กำเนิด “เจ้าแม่ทับทิม (หม่าโจ้ว)” แม่ย่านางจีนสู่ไทย เทวดานี้ฮิตแพร่หลายได้อย่างไร

งานแห่ หม่าโจ้ว หรือ เจ้าแม่ทับทิม
งานแห่องค์หม่าโจ้ว (เจ้าแม่ทับทิม) ที่อัญเชิญมาจากจีนมาสู่ไทยในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 (ภาพจาก Instagram / Khaosod English)

เจ้าแม่ทับทิม เป็นเทวดาจีนที่สำคัญองค์หนึ่งในไทย เป็นที่รู้จักแพร่หลายมาช้านาน จนกลมกลืนกลายเป็นเทพสำคัญองค์หนึ่งของไทย นาม “แม่ย่านาง” แต่ในภาคที่เป็นเทพนารีของจีนเรียกกันว่า “เจ้าแม่ทับทิม” จึงกล่าวได้ว่าแม่ย่านางของไทยมีที่มาจาก “เจ้าแม่ทับทิม” ของจีน โดยเทพนารีของจีนที่คนไทยเรียกเจ้าแม่ทับทิมมีสององค์ องค์แรกมีชื่อที่เรียกกันแพร่หลายในหมู่คนจีนว่า มาจู่ (妈祖) กับ เทียนโฮ่ว (天后)

คนไทยสมัยอยุธยา-ต้นรัตนโกสินทร์เรียกตามเสียงจีนฮกเกี้ยนว่า พระหมาจ่อ หรือ หมาจอ (จีนกลางว่า มาจู่ แต้จิ๋วว่า มาโจ้ว) องค์นี้เป็นที่มาของแม่ย่านางของไทย มีศาลอยู่ในชุมชนจีนแทบทุกแห่ง

อีกองค์หนึ่งเป็นเทพนารีองค์สำคัญของจีนไหหลำ มีชื่อตามเสียงภาษาพูดของจีนไหหลำว่า ตุยบวยเต้งเหนี่ยง อักษรจีนเขียน 水尾圣娘 จีนกลางอ่านว่า สุ่ยเว่ยเซิ่งเหนี่ยง แต้จิ๋วว่า จุยบวยเซี่ยเนี้ย แต่มักเรียกสั้นๆ ว่า “จุยบวยเนี้ย” แปลว่าพระแม่ท้ายน้ำหรือพระแม่ปลายน้ำ ในไทยศาลใหญ่ท่านอยู่ที่เชิงสะพานซังฮี้ ฝั่งกรงุเทพฯ เทพนารีองค์นี้เป็นเทพท้องถิ่นเฉพาะของจีนไหหลำ จีนอื่นไม่ค่อยรู้จัก

เทพนารีสององค์นี้อาจจะมีที่มาจากเทพดั้งเดิมองค์เดียวกัน แล้วแยกเป็นสององค์ในภายหลัง มาจู่ (แม่ย่านาง) เดิมเป็นเทพของจีนมณฑลฮกเกี้ยนแล้วแพร่หลายไปทั่ว ตุยบวยเต้งเหนี่ยง (พระแม่ท้ายน้ำ) แพร่หลายแต่ในหมู่จีนไหหลำ ซึ่งถือว่าเทพนารีทั้งสองนี้เป็นคนละองค์กัน

องค์แรกเสียงจีนไหหลำเรียก มาโต่ว (มาจู่) องค์หลังเรียก ตุยบวยเต้งเหนี่ยง (สุ่ยเว่ยเซิ่งเหนี่ยง) คนจีนในไทยก็ถือว่าเป็นคนละองค์ เพราะชื่อภาษาจีนต่างกัน บางแห่งมีศาลเทพนารีสององค์นี้อยู่ใกล้กัน เช่น ที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีศาลเจ้าแม่มาโจ้ว (มาจู่) และศาล “เจ้าแม่ทับทิม” อยู่ไม่ไกลกันนัก ศาลเจ้าแม่ทับทิมนั้นชื่อเจ้าแม่เขียนเป็นภาษาจีนว่า 水尾圣娘 (ตุยบวยเต้งเหนี่ยง) จากชื่อศาลบ่งชัดว่าศาลเจ้าแม่มาจู่ (妈祖) เป็นของจีนแต้จิ๋ว ศาลเจ้าแม่ทับทิม (水尾圣娘) เป็นของจีนไหหลำ และเทพนารีทั้งสองนี้เป็นคนละองค์กัน

เนื่องจากเทวรูปของเทพนารีสององค์นี้มีรูปลักษณ์คล้ายกัน เครื่องทรงก็สีแดงทับทิมเหมือนกัน คนไทยจึงเรียกเหมือนกันว่า “เจ้าแม่ทับทิม” และเข้าใจว่าเป็นองค์เดียวกัน

บทความนี้จะเล่าเรื่อง “เจ้าแม่ทับทิม” ทั้งสององค์ โดยกล่าวถึง เจ้าแม่ทับทิม องค์แรกก่อน เพราะเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากกว่า และเป็นที่มาของแม่ย่านางของไทย

พระแม่มาจู่ : เจ้าแม่ทับทิม จากจีนฮกเกี้ยน

พระแม่มาจู่ เป็นเทพนารีสำคัญองค์หนึ่งของจีน เป็นเทวีแห่งทะเลองค์แรก นอกจากเป็นเทพแห่งการเดินเรือและเทพประจำอาชีพประมงแล้ว ยังมีฤทธานุภาพในด้านอื่นอีกแม้กระทั่งการรบ จึงกลายเป็นเทพผู้คุ้มครองและที่พึ่งทางใจที่สำคัญยิ่งของคนจีนชายทะเลและคนจีนโพ้นทะเลทั่วโลก

ในอดีตการออกทะเลไม่ว่าเพื่อเดินทางหรือทำกิจกรรมใดล้วนต้องเสี่ยงภัยสูง (ดังมีสำนวนในภาษาไทยว่า “คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล”) คนจีนจึงเซ่นไหว้พระแม่มาจู่เป็นเทพผู้คุ้มครองการออกทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเดินทางไกล เดิมทีเป็นเทพของจีนฮกเกี้ยนก่อน แล้วแพร่ไปสู่จีนชายทะเลทุกถิ่นและจีนตอนในอีกเกือบทั่วประเทศจีน ตลอดไปจนถึงจีนโพ้นทะเลทั่วโลก

ความเชื่อเรื่องพระแม่มาจู่มีความเป็นมายาวนานและแพร่กระจายกว้างไกลมาก จึงมีชื่อเรียกต่างกันไปตามยุคตามถิ่นมากมาย ชื่อที่สำคัญมีดังนี้

ชื่อหลากหลายของมาจู่

1. หลินสื้อหนี่ว์ (林氏女) เหมยโจวหลินสื้อหนี่ว์ (湄洲林氏女) หลินสื้อหมายถึงแซ่หลิน (ลิ้ม) หลินสื้อหนี่ว์คือหญิงแซ่หลิน เหมยโจวเป็นชื่อเกาะเล็กๆ ในอำเภอผู่เถียน มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) เกาะนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของท่าน เหมยโจวหลินสื้อหนี่ว์ จึงหมายถึงหญิงแซ่หลิน (ลิ้ม) แห่งเกาะเหมยโจว สองชื่อนี้เป็นชื่อเก่า ปรากฏในเอกสารยุคราชวงศ์ซ่ง เช่น จดหมายเหตุถิ่นเซี่ยนซี (仙溪志)

2. หลงหนี่ว์ (龙女 – นางมังกร มกรนารี) หลิงหนี่ว์ (灵女 – นางผู้มีฤทธิ์) เสินหนี่ว์ (神女 – เทพนารี) เป็นชื่อตามตำนานพื้นบ้าน ปรากฏในหนังสือเก่ารุ่นถัดมา เช่น หนังสือจู้ติ่งอี๋ว์เหวิน (铸鼎余闻) บันทึกเรื่องของมาจู่ไว้ มีความตอนหนึ่งว่า

“องค์เทพ (神) เป็นธิดาคนที่หกของหลินย่วน – นายทหารของราชาแห่งแคว้นหมิ่นในยุคห้าราชวงศ์และสิบแคว้น (五化十国) สามารถนั่งเสื่อแล่นข้ามทะเลท่องไปตามเกาะน้อยใหญ่ ผู้คนจึงเรียกว่านางมังกร (มกรนารี) หลังจากขึ้นสู่สวรรค์ที่เกาะเหมยโจว เมื่อรัชศกหย่งซี 4 (พ.ศ. 1530) แล้ว มักปรากฏกายสวมอาภรณ์แดงเหาะอยู่เหนือทะเล คอยช่วยผู้ประสบภัย ผู้คนจึงตั้งศาลเซ่นไหว้”

3. หลินม่อ (林默) ม่อเหนี่ยง (默娘) หลินม่อเหนี่ยง (林默娘) คำว่าหลินเป็นแซ่ ม่อเป็นชื่อตัวของมาจู่ เหนี่ยงเป็นคำเติมท้ายเพื่อแสดงว่าเป็นเพศหญิง ในเอกสารและตำนานเก่าก่อนราชวงศ์หมิง ไม่กล่าวถึงชื่อตัวของมาจู่ ต่อมาปลายราชวงศ์หมิงจึงปรากฏชื่อตัวของท่านว่า “ม่อ (默)” เป็นครั้งแรกในหนังสือบันทึกความศักดิ์สิทธิ์ของพระแม่เทียนเฟย (天妃显圣灵) พร้อมทั้งอธิบายเหตุผลไว้ด้วยว่า “ตั้งแต่เกิดจนอายุครบเดือนไม่ได้ยินเสียงร้องเลยจึงตั้งชื่อว่าม่อ” คำนี้แปลว่านิ่งเงียบ

4. หลินฟูเหญิน (林夫人 ลิ้มฮูหยิน – ท่านผู้หญิงแซ่หลิน) เทียนเฟย (天妃 – พระชายาสวรรค์) เทียนโฮ่ว (天后 – พระราชินีสวรรค์) เทียนซ่างเซิ่งหมู่ (天上圣母 – พระแม่เจ้าแห่งสรวงสวรรค์) ชื่อเหล่านี้เป็นชื่อทางการที่ได้รับสถาปนาจากฮ่องเต้

ตามธรรมเนียมจีนถือว่าฮ่องเต้เป็นโอรสสวรรค์ (天子) ได้รับอาณัติจากสวรรค์ (天命) ให้มาปกครองโลกแทนสวรรค์ จึงมีอำนาจสูงสุดในฐานะตัวแทนสวรรค์ ผู้คนทุกหมู่เหล่าแม้พระสงฆ์ นักบวชล้วนมีสถานะต่ำกว่า ดังนั้นพระภิกษุจีนจึงต้องทำความเคารพฮ่องเต้ ผีสางเทวดาทั้งหลายจะมียศศักดิ์สถานะสูงต่ำอย่างไรก็ต้องได้รับสถาปนาจากฮ่องเต้ เพราะฮ่องเต้เป็นตัวแทนของสวรรค์ (天) หรือพระเป็นเจ้าสูงสุด (上帝)

