“สารทจีน” เทศกาลผียุคปัจจุบันในจีนและไทย ไหว้กันอย่างไร?

ชาวไต้หวันเผาเงินกระดาษให้บรรพบุรุษ เนื่องในเทศกาลสารทจีน ภาพถ่ายเมือ 12 สิงหาคม ค.ศ. 2003 (Photo by SAM YEH / AFP)

สารทจีน เป็นเทศกาลสำคัญทั้งของลัทธิขงจื๊อ พุทธศาสนา ศาสนาเต๋า และชาวบ้าน ในอดีตเป็นเทศกาลใหญ่มาก แต่ปัจจุบันลดความสำคัญลง นอกจากในวัดพุทธและวัดเต๋าแล้ว แพร่หลายอยู่ในหมู่ชาวบ้านจีนภาคใต้ ตั้งแต่มณฑลหูเป่ย อานฮุย เจ้อเจียง ลงมาจนถึงกวางตุ้ง กวางสี ยูนนาน ในหมู่ชาวจีนแคะ กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว และไหหลำ ยังคงเป็นเทศกาลใหญ่ เป็น 1 ใน 8 เทศกาลสำคัญประจำปีของจีนแต้จิ๋ว ในไทยสารทจีนเป็นเทศกาลจีนสำคัญอันดับ 2 รองจากตรุษจีนเท่านั้น

เทศกาลนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “จงหยวนเจี๋ย” แต้จิ๋วว่า “ตงหง่วงโจ็ย” แต่ชื่อทั่วไปนิยมเรียกว่า  Ž แต้จิ๋วอ่านว่า “ชิกว็วยะปั่ว” แปลว่า “(เทศกาล) กลางเดือน 7” นอกจากนี้ยังมีชื่อที่นิยมเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “กุ่ยเจี๋ย (กุ๋ยโจ็ย)” แปลว่า “เทศกาลผี” ชื่อทั้งสามนี้ถ้าคุยกับคนจีนภาคใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ทุกคนจะรู้จักดี แต่คนปักกิ่งจะไม่รู้จักเลย เพราะเทศกาลนี้ปัจจุบันชาวบ้านจีนภาคเหนือไม่ได้ทำแล้ว คงเหลือแต่ในวัดพุทธและเต๋าเท่านั้น

สารทจีนในเมืองจีนยุคปัจจุบัน

ปัจจุบันในประเทศจีนเทศกาลสารทจีนยังเหลือแต่ทางภาคใต้ แต่ไม่ค่อยคึกคักเหมือนสมัยก่อน เหลือแต่การไหว้บรรพบุรุษเป็นสำคัญ ส่วนมากไหว้ที่ศาลประจำตระกูล เพราะมีป้ายสถิตวิญญาณบรรพบุรุษรวมอยู่ที่นั่น แต่ถ้ามีบรรพบุรุษที่ยังไม่ได้ทำป้ายสถิตวิญญาณเข้าศาลก็ต้องจัดไหว้ที่บ้านด้วย การไหว้บรรพชนไหว้ช่วงสายถึงเที่ยง เนื่องจากแต่ละหมู่บ้านมีคนมากนับร้อยนับพันครอบครัว จึงหมุนเวียนกันไปไหว้ให้ทันก่อนเที่ยง การไหว้เจ้าและเทวดาตอนเช้าไม่ได้จัดของไหว้เป็นพิเศษ ไหว้เหมือนไหว้ “ชิวอิด จับโหงว” คือไหว้ต้นเดือนและปลายเดือนตามปกติ เทพจงหยวนประจำเทศกาลสารทจีนไม่ค่อยมีคนรู้จัก จึงไม่มีพิธีไหว้ท่านโดยเฉพาะ ส่วนการไหว้ “ฮอเฮียตี๋” ตอนบ่ายนั้น ในถิ่นแต้จิ๋วและจีนแคะไม่มีมานานแล้ว คงเหลือแต่พิธี “ซีโกว” ซึ่งจัดที่วัดในช่วงปลายเดือนใกล้วันปิดประตูยมโลก

ส่วนในไต้หวันเทศกาลสารทจีนยังคึกคักมาก ตัววันสารทจีนกลางเดือน 7 เป็นวันหยุดราชการ มีกิจกรรมอันเนื่องด้วยเทศกาลตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงสิ้นเดือนดังนี้

