พัฒนาการ เทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของจีน จากเทพฟ้าดิน สู่การแปรเปลี่ยนตามสมัย-ความเชื่อ

ภาพวาด กวนอู
ภาพวาด กวนอู เทพเจ้าจีน วาดในศตวรรษที่ 18 (ภาพจาก www.metmuseum.org)

เทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของจีน มีที่มาจากความเคารพธรรมชาติ และความกตัญญูต่อบรรพชนของคนจีน ดังนั้นจึงมีที่มา และประเภทหลากหลาย ในบทความ “เทพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์และภูตผีปีศาจของจีน” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2561) ผู้เขียนคือ อ. ถาวร สิกขโกศล จำแนกประเภทของ เทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของจีน ดังนี้

1. เทพประจำธรรมชาติและเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต มนุษย์มีความเคารพและกลัวธรรมชาติ เชื่อว่ามีเทพกำกับ เช่น ฟ้า ดิน เดือน ดาว ลม ฝน แม่น้ำ ภูเขา มีพิธีเซ่นไหว้มาแต่โบราณ มีเรื่องราวปรากฏในหนังสือยุคชุนชิว (ก่อน พ.ศ. 227-พ.ศ. 67) และจั้นกั๋ว (พ.ศ. 67-322) เช่น หลี่จี้ (อธิบายจารีต) กั๋วอี่ว์ (วาทะจากแคว้นต่าง ๆ) พงศาวดารจั่วจ้วน

เทพยุคแรก ๆ อีกประเภทหนึ่งคือ เทพประจำเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตมนุษย์ การเซ่นไหว้ 5 ประการ ตามจารีตยุคราชวงศ์โจวนั้นไหว้เทพแห่งประตูบ้าน เทพประตูห้อง เทพเตาไฟ เทพห้องโถงกลาง และเทพแห่งหนทาง นอกจากนี้ยังมีเทพแห่งชุมชน เรียกว่า เส้อ () เป็นที่มาของเสื้อบ้านเสื้อเมืองและปุนเถ้าก๋งในยุคหลัง เรื่องเหล่านี้ล้วนสำคัญมากในวิถีชีวิตคนจีนโบราณ จึงเชื่อกันว่ามีเทพประจำอยู่

เทพเตาไฟ (Kitchen God) (ภาพจาก www.metmuseum.org, Public Domain)

2. เทพบรรพชน บุคคลในตำนานและบุคคลสำคัญบางคน ประมุขยุคโบราณและบุคคลในตำนานผู้มีคุณูปการต่อคนจีนได้รับยกย่องเป็นเทพเจ้ามาช้านาน เช่น ฝูซี ผู้สอนให้คนจีนทำแหอวน เลี้ยงสัตว์ เสินหนง ผู้สอนการเพาะปลูกและยาสมุนไพร หวงตี้ ผู้รวมชนเผ่าเป็นรัฐสหพันธ์เผ่ายุคแรก บางคนมีเรื่องราวอยู่ในเทพนิยายโบราณ เช่น โฮ่วอี้ ผู้ยิงดวงอาทิตย์ซึ่งมีถึง 10 ดวงให้ดับไป 9 ดวง ช่วยโลกให้รอดจากถูกแผดเผา ฉางเอ๋อร์ ผู้ลักยาอมตะของทรราชย์กินแล้วลอยเข้าไปอยู่ในดวงจันทร์ หนังสือที่บันทึกเรื่องเทพประเภทนี้ไว้มากที่สุดคือ ซานไห่จิง (三海经) วรรณกรรมยุคจั้นกั๋ว บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์และผู้ทรงคุณธรรมโดดเด่นบางคนก็ได้รับยกย่องเป็นเทพเจ้า เช่น เหลาจื๊อ กวนอู เจ้าแม่มาจู่ซึ่งคนไทยเรียกเจ้าแม่ทับทิม เซียนบางองค์ในคณะโป๊ยเซียน

สองประเภทแรกนี้เป็นเทพเก่าแก่ดั้งเดิมของจีน

3. เทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ เทพเถระ และที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งคือ เทพผู้คุ้มครองพุทธศาสนาและวัด ที่เราเห็นประจำในวัดจีนคือ ท้าวจตุโลกบาล ซึ่งอยู่ด้านในประตูวัด และพระเวทโพธิสัตว์ยืนถือคทาอยู่ด้านในเข้าไป

พุทธศาสนามหายานมีเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลากหลายและเป็นระบบมาก มีผลทำให้คนจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาเต๋าพัฒนาเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของตนเป็นระบบชัดเจนขึ้น

4. เทพในศาสนาเต๋า เทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาเต๋ายุคแรกมาจากเทพประจำธรรมชาติและเทพบรรพชนบุคคลในตำนาน แต่เพิ่มเติมขึ้นอีกมาก เช่น การบูชา ฟ้า ดิน น้ำ ของจีนโบราณ ศาสนาเต๋าได้สร้างเทพประจำธรรมชาติทั้งสามนี้ให้มีตัวตนชัดเจนขึ้น เป็นเทพเทียนกวนกำกับดูแลฟากฟ้า ตี้กวนกำกับดูแลพื้นดิน สุ่ยกวนกำกับดูแลท้องน้ำ และกำหนดเอาวันกลางเดือนอ้าย (เทศกาลหยวนเซียว) เซ่นไหว้เทพเทียนกวน กลางเดือนเจ็ด (วันสารทจีน) เซ่นไหว้เทพตี้กวน และวันกลางเดือนสิบเซ่นไหว้เทพสุ่ยกวน