พระแม่มาจู่ได้รับสถาปนาจากฮ่องเต้ราชวงศ์ซ่งหยวน หมิง และชิง มีสถานะสูงขึ้นตามลำดับดังนี้ ราชวงศ์ซ่งสถาปนา 14 ครั้ง ครั้งที่ 1-4 เป็นฟูเหญิน (夫人 – ฮูหยิน) มีเกียรติสูงขึ้นตามลำดับ คำนี้ในสมัยราชวงศ์โจวใช้เรียกชายารองของกษัตริย์ (อ๋อง) และชายาเอกของเจ้าผู้ครองนคร (สามนตราช) สมัยราชวงศ์ถังเป็นบรรดาศักดิ์ของมารดาและภริยาขุนนางผู้ใหญ่ สมัยราชวงศ์ซ่งเป็นบรรดาศักดิ์ของภริยาขุนนางผู้ใหญ่ระดับเสนาบดีขึ้นไป จึงขอแปลว่า ท่านผู้หญิง

ครั้งที่ 5-14 เลื่อนเป็นชั้นเฟย (妃) มีเกียรติยศและราชทินนามสูงส่งยิ่งขึ้นตามลำดับ ในที่นี้หมายถึงมเหสีรองของกษัตริย์ มเหสีเอกเรียกว่าโฮ่ว (后) ส่วนมเหสีของพระมหากษัตริย์ไทยแบ่งง่ายๆ เป็นชั้นเทวีกับชั้นชายา สมัย ร.5 ยังซอยย่อยเป็นบรมราชเทวี อัครราชเทวี วรราชเทวี ราชเทวีอัครชายา และราชชายา คำเฟย (妃) จึงขอแปลว่า พระชายา

ราชวงศ์หยวนสถาปนา 5 ครั้ง เป็นเทียนเฟย (天妃) มีราชทินนามยาวขึ้นและเกียรติยศสูงยิ่งขึ้นตามลำดับ คำว่า “เทียนเฟย” หมายถึงพระชายาสวรรค์ หรือพระชายาของพระเป็นเจ้าสูงสุด

ราชวงศ์หมิงสถาปนา 2 ครั้ง เป็นเซิ่งเฟย (圣妃) และเทียนเฟย (天妃) ซึ่งล้วนหมายถึงพระชายาแห่งสวรรค์

สมัยราชวงศ์ชิงสถาปนาหลายครั้ง ตำราต่างเล่มเขียนไว้ไม่ตรงกัน แต่เรื่องสำคัญคือเลื่อนจากเทียนเฟย (天妃 – พระชายาสวรรค์) เป็นเทียนโฮ่ว (天后 – พระราชินีสวรรค์) และเทียนซ่างเซิ่งหมู่ (天上圣母 – พระแม่เจ้าผู้สูงส่งแห่งสรวงสวรรค์)

คำว่าโฮ่ว (后) ของจีนเทียบได้กับมเหสีชั้นเทวีของไทย ในสมัย ร.5 สูงสุดคือบรมราชเทวี ตรงกับ Queen Consort ของฝรั่ง ต่อมาทรงตั้งตำแหน่งบรมราชินีนาถขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการ ภาษาอังกฤษใช้ Queen Regent มีอิสริยศักดิ์เสมอบรมราชเทวี แต่มีเกียรติยศสูงสุดในฐานะผู้สำเร็จราชการ ต่อมาในรัชกาลที่ 6-7-9 ใช้คำว่าบรมราชินีแสดงฐานะพระมเหสีเอก (ถ้าได้สำเร็จราชการจึงเป็นบรมราชินีนาถ) คำบรมราชเทวีจึงหายไป

ฉะนั้นคำว่าเทียนโฮ่ว (天后) จึงแปลว่าราชินีแห่งสวรรค์ แต่จะแปลว่าพระเทวีแห่งสวรรค์ให้คู่กับพระชายาแห่งสวรรค์ (天妃) ก็ได้ ตำแหน่งเทียนซ่างเซิ่งหมู่ (天上圣母) นั้น หนังสือปวงเทพพื้นบ้านของจีน ( 中国民间诸 神) ของหม่าซูเถียน (马书田) กล่าวว่าได้รับสถาปนาในรัชกาลพระเจ้าเต้ากวง เป็นตำแหน่งสูงสุด หมายถึงพระแม่เจ้าผู้สูงส่งแห่งสรวงสวรรค์ เป็นคำยกย่องว่าเป็นเทพนารีผู้ทรงเกียรติสูงสุดในสรวงสวรรค์ คำนี้เสียงจีนฮกเกี้ยนว่า เทียนส่งเซ่งโบ้ แต้จิ๋วว่า เทียนเสียงเซี้ยบ้อ คำเซิ่งหมู่ (圣母 – พระแม่เจ้าผู้สูงส่ง) นี้ยังนิยมใช้ประกอบคำว่าเทียนโฮ่ว (天后) เป็นเทียนโฮ่วเซิ่งหมู่ (天后圣母) สำเนียงฮกเกี้ยนว่า เที้ยน

เฮาเซ่งโบ้ แต้จิ๋วว่า เทียนโหวเซี้ยบ้อ หมายถึงราชินีผู้สูงส่งแห่งสรวงสวรรค์

5. มาจู่ (妈祖) มาจู่ผอ (妈祖婆) มาจู่เหนียง (妈祖娘) คำหลักคือมาจู่ อาจมีคำว่าผอ (ย่า) หรือเหนียง (แม่, นาง) เติมท้าย จึงถือได้ว่าเป็นชื่อเดียวกัน เป็นชื่อเรียกพื้นบ้านที่แพร่หลายที่สุด ชื่อนี้มีที่มาจากภาษาฮกเกี้ยนซึ่งเป็นถิ่นฐานของท่าน ใช้แพร่หลายในมณฑลฮกเกี้ยน ไต้หวัน ซึ่งคนส่วนมากเป็นจีนฮกเกี้ยน และในหมู่จีนแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของจีนฮกเกี้ยน

ชื่อทั้งสามนี้เสียงจีนฮกเกี้ยนว่า หมาจ่อ หมาจ่อโป๋ หมาจ่อเหนีย แต้จิ๋วว่า มาโจ้ว มาโจวพั้ว มาโจวเนี้ย คำว่า หมา หรือ ม่า (妈) ในภาษาถิ่นฮกเกี้ยน-แต้จิ๋ว หมายถึง ย่า ยาย ใช้เป็นคำเรียกหญิงสูงอายุด้วยความยกย่อง จ่อ – โจ้ว (祖) แปลว่าบรรพชน เมื่อรวมกันเป็น หมาจ่อ-มาโจ้ว (妈祖) หมายถึงหญิงสูงอายุผู้มีคุณธรรมสูง เป็นชื่อที่เรียกด้วยความเคารพรักดั่งบรรพชน ใช้แพร่หลายในหมู่คนจีนฮกเกี้ยน-แต้จิ๋วก่อน แล้วแพร่หลายไปทั่ว

หนังสือไกอี๋ว์ฉงเข่า (陔余丛考) สมัยต้นราชวงศ์ชิง อธิบายชื่อนี้ไว้ว่า “ในไต้หวันมีเรื่องราวของเทพองค์นี้อยู่มากมาแต่ไหนแต่ไร คนที่นี่เรียกว่า ‘มาจู่ (妈祖)’ หากเกิดคลื่นลมคับขัน เรียกชื่อมาจู่ (หมาจ่อ-มาโจ้ว) แล้ว ท่านจะปรากฏกายแบบปล่อยผมมาช่วยได้ทันการ หากเรียกว่าเทียนเฟย (天妃 – พระชายาสวรรค์) ท่านจะต้องแต่งองค์ทรงเครื่อง เกรงว่าจะเสียเวลามาไม่ทันการ คำเรียกขานว่ามาจู่นี้ ชาวหมิ่น (闽 มณฑลฮกเกี้ยน) เรียกกันอยู่ในภูมิลำเนา”

แม้มาจู่จะล่วงลับเมื่ออายุเพียงยี่สิบกว่าปี ไม่ทันมีครอบครัว แต่ด้วยคุณูปการของท่าน ผู้คนจึงเรียกว่า “มาจู่” ด้วยความเคารพรักอย่างหาที่สุดมิได้

จีนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋วย้ายถิ่นไปทั่วทั้งในจีนและในโพ้นทะเล ชื่อนี้จึงแพร่ตามไป จนเป็นชื่อที่ใช้เรียกท่านมากที่สุดชื่อ “มาจู่” นี้แปลเอาความได้ว่า “พระแม่ย่า” ถ้ามีคำเหนียง (娘 – นาง) ต่อท้าย แปลตามไวยากรณ์ ฮกเกี้ยน-แต้จิ๋วได้ว่า “แม่ย่านาง”

อนึ่งชาวเรือนิยมเรียกท่านอีกชื่อหนึ่งว่า “ฉวนโถวเหนียง (船头娘)” แปลว่า “พระแม่หัวเรือ” เพราะเชื่อกันว่าท่านสถิตอยู่ที่หัวเรือ ตรงกับความเชื่อเรื่องแม่ย่านางเรือของไทย

ภาพเขียนเจ้าแม่ทับทิม หรือมาจู่ เทพผู้พิทักษ์ท้องทะเลที่คอยช่วยเหลือเหล่านักเดินทางบวงสรวงสักการะทุกครั้งก่อนออกเรือ (ภาพจากหนังสือ 600 ปี สมุทรยาตราเจิ้งเหอฯ, สำนักพิมพ์มติชน)

ชื่อของท่านที่แพร่หลายอีกชื่อหนึ่งคือ หลินกูเหนียง (林姑娘) เสียงฮกเกี้ยนว่า หลิมกอเหนียว แปลว่า “หญิงสาวแซ่หลิน (ลิ้ม)” ท่านเป็นคนแซ่หลิน (ลิ้ม) ไม่ได้แต่งงาน จึงเรียกท่านว่า หลินกูเหนียง หรือหลิมกอเหนียวในภาษาจีนฮกเกี้ยน

นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกเฉพาะในแต่ละถิ่นอีก เช่น ในไต้หวันมีชื่อที่นิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ไคไถมา (开台妈) เสียงจีนฮกเกี้ยนซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของไต้หวันว่า “ไคไต่ม่า” ชื่อนี้มีความหมายว่า “แม่ย่าผู้บุกเบิกไต้หวัน” ชาวอำเภอผู่เถียน มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) และปริมณฑลเรียกไมจิ๋วม่า (湄洲吗 เหมยโจวมา) หมายถึงแม่ย่าแห่งเกาะเหมยโจว อันเป็นถิ่นฐานของท่าน ชาวเมืองฉวนโจว (泉州) มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) เรียกอุนเหล็งม่า (温陵妈 เวินหลิงมา) แปลว่าแม่ย่าแห่งเวินหลิงซึ่งเป็นชื่อเก่าของเมืองฉวนโจว เหล่านี้เป็นต้น

ชื่อทั้งหมดนี้ ชื่อที่แพร่หลายในหมู่ชาวบ้านทั่วทุกถิ่นคือ มาจู่ (ฮก. หมาจ่อ) หรือ มาจู่ผอ (หมาจ่อโป๋) ส่วนชื่อทางการในจีนแผ่นดินใหญ่เรียก เทียนฮุย หรือ เทียนโฮ่ว ในไต้หวันเรียก เทียนซ่างเซิ่งหมู่ (ฮก. เที้ยนส่งเส่งโป้) เนื่องจากชื่อ “มาจู่” แพร่หลายที่สุด จึงขอใช้เป็นชื่อหลักในบทความนี้

เจ้าแม่ทับทิม “มาจู่” มาจากไหน

ปัญหาเรื่อง มาจู่ เป็นใคร มาจากไหน มีความเห็นต่างกันเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งว่ามาจู่มีที่มาจากบุคคลจริง มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ อีกฝ่ายหนึ่งว่ามาจู่เป็นเทวีแห่งมหาสมุทรที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่มีตัวจริง

ฝ่ายที่เชื่อว่ามาจู่มีตัวจริงก็ยังมีความเห็นต่างกันอีก บ้างก็ว่ามาจู่ เป็นธิดาของหลินย่วน ผู้บัญชาการทหารในอำเภอผู่เถียน มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) บ้างก็ว่าเป็นธิดาของหลินหลิงซู่ ผู้วิเศษแห่งเมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง บ้างก็ว่าเป็นธิดาสกุลไช่ (ฉั่ว) ในเขตฮกเกี้ยนกลาง ยุคที่ถือกำเนิดนั้นบ้างก็ว่าเกิดในรัชกาลพระเจ้าถังเสวียนจง (พ.ศ. 1255-1299) บ้างก็ว่าในยุคห้าราชวงศ์ (พ.ศ. 1450-1503) บ้างก็ว่าในรัชกาลพระเจ้าซ่งไท่จู่ (พ.ศ. 1503-1519) ทั้งหมดนี้ความเชื่อว่าเป็นธิดาหลินย่วน และเกิดในรัชกาลพระเจ้าซ่งไท่จู่ แพร่หลายที่สุด

ความเชื่อว่ามาจู่ไม่มีตัวจริง มีมาตั้งแต่ในอดีตหนังสือไกอี๋ว์ฉงเข่า ของเจ้าอี้ คนยุคปลายราชวงศ์หมิง เล่ม 35 ค้นคว้าเรื่องมาจู่ไว้มาก มีความตอนหนึ่งว่า “ความสามารถของพระแม่เจ้ามากถึงเพียงนี้ ไม่ใช่เรื่องที่หญิงแซ่หลิน (ลิ้ม) คนเดียวจะทำได้ ความจริงแล้วน้ำเป็นธาตุยินย่อมจัดเป็นเพศหญิง ดินคู่กับฟ้าอยู่ในฐานะโฮ่ว (ราชินี) น้ำมีฐานะรองลงมาจึงจัดว่าเป็นเฟย (พระชายา) นามเทียนเฟย (พระชายาสวรรค์) ก็คือคำเรียกขานน้ำเท่านั้นเอง ที่กล่าวว่าเป็นหญิงสกุลหลินจึงเชื่อไม่ได้”

เจ้าอี้เขียนเรื่องนี้ในยุคปลายราชวงศ์หมิง ซึ่งมาจู่ได้รับสถาปนาสูงสุดเป็น เทียนเฟย เขาจึงตีความว่าคำเฟย (妃) เป็นคำแสดงสถานะของน้ำว่าเป็นรองจากดิน ฟ้านั้นคนจีนเรียกเทียนกง (天公) เป็นเพศชาย ดินเรียกโฮ่วถู่ (后土) แปลว่า “ดินผู้เป็นราชินี(ของฟ้า)” น้ำจึงเป็นเทียนเฟย (天妃) คือพระชายา หรือมเหสีรองของฟ้า สรุปว่าคำเทียนเฟยเป็นบุคลาธิษฐานแสดงสถานะของน้ำ ไม่ได้มีที่มาจากบุคคลจริง

ต่อมาในรัชกาลคังซี ราชวงศ์ชิงได้สถาปนาเลื่อนมาจู่จากเทียนเฟยเป็นเทียนโฮ่วเมื่อ พ.ศ. 2227 แสดงชัดว่าคำเฟยมิได้เป็นแค่สัญลักษณ์ของน้ำ แต่เป็นคำแสดงยศศักดิ์จึงเลื่อนเป็นโฮ่วได้ ทฤษฎีว่าเทียนเฟยเป็นเพียงสัญลักษณ์ของน้ำ ไม่มีตัวจริง จึงไม่ค่อยแพร่หลายจากหลักฐานหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบันทึกเก่าตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซ่ง เชื่อได้ว่ามาจู่มีตัวตนจริง เป็นคนอำเภอผู่เถียน มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) แต่ประวัติถูกแต่งเติมต่อๆ กันมาจนมีเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์อยู่มาก

ประวัติมาจู่ในเอกสารเก่า

ประวัติ มาจู่ ที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน ส่วนมากได้ข้อมูลจากเอกสารยุคราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา ซึ่งมีส่วนที่แต่งเติมอยู่ด้วย จึงมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง จะขอยกตัวอย่างจากบางเล่มมาดังนี้

หนังสือประมวลเทพเจ้าจากสามศาสนา (三教搜神大全) สมัยปลายราชวงศ์หมิง เล่ม 4 บันทึกเรื่องมาจู่ซึ่งในหนังสือนี้เรียก “เทียนเฟย” ไว้ว่า มาจู่แซ่หลิน (ลิ้ม) เป็นคนเกาะเหมยโจว ชายทะเลเมืองซิงฮว่า ปัจจุบันคืออำเภอผู่เถียน มารดาแซ่ตั้ง (เฉิน) ฝันว่าพระกวนอิมเอาดอกไม้มาให้แล้วตั้งครรภ์อยู่ 14 เดือน จึงคลอดลูกสาวเมื่อวัน 23 ค่ำ เดือน 3 ปีแรกของรัชศกเทียนเป่า (พ.ศ. 1285 ราชวงศ์ถัง)

วันที่คลอดมีกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วนานถึงสิบกว่าวัน ตอนเป็นทารกเทียนเฟยฉลาดผิดธรรมดา ตอนอายุครบขวบยังแบเบาะอยู่ มองเห็นรูปปวงเทพก็พนมมือไหว้ อายุ 5 ขวบท่องคัมภีร์พระกวนอิม (观音经) ได้ อายุ 11 ขวบ ฟ้อนบวงสรวงเทพเจ้าได้ —

มาจู่มีพี่น้องผู้ชาย 4 คน ค้าขายทางทะเล วันหนึ่งเธอหลับตามือเท้าป่ายเปะปะ บิดามารดาคิดว่าเป็นลมจึงรีบเรียกให้รู้ตัว เธอลืมตาขึ้นพูดว่าทำไมไม่ให้ลูกช่วยพี่น้องให้พ้นภัยก่อน บิดามารดาไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร แต่ก็ไม่ได้ซักถาม

พอพี่น้องกลับมา ร้องไห้เล่าว่าเมื่อสามวันก่อนเกิดพายุใหญ่ พี่น้องอยู่ในเรือคนละลำ พี่ชายคนโตเรือล่มเสียชีวิต ส่วนพวกตนนั้นตอนเกิดคลื่นลมเห็นหญิงสาวคนหนึ่งลากสายระยางเรือห้าลำ เดินเหนือคลื่นมาราวกับเดินบนแผ่นดิน บิดามารดาจึงรู้ว่าที่มาจู่หลับตานั้นถอดจิตไปช่วยพี่น้อง แต่ยังไม่ทันช่วยพี่ชายคนโต เธอถูกเรียกให้ตื่นเสียก่อน จึงเสียใจมาก

พออายุครบ 15 ปี ปักปิ่นเข้าสู่วัยสาวแล้ว มาจู่ลั่นวาจาว่าจะไม่แต่งงาน บิดามารดาก็ไม่กล้าบังคับ ต่อมานั่งดับขันธ์ในวันเกิดของตน มีกลิ่นหอมขจรไปไกล หลังจากนั้นก็ปรากฏกายให้คนเห็นอยู่เสมอ — มาจู่มีชื่อเสียงในการประทานบุตรผู้คนเซ่นไหว้กันทั้งเมือง หากหญิงคนใดแต่งงานแล้วสิบปียังไม่มีลูก ขอเทพอื่นสารพัดแล้วไม่ได้ผลมาขอกับท่านจะได้ลูกชายทันที แม้หญิงที่เป็นหมันมาเซ่นไหว้ขอท่านก็ได้สมปรารถนา

ถึงยุคราชวงศ์ซ่งลู่หยุ่นตี๋ หลี่ฟู่ และคณะเป็นทูตไปเกาหลี เรือผ่านเหมยโจว เกิดคลื่นลมแรง เรือเกือบจะล่ม ทันใดนั้นก็มีรัศมีสาดส่อง หญิงคนหนึ่งปรากฏตัว ช่วยถือหางเสือเรืออย่างแข็งขันอยู่นาน จนรอดพ้นภยันตราย — กลับถึงเมืองหลวงได้กราบทูลฮ่องเต้ โปรดให้สถาปนามาจู่เป็นหลิงฮุ่ยฟูเหญิน สร้างศาลไว้ที่เหมยโจว —

ถึงยุคราชวงศ์หมิงปีที่ 7 รัชกาลพระเจ้าหมิงเฉิงจู่ เจิ้งเหอเดินเรือสำรวจดินแดนทางทะเล ได้เซ่นไหว้มาจู่ การเดินทางราบรื่น กลับมาโดยสวัสดิภาพ ฮ่องเต้จึงให้สถาปนาเลื่อนมาจู่เป็น “เทียนเฟย (พระชายาสวรรค์)” สร้างศาลที่เมืองหลวง ผู้คนกราบไหว้บูชาทั่วแผ่นดิน

ประวัติมาจู่สำนวนนี้ ไม่ได้บอกชื่อบิดาและชื่อตัวของท่าน ในหนังสือตงซีหยางเข่า (东西洋考) ซึ่งพิมพ์เผยแพร่เมื่อรัชศกว่านลี่ 16 (พ.ศ. 2131) ปลายราชวงศ์หมิง มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นดังนี้

