ขนมจ้าง ในสารทเดือน 5 ที่เกี่ยวกับวีรกรรมรักชาติ และนิทานพื้นบ้าน “นางพญางูขาว”

ขนมจ้าง หรือ ขนมบ๊ะจ่าง วันสารทขนมจ้าง วันสารทขนมจ้าง
ขนมจ้าง หรือขนมบ๊ะจ่าง (ภาพประกอบจาก วิภา จิรภาไพศาล)

“วันสารทขนมจ้าง” (หรือบ๊ะจ่าง) กับ “วันไหว้จันทร์” มีตำนานที่เหมือนกันก็ 2-3 ประการ 1. ขนมในเทศกาลทั้งสอง (ขนมจ้าง-ขนมไหว้พระจันทร์) เป็นที่รู้จักและชื่นชอบของคนจำนวนมากกว่าเทศกาล 2. เทศกาลทั้งสองมีเรื่องราวของสำนึกรักบ้านเมือง 3. ขนมประจำเทศกาลเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บ้านเมือง

อย่างที่หลายท่านเคยได้ฟังกันมา “ขนมไหว้พระจันทร์” เป็นเครื่องมือที่คนจีนใช้ส่งข้อความนัดหมายต่อสู้กับมองโกล  ส่วน ขนมจ้าง (เรียกเพี้ยนมาจาก “บ๊ะจ่าง” ในภาษาแต้จิ๋ว) ก็ห่ออย่างมิดชิดแน่นหนา(ให้รอดจากการกินของปู, ปลา, เต่า ฯลฯ) โยนลงน้ำเป็นเครื่องเซ่นไหว้ “ชีว์หยวน” ราชนิกุลแคว้นฉู่ผู้จงรักภักดีต่อบ้านเมือง ซึ่งโดดน้ำตายในวัน 5 ค่ำ เดือน 5 (ตามปฏิทินจันทรคติของจีน)

นั่นคือเรื่องราวที่กล่าวถึงกันมาอย่างกว้างขวาง

(ภาพประกอบจาก วิภา จิรภาไพศาล)

หากใน “สารทขนมจ้าง” ที่ยังมีอีกประเด็นไม่ค่อยพูดถึงนัก คือ ความเชื่อมโยงกับ 1 ใน 4 นิทานพื้นบ้านชื่อดังของจีน “นางพญางูขาว” นิทานเรื่องนี้ทำเป็นภาพยนตร์ออกมาหลายเวอร์ชั่น

ประเด็นนี้อาจารย์ถาวร สิกขโกศล เคยเขียนไว้ใน “เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้” (สำนักพิมพ์มติชน, มีนาคม 2557) ใครสนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้

เรื่องย่อๆ นั้นมีอยู่ว่า นางพญางูขาว และนางงูเขียวลูกสมุนที่บำเพ็ญเพียรมาหลายร้อยปี จนสามารถกลายร่างเป็นมนุษย์ ได้เกิดพบรักกับ บัณฑิตหนุ่มและอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน  โดยที่ชายหนุ่มไม่รู้ว่าภรรยาเป็นปีศาจงู  แต่ความลับก็มาแตกเอาประมาณช่วงสารทขนมจ้างนี่แหละ

เพราะสารทขนมจ้างตรงกับวัน 5 ค่ำ เดือน 5 (ตามปฏิทินจันทรคติจีน) ซึ่งเป็นฤดูร้อนของจีน อากาศร้อนจัด ฝนไม่ค่อยมี งูและสัตว์เลื้อยคลานที่เป็นอันตราย เช่น แมงป่อง, ตะขาบ ฯลฯ มักออกมาเพ่นพ่านกัดสัตว์และคนไปทั่ว นอกจากนี้อากาศที่ร้อนทำให้เชื้อโรคเติบโตไว้ เกิดโรคระบาดง่าย

คนจีนก็หาทางแก้ไขหลายๆ แบบ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “เหล้าสงหวง”

บ๊ะจ่าง
(ภาพจาก : https://www.matichon.co.th/region/news_4042647)

สงหวง (雄黄) เป็นแร่ชนิดหนึ่งประกอบด้วยกำมะถันและสารหนู สูตรทางเคมีคือ As2s2 คนไทยรู้จักในชื่อว่า “หรดาลแดง” สงหวงมีพิษ และฤทธิ์ขับเสมหะ ถอนพิษงู, แมลงต่างๆ ได้ดี เมื่อเทศกาลสารขนมจ้างที่มีสัตว์ชุกชุม คนจีนจึงสงหวงมาบดเป็นผงผสมเหล้าขาวตากแดด ทำเป็น “เหล้าสงหวง”

เหล้าสงหวงจึงเป็นเหล้าประจำเทศกาลสารทขนมจ้าง ที่นอกจากจะใช้ดื่ม (เล็กน้อย)สำหรับผู้ใหญ่แล้ว สำหรับเด็กก็ใช้เหล้าสงหวงทาจมูก, หน้าผาก ต้นคอ เพื่อข่มสิ่งชั่วร้าย (สันนิษฐานว่า กลิ่นของเหล้าและสงหวงทำให้สัตว์ไม่เข้าใกล้เพราะเหม็น) ทั้งยังใช้ปะพรมลานบ้าน, กำแพง, ประตู, หน้าต่าง, ห้องนอน เพื่อฆ่าเชื้อโรค, ไล่งู, แมลงและสัตว์มีพิษ

คาดว่า นางพญางูขาวรู้เรื่องนี้อยู่เต็มอก ช่วงสารทขนมจ้างเธอจึงเก็บตัวอยู่แต่บ้าน ทว่าชายหนุ่มคนรักเกิดเอาเหล้าสงหวงมาคะยั้นคะยอให้ดื่มด้วย เธอก็พลาดไปดื่มได้อย่างไรไม่ทราบ ผลก็คือเมาหลับไปด้วยกันทั้งคู่ เมื่อชายหนุ่มตื่นขึ้นมาก็ตกใจสิ ภรรยากลายร่างเป็นงูเสียแล้ว

สรุปความได้ว่า วันสารทขนมจ้าง นอกจากจะมีที่เรื่องราวข้องวีรกรรมสำนึกรักชาติตามแบบจีนแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับธรรมชาติและฤดูกาล รวมทั้งนิทานพื้นบ้าน นับว่าเป็นเทศกาลที่มนุษย์ปรุงแต่งได้ครบรส

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มิถุนายน 2562