพราะปฏิบัติต่อท่านไม่ถูกต้อง หรือพลั้งเผลอล่วงเกินโดยไม่ตั้งใจ แล้วเกิดความเจ็บป่วยหรือปัญหาในชีวิต หมอดูจะทำนายว่า “ขัด” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด เช่น ขัดเจ้าที่ ขัดผีเรือน ขัดจอมปลวก (ซึ่งคนไทยในชนบทบางคนนับถือ) การขัดนี้บางทีเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น เด็กวิ่งเล่นเอะอะตึงตังที่หน้าหิ้งผีเรือน เผลอไปปัสสาวะใกล้ศาลพระภูมิ แล้วเกิดอาการเจ็บป่วย หมอดูจะแนะวิธีแก้ให้ง่ายๆ ไม่สิ้นเปลือง หรือถือโอกาสเอาประโยชน์เข้าตัวหมอ ซึ่งแต่เดิมถือกันว่าเป็นบาป

ความหมายของคำว่า “ขัด” ดังกล่าวนี้ พจนานุกรมทุกฉบับของไทยไม่ได้เก็บไว้ เพราะเป็นความหมายเฉพาะของวิชาหมอดูไทย ไม่ใช่ความหมายทั่วไป

เรื่อง “ขัด” ของหมอดูไทยมีส่วนคล้ายกับเรื่อง “ชง” ของจีนอยู่บ้าง ต่างก็เกิดจากอำนาจลี้ลับเหมือนกัน แต่เกิดเป็นปัญหาในลักษณะต่างกัน ชงของจีนเป็นเกณฑ์ห้ามทำกิจนั้นกิจนี้เพราะมีความขัดแย้งกันในความลี้ลับ ส่วนขัดของไทย เกิดปัญหาขึ้นแล้วจึงมาหาสาเหตุว่าขัดแย้งกับสิ่งลี้ลับใด จะแก้ไขอย่างไร แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน

อนึ่งความเชื่อเรื่องชงมีที่มาจากเรื่อง “ปัญจธาตุขัดข่มกัน (五行冲克,五行相克)” ธาตุทั้งห้ามีความขัดแย้งข่มกันอยู่ในตัวเป็นวงจรดังกล่าวมาแล้ว ไม่ใช่การปะทะ ชนกัน ซึ่งมีความรุนแรงกว่า เพราะในความขัดข่มเป็นปฏิปักษ์กันยังมีความเกื้อกูลจุนเจือให้ความงอกงามแก่กันด้วย เป็นทั้งการสนับสนุนและควบคุมกันเพื่อให้เกิดสมดุลของธรรมชาติตามหลักปรัชญาของสำนักยินหยาง

ดังนั้น คำว่าชงตามความเชื่อเชิงโหราศาสตร์ของจีนจึงควรแปลเป็นไทยว่า ขัดแย้ง ล่วงเกิน มากกว่าแปลว่า ชน ปะทะ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถ้าให้ระบุความหมายของคำชง 冲 ในความหมายที่ว่านี้เป็นภาษาจีนด้วยคำที่กะทัดรัดก็ควรจะเป็น 冲突 (ขัดแย้ง) 冲犯 (ล่วงเกิน ขัดแย้ง) ไม่ใช่ 冲撞 (ชน ปะทะ) หรือ    冲击 (ตี โจมตี)

ที่สำคัญมหาพจนานุกรมจีน (汉语大词 典) ซึ่งเป็นพจนานุกรมฉบับใหญ่และมาตรฐานที่สุดของจีนในปัจจุบัน ก็เก็บความหมายของชง (冲衝) เชิงความเชื่อทางโหราศาสตร์ไว้ในคำว่า 冲犯 (Chongfàn) คือ ล่วงเกิน ขัดแย้ง ถ้าอะไร “ชง” กันจึงไม่ควรเกี่ยวข้องกันเพราะจะขัดแย้งล่วงเกินกัน ทำให้เกิดผลร้ายตามมานั่นเอง แต่ดังกล่าวแล้วว่าตามหลักปรัชญาสำนักยินหยาง “ชง” หรือการขัดข่มกันเป็นของคู่กับการเกื้อกูลให้กำเนิด ดำเนินควบคู่กันไปตามสมดุลของธรรมชาตินั่นเอง เป็นปกติวิสัยของธรรมชาติ มิได้เลวร้ายจนน่าสะพรึงกลัว ควรเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมเท่านั้น

ปรัชญายินหยางมีความสัมพันธ์กับคัมภีร์อี้จิง (易经 คัมภีร์แห่งความเปลี่ยนแปลง) ซึ่งอธิบายจักรวาลวิทยาตามความเชื่อของคนจีนโบราณไว้ว่า จักรวาลนี้เกิดจาก “อี้ (易)” คือความเปลี่ยนแปลง ซึ่งขอแปลว่าอนิจลักษณ์ ในอรรถกถาคัมภีร์อี้จิง (易传) บรรพจี้ฉือ (系辞) อธิบายว่า “อี้ (อนิจลักษณ์) มีไท่จี๋ (ไท้เก๊ก 太极) คือสภาวะสูงสุด (อุตตมภาวะ) ไท่จี๋ (ไท้เก๊ก) ทำให้เกิดทวิภาคคือยินกับหยาง (阴阳) ทวิภาคหรือยินหยางทำให้เกิดจตุลักษณ์คือลักษณะอันเป็นสี่ เช่น ฤดูกาลทั้งสี่ จตุลักษณ์ทำให้เกิดสภาวะทั้งแปด (อัฐภาวะ) ได้แก่ ฟ้า ดิน น้ำ ลม ไฟ ฟ้าร้อง ห้วงน้ำ และภูเขา จากนั้นมีปฏิสัมพันธ์กันเกิดเป็นสรรพสิ่งในจักรวาล ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงผันแปรเป็นอนิจลักษณ์อยู่ตลอดเวลา คนจีนจำลองความรู้นี้ไว้ในภาพปา-กว้า (八卦 แต้จิ๋วโป๊ยข่วย) คือสภาวะอันแทนด้วยลายลักษณ์ทั้งแปด ดังนี้

