เปรตปากเหม็น…เหม็นหนักหนา หนอนออกเต็มปาก!!!

เปรต ใน พุทธศาสนา จาก สมุดภาพ ไตรภูมิ ฉบับ กรุงศรีอยุธยา ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1 เปรต หนอนเจาะปาก
เปรตหมู่ต่างๆ จากสมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1 (เปรตหนอนเจาะปากอยู่ที่ 2 ทางซ้ายแถวบน)

ตำนานใน พระพุทธศาสนา “เปรตปากเหม็น” “ปลาทองปากเน่า” ว่าด้วยกรรมอันเกิดจาก “วาจา”

“มีเปรตจำพวกหนึ่งตัวงามดังทอง และปากนั้นเหม็นหนักหนา หนอนออกเต็มปาก และหนอนนั้นย่อมชอนกินปาก เจาะกินหน้าตาเขา เขามีตัวงามดังทองนั้น เพราะเขาได้รักษาศีลเมื่อก่อนแล ปากเขาเหม็นเป็นหนอนกินปากนั้น เพราะว่าเขาได้ติเตียนยุยงสงฆ์เจ้าให้ผิดใจกัน”

ข้อความข้างต้น ผมคัดมาจากหนังสือวรรณคดี พระพุทธศาสนา ที่เก่าแก่เล่มหนึ่งและเล่มเดียวที่เขียนเป็นภาษาไทย มีอายุเป็นพันปีนั่นคือหนังสือไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง

โบราณท่านสอนนักสอนหนา พ่อแม่ครูอาจารย์สมณชีพราหมณ์ผู้ทรงศีลเป็นปูชนียบุคคล ไม่ควรดุด่านินทาหรือว่าร้าย คนที่ด่าพระสงฆ์องคเจ้า ตายไปตกนรกหมกไหม้ ออกจากนรกแล้วยังต้องเสวยผลกรรมต่อเนื่อง เกิดเป็น เปรตปากเหม็น อีกต่างหาก

ขณะยังไม่ตายก็ตกนรกทางใจ คือถูกคนเขาตำหนิติเตียน

บังเอิญได้อ่านหนังสือรางวัลซีไรต์เล่มหนึ่ง มีบทกวีด่าพระสงฆ์โดยทั่วไปซึ่งใช้ข้อความรุนแรง ได้ทราบว่าถูกท่านผู้รู้ตำหนิ และไม่ทราบว่าตายไปแกจะลงขุมไหน

“ฉิว…ฉิวเมื่อกี้ผ่านหน้า สงฆ์สมัยนี้ซ่า อ้ายห่าควบมอเตอร์ไซค์เฆี่ยนฉิวอย่างกับสายฟ้า โคตรแม่มันตายห่ารึยังไง”

ผมไม่ถามดอกนะว่าเขาให้รางวัลกันได้ยังไง คงมีบทอื่นที่ดีกว่าจึงถูกคัดเลือกให้รางวัล ผมเองก็เคยเป็นกรรมการเลือกวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ ถ้าปีที่ว่านี้ผมเป็นกรรมการก็คงไม่ให้ผ่าน

ชาวบ้านควรรู้ด้วยว่า พระในชนบทห่างไกลการคมนาคมไม่สะดวก สมัยก่อนท่านขี่ม้ากัน ต่อมาก็อาศัยจักรยานยนต์เพราะไม่มีรถ เดินก็ไม่ทันเวลา พระในกรุงเทพฯ เวลาออกบิณฑบาตท่านก็พายเรือเอง

พูดถึงพระวินัยท่านมิได้ผิดอะไร เพียงแต่ไม่เหมาะในสายตาชาวบ้านเท่านั้น การด่าพระขี่มอเตอร์ไซค์ด้วยคำว่า “ไอ้ห่า ไอ้ห้า” อะไรก็ไม่มีใครว่า

การใช้คำว่า “พระสงฆ์” กลางๆ หมายถึงพระสงฆ์ทั้งหมดนับตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมาจนถึงพระเล็กพระน้อย ไม่ถูกฟ้องจำคุกก็บุญแล้ว

มีเรื่องในพระคัมภีร์มาเล่าให้ฟังหนึ่งเรื่องคือ ชาวประมงเมืองสาวัตถีทอดแห ได้ปลาประหลาดมาตัวหนึ่งเป็นสีทอง สวยงามมาก แกอยากได้รางวัลจากพระเจ้ากรุงสาวัตถี จึงนำปลาตัวนั้นไปถวาย