เทียนเฟย วงศ์ตระกูลตั้งรกรากอยู่ที่เกาะเหมยโจว อำเภอผู่เถียน เป็นบุตรีคนที่ 6 ของหลินย่วน ผู้ตรวจการทหารของราชาแห่งแคว้นหมิ่น (ฮกเกี้ยน) ในยุคห้าราชวงศ์ (พ.ศ. 1450-1503) มารดาแซ่หวาง (เฮ้ง) เกิดเมื่อวัน 23 ค่ำ เดือน 3 ปีที่ 6 รัชศกเทียนฝู (พ.ศ. 1484) ของราชวงศ์โฮ่วจิ้น (ในยุคห้าราชวงศ์) บ้างก็ว่ารัชศกไท่ผิงซิงกั๋ว 4 (พ.ศ. 1522) ของราชวงศ์ซ่ง

เมื่อตอนเกิด แผ่นดินเปลี่ยนเป็นสีม่วง และมีแสงมงคลส่องเข้ามาพร้อมกับกลิ่นหอมตลบไปทั่ว เมื่อเยาว์วัยสามารถเข้าใจศาสตร์อันลี้ลับ พยากรณ์ดีร้ายได้อย่างแม่นยำ เมื่อชาวบ้านเจ็บป่วย มาให้ท่านรักษาก็จะหายขาด พอโตขึ้นสามารถใช้เสื่อข้ามทะเลได้ ผู้คนจึงเรียกว่า “เทพนารี (神女)” หรือ “มกรนารี (นางมังกร – 龙女)” กลับคืนสู่สวรรค์เมื่อวัน 19 ค่ำ เดือนยี่ รัชศกยงซี 4 (พ.ศ. 1530) อีกกระแสหนึ่งว่าวัน 10 ค่ำ เดือน 10 รัชศกจิ่งเต๋อ 3 (พ.ศ. 1549) อายุเพียง 30 กว่าปี

หลังจากนั้นมีคนเห็นสวมอาภรณ์แดงเหาะอยู่เหนือทะเลอยู่เสมอ ผู้คนในภูมิลำเนาจึงสร้างศาลเซ่นไหว้ มีความศักดิ์สิทธิ์ เซ่นไหว้ก็ได้ผลตามที่ขอ

เรื่องราวตอนต่อไปในหนังสือนี้กล่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์ของมาจู่ที่ได้ช่วยขจัดทุกข์ภัยให้ผู้คน และช่วยเหลือทางการหลายเรื่อง เช่น

1. ช่วยลู่หยุ่นตี๋ ทูตจีนที่เดินทางไปเกาหลีให้รอดจากเรือแตก
2. บันดาลให้เกิดลมขับไล่เรือโจรสลัดที่มาปล้นสะดมคนจีน
3. ช่วยทัพหลวงปราบโจร โดยบันดาลให้เกิดหมอกปกคลุม พวกโจรมองไม่เห็นทหารหลวง แต่ทหารหลวงเห็นโจร จนพวกโจรหนีไม่รอด
4. ใช้ไฟคลอกพวกโจร
5. เกิดโรคระบาด แสดงนิมิตบอกให้ชาวบ้านขุดบ่อน้ำ กินรักษาโรคได้

ห้าเรื่องนี้เกิดในยุคราชวงศ์ซ่ง จึงได้รับสถาปนาเลื่อนยศหลายครั้ง

6. ยุคราชวงศ์หยวน ช่วยการขนส่งทางทะเลของทางการ
7. ยุคราชวงศ์หมิง เจิ้งเหอเดินเรือสำรวจโลก 7 ครั้ง อัญเชิญเทวรูปมาจู่ไปในเรือด้วย เซ่นไหว้ทุกวัน เวลามีปัญหาขอให้ช่วยแก้ไขคุ้มครองก็สัมฤทธิผลทุกครั้ง จนเดินทางกลับมาโดยสวัสดิภาพ

พระเจ้าหมิงเฉิงจู่ (หย่งเล่อ) จึงสถาปนาเลื่อนมาจู่เป็นเทียนเฟย (พระชายาสวรรค์) สร้างศาลที่เมืองหลวง จัดให้มีพิธีเซ่นไหว้ของทางการเป็นประจำทุกปี

ประวัติมาจู่ (เทียนเฟย) สำนวนนี้ได้รับการบันทึกรวมไว้ในหนังสือซื่อคู่ฉวนซู (四库全书 – ประมวลวรรณกรรม 4 หมวด) ของทางการ แม้จะมีรายละเอียดมากกว่าหนังสือรุ่นก่อน แต่ก็ไม่ได้บอกว่ามาจู่มีชื่อตัวว่าอะไร ชื่อตัวของมาจู่ปรากฏครั้งแรกในหนังสือบันทึกความศักดิ์สิทธิ์ของพระแม่เทียนเฟยยุคปลายราชวงศ์หมิง (ซึ่งต้องหลังรัชกาลว่านลี่) ดังกล่าวแล้วข้างต้น

จึงเห็นได้ชัดว่าประวัติมาจู่นั้น ในเอกสารยุคราชวงศ์ซ่งมีข้อมูลน้อยมาก แต่ได้แต่งเพิ่มเติมกันในยุคหลังตลอดมา ประวัติมาจู่ในเอกสารเก่าที่ละเอียดสมบูรณ์ที่สุดนั้นอยู่ในจดหมายเหตุไต้หวัน (台弯县志) ซึ่งชำระเพิ่มเติมเมื่อรัชศกเฉียนหลง 17 (พ.ศ. 2295) มีข้อมูลเพิ่มขึ้น ดังจะยกตัวอย่างช่วงต้นมาดังนี้

มาจู่ (ในประวัติสำนวนนี้เรียกเทียนโฮ่วซึ่งสถาปนาในรัชกาลคังซี) แซ่หลิน (ลิ้ม) วงศ์ตระกูลตั้งรกรากอยู่ที่อำเภอผู่เถียน บิดาชื่อหลินย่วน เป็นผู้ตรวจการทหาร มารดาแซ่หวาง (เฮ้ง) มีลูกชาย 5 คน ลูกสาว 1 คน มารดาฝันว่าพระกวนอิมประทานยาวิเศษให้กินหนึ่งเม็ด แล้วตั้งครรภ์ คลอดลูกสาว

เมื่อปีแรกของรัชศกเจี้ยนหลง (พ.ศ. 1503) รัชกาลพระเจ้าซ่งไท่จู่ ตั้งชื่อว่าจิ่วเหนียง (หมายถึงหลานสาวคนที่ 9 ในครอบครัว) เนื่องจากตั้งแต่เกิดจนครบหนึ่งเดือนไม่ได้ยินเสียงร้องเลย จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าม่อเหนียง (默娘 หมายถึงนิ่งเงียบ) อายุ 8 ขวบ เรียนหนังสือ เข้าใจเรื่องยากลึกซึ้งได้ ทั้งชอบสวดมนต์ไหว้พระ อายุ 13 ได้รับการถ่ายทอดศาสตร์ลี้ลับจากนักพรตหยวนทง อายุ 16 ได้ยันต์วิเศษจากบ่อน้ำ สามารถใช้เสื่อออกทะเลไปช่วยเรือประมงได้ถึงแก่กรรมเมื่อ 9 ค่ำ เดือนเก้า รัชศกยงซี 4 (พ.ศ. 1530) บ้างก็ว่าวัน 19 ค่ำ เดือนยี่ อายุ 28 ปี

ประวัติช่วงหลังเป็นเรื่องคุณูปการในเชิงอิทธิปาฏิหาริย์ ช่วยคนประสบภัยทางเรือ ปราบโจรสลัดรักษาโรคให้ชาวบ้าน ช่วยการขนส่งทางทะเลของทางการ การเดินเรือของเจิ้งเหอเหมือนที่กล่าวมาข้างต้น มีเพิ่มเรื่องช่วยทัพราชวงศ์ชิงที่ยกไปปราบไต้หวันเมื่อรัชกาลคังซี 22 (พ.ศ. 2226) ตอนทัพจีนบุกขึ้นเกาะเผิงฮูมาจู่บันดาลให้มีน้ำจืดพุ่งขึ้นมาช่วยกองทัพจีน และมีปาฏิหาริย์อย่างอื่นอีก ซึ่งไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียด

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดประวัติและเรื่องราวของมาจู่ในแง่มุมต่างๆ บันทึกอยู่ในเอกสารอื่นมาก บางเรื่องเป็นเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ บางเรื่องเป็นประวัติอย่างคนธรรมดา นำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์เขียนประวัติที่แท้จริงของมาจู่ได้

ภาพเขียนมาจู่ช่วยเหลือคณะทูตของราชวงศ์ซ่งที่เดินทางไปเกาหลีแต่ประสบภัยทางทะเล (ภาพจาก wikipedia.org)

ชีวิตจริงของมาจู่

จากตำนานและเกร็ดประวัติ มาจู่ ในบันทึกเก่า นักประวัติศาสตร์และนักคติชนวิทยา (ความรู้ว่าด้วยวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวบ้าน) ได้นำมาวิเคราะห์เขียนประวัติของท่านในฐานะบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ มีรายละเอียดต่างกันไปบ้าง เล่มที่วิเคราะห์ไว้ได้ดีมากคือ หนังสือภาพประวัติมาจู่ (全像妈祖) ของหม่าซูเถียนและหม่าซูเสีย ผู้เขียนใช้เป็นหลักร่วมกับข้อมูลในหนังสืออื่น พอเรียบเรียงประวัติมาจู่ในเชิงวิเคราะห์ออกมาได้ดังนี้

ชาติตระกูล

มาจู่เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงอยู่ในยุคต้นราชวงศ์ซ่ง หรือไม่ก็ยุคห้าราชวงศ์ ชาติตระกูลของท่านนั้นมีหลักฐานให้ตีความต่างกันถึงสามอย่าง คือเป็นผู้ดีมีตระกูล เป็นชาวบ้าน และเป็นชนเผ่าตั้นหรือมีเชื้อสายของชนเผ่านี้

หลักฐานว่ามาจู่เป็นลูกผู้ดีมีตระกูล ปรากฏครั้งแรกในบันทึกหลิงฉือเมี่ยวจี้ (บันทึกเรื่องศาลการุณย์ศักดิ์สิทธิ์-ศาลมาจู่) ของเฉิงญุ่ยเสว์ (程揣学) ราชบัณฑิตรัชกาลพระเจ้าหยวนอิงจง (พ.ศ. 1924-1927) ราชวงศ์หยวน มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“องค์เทพ (มาจู่) แซ่หลิน (ลิ้ม) เป็นธิดาคนเล็กของผู้ตรวจการทหารเมืองผู่เถียน มีกำเนิดมหัศจรรย์ สามารถช่วยเหลือคนที่ประสบทุกข์ภัย เป็นพรหมจารีไม่มีครอบครัวอยู่จนล่วงลับเมื่ออายุไม่ถึง 30 ปี — ผู้คนตั้งศาลกราบไหว้บูชา ยามฝนแล้งโรคระบาด เรือประสบภัย เซ่นไหว้แล้วได้ผลทุกครั้ง”

