ผู้เขียน | พล อิฏฐารมณ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“เปรต” เป็นผีที่คนไทยคุ้นเคยกันดี แต่ไปเกี่ยวอะไรกับ “เขาคิชฌกูฏ” จนที่นี่ขึ้นชื่อว่าเป็นแดนเปรตชุม?
ศาสนาพุทธมีความผูกพันกับเปรตมาก มีการกล่าวถึงเปรตไว้หลายแห่งในตำราทางพระพุทธศาสนา รวมถึงพระไตรปิฎก เอกสารที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธ ซึ่งในพระไตรปิฎกนี่เองที่มีหลักฐานกล่าวถึงดินแดนที่มีเปรตชุกชุมอย่างยิ่งในสมัยพุทธกาล
เรื่องนี้ อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก (พ.ศ. 2482-2565) ราชบัณฑิต กล่าวไว้ในหนังสือ “ผีสางคางแดง” ว่า สถานที่แห่งนั้นไม่ใช่อื่นไกล แต่คือ “เขาคิชฌกูฏ” ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าในกรุงราชคฤห์นั่นเอง (ไม่ใช่ที่จันทบุรีแน่)
จากคำบอกเล่าของอาจารย์เสฐียรพงษ์ เขาคิชฌกูฏนั้นแปลต่อกันมาว่า “เขานกแร้ง” เพราะเหตุผลสองประการ คือประการหนึ่งมีอีแร้งมากมายพากันมาจับอยู่ตามชะง่อนผาคอยกินซากศพ อีกเหตุผลหนึ่งคือเขาว่ากันว่า เขาลูกนี้หน้าตาคล้ายอีแร้ง แม้อาจารย์เสฐียรพงษ์จะเห็นว่าไม่เหมือนก็ตาม
ส่วนที่ว่า เขาคิชฌกูฏเป็นแดนเปรตชุมนั้น เพราะว่า พระโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธองค์ ได้พบเจอสารพัดเปรตระหว่างเดินทางขึ้นลงเขาแห่งนี้เป็นประจำ แม้ว่าพระลูกศิษย์ที่ติดตามมาด้วยจะมองไม่เห็น เมื่อแรกพระโมคคัลลานะพูดไปถึงสิ่งที่ตนพบเห็น ภิกษุมากมายจึงพากันกล่าวหาว่าพระโมคคัลลานะ “อวดอุตตริมนุสสธรรม” เลยทีเดียว
แต่พระโมคคัลลานะก็รู้อยู่แล้วว่า ตัวเองพูดอะไรไปคนอาจจะไม่เชื่อ เมื่อพระลูกศิษย์ที่มาด้วยกันถามว่า อยู่ๆ ทำไมถึงยิ้มขึ้นมาเวลาเดินทางบริเวณเขาคิชฌกูฎ (พระโมคคัลลานะจะยิ้มทุกครั้งที่เห็นเปรต) พระโมคคัลลานะก็จะบอกว่า เอาไว้ถามหน้าพระพุทธองค์ดีกว่า
ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระโมคคัลลานะถูกกล่าวหาต่อหน้าพระพักตร์ว่า อวดอุตตริมนุสสธรรม พระพุทธองค์จึงตรัสแก้ให้ว่า พระองค์ก็ทรงเห็นเปรตตัวที่พระโมคคัลลานะเห็นเช่นกัน และพระพุทธองค์ก็ทรงใช้โอกาสนี้เล่าบุพกรรมของเปรตเหล่านั้นให้บรรดาสาวกได้รู้ที่มาที่ไปถึงบาปกรรมที่ทำให้คนต้องกลายเป็นเปรตลักษณะต่างๆ ด้วย
ใครที่สนใจเพิ่มเติมว่า “เปรต” ที่พระโมคคัลลานะพบ และมีการบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก มีกี่ตน และมีที่มาที่ไปเช่นใดนั้น หากลองไปตรวจค้นในพระไตรปิฎก วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 ดู ก็จะได้คำตอบโดยละเอียด
อ่านเพิ่มเติม :
- เปรตปากเหม็น…เหม็นหนักหนา หนอนออกเต็มปาก!!!
- เดือน 7 สารทจีน นรก “เปิด” ให้วิญญาณมารับส่วนกุศลในโลกมนุษย์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2559