1. วัน 1 ค่ำ เปิดประตูยมโลก จัดของไหว้ “ฮอเฮียตี๋” หน้าประตูบ้านตั้งแต่ 4 โมงเย็นเป็นต้นไป ของไหว้ต้องมาก เพราะมีความเชื่อว่าถ้าน้อย ไม่พอให้ผีกิน ผีอาจไม่พอใจ ส่วนตามวัด ศาลเจ้าจะจุดโคมเชิญวิญญาณตั้งแต่วันนี้

2. วัน 15 ค่ำ ตัววันสารทจีน ไหว้เทพจงหยวนตอน 5 ทุ่ม (คืน 14 ค่ำ) อันเป็นยามแรกของวัน 15 ค่ำ ช่วงสายไหว้บรรพชน เย็นหลัง 4 โมงเย็นไหว้ “ฮอเฮียตี๋” เจ้าและบรรพชนไหว้ในบ้าน ฮอเฮียตี๋ไหว้นอกบ้านตรงหน้าประตู

3. วัน 30 ค่ำ ปิดประตูยมโลก ไหว้ฮอเฮียตี๋หน้าประตูบ้านอย่างเคย วัดและศาลเจ้าเก็บโคมเชิญวิญญาณตอนค่ำวันนี้ หลังจากไหว้ “ส่งผี” กลับแล้ว อนึ่งวันนี้เป็นวันประสูติกาลของพระกษิติครรภโพธิสัตว์ จึงจัดของไปไหว้ที่ศาลท่านด้วย

นอกจากนี้วัดและชุมชนแต่ละแห่งยังจัดงานทิ้งกระจาดอุทิศส่วนกุศลแก่ผีไม่มีญาติ โดยแต่ละแห่งจัดต่างวันกัน จึงกลายเป็นงานเที่ยวสนุกสนานหมุนเวียนกันไป แต่ตอนหลังนิยมจัดในวัน 15 ค่ำ เพื่อประหยัดเวลา

เนื่องจากเดือน 7 เป็นเดือนผี คนจีนจึงไม่นิยมจัดงานมงคลเดือนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งงาน และในวัน 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันไหว้ใหญ่จะหยุดงาน งดค้าขาย เพื่อให้ถนนว่างผีเดินได้สะดวก บางถิ่นทั้งในจีนและไต้หวันยังถือเคล็ด “หลบผี” ไม่ให้เด็กออกวิ่งเล่น เพราะกลัวไปชนผีแล้วถูกหลอกหลอนทำร้าย

ของไหว้สารทจีน

สารทจีนไม่มีของไหว้เฉพาะเทศกาลเหมือนตรุษจีน (ขนมเข่ง) หยวนเซียว (บัวลอยน้ำขิง) ไหว้พระจันทร์ (ขนมไหว้พระจันทร์) และเทศกาลอื่นอีกหลายเทศกาล สารทจีนใช้ของไหว้เหมือนไหว้เจ้าไหว้ผีโดยทั่วไป คือ 1. ชา 2. เหล้า แสดงถึงผลเก็บเกี่ยวสมบูรณ์มีข้าวเหลือหมักเหล้าไว้ใช้จึงขาดมิได้ 3. ข้าวสวย ห้ามใช้ข้าวต้มเพราะแสดงว่ายากจนข้าวไม่พอกิน 4. ซาแซ คืออาหารประเภทเนื้อสัตว์ 3 อย่าง เช่น เป็ด ไก่ หมู หรือ ไก่ หมู ปลา หรืออาจใช้ไข่ (แทนไก่ หรือเป็ด) หมู 1 ชิ้น และปลาหมึกก็ได้ ถ้ามีศรัทธาและกำลังพออาจเป็นโหงวแซ คืออาหารประเภทเนื้อสัตว์ 5 อย่างก็ได้ 5. กับข้าวและของหวาน 6. ของที่ทำจากแป้งที่คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “ก้วย” เช่น ขนมกุยช่าย สิ่วท้อ ของเหล่านี้แสดงว่าได้ผลเก็บเกี่ยวดี มีข้าวมาแปรรูปเป็นอาหารอื่น ของบางอย่างก็มีความหมายเป็นมงคลโดยเฉพาะ เช่น สิ่วท้อแสดงถึงความมีอายุยืน ด้วยเหตุนี้จึงนิยมใช้หมี่ในพิธีเซ่นไหว้ด้วย 7. ผลไม้ นิยมผลไม้ 5 อย่าง เรียกว่าโหงวก้วย 8. กระดาษเงินกระดาษทอง ถ้าไหว้เจ้าใช้แผ่นใหญ่ที่เรียกว่างึ่นเตี๋ย ถ้าไหว้ผีใช้แผ่นเล็กที่เรียกกิมจั้ว 9. เงินผี คือกระดาษที่ทำเป็นธนบัตรที่ใช้ในยมโลก

