ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2551 |
---|---|
ผู้เขียน | ไมเคิล ไรท |
เผยแพร่ |
ความนำ
คนเราโดยทั่วไปมักมองว่าวัฒนธรรมใหญ่ๆ (เช่นจีนและอินเดีย) เป็นคนละเรื่องต่างหากไม่สัมพันธ์กัน ว่าโดยอุปมาวัฒนธรรมจีนเป็นต้นสน (หรือต้นหลิว) ขณะที่วัฒนธรรมอินเดียเป็นต้นทราย (หรือต้นชมพู่) จะประสานกันได้อย่างไร?
ทรรศนะดังกล่าวมองข้ามประวัติศาสตร์ที่พระธรรมาจารย์จีนได้แปลพระคัมภีร์ในพุทธศาสนาเป็นจีนอย่างซื่อสัตย์สุจริตถี่ถ้วนจนคัมภีร์บางฉบับที่สาบสูญไปจากอินเดียสามารถแปลกลับเป็นภาษาสันสกฤตจากฉบับภาษาจีน
นอกจากนี้หลวงจีนแต่งกายอย่างจีน ดูไม่คล้ายอินเดีย
แต่ที่จริงฝ่ายจีนได้รักษาสืบทอดทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีโดยอาศัยภิกษุ-ภิกษุณีจีนมาประกอบสังฆกรรมพร้อมกับสงฆ์ฝ่ายเถรวาท
ในบทความนี้ ผมขอมองข้ามพุทธศาสนา (เพราะมีคนเขียนมากต่อมากอยู่แล้ว) แล้วหันมาพิจารณาศาสนา “ผีเทวดา” ที่ใครๆ มักมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมแบบ “ฮินดู” ที่ชาวจีนตามชายฝั่งทะเลใต้ (หนันยาง) มักนำมาใช้โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม
ที่ผมสนใจคือพฤติกรรมทางศาสนาของชาวจีน (หรือชาวไทยเชื้อสายจีน) ที่แหวกแนวพฤติกรรมจีนโดยทั่วไป เช่น เทศกาลกินเจที่เกาะภูเก็ต (และที่อื่นๆ) ที่มีการทรมานตนแทงแก้มลุยเพลิง พฤติกรรมแบบนี้อังกฤษเรียกว่า Ecstatic Behaviour ซึ่งผมยังหาคำไทยที่เหมาะสมไม่พบ (ขอเรียกว่า “โลดโผน” หรือ “นอกแนว” ไว้ก่อน)
ประเด็นของผมคือ ว่าโดยทั่วไปชาวจีนมีพฤติกรรมแบบ Ordered Behaviour ที่ “สำรวม” หรือ “อยู่ในกรอบ” เช่น มีการโค้งคำนับ ไม่มีการ “ลืมตัว” (Ecstasy)
ในทางตรงกันข้าม Ecstatic Behaviour เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปในศาสนาฮินดูระดับชาวบ้านอินเดียใต้ หลักฐานเห็นได้ง่ายในงานเทศกาล Thai Pusam (บูชาเจ้ามุรุกันหรือพระขันธกุมาร) ในประเทศมลายู
ทั้งนี้ชวนให้สงสัยว่า เทศกาลกินเจที่เกาะภูเก็ตเป็นวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมแท้? หรือได้รับอิทธิพลจากฮินดูสายทมิฬ?
อนึ่ง การกินเจ ดูผิดวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมที่ย่อมไหว้เจ้าด้วยหมูและเป็ดไก่ต้มหรือย่างส่งกลิ่นหอม ที่จีนกินเจอย่างเคร่งครัดก็มักจะเนื่องในพุทธศาสนาที่รับมาจากอินเดีย ดังนี้ถือเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งได้ไหมว่า เทศกาลกินเจที่ภูเก็ตอาจจะได้รับอิทธิพลฮินดู (เพราะเขาไม่อ้างพุทธ)?
