ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
วัน 1 ค่ำ ถึง 30 ค่ำ เดือนเจ็ด (บางปีมีแค่ 29 วัน) ตามปฏิทินจันทรคติของจีน เรียกเดือน 7 ว่า เดือนผี ตามคติความเชื่อของจีน ประตูยมโลกเปิดในวัน 1 ค่ำ เดือน 7 (และปิดในวัน 30 ค่ำ เดือน 7) เพื่อให้วิญญาณทั้งหลายในยมโลกได้มารับส่วนกุศลที่มนุษย์บนโลกทำอุทิศให้ เช่น การเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับใน วันสารทจีน (15 ค่ำ เดือน 7), การทำบุญทิ้งกระจาด (ซีโกว) เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับ หรืออุทิศส่วนกุศลให้กับวิญญาณไร้ญาติเร่ร่อน
แล้วความเชื่อเรื่องโลกหลังความตายของจีนเป็นอย่างไร
เสฐียรโกเศศ และนาคะประทีป เขียนไว้ใน “ลัทธิของเพื่อน” พอสรุปได้ดังนี้ (มีการจัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำเพื่อความสะดวกในการอ่าน)
ในสงสารวัฏที่มนุษย์ต้องเวียนว่ายตายเกิดนั้น ตามความเชื่อของมหายานมี 6 ภูมิด้วยกัน คือ 1. สวรรค์ หาผู้ที่อยู่ในภูมิยังพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ถ้าประสงค์ให้พ้นก็ต้องเข้าสู่พุทธภูมิ หรือนิพพาน สวรรค์ของจีนแบ่งเป็น 33 ชั้น (ตรัยตรึงส์) และสวรรค์ชั้นรองอีก 28 ชั้น [ซึ่งไม่ขอลงรายละเอียดในที่นี้] 2. มนุษยภูมิ ผู้ที่อยู่ในภูมินี้มีชาย-หญิงมั่งมีหรือจน ดีหรือเลว สุขหรือทุกข์ปะปนกันไป ตามกฎแห่งกรรม 3. อสุรภูมิ ซึ่งมีทั้งอสูรที่ดีและร้าย
ส่วนภูมิที่ 4-6 เป็นอบายภูมิ ดังนี้ 4. นรกภูมิ ภูมินี้มีการลงโทษผู้ตกไปอยู่ตลอดกัลป 5. เปรตวิสัย เปรตเป็นผู้ใจบาป พอใจในสิ่งชั่ว เมื่อตกไปอยู่นรก บางพวกพอใจขอรับหน้าที่ทรงทานและประหารสัตว์นรก ทำให้จิตกระด้างด้วยความชั่ว 6. ดิรัจฉาน มนุษญ์ซึ่งเป็นผู้ร้ายอย่างชนิดที่ว่าร้ายที่สุดย่อมไปเกิดในภูมินี้
สำหรับเรื่องนรกนั้น เสฐียรโกศศ และนาคะประทีป เขียนไว้ค่อนข้างละเอียดดังนี้
“นรกของจีนเหมือนกับของอินเดีย แต่การลงโทษทรมานมีวิเศษกว่ามาก นรกแบ่งออกเป็น 18 ขุม ตั้งอยู่ใต้ทิอุ้ยซัว (เตะไวซัน) บางขุมก็ความร้อนถึงขีดสุด บางขุมมีความหนาวถึงขีดสุด มีบดีหรือราชะ (จีนใช้คำว่า อ้วง ทุกองค์) คือหัวหน้า สำหรับชำระและตัดสินลงโทษสัตว์บาป 10 ศาล มีอำนาจครอบงำทั้ง 18 ขุม ขุมเหล่านี้ล้วนมีลักษณะแต่ละอย่างเป็นพิเศษ…
