ผู้เขียน | เสี่ยวจิว |
---|---|
เผยแพร่ |
“แต๊” (บ้างเรียก เต๊) เป็นภาษาแต้จิ๋ว แปลว่า “ชา, น้ำชา” คนจีนค้นพบน้ำชาโดยบังเอิญ แต่ดื่มอย่างจริงจังมานับพันๆ ปี จนถึงปัจจุบัน สังคมคนแต้จิ๋วในไทยเมื่อ 40-50 ปีก่อน ส่วนใหญ่จะชงน้ำชาด้วยป้านชากระเบื้องเคลือบใบใหญ่ใส่ไว้ในนวมที่เก็บมีฉนวนผ้าบุไว้ด้านในเพื่อรักษาความร้อน (แบบเดียวกับป้านชาที่พระท่านใช้กันทั่วไป)
น้ำชาครั้งแรกรินไหว้พระไหว้เจ้าในบ้าน ที่เหลือไว้กินเองและเลี้ยงแขกไปใครมา ตลอดทั้งวันป้านไม่เคยแห้ง เมื่อน้ำชาพร่องก็เติมน้ำร้อน สีชาจางก็เพิ่มหรือเปลี่ยนใบชา ตกเย็นลูกหลานรุ่นเด็ก (ที่พอรู้ความ) เป็นคนเก็บป้านชาและถ้วยไปล้าง
คราบน้ำชาจับป้านจับถ้วยเป็นคราบสีน้ำตาลไหม้ๆ โดยเฉพาะคราบด้านในป้านคอชาทั้งสะสมไว้อย่างอดทนนัยว่าทำให้รสชานุ่มนวลชวนดื่มมากขึ้น ลูกหลานหลายคนเห็นแล้วทนไม่ได้ขัดซะเกลี้ยงก็จะโดนดุว่า “แก่สี่โอ๋ย -จุ้นจ้าน, รู้ดี”
วันนี้หลายบ้านใช้ป้านใบเล็กลง เพราะจำนวนคอชาผู้อาวุโสลดลงไปหลายท่าน คอชารุ่นต่อมาเริ่มมีฐานะและมีเวลาว่างพอที่จะค่อยๆ จิบชา
อย่างไรก็ตามลูกหลานแต้จิ๋วโพ้นทะเลยังคงทักทายแขกที่มาเยือนว่า “ไหล่เจียะแต๊ – มากินน้ำชา” เหมือนคนไทยที่บอกกับแขกที่มาถึงบ้านว่า “มากินน้ำกินท่า” โดยเฉพาะแขกผู้ใหญ่ เป็นคนจีนด้วยกัน ต้อง “แต๊” เท่านั้น
เรื่องของแต๊ เรื่องของคน
แต่ในงานบุญของชุมชนแต้จิ๋วแห่งหนึ่ง เห็นอาอึม – คุณป้าท่านหนึ่งยกน้ำชาให้อาเฮียที่นั่งทำงานกันอยู่กินแล้วบอกว่า “แต๊บ่อตัวโส่ย – น้ำชาไม่มีอาวุโส” (ผู้ใหญ่ เด็กยกให้กินได้)”
หาก “แต๊” ในประสบการณ์ของผู้เขียนน้ำชามีเรื่องของ “อาวุโส” อยู่ด้วย
เพราะผู้ใหญ่รอบตัวทั้งพ่อของเพื่อนและพ่อตัวเอง ที่เป็นคอชาหลายท่านเอาชามาอวดและชวนกินน้ำชา หากทุกครั้งลูกหลานในบ้านต้องรินและยกเอาเอง ท่านว่า “ผู้ใหญ่ไม่ยกน้ำชาให้เด็ก” หรือว่าผู้เขียนเข้าใจผิด หรือแต่ละท้องถิ่นมีธรรมเนียมต่างกัน จึงต้องหาความกระจ่างให้ตัวเอง
ลิ้มเฮียเป็นคนแรกที่ขอให้ช่วยอธิบายเรื่องน้ำชากับอาวุโส ซึ่งได้คำอธิบายว่า เรื่องนี้แบ่งเป็น 2 กรณี คือ ถ้าเจ้าของบ้านหรือเจ้าของสถานที่อาวุโสกว่ารินน้ำชาให้แขกรุ่นเยาว์ไม่ต้องยึดอาวุโสเพราะทำให้ในฐานะเจ้าบ้าน แต่โดยทั่วไปผู้ใหญ่ไม่ชง, ริน,ยกน้ำชาให้ผู้น้อย เพราะมีเรื่องของอาวุโสอยู่
ผู้ใหญ่อีก 2-3 ท่านตอบในลักษณะเดียวกัน หากแม่ของเพื่อนผู้เขียนท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า อาอึมคงจะเอ็นดูอาเฮียเลยยกน้ำชาให้กิน