เมื่อพุทธศาสนาแพร่หลายในจีนส่งอิทธิพลให้ศาสนาเต๋าปรับระบบเทวดาของตนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น หลายอย่างเลียนแบบพุทธศาสนา เช่น พุทธศาสนามีตรีโลกพุทธ (三世佛) ที่เราเห็นในวิหารวัดจีนและพระรัตนตรัย ศาสนาเต๋าก็สร้างเทพสูงสุดของตนขึ้นมา 3 องค์ เรียกว่า ซานชิง (三请) แปลว่า ไตรสุทธิ หรือตรีพิสุทธิ์ ซึ่งเราจะเห็นได้ในวิหารใหญ่ของวัดเต๋า

เทพทั้งสี่ประเภทนี้ได้ผสมปนเปกันและแปรเปลี่ยนไปเกิดเป็นเทพประเภทที่ห้าซึ่งแพร่หลายที่สุด

(ซ้าย) เจ้ากงหมิง ไฉ่ซิ้งฝ่ายบู๊ (ขวา) ภาพมงคลไฉ่ซิ้งที่นิยมประดับบ้านในเทศกาลตรุษจีน

5. เทพพื้นบ้าน คือเทพที่แพร่หลายในหมู่ประชาชน เกิดจากเทพ 4 ประเภทแรกที่แปรเปลี่ยนไปตามความเชื่อของชาวบ้าน เช่น ความเชื่อเรื่องเง็กเซียงฮ่องเต้ ตามสารบบเทพของศาสนาเต๋าเป็นมหาเทพชั้นรอง เทพสูงสุดของศาสนาเต๋าคือไตรสุทธิเทพ (ซานชิง) ซึ่งมี 3 องค์ ได้แก่ หยวนสื่อเทียนจุนผู้สร้างจักรวาล หลิ่งเป่าเทียนจุนผู้คุมกฎของจักรวาล ไท่ซ่างเหล่าจุน (ท้ายเสียงเล่ากุนในเรื่องไซอิ๋ว) ผู้เผยแพร่ธรรมและกฎของจักรวาล

มหาเทพอันดับรองลงมาคือจตุรเทวราช (ซื่ออี้ว์ 四御) ได้แก่เทพชั้นสูง 4 องค์ เง็กเซียงฮ่องเต้เป็นองค์แรกในสี่องค์นี้เป็นราชาแห่งสรวงสวรรค์เท่านั้น ไม่ใช่ทั่วจักรวาล แต่ในความเชื่อชาวบ้าน เง็กเซียงฮ่องเต้เป็นประมุขของจักรวาล ไท่ซ่างเหล่าจุน (ท้ายเสียงเล่ากุน) เป็นเทพเสนา อยู่ใต้ปกครองของพระองค์

อีกตัวอย่างหนึ่งคือพระโพธิสัตว์กวนอิม ตามพุทธศาสนามหายานเป็นชาย แต่มีนิรมาณกายปางหนึ่งเป็นหญิง ทว่าในความเชื่อชาวบ้านท่านเป็นหญิง และแต่งตำนานเสริมว่าเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านบำเพ็ญบารมีผ่านทุกข์ภัยสารพัดจนบรรลุเป็นพระโพธิสัตว์ เรื่องนี้ไม่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา

อ. ถาวร สิกขโกศล กล่าวสรุปว่า “ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาเกิดจากมนุษย์ เปลี่ยนไปตามสังคมและความนึกคิดของผู้คนในสังคมนั้น ดังเช่นความเชื่อเรื่องเทพสูงสุด ในยุคราชวงศ์ซาง (1057-503 ก่อน พ.ศ.) และราชวงศ์โจว (ก่อน พ.ศ. 503-พ.ศ. 287) เรียกซ่างตี้ (พระเป็นเจ้าเบื้องบน) หรือเทียน (แถน) มีลักษณะเป็นนามธรรม ต่อมาผสมผสานกับเทพของศาสนาเต๋า แล้วได้รับอิทธิพลจากมหากาพย์พุทธจริตซึ่งสดุดีการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้า ศาสนาเต๋าจึงได้สร้างเง็กเซียงฮ่องเต้ขึ้น บำเพ็ญบารมีเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าจนได้เป็นประมุขแห่งสรวงสวรรค์นิรันดร์ เป็นภาพสะท้อนกษัตริย์ในสังคมมนุษย์

ต่อมาเมื่อจีนเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย ความเชื่อเรื่องเง็กเซียงฮ่องเต้เปลี่ยนตามสังคมมนุษย์ว่า ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งองค์เดียวถาวร แต่มีครบวาระพ้นตำแหน่ง แล้วประมุขของศาสนาสำคัญ 5 ศาสนาคือ คริสต์ อิสลาม พุทธ ขงจื๊อ และเต๋า ซึ่งสถิตบนสวรรค์จะประชุมกันเลือกเง็กเซียงฮ่องเต้องค์ใหม่ ปัจจุบันเป็นองค์ที่ 18 ผู้ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้คือเทพกวนอู ความเชื่อนี้แพร่หลายมากในไต้หวัน ในจีนเริ่มมีบ้างแต่ยังไม่มากนัก จึงเห็นได้ว่าเทวดาเกิดจากความคิดของมนุษย์และเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมมนุษย์

ความเชื่อเรื่องเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ มีส่วนช่วยคุมจริยธรรมของสังคม เพราะกลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษ ให้ความจรรโลงใจทางจินตนาการ ตลอดจนวอนหวังให้ช่วยประทานความเจริญรุ่งเรือง มั่งมีศรีสุข…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564