เอกสารยุคหลังขยายความเพิ่มเติมกันต่อมา หนังสือเทียนเฟยหลิงอิ้งจี้ (天妃录应记 – ความศักดิ์สิทธิ์ของเทียนเฟย) ของสีว์เป่ากวงบัณฑิตจิ้นสื้อ รัชกาลคังซีราชวงศ์ชิง มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นว่า

“เทียนเฟย (มาจู่) เป็นคนแซ่หลิน (ลิ้ม) เกาะเหมยโจว อำเภอผู่เถียน บิดาชื่อหลินย่วน (林愿) เป็นผู้ตรวจการทหารหัวเมืองยุคต้นราชวงศ์ซ่ง เทียนเฟยเกิดมาก็มีปาฏิหาริย์ เมื่อเยาว์ไปดูบ่อน้ำกับกลุ่มเพื่อนหญิง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ชูยันต์ทองแดงส่งให้ท่าน เพื่อนๆ ตกใจวิ่งหนี ตั้งแต่นั้นก็มีฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ ใช้เสื่อผืนเดียวออกทะเลอยู่เสมอ ผู้คนเรียกว่า ‘ทงเสียนหลิงหนี่ว์ (通贤灵女 – หญิงศักดิ์สิทธิ์ผู้ประเสริฐ)’”

ชาติตระกูลผู้ดีของมาจู่นั้น ปูมประวัติแซ่หลิน (林氏族谱) ของไต้หวันกล่าวว่า มาจู่เป็นคนแซ่หลิน (ลิ้ม) สายจิ้นอันอ๋องรุ่นที่ 22 แซ่หลินสายนี้เรียกอีกอย่างว่า สายเก้าข้าหลวง (九牧林)

ประวัติย่อมีอยู่ว่าหลินลู่เป็นนายทหารผู้ติดตามพระเจ้าจิ้นหยวนตี้ (พ.ศ. 860-866) มาตั้งราชวงศ์จิ้นตะวันออกแถบลุ่มแม่น้ำแยงซี (长江) ภายหลังมียศสูงสุดเป็นจิ้นอันอ๋องแห่งมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) เป็นต้นวงศ์ของแซ่ลิ้มสายนี้ ซึ่งแพร่ต่อไปยังมณฑลกวางตุ้ง ไต้หวันและมณฑลอื่นๆ ตลอดจนโพ้นทะเล

หลินว่านเฉ่ง อนุชนของหลินลู่ มาตั้งรกรากที่ผู่เถียน มีบุตรสามคน คนรองชื่อหลินพี เป็นขุนนางในรัชกาลพระเจ้าถังเสวียนจง มีบุตร 9 คน ล้วนเจริญก้าวหน้าในราชการ มีตำแหน่งสูงสุดเป็นข้าหลวงมณฑลหมดทั้ง 9 คน แซ่หลิน (ลิ้ม) สายนี้จึงเรียกอีกอย่างว่า “หลินเก้าข้าหลวง (九牧林)” มีลูกหลานแพร่ไปทั่วประเทศจีน ตลอดจนโพ้นทะเล แยกเป็น 9 สาแหรก

สาแหรกที่ 6 รุ่งเรืองที่สุด ต้นสาแหรกชื่อหลินยุ่น (林蕴) ตามปูมประวัติแซ่หลินไต้หวันและเอกสารอื่นอีกหลายเล่มกล่าวว่ามาจู่เป็นอนุชนรุ่นที่ 22 ของแซ่หลินสายเก้าข้าหลวง (สายจิ้นอันอ๋อง) และรุ่นที่ 8 ของสาแหรกหลินยุ่นซึ่งเป็นสาแหรกที่รุ่งเรืองที่สุดเหนือสาแหรกอื่น

คนแซ่ลิ้ม (หลิน) ในไทย เป็นสายเก้าข้าหลวงเกือบทั้งหมด ต่างสาแหรกกันไป เช่น อาจารย์เศรษฐพงษ์ จงสงวน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพุทธศาสนามหายาน สาแหรก 6 ร่วมกับมาจู่ ผู้เขียน (ถาวร สิกขโกศล) สาแหรก 1

ตามปูมประวัติของแซ่หลิน (ลิ้ม) กล่าวว่าบิดาของมาจู่ชื่อหลินย่วน คนเล็กเกิดเมื่อวัน 23 ค่ำ เดือน 3 รัชศกเจี้ยนหยวน 1 (พ.ศ. 1503) ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าซ่งไท่จู่ตั้งราชวงศ์ซ่ง ถึงแก่กรรมเมื่อวัน 9 ค่ำ เดือน 9 รัชศกยงซี 4 (พ.ศ. 1530) ตามปูมประวัติของแซ่หลิน (ลิ้ม) มาจู่เป็นคนแซ่หลิน (ลิ้ม) สายที่มีเกียรติยศสูงสุด บรรพชนเป็นขุนนางมาทุกชั่วคน

ข้อมูลข้างต้นนี้ขัดแย้งกับเอกสารยุคราชวงศ์ซ่งและหยวน ซึ่งไม่กล่าวถึงวงศ์ตระกูลผู้ดีของมาจู่ มีแต่ข้อมูลสั้นๆ ซึ่งบ่งชัดว่าเป็นชาวบ้าน หนังสือบันทึกเรื่องการปฏิสังขรณ์ศาลมาจู่ที่เซิ่งตุน (圣墩祖庙重建順济庙记) ของเลี่ยวเผิงเฟย บัณฑิตจั้นสื้อรัชศกเส้าซิง 12 (พ.ศ. 1685) บันทึกประวัติมาจู่ไว้มีความตอนหนึ่งว่า

“(มาจู่) แซ่หลิน (ลิ้ม) เป็นคนเกาะเหมยโจว เดิมทีเป็นออมดออท้าว รู้เรื่องดีร้ายของคนล่วงหน้า พอล่วงลับแล้ว ผู้คนตั้งศาลบูชาไว้ที่เกาะนั้น — พอฝนแล้งก็เซ่นไหว้ — พอมีโรคระบาดหรือเรื่องร้ายก็เซ่นไหว้ โจรสลัดปล้นสะดมก็เซ่นไหว้ ล้วนศักดิ์สิทธิ์ตามที่วอนขอ — ท่านเกิดที่เกาะเหมยโจว ความศักดิ์สิทธิ์ของท่านก็เริ่มปรากฏที่นี่”

จดหมายเหตุเซียนซี (仙溪志) ยุคราชวงศ์ซ่งใต้บันทึกไว้ว่า “มาจู่เป็นหญิงแซ่หลิน (ลิ้ม) แห่งเกาะเหมยโจว เป็นออมดออท้าว รู้เรื่องดีร้ายล่วงหน้า” บันทึกยุคราชวงศ์ซ่งทั้งสองนี้บอกแต่เพียงว่า มาจู่เป็นหญิงแซ่หลิน (ลิ้ม) โดยไม่กล่าวถึงชื่อ เพราะผู้หญิงชาวบ้านจีนในยุคเก่าของจีนมักไม่ค่อยมีชื่อ เรียกแต่แซ่ตามด้วยคำว่า “สื้อ (氏)” ซึ่งหมายถึงแซ่ และคำหนี่ว์ (女) ซึ่งแปลว่า “หญิง” ให้รู้ว่าเป็นผู้หญิงแซ่อะไรเท่านั้น เช่น หลินสื้อหนี่ว์ (林氏女) หมายถึงหญิงแซ่หลิน (ลิ้ม) ต้องเป็นผู้ดีมีตระกูลจึงจะมีชื่อ

มาจู่เป็นบุคคลมีชื่อเสียง ถ้ามีชื่อตัว เอกสารยุคราชวงศ์ซ่งย่อมจะต้องบันทึกไว้ แต่กลับไม่พูดถึงเลย (ชื่อหลินม่อนั้นปรากฏในเอกสารยุคราชวงศ์หมิง-ชิง ดังกล่าวแล้วข้างต้น) แสดงว่ามาจู่ต้องเป็นชาวบ้าน ไม่มีชื่อตัว จึงเรียกว่า “หลินสื้อหนี่ว์ – หญิงแซ่หลิน (ลิ้ม)” เท่านั้น สอดคล้องกับจดหมายเหตุผูหยาง (莆阳志) ยุคราชวงศ์ซ่งใต้ ซึ่งบันทึกไว้ว่า “เฟย (มาจู่) เป็นออมดออท้าวในหมู่บ้าน” นั่นคือเป็นผู้หญิงชาวบ้านธรรมดา

คำว่า “ออมดออท้าว” นี้ ภาษาจีนเรียกว่า “วู(巫)” คือคนที่มีความรู้พิเศษ รักษาโรคได้ รู้ดินฟ้าอากาศ (อุตุนิยมวิทยาในปัจจุบัน) ทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าและความรู้อื่นๆ อีก เช่น หนังสือ สมัยโบราณคนทั่วไปไม่มีความรู้เหล่านี้ จึงเชื่อกันว่าคนที่รู้เวทมนตร์หรือฤทธิ์เดชเหนือคนทั่วไป ยกย่องเป็นผู้วิเศษ

วูในยุคราชวงศ์ซางเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรจีน นักอุตุนิยมวิทยา ผู้ทำปฏิทินรุ่นแรกๆ ของจีน ตลอดจนทรงเจ้าเข้าผีตามความเชื่อในยุคนั้น ในภาษาไทยเก่าเรียกคนพวกนี้ว่า “ออมดออท้าว” ดังที่ปรากฏในพงศาวดารและหนังสือเก่า ใช้เป็นคำแปลคำว่า “วู” ในภาษาจีน มีปรากฏอยู่ในเรื่องสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เช่น “(อ้วนเสี้ยว) จะทำการสิ่งใดก็ให้ลงออมดออท้าวก่อนทุกครั้งไป”

“ออมดออท้าว” มีทั้งเพศหญิงและชาย ถ้าเป็นชายเรียกพ่อมด หญิงเรียกแม่มด เดิมมีความหมายกว้างรวมทั้งหมอรักษาโรค ผู้มีเวทมนตร์ เช่น ในเรื่องลิลิตพระลอเรียกหมอทำเสน่ห์ผู้หญิงว่า “ยายมด”

