ความหลากหลายและแฟนตาซีของ “เปรต” ไม่ได้ตีพ่อตีแม่ก็เกิดเป็นเปรตได้!

เปตวิสัยภูมิ เปรตโลกยะ โลกันตนรก เปรต สมุดภาพ ไตรภูมิ
เปรตโลกยะ และโลกันตนรก จากสมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1

ความเชื่อเรื่อง “เปรต” ถือเป็นคติความเชื่อที่ถือกันอย่างแพร่หลายในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ตามหลักพุทธศาสนา การเกิดเป็นเปรตเป็นเพราะบาปกรรมที่เจ้าตัวเคยทำไว้ ซึ่งเรื่องที่รับรู้กันมากที่สุดเห็นจะเป็น การทำร้ายพ่อ-แม่ บุพการี ซึ่งถือเป็นบาปใหญ่ ตายไปต้องเกิดเป็นเปรต

ทั้งนี้ ใน “ไตรภูมิ” ซึ่งมีเนื้อหาแสดงถึงปรัชญาพระพุทธศาสนานั้น ระบุว่า “เปรต” ไม่ใช่แค่สัมภเวสีร่างสูงระหง มือใหญ่เท่าใบลาน ปากเล็กเท่ารูเข็ม เท่านั้น เพราะเปรตมีหลายจำพวก บางจำพวก ข้างแรมเป็นเปรต ข้างขึ้นกลายเป็นเทวดาเสียอย่างนั้น หรือข้างแรมเป็นเทวดา ข้างขึ้นเป็นเปรตก็มี บางจำพวกเป็นเปรตแบบ “Everytime” ไม่แบ่งแยกข้างขึ้น-ข้างแรม

ยิ่งไปกว่านั้น เปรตบางจำพวกอยู่ในปราสาท มีช้าง ม้า ข้าทาสบริวาร ยวดยานคานหามทองขี่ท่องไปในอากาศได้ เปรตบางจำพวกอายุยืนร่วม 100 ปี 1,000 ปี ตลอดจนอายุชั่วพุทธันดรกัลป์ คือตามอายุโลกตั้งแต่พระพรหมสร้างถึงวาระที่ไฟประลัยกัลป์แผดเผาล้างโลก หรือที่นิยมพูดว่า ชั่วกัปชั่วกัลป์นั่นแหละ ข้าวไม่ได้กิน น้ำไม่ได้แตะ เป็นเปรตอยู่จวบจนโลกกัลปาวสาน

ในเมื่อ เปรต ยังมีหลายจำพวก จึงแน่นอนว่ากรรมที่นำไปสู่การเกิดเป็นเปรตย่อมมีหลากหลายเช่นกัน เรียกง่าย ๆ ว่า ต่างกรรม ต่างที่มา ต่างสภาวะ

ในไตรภูมิ บาปอกุศลกรรมที่ผู้กระทำตายไปจะเกิดเป็นเปรต เกิดใน “เปตวิสัยภูมิ” คือ ดินแดนแห่งเปรต หรือภพภูมิของเปรต มีกรรมแบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ผู้มักอิจฉาริษยาผู้อื่น คิดอยากได้ทรัพย์สินของเขา แต่ไม่ให้ทาน ตลอดจนโกงทรัพย์สินของสงฆ์มาเป็นของตน ตายไปเกิดเป็นเปรตตัวใหญ่ ปากเท่ารูเข็ม มีแต่กระดูก ตัวเหม็นสาป ผมรุ่ยร่ายลงมาคลุมปาก เสวยทุกขเวทนาทั้งกายและใจ ร้องไห้คร่ำครวญนานนับปี

2. ผู้บวชเป็นสมณชีพราหมณ์ แต่มักดูถูก กล่าวร้าย ติเตียนครูอาจารย์และคณะสงฆ์ ตายไปเกิดเป็นเปรต มีกายงามดังทอง มีปากเหมือนหมู ปากนั้นเหม็นเน่า มีหนองเต็มปาก หนอนเหล่านั้นก็เจาะกินปาก กินหน้ากินตา ชอนไชตามเนื้อตัวของเปรตอยู่อย่างนั้น

3. หมอหญิงให้ยาหญิงมีครรภ์กินเพื่อให้แท้งลูก ตายไปจะเกิดเป็นเปรตผู้หญิง เปลือยกาย ตัวเน่าเหม็นมีแมลงวันตอมจำนวนมาก ร่างกายมีแต่เส้นเอ็นและหนังหุ้มกระดูก กินเนื้อลูกน้อยของตนตลอดเวลา

4. หญิงเห็นสามีถวายข้าว น้ำ และผ้า แก่คณะสงฆ์ แต่กลับโกรธเคืองด่าทอสามี ตายไปจะเกิดเป็นเปรตผู้หญิงเปลือย อดอยากปากแห้ง เห็นข้าว-น้ำอยู่ตรงหน้าก็รีบฉวยหยิบมากิน แต่ข้าวน้ำนั้นกลายเป็นอาจม เป็นเลือดเป็นหนอง เห็นผ้าจะหยิบมานุ่งห่ม ผ้านั้นก็กลับกลายเป็นแผ่นเหล็กแดงลุกไหม้ตลอดตัว

