ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2549 |
---|---|
ผู้เขียน | เศรษฐพงษ์ จงสงวน |
เผยแพร่ |
พิธีทิ้งกระจาด เป็นพิธีกรรมจีนอย่างหนึ่งที่นิยมจัดขึ้นในเทศกาลต่างๆ ของชาวจีน คำว่าพิธีทิ้งกระจาดนี้เป็นการเรียกอย่างไทย โดยนำมาจากการสร้างกระจาดทาน ถวายกัณฑ์เทศน์ ตามคตินิยมบำเพ็ญมหาทานบารมี อย่างพระเวสสันดรโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่มีอยู่แล้วในสังคมไทย ซึ่งแต่เดิมตามธรรมเนียมของชาวจีนสิ่งของที่จะแจกเป็นทานจะบรรจุลงในกระจาดไม้ไผ่สานมัดด้วยตอก เรียกว่าโกวไท แปลว่ากระจาดทาน ซึ่งเป็นที่มาให้สังคมไทยเรียกพิธีนี้ว่าพิธีทิ้งกระจาด
การทิ้งกระจาดนี้ชาวจีนเรียกกันว่าซีโกว แปลว่าการให้ทานแก่วิญญาณไร้ญาติ หรือโพวโต่ว แปลว่าการโปรดสัตว์โดยทั่วไป เป็นพิธีกรรมของจีนที่มีที่มาจากพระพุทธศาสนา จากพระสูตรชื่อเปรตมุข-อัคนีชวาลยศรการ-นาม-ธารณีสูตร ในพระไตรปิฎกฝ่ายจีน พระสูตรได้กล่าวว่า ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จประทับแสดงพระธรรมเทศนา ณ นิโครธารามวิหาร เมืองกบิลพัสดุ์ พระอานนท์เถรเจ้าพุทธอนุชา ได้ปลีกตนออกไปเข้าฌานสมาบัติอยู่ที่โคนต้นไม้ใหญ่ ขณะที่พระอานนท์บำเพ็ญฌานปริเวทธรรมอยู่นั้น ได้มีอสุรกายตนหนึ่งปรากฏขึ้นเบื้องหน้า บอกชื่อว่า อัคนีชวาลมุขเปรต หรือเอี่ยมเข้า รูปร่างสูงใหญ่ หน้าเขียว แสยะเขี้ยว ตามตัวมีแต่หนังหุ้มกระดูก ลำคอเล็กเท่ารูเข็ม มีเปลวไฟโชติช่วงออกจากปากเป็นนิจ
อัคนีชวาลมุขเปรตได้กล่าวกับพระอานนท์ว่า พระเถรเจ้าจะถึงซึ่งแก่กาลมรณะในอีก 3 วัน จากนั้นท่านก็จะต้องเกิดในเปรตภูมิ ได้รับความทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัสเพราะความหิวกระหาย จะกินก็ไม่ได้ ทุกขเวทนาเหลือหลาย หากพระเถรเจ้าปรารถนาจะมีอายุยืนยาว ขอท่านผู้เป็นมหาสาวกของพระพุทธเจ้าผู้อุดมด้วยความเมตตากรุณาต่อสัตว์ ขอพระเถระกระทำพิธีมหาทานอุทิศสิ่งอุปโภคบริโภคเป็นไทยทานแก่ฝูงเปรตด้วยเถิด กล่าวจบเปรตตนนั้นก็หายไป พระอานนท์เกิดความสะดุ้งกลัว เข้าเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลให้ทรงทราบแลขอพระพุทธองค์เป็นที่พึ่งพระพุทธองค์
พระพุทธเจ้าจึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ในอดีตเมื่อพระองค์เกิดเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ในสำนักพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั้น พระโพธิสัตว์พระองค์นั้นได้ตรัสเทศนาถึงพระธารณีแห่งองค์พระตถาคตเจ้า 7 พระองค์ ผู้เป็นประธานในพิธีโยคเปรตพลี และได้ตรัสถึงพิธีโยคเปรตพลีอุทิศสิ่งอุปโภคบริโภคเป็นไทยทานแก่ฝูงเปรตและสรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่เสมอ พิธีโยคเปรตพลีนี้มีผลานิสงส์มากยังให้ผู้กระทำอุทิศมีอายุยืนนาน และเป็นการสร้างมหาทานบารมีเพิ่มพูนแก่ตนให้ยิ่งขึ้นไป
ดังนั้นอัคนีชวาลมุขเปรตตนนั้นคือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (พระกวนอิม) ผู้ทรงอุบายโกศลที่จะโปรดสัตว์ให้หลุดพ้นจากทุกข์ จึงนิรมิตกายมาเพื่อเป็นปฐมเหตุให้พระพุทธองค์แสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับพิธีโยคเปรตพลีอุทิศแก่พระอานนท์ เพื่อโปรดสัตว์ในเปรตภูมิเป็นปฐม เมื่อพระพุทธองค์มีพุทธดำรัสจบลง พระอานนท์เถรเจ้าจึงได้ประกอบพิธีตามพุทโธวาท และได้รับอานิสงส์ถ้วนทุกประการ
เมื่อมีการแปลพระสูตรเป็นภาษาจีน พิธีนี้ได้เป็นแนวทางปฏิบัติของนิกายมนตรยาน เพื่อแสดงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าและเหล่าพระโพธิสัตว์ต่อเหล่าสัตว์โลกทั้งหลาย พิธีนี้จึงมีการถ่ายทอดสืบเนื่องต่อมา
ต่อมาเมื่อหลังราชวงศ์ถังพิธีนี้จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายออกไป จนเป็นที่นิยมของประชาชน มีการประกอบพิธีทั่วไปในประเทศจีน ทั้งในงานศพ งานวันเกิด ทำบุญต่ออายุ ในเทศกาลสารทจีนเดือน 7 และในเทศกาลบุญอื่น แม้แต่ในศาสนาเต๋าก็รับแนวคิดนี้จากพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังเป็นประเพณีนิยมในประเทศที่รับพระพุทธศาสนาจากจีน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม ก็ได้รับความนิยมด้วย
ในส่วนของประชาชนจีนทั่วไปเมื่อถึงวันที่กำหนดก็จะจัดมณฑลพิธีและนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดพระพุทธมนต์อุทิศแก่วิญญาณ ส่วนชาวจีนที่อยู่ตามถิ่นห่างไกล นิมนต์พระสงฆ์ลำบากก็จะจัดเพียงเครื่องบูชาเซ่นไหว้ด้วยอาหารแก่วิญญาณเร่ร่อนและบรรพบุรุษแทน จนทุกวันนี้
เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2562