นอกจากความกระจ่างเรื่องน้ำชากับความอาวุโสแล้ว ยังทำให้ระลึกถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับน้ำชา ที่ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของแต๊กับคนแต้จิ๋ว
น้ำชายังมีเรื่องเล่าอีกมากมาย เรื่องเล่าต่อไปนี้ชื่ออะไรผู้ใหญ่ที่เล่าไม่เคยบอก แต่ถามลูกหลานแต้จิ๋วหลายท่าน บ้างเคยเป็นคนเล่า บ้างเคยเป็นคนฟัง พบว่ามีคนอายุตั้งแต่ 30 เศษ จนถึง 70 กว่าปี นี้คงเป็นเรื่องที่รู้จักกันค่อนข้างกว้างขวางทีเดียว
เป็นเรื่องของแม่เลี้ยงใจร้ายที่มีความคิดลึกซึ้ง ให้ลูกเลี้ยงกินหมู เป็ดไก่ที่มันและเลี่ยนทุกวัน เด็กชายที่มีสุขภาพแข็งแรง ร่าเริง เริ่มกลายเป็นเด็กเริ่มอ้วนฉุ เฉื่อยชา และเจ็บป่วยง่าย
เหล่าซือ – ครูที่โรงเรียนเห็นการเปลี่ยนแปลงก็เรียกลูกศิษย์มาถามด้วยความเป็นห่วง ว่าแม่เลี้ยงดูแลรักใคร่ดีหรือไม่
เด็กชายตอบว่าแม่เลี้ยงใจดี ให้กินแต่หมู เป็ดไก่ทุกวัน เหล่าซือฟังแล้วก็เข้าใจแผนการของแม่เลี้ยงที่จะทำให้เด็กมันจุกอกตาย จึงจัดแจงชงน้ำชาแก่ๆ ให้ลูกศิษย์กินและสั่งว่าพรุ่งนี้ให้มาหาเหล่าซือก็จะชงแต๊แก่ๆ ให้กินเช่นนี้ทุกวัน เป็นการแก้ลำแม่เลี้ยง เด็กชายก็ได้กินของดีจนโต
ทุกวันนี้เวลากินอาหารเลี่ยนๆ มันๆ ก็จะนึกถึงเรื่องของแม่เลี้ยงกับน้ำชาเสมอ
ส่วนเรื่องต่อจากนี้ ลิ้มเฮียเล่าให้ฟังในวงเมื่อหลายปีก่อน สมาชิกในวงที่ฟังภาษาแต้จิ๋วออกบอกว่า คำพูดสองแม่ลูกจับใจมาก เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า ครอบครัวหนึ่งมีแม่กับลูกชาย, ลูกสะใภ้ วันหนึ่งเกิดพูดจาผิดหูกัน
วันรุ่งขึ้นลูกชายยกน้ำชามาขอโทษแม่แต่เช้ามืดและพูดกับแม่ว่า
“มิงขี้โกยที้ตี่โหงวแก่
ลุกขึ้นจากที่นอนแต่ไก่ขัน
อุ่ยเลาะเชียะบ้อเจียะเช็งแต๊
ลูกคุกเข่าลงข้างเตียงแม่
จายิกอุ่ยบ้ออิมกู่ต่า
ขอโทษที่เมื่อวานลูกตอบแม่ผิดไป
กิมยิกอุ่ยบ้อจ๊อเอี่ยงแซ
วันนี้ลูกมาขอโทษและขอให้แม่อยู่กับลูกไปนานๆ”
แม่รับน้ำชาขึ้นมากินและตอบลูกกลับไปว่า
“แต่เอ๊าเจียะเลี้ยวแต่เอาชิม
คนกินน้ำชาอยู่แล้วได้ชาถ้วยนี้ยิ่งตื้นตันใจ
มึ่งขี่จ๊ออู่เจ็กเกี้ยเตียเหาซิม
วันนี้ทำไมลูกถึงได้กตัญญูอย่างนี้นะ
ห่อเกี้ยเหยียะเตียะห่อซิมปู๋
ลูกดี สำคัญลูกสะใภ้ต้องดีด้วย
เจ็กแกหั่วมี้ตักเช่ยกิม
บ้านที่มีความรักสามัคคีมีค่ากว่าทองคำพันชั่ง”
เมื่อเด็กรู้จักขอโทษ ผู้ใหญ่รู้จักอภัย เรื่องราวก็จบลงด้วยดี แต่สมาชิกในวงยังคาใจและอดที่จะพูดเล่นกันไม่ได้ว่า “ตอนที่ลูกมาขอโทษนั้น ลูกสะใภ้มาด้วยหรือเปล่า หรือมาแล้วยืนเท้าสะเอวอยู่ข้างๆ”