ต่อมาด้วยอิทธิพลนิทานฝรั่งที่เราแปลมา เช่น เรื่องสโนว์ไวท์ ทำให้แม่มดพ่อมดให้จินตภาพที่น่ากลัวชั่วร้าย ทั้งๆ ที่เดิมคำแม่มดพ่อมดมีความหมายกลางๆ ว่าเป็นผู้มีเวทมนตร์และความรู้พิเศษ เช่น รักษาโรคจะเป็นคนดีหรือร้ายก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ดังนั้นในการเขียนถึงมาจู่จึงขอกลับไปใช้คำว่า “ออมดออท้าว” ซึ่งเราใช้เป็นคำแปลคำว่า “วู (巫)” ของจีนมาแต่เดิม

ส่วนความเห็นว่ามาจู่เป็นชนเผ่าตั้นหรือมีเชื้อสายชนเผ่านี้นั้นก็ปรากฏเค้าเงื่อนอยู่ในเอกสารเก่า และวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างที่เกี่ยวกับมาจู่ชนเผ่าตั้นนี้อาจเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “ชาวเลของจีน” เป็นชนเผ่าเก่าแก่ มีมากแถบชายทะเลในมณฑลฮกเกี้ยนและกวางตุ้ง

สืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าเย่ว์ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของสองมณฑลนี้ ในสมัยราชวงศ์ถังและซ่งยังมีมาก เป็นชนเผ่าหลักทางชายทะเลของสองมณฑลนี้ ใช้เรือเป็นบ้านเชี่ยวชาญทางน้ำ ทำอาชีพประมงและขนส่งสินค้าทางทะเล บูชางู เรียกตัวเองว่า “เผ่ามังกร (龙种)” ในร้อยกรองของหานอี้ว์กวียุคราชวงศ์ถังก็เรียกชนเผ่านี้ว่าเผ่ามังกร

ฉะนั้นคำเรียกมาจู่ว่า “นางมังกร (龙女)” จึงส่อเค้าว่าท่านเป็นชนเผ่าตั้น หรืออย่างน้อยก็มีเชื้อสายของชนเผ่านี้ บันทึกวัฒนธรรมประเพณีของเมืองฉวนโจวและซิงฮว่า (อำเภอผู่เถียน) ยุคราชวงศ์ซ่งเหนือกล่าวว่าแถบชายทะเลและเกาะต่างๆ เป็นถิ่นของชนเผ่าตั้น มาจู่จึงน่าจะเป็นชนเผ่านี้

หลักฐานสำคัญอีกก็คือ บันทึกเรื่องการปฏิสังขรณ์ศาลมาจู่ที่เซิ่งตุนของเลี่ยวเผิงเฟย ยุคราชวงศ์ซ่งกล่าวว่า ผู้เผยแพร่ความเชื่อเรื่องมาจู่จากเกาะเหมยโจวไปสู่แผ่นดินใหญ่คือชาวประมง ซึ่งในยุคนั้นส่วนมากเป็นชนเผ่าตั้น ฉวนจู่วั่ง นักประวัติศาสตร์คนสำคัญในยุคราชวงศ์ชิงก็เขียนไว้ในบันทึกเรื่องศาลเทียนเฟยว่า ชนเผ่าตั้นเป็นผู้สร้างและเผยแพร่ความเชื่อเรื่องมาจู่ในยุคแรก

ในเอกสารสมัยราชวงศ์ชิงเรื่องหนึ่ง บันทึกเรื่องการแต่งกายของชาวตั้นไว้ว่า ทั้งชายและหญิงเกล้าผม เสื้อผ้าช่วงบน (เสื้อ) กับช่วงล่าง (ผ้า) คนละสี ปัจจุบันหญิงวัยกลางคนขึ้นไปบนเกาะเหมยโจวก็ยังเกล้าผมเป็นทรงเรือใบไว้บนศีรษะด้านหลัง เทวรูปมาจู่ในศาลบนเกาะส่วนหนึ่งก็ไว้ผมทรงนี้ แสดงว่าคนที่นี่มีเชื้อสายชาวตั้นผสมอยู่

ที่สำคัญในพิธีเซ่นไหว้มาจู่ของที่นี่ ผู้หญิงจะสวมเสื้อแดง กระโปรงสีดำหรือน้ำเงิน เล่าสืบกันมาว่าเลียนแบบชุดแต่งกายของมาจู่ แสดงว่ามาจู่ มีเชื้อสายชาวตั้นจึงแต่งกายชุด “บนล่างคนละสี”

จากหลักฐานที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จึงเป็นไปได้มากว่ามาจู่เป็นชนเผ่าตั้น หรืออย่างน้อยก็มีเชื้อสายชนเผ่าตั้น

เจ้าแม่ทับทิม “มาจู่” ตัวตายกลายเป็นเทพ

ด้วยคุณูปการที่มีต่อผู้คน มาจู่ จึงเป็นดั่งเทพเจ้าในใจคนตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ พอล่วงลับแล้วผู้คนพากันกราบไหว้บูชา มีเรื่องเล่าขานเชิดชูเกียรติมากมายทั้งในแง่ประวัติและอิทธิปาฏิหาริย์

ในแง่ประวัติยกย่องจากลูกชาวบ้านธรรมดาเป็นตระกูลผู้ดีแซ่หลิน (ลิ้ม) สายเก้าข้าหลวง (九牧林) สาแหรกข้าหลวงหก (六牧) หลินยุ่นซึ่งเป็นสาแหรกที่เจริญรุ่งเรืองทรงเกียรติคุณสูงสุด แสดงถึงความเคารพเทิดทูนที่ผู้คนมีต่อมาจู่ นอกจากนี้ยังมีเกร็ดประวัติที่สะท้อนความจริง และในเชิงปาฏิหาริย์ที่แสดงคุณูปการของมาจู่อีกมากมาย บางเรื่องมีรายละเอียดต่างกันไปบ้าง แต่ก็ล้วนแสดงคุณงามความดีและความเคารพที่ผู้คนมีต่อมาจู่ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

เรื่องแรก ถอดจิตช่วยพ่อและพี่ ตำนานเรื่องนี้แพร่หลายมาก มีบันทึกอยู่ในเอกสารยุคราชวงศ์หมิง -ชิง หลายเล่ม รายละเอียดต่างกันเป็นสองอย่าง อย่างหนึ่งว่าพี่ชายสี่คนเรือแตก มาจู่อยู่บ้านถอดจิตไปช่วยรอดกลับมาสามคน ดังรายละเอียดที่เล่าไว้แล้วข้างต้น

อีกอย่างหนึ่งว่าวันหนึ่งมาจู่ทอผ้าอยู่กับแม่ที่บ้าน แล้วฟุบหลับอยู่กับหูก ฝันเห็นพ่อกับพี่ชายอีกสองคนเรือแตก จึงใช้มือคว้าพี่ชายไว้คนละข้าง ปากคาบเสื้อพ่อไว้ แล้วว่ายเข้าฝั่ง แต่แม่เรียกจึงขานรับ พ่อถูกคลื่นซัดหายไป พี่ชายทั้งสองซึ่งรอดตายกลับมาเล่าเรื่องให้ฟังก็ตรงกับความฝันของมาจู่ เพราะตอนฟุบหลับจิตมาจู่ออกจากร่างไปช่วยพ่อและพี่ ตำนานนี้แพร่หลายกว่าตำนานแรก

เรื่องที่สอง ใช้เสื่อเป็นใบเรือ ครั้งหนึ่งคลื่นลมแรง มาจู่จะข้ามทะเล บนฝั่งมีแต่แพ ไม่มีพายและไม่มีใบเรือ มาจู่จึงใช้เสื่อผูกกับเสากระโดงต่างใบเรือแล่นไปได้ ตำนานนี้น่าจะมาจากเค้าเรื่องจริง แสดงถึงความเชี่ยวชาญเรื่องเรือแพของมาจู่ ต่อมาตำนานนี้พัฒนาเป็นเรื่องเชิงปาฏิหาริย์ว่า มาจู่สามารถใช้เสื่อเพียงผืนเดียวข้ามทะเลไปเที่ยวตามเกาะน้อยใหญ่ได้ บางตำนานว่านั่งเสื่อแล่นไปอย่างเรือ บางตำนานว่านั่งเสื่อเหาะไป และยังมีตำนานว่าขี่ม้าเหล็กเหาะไปอีกด้วย

เรื่องต่อไป แก้ปัญหาโรคระบาด ครั้งหนึ่งเมื่อมาจู่ยังมีชีวิตอยู่ อำเภอผู่เถียนเกิดโรคระบาดนายอำเภอมาขอความช่วยเหลือ มาจู่แนะนำให้เอาชางผูเก้าข้อมาต้มน้ำกิน โรคระบาดก็บรรเทาลง ชางผู (菖蒲) เป็นพืชสมุนไพร มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Acorus Calamus ชื่อไทยว่าว่านน้ำหรือกะส้มชื่น ใบยาวเรียวคล้ายกระบี่ ในตำราสมุนไพรจีนจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สุ่ยเจี้ยน (水剑) กระบี่น้ำ” รากและก้านมีน้ำมันหอมช่วยให้สดชื่นและฆ่าเชื้อโรคได้ดี

ตำนานนี้น่าจะมาจากเรื่องจริง แสดงว่ามาจู่มีความรู้ทางการแพทย์แผนจีนดี หลังจากมาจู่ล่วงลับไปแล้ว ปี พ.ศ. 1710 รัชกาลพระเจ้าซ่งเซี้ยวจง เมืองซิงฮว่า (อำเภอผู่เถียนและเซียนอิ๋ว) ฝนแล้งเกิดโรคระบาด ผู้คนเห็นว่า ยามมีชีวิตอยู่มาจู่เป็นหมอเทวดา จึงพากันไปเซ่นไหว้ขอให้ช่วยขจัดปัดเป่า

คืนนั้นทุกคนฝันเหมือนกันว่า มาจู่มาบอกว่าห่างจากข้างศาลด้านตะวันออกหนึ่งจั้ง (3.12 เมตร) มีตาน้ำ ให้ขุดบ่อ เอาน้ำมาดื่มกินช่วยรักษาโรคได้ เมื่อไปขุดก็เจอตาน้ำ ช่วยรักษาโรคได้จริงดังฝัน แสดงว่าเป็นตาน้ำแร่ มีแร่ธาตุที่ช่วยฆ่าเชื้อโรคได้

อีกเรื่องหนึ่งคือช่วยปราบโจรสลัด ตำนานประเภทนี้มีมาก เพราะโจรสลัดเป็นของคู่กับทะเลมาจู่เป็นเทวีผู้คุ้มภัยในทะเล จึงช่วยปราบโจรสลัดด้วย