ปา-กว้า (โป๊ยข่วย) นี้นิยมใช้เป็นเครื่องรางของขลังด้วย นิยมเรียกกันว่ายันต์แปดเหลี่ยม วงกลมด้านในคือไท่จี๋ (ไท้เก๊ก-อุตตมภาวะอันได้แก่จักรวาล) ลูกน้ำหรือปลาขาวดำในวงกลมคือหยางกับยิน ซึ่งใช้ลายเส้นเป็นสัญลักษณ์แทนได้อีก เส้นเต็ม — แทนหยาง เส้นขาดหรือเส้นประ — แทนยิน แต่ในปา-กว้าจะเป็น 3 เส้นซ้อนกัน ลายเส้นซ้อน ๓ เส้นที่ต่อกันเป็นแปดเหลี่ยมได้แก่สภาวะทั้งแปด คือ ฟ้า ดิน น้ำ ลม ไฟ ฟ้าร้อง ห้วงน้ำ และภูเขา

เข้าใจธรรมชาติผันแปร

จักรวาลวิทยานี้เกิดจากการสังเกตธรรมชาติของคนจีน ว่าโลกนี้มีความเปลี่ยนแปลงผันแปรอยู่ตลอดเวลาจากพื้นฐานสำคัญ 2 ประการ ที่เป็นคู่กันคือฟ้า-ดิน ดวงอาทิตย์-ดวงจันทร์ กลางวัน-กลางคืน มืด-สว่าง จึงเรียกสภาวะพื้นฐาน 2 ประการนี้ว่าหยาง-ยิน (หรือยิน-หยาง) ธรรมชาติที่เป็นตัวแทนหยางคือฟ้า ดวงอาทิตย์ กลางวัน สว่าง ตัวแทนยินก็คือดวงจันทร์ ดิน กลางคืน มืด ฟ้าดิน ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์จับคู่ปฏิสัมพันธ์กันจึงเกิดความผันแปรเป็นสภาวะต่างๆ อีกเป็นอนันต์ อักษรความเปลี่ยนแปลง 易 (อี้ yì) จึงประกอบด้วยอักษรดวงอาทิตย์ 日 กับอักษรดวงจันทร์ 月 แปลงรูปเป็น 勿รวมกันเป็น 易หมายถึงความเปลี่ยนแปลง (จากปฏิสัมพันธ์ของดวงอาทิตย์-ดวงจันทร์ ฟ้า-ดิน) ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นอนันตภาวะไม่มีที่สิ้นสุด เป็นสิ่งสูงสุดจึงเรียกว่าไท่จี๋ (太极) หรือไท้เก๊กในภาษาแต้จิ๋ว ซึ่งหมายถึงสภาวะสูงสุด

ความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงผันแปร ปฏิสัมพันธ์ของธรรมชาติหรืออี้ (易) จึงเป็นศาสตร์ชั้นสูง จากธรรมชาติศึกษาเข้าสู่ปรัชญาของคนจีน แล้วใช้เป็นแนวทางดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ โดยดูจากสภาวะทั้งแปดในธรรมชาติ ที่สำคัญคือดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ฟ้าดิน

มนุษย์พบว่าฟ้ามีกฎระเบียบมั่นคง ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์โคจรอย่างมีระบบหมุนเวียนตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่งเกียจคร้าน ถือเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของฟ้าว่า “กระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา (自强不息)” ส่วนดินเป็นที่เกิดและรองรับสรรพสิ่งอย่างมั่นคงไม่ปฏิเสธ มีคุณธรรมยิ่งใหญ่รองรับสรรพภาวะ (厚德载物) เป็นคุณสมบัติสำคัญ

จากธรรมชาติพื้นฐานของฟ้าดินตามทรรศนะของจีนนำไปสู่หลักการดำรงชีวิตพื้นฐานสำคัญ 2 ประการของคนจีน คือ ขยันขันแข็งกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลาเหมือนฟ้า หนักแน่นอดทนเหมือนดิน เมื่อประสบปัญหาจะต่อสู้แก้ไขไม่งอมืองอตีนหรือหวังพึ่งอำนาจภายนอก คนจีนเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์และธรรมชาติ แต่จะต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าด้วยตนเอง คือเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ไม่หวังพึ่ง

ดังนั้น แม้คนจีนจะมีความเชื่อเรื่องสิ่งลี้ลับเป็นข้อห้ามอยู่มาก แต่ก็มีทางแก้ไข ไม่ใช่เชื่องมงายจนถ่วงชีวิตตนเอง ความเชื่อบางเรื่องเป็นกุศโลบายฝึกวินัยในโอกาสอันควร เช่นวันแรกของปีใหม่จีน (1 ค่ำ เดือนอ้ายจีน) ห้ามพูดคำหยาบ ห้ามทะเลาะเบาะแว้ง ทำของแตกหัก ก็เพื่อฝึกความสำรวมระวัง เป็นการเริ่มต้นที่ดีในปีใหม่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ชง (冲) ในภาษาและวัฒนธรรมจีน” เขียนโดย ถาวร สิกขโกศล ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มกราคม 2565