หรือเรื่องของเพื่อน 2 คน เพื่อนคนหนึ่งเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนอีกคน ระหว่างทางอากาศไม่ดี กว่าจะถึงบ้านของเพื่อนก็ล่าช้าจนค่ำมืดอากาศหนาวจัด เพื่อนที่เป็นเจ้าของบ้านรีบไปชงชาร้อนมาให้เพื่อนกินคลายหนาว เมียของเจ้าของบ้านออกมาทักทายแขกว่า “ทั่งแม้แขะไล้ แต๊ซึงจิ้ว – คืนหนาวเหน็บแขกมาเอาน้ำชาต่างเหล้า” ก่อนจะไปจัดหาอาหารมารับรอง
ลิ้มเฮียซึ่งเล่าเรื่องนี้ให้ฟังบอกว่า น้ำชาเป็นเครื่องที่ช่วยคลายหนาวได้ดี เพราะคนจีนกินชาร้อนๆ เสมอจึงให้ความอบอุ่นและไม่ทำให้เกิดมึนเมา
เฉี่ยเจียะแต้ : เชิญกินน้ำชา
เรื่องเล่าข้างต้นเป็นความทรงจำของลูกหลานแต้จิ๋วในเมืองไทย ส่วนที่เมืองจีนซึ่งเป็นต้นทางวันนี้ลูกหลานแต้จิ๋วที่นั้น “น้ำชา” ยังเป็นเครื่องดื่มหลักอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการในชีวิตประจำวัน
หลายปีก่อนอาจารย์ลิ้มอุ่งฮีเคยเล่าให้ฟังว่า ถ่งอุ้ย – ลูกหลานแต้จิ๋วในจีน ยกน้ำชา “ไหว้ครู” ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ให้ท่านช่วยสอนภาษาไทยให้
หรือ 3-4 ปีก่อนที่ติดตามอาจารย์ลิ้มอุ่งฮีไปเยี่ยมบ้านญาติอาจารย์ที่เขตชนบทของแต้จิ๋ว น้ำชาเป็นเครื่องดื่มชนิดเดียวที่เขาดื่มกินตลอดทั้งวันไม่ว่าจะเป็นก่อนกินข้าว ระหว่างกินข้าว หรือหลังกินข้าว
ตกเย็น อาจารย์พาเดินดูบรรยากาศชุมชน เยี่ยมญาติๆ และเพื่อนในหมู่บ้าน แต่ละบ้านจะชงกังฮูแต๊ (การชงชาของคนแต้จิ๋วใช้ป้านดินขนาดเล็กรินใส่ถ้วยขนาดเล็ก วัฒนธรรมสำคัญหนึ่งของแต้จิ๋ว ขอไม่อธิบายรายละเอียดในที่นี้) มาเลี้ยงแขก กินถ้วยแรกเพื่อรับไมตรีเจ้าบ้าน ถ้วยชายังไม่ทันคลายร้อนเจ้าของบ้านก็รินเติมแล้วเรียกให้กินอีกครั้ง ฟังผู้ใหญ่คุยกันไปสักพักเจ้าของบ้านก็คะยั้นคะยอให้กินอีกถ้วย
ผู้เขียนบอกว่าไม่ค่อยได้กินแต๊กินมากไม่ได้เดี๋ยวคืนนี้นอนไม่หลับ เจ้าของบ้านก็หัวเราะแล้วบอกว่า หลับ อย่างไรก็หลับ พวกท่านกินทั้งวันยังนอนหลับเลย ว่าแล้วก็เรียกให้ผู้เขียนกินแต๊อีกถ้วย
ตั้งแต่เย็นจนหัวค่ำเดินตามอาจารย์ไป 3-4 บ้าน แต่ละบ้านต้องกินแต๊ไปอย่างน้อย 4-5 ถ้วย คืนนั้นทั้งคืนคงมีแต๊อยู่ในท้องผู้เขียนสัก 2 ป้านย่อมๆ
คืนนั้นกว่าจะหลับก็เข้าไปค่อนคืน ไม่น่าเชื่อว่าน้ำชาสีบางแต่ละถ้วยจะทำให้คอชาหน้าใหม่อย่างผู้เขียนตาสว่างถึงเพียงนี้ หรือจะเป็นเพราะ “หนั่งเช้ง – มนุษยสัมพันธ์” ที่ได้รับจากเจ้าบ้าน เหมือนสำนวนแต้จิ๋วที่ผู้ใหญ่หลายท่านพูดให้ฟัง “แต๊เป๊าะ หนั่งเช้งเก๋า – น้ำชา (สี) บาง มนุษยสัมพันธ์เข้ม (แข็ง)”
อ่านเพิ่มเติม :
- “กังฮูเต๊” ศิลปะการดื่มน้ำชา ที่แสดงอัตลักษณ์ “คนแต้จิ๋ว”
- “น้ำชายาเสียง” ตัวช่วยแก้เสียงแห้งใน “พระพิธีธรรม” มีอะไรบ้าง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มกราคม 2560