ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2552 |
---|---|
ผู้เขียน | เสี่ยวจิว |
เผยแพร่ |
หากถามคนส่วนใหญ่ว่ารู้จัก หรือเคยกิน “อั่งถ่อก้วย” หรือเปล่า? หลายคนอาจปฏิเสธทันที หลายคนไม่มั่นใจ แต่ถ้ายกมาให้เห็นว่าอั่งถ่อก้วยมีหน้าตาอย่างไร คนส่วนใหญ่จะร้อง “อ๋อๆๆๆ กุยช่าย” แต่ถ้าอั่งถ่อก้วยพูดได้ ต้องปฏิเสธเสียงในฟิล์มว่า “อึมสี-ไม่ใช่”
กูไช้ก้วย ตัวจริง เสียงจริง ต้องหน้ากลมแป้น ผิวขาวพอมองเห็นไส้ขนมด้านใน และชื่อที่ถูกต้องตามทะเบียนบ้านที่เมืองจีนคือ “กูไช้ก้วย” (ขนมกุยช่าย-เป็นเสียงที่เพี้ยนไปจากชื่อดั้งเดิม) ทว่าอั่งถ่อก้วยและกูไช้ก้วยนั้นเทียบได้กับแฝดคนละฝา เพราะขนมทั้งสองชนิดทำจากแป้งชนิดเดียวกัน ด้วยกรรมวิธีเดียวกัน มีไส้ (ขนม) ด้านในเหมือนกันคือใบกูไช่ เผือก หน่อไม้ มันแกว ข้าวเหนียว ฯลฯ
ขนมจากสวรรค์
ในหนังสือวัฒนธรรมการกินแต้ซัว ของศูนย์วิจัยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์แต้จิ๋ว ที่อาป๊าและลิ้มเฮียช่วยแปลให้นั้น ตอนหนึ่งกล่าวถึงอั่งถ่อก้วยว่า
“ไซอ้วงป้อ (ซีหวังหมู่-เทพสูงสุดของลัทธิเต๋าสาขาหนึ่ง) ประทานท้อวิเศษให้แก่พระเจ้าฮั่นบูตี้-กษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น (บุคคลจริงในประวัติศาสตร์) จำนวน 4 ผล และบอกว่าหากท้อวิเศษนี้ 3,000 ปี จึงจะออกลูก แผ่นดินตงง้วนไม่ควรปลูก และถึงปลูกก็ไม่มีลูก ท่านบอกแก่พระเจ้าฮั่นบูตี้ว่าให้ชาวเมืองจงทำเป็นขนมเลียนแบบรูปผลท้อ สำหรับเป็นขนมไหว้เทพเจ้า ไหว้บรรพบุรุษ ผู้ไหว้จะอายุยืน มีความสุข สุขภาพแข็งแรง”
ท้อที่กล่าวนั้นเป็นต้นท้อต้นเดียวกับในเรื่องไซอิ๋ว มีชื่อเต็มว่า ซิ่วท้อ มีคุณสมบัติเรื่องอายุวัฒนะ เมื่อครั้งซุนหงอคงบุกสวรรค์ได้ไปขโมยเก็บมากินจนเป็นเรื่องราวใหญ่โต หากตามตำนานแล้ว ช่ื่อที่เรียกว่าอั่งถ่อก้วย จึงน่ามาจากรูปลักษณ์ของขนมที่ทำเลียนแบบผลท้อที่สุกเป็นสีแดงชวนกิน เพราะ อั่ง แปลว่า สีแดง (รวมถึงตระกูลสีแดงอื่น ๆ เช่น สีชมพู บานเย็น ส้ม เพราะสมัยก่อนนั้นไม่มีเฉดสีต่าง ๆ มากเช่นปัจจุบัน) ถ่อ คือ ผลท้อ ก้วย คือ ขนม
อั่งถ่อก้วย ในวิถีชีวิต
ในชีวิตลูกหลานจีนและจีนโพ้นทะเล ต้องมีอั่งถ่อก้วยเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ลิ้มเฮียเล่าให้ฟังว่า