ของไหว้นี้โดยเฉพาะผลไม้ ไม่ใช้ของที่เชื่อกันว่าไม่เป็นมงคล ส่วนมากเป็นของหรือผลไม้ที่มีชื่อพ้องเสียงหรือคล้ายกับคำที่ไม่เป็นมงคล ซึ่งแต่ละถิ่นถือต่างกันตามสำเนียงภาษา เช่น คนจีนในไทยไม่ใช้มังคุดไหว้ คนจีนแต้จิ๋วในไทยไม่ใช้มะม่วงไหว้ เพราะภาษาชาวบ้านเรียกมะม่วงว่า “ส่วย” ใกล้กับคำว่า “ซวย” ของที่มีความหมายหรือลักษณะไม่เหมาะสมก็ไม่ใช้ ตามหลักดังกล่าวในไต้หวันไม่ใช้ฝรั่ง มะเขือเทศ ลูกพลัม และน้อยหน่า ไหว้เจ้า เพราะน้อยหน่าจีนไต้หวันเรียกว่า “เซ็กเกีย” พ้องกับชื่อพระพุทธเจ้าจะนำมาไหว้เจ้า ไหว้ผีไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ควรเอามาเป็นข้อถกเถียงกันว่าของใครถูก หลักสำคัญเรื่องของไหว้ขอให้จัดด้วยศรัทธาและเข้าใจสาระ คนจีนแคะในจีนซึ่งแต่ก่อนยากจน ประหยัดจนเคยชินใช้ไก่ตัวเดียวไหว้ทุกเจ้าในวันเทศกาล พอไหว้เสร็จก็เอาไปจุ่มน้ำเดือดเอาเคล็ดว่าต้มตัวใหม่มา แล้วเอาไปไหว้เจ้าองค์ใหม่ ไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย อนึ่งถ้าเป็นการไหว้เจก็ใช้เจไฉ่คือวุ้นเส้น เห็ดหูหนู ดอกไม้จีน เห็ดหอมจำพวกนี้ลวกไหว้พร้อมกับผลไม้และชา ผลไม้นิยมส้มผิวเหลืองที่เรียกว่า “ไต้กิก” เพราะจีนทุกถิ่นเสียงพ้องหรือใกล้กับคำว่าไต้กิกที่แปลว่า “มหามงคล” ในการไหว้ “ฮอเฮียตี๋” ของไหว้ทุกอย่างต้องปักธูปด้วยเพื่อเป็นการเชื้อเชิญและแสดงความเคารพผีไร้ญาติ

สารทจีนในไทย

สารทจีนในไทยเป็นเทศกาลใหญ่คู่กับตรุษจีน 2 เทศกาลนี้แพร่หลายในไทยมาช้านาน คู่กับตรุษสงกรานต์ และสารทไทย ช่วงเวลาก็ห่างกันไม่มาก จนคนไทยก็พลอยไหว้ตามไปด้วย ด้วยเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งคือ “ไม่ให้ลูกหลานดูตาเขากิน”

สารทจีนในไทยมีกิจกรรมไหว้เพียงวันเดียวคือวันกลางเดือน 7 จีน เมื่อ 30 ปีก่อนนี้ขึ้นไปส่วนมากไหว้ครบ 3 เวลา คือ เช้าไหว้เจ้า สายไหว้บรรพบุรุษ บ่ายไหว้ผีไม่มีญาติดังนี้

การไหว้ตอนเช้าไหว้เจ้าทั้งหมดเหมือนตรุษจีน ส่วนมากแยกไหว้หลายที่ คือที่หิ้งเจ้าในบ้านที่เรียกว่า “เหล่าเอี๊ย” ซึ่งหมายถึงเจ้าทั้งหลายที่หนึ่ง ตี่จู๋เอี๊ยคือเจ้าที่ในบ้านซึ่งทำเป็นศาลเล็ก ๆ วางไว้กับพื้นดินที่หนึ่ง บางบ้านไหว้ศาลพระภูมิไทย ศาลเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในชุมชนอีกด้วย แต่อย่างน้อยต้องไหว้ “เหล่าเอี๊ย” กับ “ตี่จู๋เอี๊ย” ของไหว้เหมือนตรุษจีน คือมีขนมเข่งด้วย ความจริงขนมเข่งเป็นของไหว้ประจำเทศกาลตรุษจีน เทศกาลสารทจีนไม่ต้องมีก็ได้ แต่ด้วยความเคยชินจึงกลายเป็นของสำคัญไปด้วย เว้นบางถิ่นที่มีความเข้าใจก็ไม่ใช้ขนมเข่งไหว้สารทจีน