นอกจากนี้ยังมีตำนานเกี่ยวกับมาจู่เรื่องอื่นอีกมาก แรกทีเดียวมาจู่เป็นเทพผู้คุ้มภัยทางทะเล ช่วยให้การเดินเรือราบรื่น ช่วยปราบโจรสลัด เนื่องจากทะเลเกี่ยวข้องกับน้ำและคลื่นลม มาจู่จึงกลายเป็นเทพฝนและน้ำ ช่วยขจัดภัยแล้งและอุทกภัยไปด้วย

การปราบโจรสลัดเกี่ยวข้องกับการรบ มาจู่จึงเป็นเทพแห่งการรบขจัดพาลพิทักษ์ธรรมอีกหน้าที่หนึ่ง เมื่อมีชีวิตอยู่มาจู่เชี่ยวชาญการแพทย์ ล่วงลับแล้วจึงเป็นเทพด้านนี้ด้วย ที่แปลกมากก็คือมาจู่ไม่ได้แต่งงานมีลูก แต่กลับเป็นเทพผู้ประทานบุตรที่คนนับถือมาก แสดงถึงศรัทธาที่ผู้คนมีต่อมาจู่อย่างสูง จนกลายเป็นเทพผู้มีฤทธานุภาพหลายด้านดังกล่าวมาแล้ว…

ศาลมาจู่ที่เป่ย์กาง เมืองหยินหลิน ไต้หวัน เนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มาร่วมงานเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดของมาจู่ เมื่อปี 2009 (ภาพจาก Ketchupheinz /wikipedia.org)

เทพผู้สนองความต้องการของสังคม

ความเชื่อเรื่อง มาจู่ พัฒนาไปตามภาวการณ์ของสังคมมนุษย์ เดิมทีมาจู่เป็นเทพของชาวประมงและคนเดินเรือ คุ้มครองภัยจากคลื่นลมเป็นสำคัญ ตำนานในยุคแรกส่วนมากเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ต่อมามีเรื่องช่วยปราบโจรสลัดเพิ่มเข้ามา ถึงราชวงศ์ซ่งใต้มีภัยจากแคว้นจินที่เข้ามารุกรานจีน มาจู่เป็นที่พึ่งทางใจ

ในการต่อสู้ศัตรูต่างชาติ เกิดมีตำนานมาจู่ช่วยทัพเรือซ่งรบชนะทัพจีน ในสมัยราชวงศ์หมิงโจรสลัดชุกชุมมีโจรสลัดจากญี่ปุ่นมาปล้นสะดมผู้คนแถบชายทะเลของจีนมาก มาจู่เป็นกำลังใจสำคัญให้คนจีนต่อสู้โจรสลัดเหล่านี้

มีตำนานเรื่องมาจู่ช่วยปราบโจรสลัดเกิดขึ้นในยุคนี้มาก เช่น ตำนานหนึ่งว่า ปีรัชศกหย่งเล่อ 8 (พ.ศ. 1963) โจรสลัดญี่ปุ่นปล้นสะดมชายทะเลแถบมณฑลเจ้อเจียง-ฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) ทัพเรือจีนออกรบขับไล่ ทีแรกเสียเปรียบถูกล้อม แต่บัดดลเกิดคลื่นลมทำให้เรือโจรสลัดระส่ำระสาย แม่ทัพจีนจึงประกาศว่า “นี่คือเจตนาขององค์เทพมาจู่” ทำให้ทหารจีนฮึกเหิม ปราบโจรสลัดได้ในที่สุด

ตำนานสำคัญที่แสดงว่าความเชื่อเรื่องมาจู่ พัฒนาการไปตามภาวการณ์ของสังคมมนุษย์ คือตำนานเรื่องมาจู่ช่วยเจิ้งเฉิงกง รบชิงไต้หวันจากฮอลันดา และตำนานเรื่องมาจู่ช่วยทัพราชวงศ์ชิงรบยึดครองไต้หวัน

เมื่อราชวงศ์ชิงของชาวแมนจูโค่นราชวงศ์หมิงได้ คนจีนต่อต้านศัตรูต่างเผ่าพันธุ์ ชูอุดมการณ์ “โค่นชิงฟื้นหมิง” เจิ้งเฉิงกงยึดไต้หวันเป็นฐานต้านแมนจู จึงมีตำนานมาจู่ช่วยเจิ้งเฉิงกง รบฮอลันดา ต่อมาในรัชกาลคังซีมีพระปรีชาสามารถรบรวมประเทศได้หมด บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขเป็นยุคทองยุคหนึ่งของจีน จึงมีตำนานเรื่องมาจู่ช่วยทัพแมนจูรบชิงไต้หวันจากลูกหลานเจิ้งเฉิงกงซึ่งเป็นคนจีน

ทั้งยังมีตำนานอธิบายเหตุผลในเรื่องนี้อีกว่า คืนหนึ่งจักรพรรดิคังซี (ชิงเซิ่งจู่) ฝันว่า เสด็จประพาสทางทะเล มาจู่เหาะลงมาเฝ้าถวายพระพรที่รวมประเทศได้ทั้งหมดตลอดถึงไต้หวัน คังซีตรัสถามมาจู่ว่า “เมื่อพระองค์ช่วยเจิ้งเฉิงกงรบชิงไต้หวันจากฮอลันดานั้นพอเข้าใจได้ แต่แล้วไยจึงช่วยทัพชิงของหม่อมฉันชิงไต้หวันจากลูกหลานของเจิ้งเฉิงกง”

มาจู่ทูลตอบว่า “ภาวการณ์ครั้งนั้นกับครั้งนี้ต่างกัน ครั้งนั้นไต้หวันตกอยู่ในมือคนต่างชาติ หม่อมฉันต้องช่วยชิงกลับมาเป็นของจีนก่อน แต่บัดนี้พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถ ปกครองแผ่นดินโดยธรรมบ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ทำหน้าที่โอรสสวรรค์ปกครองใต้ฟ้าแทนสวรรค์ได้อย่างสมบูรณ์ หม่อมฉันจึงไม่อาจปล่อยให้จีนแยกเป็นสอง ต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวไปตลอดกาลตามเจตนารมณ์ของสวรรค์”

เรื่องดังกล่าวนี้แสดงชัดว่าความเชื่อเรื่องมาจู่มีพัฒนาการไปตามภาวการณ์ของสังคมจีนในแต่ละยุค ความเชื่อเรื่องเทวดาเป็นวัฒนธรรมทางจิตใจอย่างหนึ่ง ที่ชนชั้นปกครองของจีนใช้โน้มน้าวกล่อมเกลาจิตใจคน คังซีก็ใช้ความเชื่อเรื่องนี้เป็นเครื่องมือ

เมื่อผนวกไต้หวันได้ก็ใช้ความเชื่อเรื่องมาจู่ช่วยสร้างการยอมรับของประชาชนต่อราชวงศ์ชิง โดยสถาปนาเลื่อนมาจู่เป็น “เทียนโฮ่ว (ราชินีแห่งสรวงสวรรค์)” และกำหนดให้พิธีบวงสรวงมาจู่เป็นพระราชพิธี ต่อมาก็เกิดตำนานเรื่องมาจู่ช่วยราชวงศ์ชิงรบยึดครองไต้หวัน เพื่อรวมจีนให้เป็นหนึ่งเดียวตามเจตนารมณ์ของสวรรค์

ปัจจุบันจีนก็ยังใช้ความเชื่อเรื่องนี้โน้มน้าวจิตใจชาวไต้หวัน ซึ่งมาจู่เป็นที่เคารพแพร่หลายสูงสุดองค์หนึ่ง ย้ำเน้นตำนานที่มาจู่ทูลคังซีว่า จะไม่ยอมให้จีนแยกเป็นสอง ต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวตลอดไปตามเจตนารมณ์ของสวรรค์ จีนเก่งเรื่องนำอดีตมารับใช้ปัจจุบันมาก

การแพร่กระจายของความเชื่อเรื่องมาจู่

เดิมความเชื่อเรื่องมาจู่เป็นความเชื่อท้องถิ่นของอำเภอผู่เถียน ศูนย์กลางอยู่ที่เกาะเหมยโจว ต่อมาแพร่ไปทั่วจีนตลอดจนถิ่นจีนโพ้นทะเลทั่วโลก หม่าซูเถียนเขียนไว้ในหนังสือภาพประวัติมาจู่ (全像妈祖) ว่า กว่า 30 ประเทศ อาจกล่าวได้ว่า เป็นลัทธิความเชื่อหนึ่ง ขอเรียกว่าลัทธิมาจู่

มาจู่ในจีน

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องมาจู่มีความเห็นว่าลัทธินี้มีรากเหง้ามาจากลัทธินับถือ “ออมดออท้าว” ของถิ่นฮกเกี้ยนและปริมณฑล ต่อมารับเรื่องเทพท้องถิ่นองค์อื่นเข้ามาเชื่อมโยงกับมาจู่ เช่น เรื่องเชียนหลีเอี่ยน (ตาพันลี้) ซุ่นเฟิงเอ่อร์ (หูตามลม)

เมื่อแพร่หลายออกไป ได้ซึมซับความเชื่อในลัทธิเต๋าและพุทธศาสนาเข้ามาผสมผสาน เช่น มาจู่กลับคืนสู่สวรรค์แล้วเป็นบริวารสำคัญของซีหวางหมู่ เทพนารีสูงสุดของลัทธิเต๋า มาจู่เป็นนิรมาณกายปางหนึ่งของพระกวนอิมโพธิสัตว์ ทำให้ความเชื่อเรื่องมาจู่เป็น “แหล่งรวมความเชื่อพื้นบ้านของจีน” แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง

พอมาจู่ถึงแก่กรรมเมื่อปีรัชศกยงซี 4 (พ.ศ. 1530) ผู้คนได้ร่วมกันสร้างศาลบูชาไว้ที่เกาะเหมยโจว บ้านเดิมของท่าน เป็นศาลแห่งแรกที่ยังคงอยู่สืบมาจนปัจจุบัน ถือเป็นประธานของศาลมาจู่ทั่วโลก

หลังจากนั้นความเชื่อเรื่องมาจู่ก็แพร่ไปทั่ว อำเภอผู่เถียนก่อนในฐานะเทพผู้คุ้มครองการเดินเรือ แล้วแพร่ต่อไปทั่วมณฑลฮกเกี้ยน เมื่อมาจู่กลายเป็นเทพผู้มีฤทธิ์หลายด้าน ทั้งรักษาโรค ประทานบุตรขจัดภัยแล้งและอุทกภัย ตลอดจนการรบ เป็นที่พึ่งทางใจของผู้คนได้ในสารพัดเรื่อง ความเชื่อเรื่องมาจู่ ก็แพร่ออกไปกว้างขวางและรวดเร็วยิ่งขึ้น ตามเส้นทางการเดินเรือ การค้า และการย้ายถิ่นของคนจีน

