ขนมจีบ (ไทย) ต้นตำรับจากขนมไส้หมูเจ้าครอกวัดโพธิ์ ของว่างโบราณอายุสองร้อยกว่าปี

ขอนมจีบ ขนมจีบไทย เจ้าครอกวัดโพธิ์
ขนมจีบไทย (ภาพจาก Youtube : krajokhokdan, “กระจกหกด้าน” ตอน “ของว่างห่อไส้”)

ขนมจีบไทย หรือ “ขนมจีบ” อย่างไทย ๆ นิยมทำเป็นอาหารว่าง ทั้งทำเป็นของคาวและของหวาน ปรากฏผู้มีชื่อเสียงในการทำขนมจีบคือ พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี หรือที่รู้จักว่า ‘เจ้าครอกวัดโพธิ์’ ดังมีประโยคที่พูดกันสืบมาว่า “ขนมค้างคาวเจ้าครอกทองอยู่ ขนมไส้หมูเจ้าครอกวัดโพธิ์” 

ขนมไส้หมูเจ้าครอกวัดโพธิ์ นี้ ก็คือ ขนมจีบ ที่กรมหลวงนรินทรเทวีดัดแปลงขึ้นมา แต่จะดัดแปลงเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏชัด สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงเรียกขนมไส้หมูบ้าง ขนมไส้ไก่บ้าง แต่ด้วยรูปลักษณ์การปั้นแป้งเป็น ‘จีบ’ แล้ว คงนิยมเรียกขนมจีบกันในภายหลัง

Advertisement

กรมหลวงนรินทรเทวีทรงเป็นพระกนิษฐาต่างพระชนนีในรัชกาลที่ 1 และทรงเป็นพระชายาในกรมหมื่นนรินทร์บริรักษ์ มีวังอยู่บริเวณท้ายพระบรมราชวัง บริเวณข้างวัดโพธาราม หรือวัดพระเชตุพนฯ ในปัจจุบัน จึงนิยมเรียกกรมหลวงนรินทรเทวีว่า “เจ้าครอกวัดโพธิ์”

ในตำราแม่ครัวหัวป่าก์ อธิบายขนมจีบของกรมหลวงนรินทรเทวีไว้ว่า “…ตามพระเจ้าราชวรวงษ์เธอกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ ทรงเล่านิพนธ์ไว้ว่า เจ้าครอกวัดโพธิ์ซึ่งภายหลังมีพระนามว่ากรมหลวงนรินทรเทวีนั้น มีฝีมือปั้นทำขนมจีบเลื่องลือว่าทำดีกว่าทุก ๆ แห่ง ลูกหลานข้าไทยที่เปนผู้หญิงมีฝีมือปั้นขนมจีบดีทุกคน แผ่แป้งจนแลเห็นไส้ ปั้นลูกเขื่อง ๆ กว่าขนมจีบ

ทุกวันนี้ ฝีมือผัดไส้ก็โอชารส ถึงเนื้อหมูมากกว่ามัน บริโภคได้มาก ๆ ไม่เลี่ยน ท่านทำขนมจีบตั้งเครื่องในรัชกาลที่ 1 และท่านอยู่มาจนรัชกาลที่ 2 เว้นเดือนหนึ่งสองเดือนบ้าง ก็เสด็จเข้าไปเฝ้าครั้งหนึ่ง ทรงทำขนมจีบไปตั้งเครื่องถวาย ขนมจีบบรรจุชามลายทองกรอกสี ข้างในชามหนึ่งก็เพียงจุประมาณ 50 ลูก รองพานถมดำผูกผ้าแดงให้ข้าหลวงเชิญตามเสด็จขึ้นไปพร้อมกับเจ้าครอกทองอยู่ ตั้งเครื่องทั้งวังหลวงและวังน่า…”

ขนมจีบนับว่าเป็นเครื่องเสวยที่มีสำคัญมากประเภทหนึ่ง คงทำกันอย่างแพร่หลายในวัง ดังปรากฏในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ว่า

ขนมจีบเจ้าจีบห่อ   งามสมส่อประพิมพ์ประพาย

นึกน้องนุ่งจีบกราย   ชายพกจีบกลีบแนบเนียน

และพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 ว่า

ขนมจีบเจ้าช่างทำ ทั้งน้ำพริกมะมาดแกม

มะเฟืองเป็นเครื่องแกล้ม รสเหน็บแนมแช่มชูกัน

ขนมจีบไทย (ภาพจาก Youtube : krajokhokdan, “กระจกหกด้าน” ตอน “ของว่างห่อไส้”)

กรมหลวงนรินทรเทวี เป็นเจ้าของขนมไส้หมูหรือขนมจีบนี้มาแต่ดั้งเดิม บรรดาหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์และข้าราชบริพารในพระองค์ก็ได้ฝึกหัดทำขนมจีบมากันอย่างดีทั้งสิ้น ขนมจีบของพระองค์จึงแพร่หลายปรากฎสืบมาทุกรัชกาล เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ‘เจ้าปี’ ซึ่งเป็นหลานของพระองค์ ก็ยังได้เข้าไปทำราชการเป็นช่างปั้นขนมจีบเครื่องเสวย ตำรับขนมจีบของกรมหลวงนรินทรเทวีก็ได้รับการถ่ายทอดติดต่อกันเรื่อยมา รวมทั้งลูกหลานข้าราชบริพารในวังของพระองค์ ก็ล้วนแต่มีความรู้ความสามารถขนมจีบสูตรนี้เช่นกัน

ขนมจีบชนิดนี้มิได้มีลักษณะอย่างขนมจีบทั่ว ๆ ไป (ที่ใช้แป้งเกี๊ยวสีเหลืองสำเร็จรูป) โดยขนมจีบอย่างไทยนี้จะมีลักษณะภายนอกคล้ายรูปนก เนื่องจาก “…ปั้นหัวขึ้นไปให้แหลมสูง แล้วจึงหักปลายหยิบเปนหงอนไว้นิดหนึ่ง…” แป้งทำมาจากแป้งญวณหรือเรียกว่าแป้งขนมจีบ มีสีขาวขุ่น การจีบแป้งก็จะจีบด้วยมืออย่างประณีตบรรจง มิได้จีบด้วยคีมหรืออุปกรณ์ช่วยจีบ ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ยังบอกอีกว่า ขนมจีบ ของกรมหลวงนรินทรเทวีต้องรับประทานร้อน ๆ จึงจะรับประทานดี หรือลองรับประทานกับผลตะลิงปลิงและน้ำพริกลาวแก้เลี่ยน ก็มีผู้ชอบรับประทานเช่นนี้หลายคน

ขนมจีบที่นิยมรับประทานในปัจจุบัน (ภาพจากศูนย์ข้อมูลมติชน)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : วิธีทำขนมจีบสามารถเข้าไปอ่านได้ที่เว็บไซต์วชิรญาณ (คลิก)


อ้างอิง :

แม่ครัวหัวป่าก์, จาก https://vajirayana.org/แม่ครัวหัวป่าก์

กระยานิยาย. เขียนโดย ส. พลายน้อย, สำนักพิมพ์มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม 2563