พระเจ้าแผ่นดินเห็นเป็นเรื่องประหลาด จึงนำปลานั้นไปยังพระเชตวัน เพื่อให้พระพุทธองค์ทอดพระเนตร และถามสาเหตุว่าทำไมปลาจึงมีสีเป็นทอง

ขณะที่คนเขาวางมันลงบนพื้น ปลาทองตัวนั้นก็อ้าปาก กลิ่นเหม็นคลุ้งได้แผ่กระจายกลบทั่วพระเชตวันเลยทีเดียว

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เพราะเหตุใดปลาจึงมีสีทอง และเพราะเหตุใดจึงปากเหม็นเหลือประมาณ พระเจ้าข้า

พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องเบื้องหลังให้ฟังว่า ในอดีตกาลนานมาแล้วสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ มาตรัสโปรดโลก พี่น้องสองคนออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าองค์นั้น ภิกษุพี่ชายตั้งใจปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาเข้าป่าเดินธุดงค์ ไม่เกี่ยวข้องกับโลก หวังหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา

ส่วนองค์น้องชายได้ศึกษาพระพุทธวจนะท่องบ่นสาธยายพระธรรมวินัยจนแคล่วคล่อง ได้รับยกย่องว่าเป็นพหูสูตรอบรู้ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เมื่อได้รับยกย่องว่าเป็นผู้รู้ก็เลยลืมตน นึกว่าตนนั้นเก่งที่สุด ไม่มีใครเทียบเท่า จึงไม่สนใจปฏิบัติขัดเกลาจิตใจ

พระผู้พี่ชายได้มาเตือนสติว่า อันการท่องบ่นพุทธวจนะจนจำได้คล่องแคล่วนั้น มิใช่ทางพ้นทุกข์ที่แท้จริง ถ้าเพียงแต่รู้แล้วไม่ปฏิบัติตามก็เสมือนคนเลี้ยงโคให้คนอื่นรับค่าจ้างเลี้ยงไปวันๆ แต่มิได้เป็นเจ้าของโคที่แท้จริง

เธอไม่ยอมฟัง หาว่าพี่ชายไม่ได้เรียน มัวแต่นั่งหลับตาภาวนาจะไปรู้อะไร

เมื่อมัวเมาหนักเข้าก็ดูถูกพระสงฆ์องค์อื่นๆ ที่ไม่รู้เหมือนตนว่าเลวทราม ในที่สุดก็อวดรู้เหนือพระพุทธเจ้า อธิบายบิดเบือนเอาตามใจชอบจนยากที่ใครๆ จะรั้งไว้ได้เสียแล้ว

พระสงฆ์ผู้ทรงศีลต่างก็ผละหนีไป ไม่คบหาสมาคมด้วย

เมื่อเธอสิ้นชีพแล้วไปเกิดในนรก ทนทุกข์ทรมานนานนับไม่ถ้วน พ้นจากนรกแล้วเศษกรรมยังเหลือ จึงได้มาเกิดเป็นปลาสีทองตัวนี้

เล่าจบพระพุทธองค์ตรัสต่อว่า

“เพราะเธอบวชเป็นพระครองผ้ากาสาวพัสตร์อันอร่ามเรืองรองถือศีลเคร่งครัดในตอนบวชใหม่ๆ ท่องบ่นพุทธวจนะอย่างตั้งใจ จึงส่งผลให้เธอมีสีดุจดังทอง แต่เพราะภายหลังเธอหลงลืมตน นึกว่าตนเก่งกว่าใครหมดจึงด่าว่าพระสงฆ์ผู้ทรงศีลทั้งหลาย ผลของการด่าพระสงฆ์ผู้ทรงศีลจึงทำให้เธอมีปากเหม็นหึ่ง อ้าปากหาวทีไร คนต้องอุดจมูก”

พุทธบริษัทมีพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นประธาน ได้ฟังพระพุทธดำรัส ต่างสะท้านใจนึกกลัวเกรงบาปกรรมกันทั่วหน้า

โชคดีนะครับ ปลาตัวนี้สมัยก่อนยังได้บวชได้ท่องพุทธวจนะจึงมีสีดังทองดูงามตาบ้าง แต่คนที่บวชก็ไม่ได้บวช พุทธวจนะก็ไม่ได้ท่อง แล้วแต่งกวีด่าพระสงฆ์อย่างเดียว หลุดจากนรกแล้วคงเกิดเป็นสัตว์ขี้ริ้วสักอย่าง แถมปากเหม็นอีกต่างหากด้วย

จึงมิบังควรล้อเล่นกับเรื่องบาปเรื่องกรรมเป็นอันขาด

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา :

“เปรตปากเหม็น”. เสฐียรพงษ์ วรรณปก. ผีสางคางแดง พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2560