ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ช่วงส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ นอกจาก ไปเที่ยว, ปาร์ตี้, โบนัส อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนคิดถึง และทำกันก็คือ “แก้ชง”
แต่การ “แก้ชง” ไม่ได้ทำเมื่อ ขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม
เพราะการ “แก้ชง” เป็นความเชื่อตามคติจีน วันที่ 1 มกราคม เป็นวันปีใหม่สากล จึงยังไม่ใช่ “วันปีใหม่” ตามคติจีน การแก้ชงในช่วงนี้นับว่าเป็นการซ้ำซ้อนกับปีที่ผ่าน และสิ้นเปลืองทรัพย์ในกระเป๋า
นอกจากนี้ระยะเวลา “แก้ชง” ก็อยู่ประมาณ 2 เดือน นับตั้งแต่ตรุษจีนเป็นต้นไป และทำเพียงครั้งเดียวก็พอ หลังจากนั้นก็ไปประกอบอาชีพ ไปใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ใช่ให้ “แก้ชง” กันทั้งปี แบบที่บางแห่งทำกัน
แล้ว “ชง” คำนี้แปลว่าอะไร ทำไมต้องแก้ชงกัน
ชง (冲) ในภาษาจีนมี 2 ความหมาย พอสรุปได้ดังนี้ 1. ชง ที่แปลว่า “เทน้ำใส่” คำนี้ภาษาไทยยืมใช้ในความหมายเดียวกัน 2. ชง ที่แปลว่า ชน, กระแทก, กระทบกระทั่ง, ขัดแย้ง, ล่วงเกิน แต่เดิมชงทั้งสองความหมายใช้ตัวอักษรต่างกัน แต่ในยุคสาธารณรัฐประชาชนจีนปฏิรูปอักษรให้ง่าย เขียนสะดวกขึ้น เป็นตัวอักษรตัด และใช้ตัวอักษรเดียวกัน คือ ชง (冲)
แต่คำว่า ชง (冲) ตามความหมายทางโหราศาสตร์จีนนั้นเป็นความหมายเก่าที่สืบทอดตามคติความเชื่อและศาสตร์เฉพาะวิชาของจีน จึงไม่ควรแปลอย่างรวบรัดตามความหมายปัจจุบัน ในความหมายตามหลักโหราศาสตร์จีนอย่างชาวบ้าน ชง คือ ขัดแย้ง, เข้ากันไม่ได้ในทางโหราศาสตร์จีน
มหาพจนานุกรมจีน (汉语大词典) เล่ม 3 อธิบายความหมายของ “ชง” ในทางโหราศาสตร์ตอนหนึ่งว่า ความเชื่องมงายในอดีตอย่างหนึ่ง เชื่อว่าธาตุทั้งห้า (ดิน, น้ำ, ไม้, ไฟ, โลหะ) ขัดแย้งกัน ข่ม กัน นี่คือที่มาของคำว่าโหราศาสตร์จีน
คำอธิบายเรื่องชงอิงกับธาตุทั้งห้าของสำนักยินหยางที่ถือว่า โลกนี้มีธาตุทั้งห้า (ดิน, น้ำ, ไม้, ไฟ, โลหะ (บ้างแปลในความหมายอย่างแคบว่า “ทอง” ก็มี)) ไม่ว่าจะเป็นปีนักษัตร, อวัยวะในร่างกาย, ช่วงเวลาต่างๆ ฯลฯ ล้วนมีธาตุทั้งห้าประกอบหรือกำกับอยู่
ตัวอย่าง เช่น ธาตุประจำปีนักษัตรที่เกิดก็มี เช่น ฉลู-ดินยิน, ขาล-ไม้หยาง, เถาะ-ไม้ยิน, มะโรง-ดินหยาง ฯลฯ หรือ เรื่องของทิศและสีประจำทิศ เช่น ทิศเหนือ-ธาตุน้ำ สีดำ, ทิศใต้-ธาตุไฟ สีแดง, ทิศตะวันออก-ธาตุไม้ สีเขียว (หรือน้ำเงิน), ทิศตะวันตก-ธาตุโลหะ สีขาว, ศูนย์กลาง-ธาตุดิน สีเหลือง
เรื่อง “ชง” ได้เอาหลักการขัดข่มกันของธาตุทั้งห้าที่ให้กำเนิดและขัดข่มกันเองเป็นวงจร คือ ดินให้กำเนิดโลหะ โลหะให้กำเนิดน้ำ น้ำให้กำเนิดไม้ ไม้ให้กำเนิดไฟ ไฟให้กำเนิดดิน ในแง่การขัดข่มกันที่เกิดขึ้นคือ ดินข่มน้ำ น้ำข่มไฟ ไฟข่มโลหะ โลหะข่มไม้ ไม้ข่มดิน
แต่ในทางโหราศาสตร์เรื่อง “ชง” ได้เอาหลักการขัดข่มกันของธาตุทั้งห้านั้นไม่ได้มีแต่ด้านร้าย หากยังเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างสันติ ไม่หยุดนิ่งอยู่ ทำให้มีพัฒนาการของชีวิตและสรรพสิ่ง เป็นวงจร ดังนี้ โลหะเกื้อหนุนน้ำ น้ำเกื้อหนุนไม้ ไม้เกื้อหนุนไฟ ไฟเกื้อหนุนดิน ดินเกื้อหนุนโลหะ
ดังนั้น ที่ว่า “ชง” และต้อง “แก้ชง” โดยเฉพาะปีเกิดจึงไม่ใช่ดังที่เป็นกระแสอยู่เสียทั้งหมด
ส่วนเรื่องแก้ชงที่ไหน ถ้าธรรมเนียมปฏิบัติของใครพ่อแม่เคยแก้ชงที่ใด ก็ไปตามนั้นก็ดีอยู่แล้ว หรือจะไปที่ใดก็เอาที่สบายใจ
อ่านเพิ่มเติม :
- เกียงไท้กง บุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ผู้เป็น “เจ้าไม่มีศาล”
- ความเชื่อเรื่องโชคลาง คำทำนาย ในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
- โหราศาสตร์ กับข้อห้าม แต่งงานวันพุธ-เผาผีวันศุกร์-ขึ้นบ้านใหม่วันเสาร์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ถาวร สิกขโกศล. “ชง (冲) ในภาษา และวัฒนธรรมจีน” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2559.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มกราคม 2567