5. ผู้มักตระหนี่ ไม่เคยทำบุญทำทาน เห็นคนอื่นทำบุญให้ทานก็ห้ามปรามเสียอย่างนั้น ตายไปจะเกิดเป็นเปรตร่างสูงใหญ่เท่าต้นตาล เส้นผมหยาบ ตัวเหม็นเน่า อดอยากยากไร้เป็นนักหนา

6. ผู้เอาข้าวลีบปนข้าวดีแล้วไปหลอกขาย ตายไปจะเกิดเป็นเปรตที่เอามือกอบข้าวลีบลุกเป็นไฟใส่ศีรษะของตนตลอดเวลา ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับกิจนั้นอยู่หลายพันปีนรก

7. ผู้ที่ตีศีรษะมารดา-บิดาด้วยมือ ไม้ หรือเชือก ตายไปจะเกิดเป็นเปรตเอาค้อนเหล็กแดงตีศีรษะตนเองอยู่เนืองนิจ

8. ผู้ที่มีคนมาขอข้าว แล้วตนนั้นมีข้าวแต่หลอกว่าไม่มี ตายไปจะเกิดเป็นเปรตกินแต่ลามกอาจมปนหนอนเน่าเหม็นนักหนา

9. ผู้เป็นข้าราชการ รับสินบนผู้ผิด ตัดสินความผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิด ตายไปจะเกิดเป็นเปรตมีวิมานโอ่อ่า มีบริวาร นางฟ้า แต่กิจวัตรคือเอาเล็บมือที่คมดังมีดกรีดขูดเนื้อหนังตนเองกินต่างอาหาร

10. ผู้ด่าทอ กล่าวเท็จต่อพระสงฆ์ ผู้ใหญ่ ผู้มีศีล ตายไปเกิดเป็นเปรตมีเปลวไฟพวยพุ่งออกจากปาก อก และลิ้น ไฟนั้นก็ลามไหม้ทั่วตัวให้ได้ทุกขเวทนา

11. ผู้มักข่มเหงรังแกคนยากไร้เข็ญใจอย่างไร้กรุณาปรานี เอาทรัพย์ของคนอื่นมาเป็นของตน และใส่ความผู้ไม่มีความผิด ตายไปจะเกิดเป็นเปรตผอม อดอยากเหลือคณา เห็นน้ำใสก็เอามือกอบจะดื่มกิน แต่น้ำนั้นกลับกลายเป็นไฟไหม้ทั้งตัวให้กลิ้งเกลือกตายในไฟนั้น

12. ผู้เผาป่า สรรพสัตว์หนีไม่ทันถูกไฟคลอกตาย ตายไปจะเกิดเป็นเปรตผอม ตัวเปื่อยเน่า มือเน่า เท้าก็เปื่อย หลังโก่งโค้งน่าสังเวช เอาแต่ไฟมาคลอกตนเองตลอดเวลา

13. ข้าราชการผู้ตัดสินความไม่ชอบธรรม ไม่วางตัวเป็นกลาง ฉ้อราษฎร์บังหลวง ขูดรีดชาวบ้าน ตายไปจะเกิดเป็นเปรต ตัวใหญ่เท่าภูเขา มีขน เล็บมือ-เล็บเท้าใหญ่ยาว คมดังมีดกรดและหอกดาบ ลุกเป็นเปลวไฟทิ่มแทงตนเองอยู่อย่างนั้น

จะเห็นว่ากรรมอันนำไปสู่การเกิดเป็นเปรตนั้นหลากหลายมาก อีกทั้งเปรตแต่ละจำพวกก็สุดแสนพิสดาร แต่ปลายทางของความ “แฟนตาซี” เหล่านี้ล้วนเป็นความทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัสที่เปรตต้องเผชิญ เพื่อย้ำเตือนผู้คนให้ละเว้นการก่อกรรมทำเข็ญ หรือบาปที่อาจนำไปสู่การเกิดในเปตวิสัยภูมิ

อนึ่ง เราสามารถนิยามคติ “ไตรภูมิ” ของไทยง่าย ๆ ได้ว่า เป็นปรัชญาและจักรวาลวิทยาที่แฝงหลักจริยศาสตร์ หรือหลักปฏิบัติในอุดมคติเพื่อสอนให้คนยึดมั่นในคุณธรรม มีสำนึกผิดชอบชั่วดี เกรงกลัวต่อบาป มุ่งประกอบกุศลกรรม เป็นระบบความคิดแบบจารีต หรือค่านิยมโบราณ

การทำความรู้จัก “เปตวิสัยภูมิ” จึงมิใช่เพียงเพื่อให้เข้าใจโลกหลังความตาย หรือบางคนอาจมองเป็น “โลกเหนือจริง” แต่เป็นการทำความเข้าใจมุมมองทางจริยศาสตร์ของคนยุคโบราณ กับวิธีการประกอบสร้างความน่ากลัว น่าสยดสยอง เพื่อให้คนละเว้นการทำอกุศลกรรมนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธ์ แสงทับ (เรียบเรียง). (2542). สมุดข่อย : สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับหลวง สมัยธนบุรี.โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย. สมุทรปราการ : สตาร์ปริ๊นท์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2567