(อนึ่งศาสนสถานสถาปัตยกรรมฮินดูเคยมีมาแล้วตามเมืองท่าชายฝั่งจีนใต้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 ดังปรากฏในบทความ “วัดฮินดูที่หายไป ณ เมืองฉวนโจว” โดย คุณวิภา จิรภาไพศาล
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 11 พระเจ้ากรุงศรีวิชัย (ที่ต่อมาครองราชย์ในอินเดียใต้) เคยส่งราชทรัพย์ไปบูรณะและอุปถัมภ์ศาลเจ้า (ร้าง) ในศาสนาเต๋าที่เมืองกวางตุ้ง (ดู Tan Yeok Seong. The Sri Vijayan Inscription of Canton (A.D. 1079), Journal of Southeast Asian History, Singapore, 1964.)
แต่ในบทความนี้ ผมขอพิจารณาเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบัน)
การนิยามศัพท์
“ฮินดู” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพระเวท (ศาสนาพราหมณ์) หรือปรัชญารุ่นเวทันตะหรือลัทธิ “ภักติ” (ไศวะหรือไวษณพ) หากหมายถึงกระบวนการเซ่นไหว้บูชาผีเทวดาท้องถิ่นระดับชาวบ้าน (แต่สายศาสนาเหล่านี้แยกออกจากกันโดยเด้ดขาดไม่ได้ เพราะฮินดูมีลักษณะประสมประสานและสืบทอดต่อเนื่อง)
“เต๋า” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงปรัชญาของท่านเหลาจื๊อ หรือศาสนา “ฟ้าดิน” ของหลวง แต่หมายถึงกระบวนการเซ่นไหว้ผีเทวดาท้องถิ่นของชาวบ้าน แต่เพราะการไหว้เจ้าตามโรงเจของชาวบ้านเรียกกันว่า “เต๋า” ผมจึงขอเรียกตาม
พฤติกรรมโลดโผน (Ecstatic Behaviour) หมายถึงการเข้าทรงจนไม่รู้ตัว การเสียบแก้ม แทงเนื้อตัว การร่ายรำจนตัวล้ม การลุยเพลิงและ (ในบางกรณี) การเชือดสัตว์บูชายัญ
พฤติกรรม Ecstatic นี้ปรากฏทั่วไปในศาสนาฮินดูระดับชาวบ้าน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเดียใต้) แต่เท่าที่ผมฟังมาจากนักจีนศึกษา ชาวจีนแผ่นดินใหญ่โดยทั่วไปไม่รู้จักพฤติกรรมดังกล่าวเลย ที่เขาไหว้เจ้านั้น เขาทำด้วยความสำรวมและหากเซ่นด้วยมังสาหารก็ต้องเป็นหมูหมาเป็ดไก่ที่ต้มหรือย่างให้สุกเสียก่อน
ในบทความนี้ผมจึงสนใจเฉพาะพฤติกรรมการไหว้เจ้าของชาวจีนโพ้นทะเล (ในอุษาคเนย์) และที่อาจจะมีบ้างตามเมืองท่าชายฝั่งในภาคใต้ของจีน
ตัวอย่างที่น่าสนใจและเข้าถึงได้ง่ายคือ 1. วัดแขก ถนนสีลม และ 2. ศาลเจ้าแม่ทับทิม เชิงสะพานซังฮี้
วัดแขกถนนสีลม
“วัดแขก” เป็นชื่อชาวบ้านเรียกทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นวัด แต่เป็นศาลเจ้าหรือเทวสถาน และไม่ได้เป็นแขก (มุสลิม) แต่เป็นฮินดูที่ไทยแต่โบราณเรียกว่าเทศหรือพราหมณ์ พ่อค้าชาวทมิฬก่อตั้งศาลแห่งนี้ในรัชกาลที่ 5 เป็นที่สถิตของพระนางอุมา (ชายาพระอิศวร) ปางดุ ที่เรียกกันทั่วไปว่า “พระนางกาลี”