ผู้เป็นสุภาบดีแห่งนรกทั้ง 10 ศาล ชื่อ ตั้งงัก มีความยุติธรรมเฉียบขาด มีที่อยู่ ณ เขาไถ่ซัวในมณฑลซัวตัง (ซันตุง) ตั้งงักมีบดีรอง ชื่อ เงี่ยมลอ (ยมราช) ท่านผู้นี้มีผู้เกรงกลัวมาก เพราะเป็นผู้ลงโทษสัตว์บาปโดยตรง ในคำพูดตามความเข้าใจโดยสามัญ ถ้ากล่าวถึงท่านผู้นี้ ก็คือหมายความถึงบดีทั้ง 10 ศาลรวมกัน บดีเหล่านี้มีพวกปีศาจเป็นบริวารคอยรับใช้สำหรับลงโทษทรมานสัตว์นรก และแบ่งออกเป็น 2 พวกมีชื่อดังนี้
ตั้งงัก สุภาบดี ขุม 1 บดีชื่อ จินกวน, ขุม 2 บดีชื่อ โชกัง, ขุม 3 บดีชื่อ ซ่งตี่, ขุม 4 บดีชื่อ โง่กวน (วูกวน), ขุม 5 บดีชื่อ เงี่ยมหลอ (เย่นโล่), ขุม 6 บดีชื่อ เปี้ยนแสง, ขุม 7 บดีชื่อ ไถ่ซัว (ไถ่ซัน), ขุม 8 บดีชื่อ เพ่งตง, ขุม 9 บดีชื่อ โตฉี และขุม 10 บดีชื่อจวงลุ้น
วิธีปกครองในนรก จะทราบได้ว่า สัตว์บาปตนใดทำอกุศลกรรมไว้เพียงใด มีพวกจ้าวผีในเมืองมนุษย์คอยบันทึกความดีความชั่วไว้ ถ้าทำความดี ก็รายงานเสนอเจ้าหน้าที่เมืองสวรรค์, ถ้าทำความชั่ว ก็เสนอรายงานเจ้าหน้าที่เมืองนรก ส่วนกรรมที่จะตามสนองก็ในเวลาอันควร ช้าบ้างเร็วบ้าง…
จ้าวผีซึ่งคอยบันทึกความดีความชั่วในเมืองมนุษย์แบ่งหน้าที่ดังนี้ ในตำบลหนึ่งมีเจ้าหน้าที่เรียกว่า ทู้ตี้ (พระภูมิเจ้าที่) มีที่สถิตเป็นศาลเล็ก ๆ เรียกว่า ทู้ตี้เบี้ยว ในกรุงมีเจ้าหน้าที่เรียกว่า เซี้ยฮ่วงกง (เจ้าประจำเมือง) ในหัวเมืองเรียกว่า ตี้ฮวง (จ้าวผีประจำชนบท) จ้าวผีเหล่านี้มีภริยาข้าใช้อยู่ในศาลบริบูรณ์ ถึงปีประชาชนก็สมโภช นำออกมาแห่แหนสนุกสนาน”
สำหรับตุลาศาลทั้งสิบนั้น มีวิธีการลงโทษ และทางรอดที่จะพ้นโทษโดยการถือศีลภาวนา ดังนี้
ศาลต้น หรือขุมที่ 1 ผู้เป็นประธานชื่อ จินกวน (บ้างเรียกจินกวง) ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนคนเกิดคนตายของมนุษย์ และตุลาการ มนุษย์ที่บุญและบาปเท่ากันตายแล้วต้องไปศาลนี้ก่อนแล้วจึงส่งให้ไปเกิดเป็นคนอีกครั้งตามแต่ผลกรรมที่ทำไว้ ถ้ามีบาปมากกว่าก็จะส่งไปส่องกระจกให้เห็นบาปของตนที่ทำครั้งมีชีวิต ก่อนส่งไปศาลที่ 2 เมื่อพิจารณาวางบทโทษทรมานแล้วก็ส่งไปนรกตามควรแก่โทษานุโทษ
เสฐียรโกศศ และนาคะประทีป อธิบายรายละเอียดไว้ว่า
“ผู้ใดเมื่อมีชีวิตอยู่ประมาททะนงใจ มิได้ระลึกว่าฟ้าเป็นผู้ให้กำเนิดมนุษย์ ไม่รู้ว่าบิดามารดาปกปักรักษามาจนเติบโต เพิกเฉยต่อเจ้าหนี้ 4 ประการ (คือฟ้า ดิน พระมหากษัตริย์ และญาติพี่น้อง) ไม่เห็นความสำคัญชีวิตของตน เอามีดเฉือนคอ ผูกคอ กินยาพิษ หรือโจนน้ำตาย