“เมื่อ ‘เก๊างวยะ’-เด็กเกิดมาอายุครบ 1 เดือน ครอบครัวจะทำอั่งถ่อก้วยไปไหว้เทพเจ้าตามคติความเชื่อของตน พออายุครบ 15 ปี พิธี ‘ฉุกฮวยฮึ้ง’-ออกจากสวนผลไม้ การแสดงว่าพ้นจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ งานแต่งงานลูกชายหรือลูกสาว งานวันแซยิดอายุ 60 ปี ต้องมีอั่งถ่อก้วย
เมื่อเสียชีวิตก็ใช้อั่งถ่อก้วยเป็นหนึ่งในขนมเซ่นไหว้ในงานศพ โดยใช้อั่งถ่อก้วย (แบบปกติ) ไหว้บรรพบุรุษของผู้ตายที่ล่วงลับไปก่อนหน้า ส่วนผู้ตายใช้ขนม “โหงวก้วย โหงวอั่ง” ซึ่งเป็นขนมที่ใช้สูตรแป้งแบบเดียวกับอั่งถ่อก้วยแต่ไส้ด้านในใส่น้ำตาลเพียงเล็กน้อย (เมื่อไหว้เสร็จมักทิ้งให้เป็นทานแก่สัตว์ ไม่ค่อยนิยมเอามากิน) ปั้นเป็น 5 อย่าง คือ เซียะลิ่วก้วย ซากักเล้า เบี๋ยเกี้ย-ขนมพิมพ์ทรงกลม อั่งถ่อก้วย และกูก้วย-ขนมพิมพ์รูปเต่า ซึ่งทั้งหมดใช้แป้งขนมสีขาว
ขนมดังกล่าวจะใช้ไหว้เมื่อผู้ตายเสียชีวิตครบ 7 วัน และวันที่จะออกทุกข์ (สำหรับคนจีนอาจเป็นวันที่ผู้ตายเสียชีวิตครบ 49 วัน หรือ 100 วัน) เมื่อไหว้เสร็จลูกหลานผู้ตายจะเปลี่ยนจากเสื้อผ้าไว้ทุกข์เป็นเสื้อผ้าปกติ และใช้ขนม 5 อย่างอีกครั้ง แต่แป้งขนมจะเป็นสีชมพู ทั้งเทศกาลประจำปีต่าง ๆ ไม่ว่าตรุษจีน/สารทจีนที่มีขนมเข่ง ง้วงเซียว-เทศกาลขนมจ้าง ตั่งโจ่ย-เทศกาลขนมบัวลอย เสี่ยวซิ้ง-งานขอบคุณเทพเจ้าของแต่ละชุมชน ฯลฯ แม้หลายเทศกาลมีขนมประจำเทศกาลอยู่แล้ว หลายบ้านก็ยังใช้อั่งถ่อก้วยในเทศกาลเหล่านี้ด้วยการไหว้เทพเจ้า ไหว้เจ้าที่ที่บ้านในวันพระจีน (วัน 1 ค่ำ และ 15 ค่ำของจีน) ตลอดจนวันเกิดเทพเจ้าต่าง ๆ จนถึงเป็นขนมกินเล่นหรือกินอิ่มแทนข้าวก็ได้”
อั่งถ่อก้วย บนโต๊ะเซ่นไหว้แต่ละสารท แต่ละพิธีกรรมที่วนเวียนอยู่ในชีวิตผู้คนตั้งแต่เกิดจนตายหลังเสร็จภาระการเป็นของเซ่นไหว้ อั่งถ่อก้วยก็กลายเป็นอาหารการกินของครอบครัว เป็นอาหารหล่อเลี้ยงร่างกายและจิตวิญญาณ
อ่านเพิ่มเติม :
- ขนมจ้าง ในสารทเดือน 5 ที่เกี่ยวกับวีรกรรมรักชาติ และนิทานพื้นบ้าน “นางพญางูขาว”
- ขนมจีบ (ไทย) ต้นตำรับจากขนมไส้หมูเจ้าครอกวัดโพธิ์ ของว่างโบราณอายุสองร้อยกว่าปี
- รู้จัก “ข้าวต้มมัด” ขนมพื้นบ้านของไทย ที่ไม่จำเป็นต้องมัดเป็นคู่
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “อั่งถ่อก้วย ขนมฟ้าประทานที่ใช้กันตั้งแต่เกิด-ตาย” เขียนโดย เสี่ยวจิว ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2552
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มีนาคม 2562