ช่วงสายประมาณ 09.00-11.00 น. ไหว้ปู่ย่าตายาย ของไหว้คือของ 9 อย่าง ดังที่กล่าวข้างต้น และนิยมมีขนมเข่ง ขนมเทียนด้วยความเคยชิน ที่ไหว้จัดในบ้าน

ช่วงบ่ายประมาณหลังบ่ายโมงหรือบ่าย 2 โมงไปแล้ว ไหว้ “ฮอเฮียตี๋” เดิมนิยมไหว้กลางแจ้ง ต่อมาอนุโลมไหว้ในชายคาบ้านได้ แต่ต้องอยู่นอกธรณีประตู ก่อนไหว้ผู้ใหญ่จะให้เด็ก ๆ ถือธูปคนละกำ เดินไปปักตามถนนหนทางจากที่ไกลเข้ามาหาบ้าน พร้อมกับเรียกอยู่ในใจหรือออกเสียงว่า “ฮอเฮียตี๋ ขอให้ตามควันธูปมากินของเซ่นไหว้ที่บ้าน” เด็ก ๆ จะสนุกกับกิจกรรมนี้มาก แข่งกันวิ่งไปปักธูปให้ไกลที่สุดเรื่อยมาจนถึงบ้าน ของไหว้ต้องมีหลายชนิดและปริมาณมาก กับข้าวบางอย่างไหว้ทั้งหม้อ ของไหว้ทุกอย่างปักธูปดอกหนึ่งและไหว้นานจนธูปหมดดอกหรือเกือบหมดจึงเผากระดาษลา จากนั้นเอาข้าวสารกับเกลือซัดชายคาบ้านเพื่อไล่ให้ผีกลับ เพราะกลัวว่าจะมีผีอยู่ต่อ เป็นภัยแก่คนในบ้าน

แต่ก่อนคนจีนในไทยให้ความสำคัญแก่ “ฮอเฮียตี๋” มาก ในเทศกาลตรุษจีนซึ่งไม่จำเป็นต้องไหว้ก็ไหว้ด้วย เพื่อให้เพื่อนพ้องชาวจีนที่มาตายในไทยโดยไม่มีลูกหลานเซ่นไหว้ได้รับเครื่องเซ่นสังเวยเหมือนคนอื่น แสดงถึงความเอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมชาติพันธุ์ ปีหนึ่งได้กินเครื่องเซ่นไหว้ 2 ครั้งคือตรุษจีนและสารทจีน

ส่วนของไหว้ที่มีปริมาณมากนั้น พอไหว้เสร็จก็นำไปแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านที่ไม่ได้ไหว้สารทจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจนและลูกค้าของตน (เพราะคนจีนส่วนมากค้าขาย) เป็นการเกื้อกูลแบ่งปันกันกิน พอช่วงตรุษสารทไทย คนไทยก็มักนำข้าวเหนียวแดง (ตรุษ) กระยาสารท (สารท) มาแบ่งปันให้คนจีนกิน ฉะนั้นการทำของไหว้ “ฮอเฮียตี๋” มากก็เพื่อแบ่งให้ “ฮอเฮียตี๋” คือพี่น้องที่ดีซึ่งยังมีชีวิตอยู่ได้กินด้วย ในแง่หนึ่งเป็นการ “แบ่งปัน” และอีกแง่หนึ่งเป็นการ “ทำทาน” ผ่านคนจนอุทิศส่วนกุศลให้ผีไม่มีญาติ ทำให้ผู้ไหว้มี “ฮอเฮียตี๋ (พี่น้องที่ดี)” ทั้งในยมโลกและมนุษยโลก

น่าเสียดายที่สภาพเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ปัจจุบันมีผู้ไหว้ “ฮอเฮียตี๋” น้อยมาก ทั้ง ๆ ที่การไหว้ผีไม่มีญาติเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งของการไหว้สารทจีน

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สารทจีน : เทศกาลสำคัญที่กำลังลบเลือน” เขียนโดย ถาวร สิกขโกศล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 สิงหาคม 2562