อันการกระทำเหล่านี้ มิได้เป็นไปเพื่อความซื่อสัตย์กตัญญูเพื่อความบริสุทธิ์หรือมิตรธรรม อันเป็นทางไปสวรรค์ แต่กระทำไปโดยโทสาคติ หรือภยาคติ โมหาคติ ขลาดต่อวิบากผลแห่งความชั่วที่ตัวทำไว้
คนเหล่านี้สิ้นลมหายใจก็ไปสู่ศาลนี้ถูกกักขังไว้ให้ห้องหิวโหยและกระหาย ในเวลาเช้าตั้งแต่ 7 ถึง 11 นาฬิกาทุกวัน จะรู้สึกตนได้ทุกขเวทนา เหมือนเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่ฆ่าตัวตาย ทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนี้ 70 วันบ้าง ปีหนึ่ง หรือสองปีบ้าง แล้วแต่ฐานโทษ
แล้วถูกนำตัวขึ้นไปยังที่ซึ่งคนเคยฆ่าตัวตาย ให้เห็นเหตุการณ์ที่ล่วงแล้ว แต่ไม่ให้กินเครื่องที่เขานำไปเซ่น ตนจะรู้สึกสำนึกตนเสียใจหนักหนาไม่สามารถจะปรากฏตนให้มนุษย์เห็นตกใจ [1] เพียรพยายามจะหาตัวแทน [2]…วิญญาณใดปรากฏตนให้เห็น ทำให้มนุษย์ถึงตาย จะถูกปีศาจหน้าดำเขี้ยวยาวลากตัวไปทรมานไม่ให้ผุดเกิดอีก…
ดูก่อนผู้อาศัยอยู่บนดิน ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนที่ 2 ถ้ากระทำการถือศีลกินเจ ผินหน้าไปทางเหนือ ปฏิญญาว่าเว้นบาป มุ่งแค่อยู่กุศลไซร้ ก็จะพ้นจากนรก พระธรรมของพระพุทธเจ้าก็ได้แพร่หลายไปจบพิภพ เพื่อเตือนสติมนุษยชาติมีความเชื่อรู้สึกบาป เมื่อถึงเวลาแล้ว เทวทูตก็จะพาวิญญาณท่านไปสู่สุขาวดี”
ส่วนรายละเอียดของศาลอื่น ๆ นั้นขอไม่กล่าวถึง โดยจะข้ามไปศาลที่ 10 ซึ่งเป็นศาลสุดท้าย
ศาลที่ 10 จะส่งวิญญาณที่ถูกตัดสินจากศาลอื่น และได้รับโทษเป็นที่เรียบร้อยไปเกิดเป็นมนุษย์ หรือเดรัจฉานตามแต่บาปที่ทำไว้ โดยก่อนจะไปจะต้องไปสู่เชิงเทินแห่งความจำที่มีเทวีเม่งโพ้ (เจ้าแม่แซ่หม็ง) เป็นผู้ดูแล นางจะผสมน้ำยาหนึ่งให้ดื่ม
วิญญาณที่ศาลทั้งสิบพิพากษาให้ไปเกิดต้องดื่มน้ำยานี้ วิญญาณที่มีกุศลบุญดื่มแล้วจะทำให้อินทรีย์ทั้งห้าดีขึ้น วิญญาณบาปดื่มก็จะมีผลตรงกันข้าม และไม่ว่าจะดื่มมากหรือน้อยก็มีผลเท่ากันหมด เมื่อดื่มแล้วก็จะจำความหลังไม่ได้ทั้งหมด วิญญาณที่ดื้อดึงไม่ยอมดื่ม จะมีมีดผุดจากพื้น แล้วมีท่อทองแดงยัดเข้าไปในลำคอเพื่อกรอกน้ำยา ดื่มเสร็จก็จะพาไปบนสะพานที่ทอดเหนือลำน้ำสีแดงด้านล่าง
เมื่อเดินไปถึงกลางสะพาน จะมีปีศาจใหญ่ 2 ตน คอยตีต้อนให้ตกลงไปในน้ำด้านล่าง แม้วิญญาณพยายามกระโดดขึ้นฝั่งก็ไม่สำเร็จ วิญญาณถ่อยชั่วดีใจที่ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง วิญญาณดีเสียใจร้องไห้ว่า เมื่อครั้งยังมีชีวิตไม่ได้สะสมบุญกุศลเพื่อจะได้ไปสวรรค์ อย่างไรก็ตามวิญญาณทั้งหมดแย่งกันเกิดคล้ายคนเมา ครั้นเกิดแล้วก็ลืมนึกถึงบาปบุญคุณโทษ ประพฤติชั่วอีก ในที่สุดก็ต้องกลับไปโทษทรมานเหมือนคราวก่อน