จีนชายฝั่งทะเลมณฑลฮกเกี้ยนเป็นนักเดินเรือและค้าขาย ทางเหนือขึ้นไปจนถึงมณฑลซานตง จึงมีศาลมาจู่ที่มณฑลนี้มาตั้งแต่รัชศกซวนเหอ 4 (พ.ศ. 1122) สมัยราชวงศ์หยวน ทางการให้ความสำคัญแก่การขนส่งทางทะเล ใช้ขนสินค้าและข้าวจากภาคใต้ไปภาคเหนือ สมัยราชวงศ์หมิงการเดินเรือและการค้าขยายตัว ผู้คนอพยพย้ายถิ่นมากขึ้น ความเชื่อเรื่องมาจู่จึงแพร่หลายออกไปมากขึ้น

ทางเหนือจากมณฑลฮกเกี้ยนขึ้นไปมณฑลเจ้อเจียง เจียงซู (รวมเมืองเซี่ยงไฮ้) ซานตง เหอเป่ย (รวมเมืองเทียนจิน) และเหลียวหนิง ทางใต้ลงสู่มณฑลกวางตุ้ง ไหหลำ ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน แล้วแพร่เข้าสู่มณฑลตอนในทั้งภาคเหนือและใต้ตั้งแต่มณฑลอานฮุย เจียงซี หูเป่ย หูหนัน กว่างซี และกุ้ยโจว

การเดินเรือเป็นพาหะสำคัญที่แพร่ความเชื่อเรื่องมาจู่ ดังนั้นมีการเดินเรือถึงไหน ก็มีศาลมาจู่ถึงนั่น ศาลมาจู่สำคัญและเก่าแก่จึงมักอยู่ตามชายทะเล ปากอ่าว ท่าเรือ และลำ น้ำ การค้าขายสมัยก่อนก็มักไปทางเรือ ดังนั้นมณฑลตอนในแม้ไม่ติดทะเล จึงมีความเชื่อเรื่องมาจู่ด้วยในมณฑลกวางตุ้ง ไหหลำ และไต้หวัน

การอพยพย้ายถิ่น เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่นำความเชื่อเรื่องมาจู่เข้ามา คนจีนแต้จิ๋ว (ศูนย์กลางอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลกวางตุ้งติดต่อกับมณฑลฮกเกี้ยน) และจีนไหหลำนั้น อพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยน และจากเมืองผู่เถียนมากที่สุด

ความเชื่อเรื่องมาจู่จึงแพร่หลายในหมู่จีนทั้งสองนี้มาก จีนแคะนั้นรับความเชื่อเรื่องมาจู่จากจีนแต้จิ๋วจึงมีศาลมาจู่อยู่ในถิ่นจีนแคะ ด้วยที่ราบตอนในและชายทะเลด้านใต้ของมณฑลกวางตุ้งไปจนถึงฮ่องกงและมาเก๊าเป็นถิ่นของจีนกวางตุ้ง ความเชื่อเรื่องมาจู่ก็รุ่งเรืองแพร่หลายมาก

ฮ่องกงแม้มีประชากรไม่ถึงล้านคนแต่มีศาลมาจู่ถึง 50 กว่าแห่ง ศาลแรกสร้างตั้งแต่รัชศกเสียงฝู 5 พ.ศ. 1555 ห่างจากปีมรณกรรมของมาจู่เพียง 25 ปี ผู้สร้างคือจีนฮกเกี้ยนแซ่หลิน (ลิ้ม) สองคนพี่น้อง ผู้อพยพจากเมืองผู่เถียนมาตั้งรกรากอยู่ฝั่งเกาลูน

มาจู่ในไต้หวัน

ความเชื่อเรื่องมาจู่แพร่หลายในไต้หวัน เพราะการอพยพเข้ามาของคนจีนเป็นสำคัญ คนจีนอพยพเข้าไต้หวันมากตั้งแต่ราชวงศ์หมิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคปลายหมิง-ต้นชิง แบ่งได้เป็น 3 ช่วง ช่วงแรก รัชศกเทียนฉี่ พ.ศ. 1621-1627 ฮกเกี้ยนฝนแล้งราษฎรเมืองฉวนโจวและจางโจวอพยพเข้าไต้หวันมาก

ขณะนั้นไต้หวันยังเป็นของฮอลันดา ช่วงที่สอง เมื่อเจิ้งเฉิงกงชิงไต้หวันจากฮอลันดาได้ในปี พ.ศ. 2204 แล้ว ได้ชักชวนคนจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไต้หวัน และยังมีคนฮกเกี้ยนที่ยากจนอพยพตามมาอีกมาก ช่วงที่สาม หลังจากราชวงศ์ชิงยึดไต้หวันได้ในปี พ.ศ. 2226 ได้ย้ายคนจีนเข้ามาอยู่ในไต้หวันมาก ในยุคราชวงศ์ชิงคนจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไต้หวันตลอดมา

คนจีนในไต้หวันส่วนมากเป็นจีนฮกเกี้ยน รองลงไปคือจีนแคะและจีนแต้จิ๋ว จากการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2470 คนจีนในไต้หวันเป็นจีนฮกเกี้ยนจากเมืองฉวนโจว 45% จางโจว 35% จีนแคะจากเมืองเจียอิ้งโจว (เหมยโจวในปัจจุบัน) 8% ฮุ่ยโจว (แคะปนกวางตุ้ง) 4% จีนแต้จิ๋ว 3.6% จีนเหล่านี้ล้วนนับถือมาจู่ จึงนำมาความเชื่อนี้ติดเข้ามาด้วย

นอกจากนี้ในไต้หวันแซ่หลิน (ลิ้ม) เป็นแซ่ใหญ่อันดับสอง มีประชากรคิดเป็น 8% ของประชากรทั้งหมด ปูมประวัติของคนแซ่หลิน (ลิ้ม) เหล่านี้ส่วนมากกล่าวว่าพวกตนเป็นแซ่หลิน (ลิ้ม) สาขา 9 ข้าหลวง สาแหรก 6 เช่นเดียวกับมาจู่ คนแซ่หลิน(ลิ้ม) ในไต้หวันนับถือมาจู่ทั้งในฐานะเทพและบรรพชนของตน

อนึ่งราชวงศ์ชิงยังใช้ความเชื่อเรื่องมาจู่โน้มน้าวใจคนให้ยอมรับอำนาจของตนอีกด้วย ดังมีตำนานเรื่องมาจู่ช่วยทัพราชวงศ์ชิงรบชิงไต้หวันหลายเรื่อง ทางการจึงสนับสนุนความเชื่อเรื่องมาจู่และการสร้างศาลมาจู่มาก

สรุปสาเหตุที่ความเชื่อเรื่องมาจู่แพร่หลาย

เหตุที่ความเชื่อเรื่องมาจู่แพร่หลายมาก เกิดจากศรัทธาของประชาชนและการสนับสนุนของทางราชการเป็นสำคัญ เมื่อมีชีวิตอยู่มาจู่มีความรู้พิเศษที่คนทั่วไปไม่มี และใช้ความรู้นั้นช่วยเหลือผู้คนด้วยความเสียสละ จึงเป็นที่เคารพรักของคนทั้งหลายมาก พอล่วงลับไปก็อาลัยรัก รำลึกถึงคุณงามความดี สร้างศาลไว้กราบไหว้บูชา เป็นที่พึ่งทางใจ

ในยุคที่วิทยาการยังไม่เจริญก้าวหน้า การเดินเรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทะเลมีความเสี่ยงสูง อันตรายรอบด้านทั้งจากคลื่นลม สัตว์ร้าย และโจรสลัด มาจู่จึงกลายเป็นเทพนารีผู้คุ้มครองการเดินเรือ ต่อมาคนเชื่อว่าช่วยขจัดทุกข์ภัยอื่นได้อีกด้วย จึงเป็นที่พึ่งทางใจ ผู้คนเคารพกราบไหว้แพร่หลายยิ่งขึ้นตลอดมา

ในสังคมจีนนั้น ลัทธิความเชื่อใดไม่ขัดแย้งกับอำนาจรัฐและความมั่นคงของประเทศชาติ เป็นประโยชน์ต่อการเมืองการปกครอง ย่อมได้รับการสนับสนุนจากทางการ

หากขัดแย้งหรือเป็นภัยต่อรัฐมีผลเสียต่อสังคม ก็จะถูกควบคุมหรือปราบปราม ดังตัวอย่างการควบคุมพุทธศาสนาในบางยุคของจีน การปราบลัทธิฝ่าหลุนกงเมื่อไม่นานมานี้ แต่ความเชื่อเรื่องมาจู่มีคุณูปการต่อสังคม ทางการจึงสนับสนุน และใช้ประโยชน์ในการสร้างศรัทธาของประชาชนต่อราชวงศ์ ยอมรับอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคราชวงศ์ชิง ดังสะท้อนอยู่ในตำนานหลายเรื่อง และการสถาปนาจากฮ่องเต้ให้มาจู่มีฐานะเป็นเทพ เลื่อนยศศักดิ์สูงขึ้นตลอดมาจนถึงเทียนโฮ่ว (ราชินีแห่งสรวงสวรรค์) และเทียนซ่างเซิ่งหมู่ (พระแม่เจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์บนสวรรค์) แต่ผู้คนนิยมเรียกว่ามาจู่ (พระแม่ย่า) ด้วยความรู้สึกเคารพรักสนิทสนมดั่งบรรพชนของตนตลอดมาจนปัจจุบัน

ความเชื่อเรื่องมาจู่จึงแพร่หลายมากในจีน ตั้งแต่ราชวงศ์ซ่งเป็นต้นมา แล้วแพร่กระจายออกไปในถิ่นจีนโพ้นทะเลทั่วโลก 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ :

  1. ภาษาจีนส่วนมากที่ใช้เป็นสำเนียงจีนกลาง ในบทความนี้ในบางที่ได้เขียนสำเนียงจีนแต้จิ๋วด้วยซึ่งเป็นที่คุ้นเคยกันส่วนมาก โดยใช้อักษร “ต.” สำเนียงฮกเกี้ยน ใช้ “ฮก.” กำกับไว้ ส่วนชื่อสถานที่ บุคคล ถือตามหลักทั่วไป กล่าวคือถ้าคุ้นเคยกันตามเสียงจีนอื่นๆอยู่แล้ว ก็คงไว้ตามนั้น เช่น “เง็กเซียงฮ่องเต้” แทนที่จะเป็น “อวี้หวงซ่างตี่” ตามสำเนียงจีนกลาง

2. จัดย่อหน้า เว้นวรรค และเน้นคำ โดย กอง บก. ออนไลน์

(เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากบทความ “เจ้าแม่ทับทิม – แม่ย่านางจากจีนสู่ไทย” เขียนโดย ถาวร สิกขโกศล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2561)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2562