นอกจากนี้ ในพิธีกรรมของจีนที่เกี่ยวข้องกับความตาย และโลกหลังความตาย ตามคติของพุทธมหายานนั้น มีพระโพธิสัตว์สำคัญองค์หนึ่งที่มิอาจไม่กล่าวถึง นั่นคือ พระกษิติครรภโพธิสัตว์ (จีนเรียก ตี้จั่งอ้วงผ่อสัก, ไทยเรียก พระมาลัย)
โดยมักพบว่าในพิธีกรรมของจีนที่เกี่ยวข้องกับความตาย มีการตั้งพระตั้งรูปเคารพ หรือแขวนภาพวาด พระกษิติครรภโพธิสัตว์ในพิธีเสมอ ด้วยความเชื่อที่ว่า พระกษิติครรภโพธิสัตว์โปรดสัตว์นรกทุกขุม, เป็นที่ยำเกรงของพญายม, ที่สำคัญคือพระองค์มีมหาปณิธานว่าจะ “โปรดสรรพสัตว์ในนรกภูมิให้หมด หากยังมีวิญญาณบาปในนรกภูมิ พระองค์จะไม่เข้าสู่พุทธภูมิ”
เสฐียรโกศศ และนาคะประทีป เองก็เขียนไว้ในลัทธิของเพื่อนว่า “ในวันเกิดของพระกษิติครรภโพธิสัตว์ (วัน 30 ค่ำ เดือน 7) ซึ่งเป็นประธานในนิรยโลก บรรดาบดีแห่งศาลทั้ง 10 แห่ง ในเมืองนรกก็ประสานมือ อ้อนวอนพระองค์ให้ช่วยทุกข์สรรพสัตว์ พระองค์ก็ได้แสดงพระมหาการุนย์ตรัสว่า เราประสงค์จะช่วยสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ วันนี้เมื่อถึงเวลาเย็น (คือเย็นขึ้น 13 ค่ำ เดือนที่ 7) เราสั่งให้ยกโทษของบรรดาสัตว์บาป แล้วให้ไปเกิดใหม่ในคติหรือภพทั้ง 6 แล้วแต่วิบากกรรมที่ทำไว้…”
อ่านเพิ่มเติม :
- “สารทจีน” เทศกาลผียุคปัจจุบันในจีนและไทย ไหว้กันอย่างไร?
- พัฒนาการ เทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของจีน จากเทพฟ้าดิน สู่การแปรเปลี่ยนตามสมัย-ความเชื่อ
- ความเป็นมาของการทิ้งกระจาด ในเทศกาล “สารทจีน”
- รู้จัก “อั่งถ่อก้วย” ขนมทีเด็ดจากจีน หน้าตาแทบเหมือน “กุยช่าย” แต่ไม่ใช่กุยช่าย!
เชิงอรรถ :
[1] ถือว่าถ้าประพฤติตนให้มนุษย์เห็นตกใจ ปีศาจนั้นจะคลายทุกข์
[2] ถ้าหาได้ ตนก็ไปเกิด เช่นโดดน้ำตาย คนตายก่อนก็ไปเกิด คนตายทีหลังก็เข้าตำแหน่งทนทุกข์ไปกว่าจะมีตัวแทน
ข้อมูลจาก :
เสฐียรโกศศ และนาคะประทีป. ลัทธิของเพื่อน, พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพนางส่งศรี อมาตยกุล ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 21 มกราคม 2508
ถาวร สิกขโศล. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้, สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2557
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2562