ใครไม่เชื่อให้สังเกตองค์พระประธาน ท่านมีรูปหญิงโฉมงาม พระพักตร์ยิ้มแย้ม แต่ถือเทพาวุธร้ายแรงและที่มุมปากยังมีเขี้ยวเห็นประจักษ์
ทมิฬเรียกพระนางว่า “มาริอัมมัน” แปลตามศัพท์ว่า “เจ้าแม่ห่า” ห่า ในที่นี้หมายถึงภยันตรายทั้งหลาย โดยเฉพาะโรคระบาดและโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคฝีดาษ ดังนี้พระนางศรีมาริอัมมันก็คือเจ้าแม่ฝีดาษ หรือ Smallpox Mother และเป็นที่พึ่งของคนเดือดร้อน เป็นที่คุ้มครองภยันตรายและอำนวยความอุดมสมบูรณ์และความสำเร็จ
ประเด็นที่สำคัญคือ ที่ศาลเจ้าแห่งนี้มีคนศรัทธาเข้าไปบูชาเนืองแน่นทั้งวัน ใช่ว่าผู้มีศรัทธาเหล่านี้เป็นฮินดูทมิฬ แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านไทยเชื้อสายจีนในละแวกนั้นและจากที่ห่างไกลออกไปอีกด้วย ผมไม่มีตัวเลขแต่กะด้วยตาผมว่าราว 98% ของคนที่เดินออกมามีแต้มสีแดงประดับหน้าผาก (พิณฑุ, ดิลก หรือโปฏฏุ) นั้นไม่ใช่ “แขก” ที่ไหน หากเป็นคนไทย (จะเป็นเชื้อสายจีนหรือไม่ก็ตาม)
ดังนี้เราจะแยกวัฒนธรรมออกเป็นห้องๆ ตามเชื้อชาติได้หรือ?
ศาลเจ้าแม่ทับทิม
ศาลแห่งนี้เป็นที่ชาวจีนไหหลำก่อตั้ง มีลักษณะทางวัฒนธรรมเป็น “จีน” ล้วนๆ ที่ผมสนใจคือชื่อ “เจ้าแม่ทับทิม” ทั้งนี้เพราะคำทับทิม (เมล็ดผลไม้หรือเม็ดอัญมณี) มักใช้เป็นศัพท์หลีก (Euphemism) หมายถึงฝีดาษ ซึ่งในหลายภาษาเป็นศัพท์ต้องห้าม (Taboo Word)
เป็นไปได้ไหมว่า เจ้าแม่ทับทิม เชิงสะพานซังฮี้ เป็นเจ้าแม่ฝีดาษ (Smallpox Mother) อีกพระองค์หนึ่ง?
ผมไม่เคยเข้าไปศึกษาศาลเจ้าแห่งนี้ แต่ได้ยินแว่วๆ ว่าท่านได้รับการเซ่นบูชาด้วยตัวแพะ (จะเป็นแพะย่างหรือเชือดแพะเป็นๆ ไม่เป็นที่แจ้ง) อย่างไรก็ตามตัวแพะไม่ได้เป็นเครื่องเซ่น “ปกติ” ในวัฒนธรรมจีนโดยทั่วไป แต่ทำให้นึกถึงการบูชาเจ้าแม่กาลีด้วยเลือดแพะในเนปาลและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
เป็นไปได้ไหมว่าชาวจีนไหหลำได้รับอิทธิพล “ฮินดู” ขนานนี้โดยไม่รู้ตัว?
บทสรุป
ถ้าศึกษาวัฒนธรรมใหญ่ๆ ของโลกอย่างผิวเผินก็จะได้ภาพว่า แต่ละวัฒนธรรมโดดเดี่ยวคล้ายอยู่คนละโลก :- นี่คือ “จีน” นั่นคือ “อินเดีย” นี่คือ “ไทย” นั่นคือ “ฝรั่ง” แต่ถ้าศึกษารายละเอียด (ดังที่ผมพยายามทำในบทความนี้) ก็ย่อมเห็นว่ามี “ความเป็นมนุษย์” รองรับทุกวัฒนธรรมเสมอกัน (ทุกชาติทุกภาษาอยากอยู่ดี อยากหลีกภยันตราย และกลัวความตาย)
ดังนี้แต่ละวัฒนธรรมไม่ได้เป็น “องค์” เฉพาะของมัน หากเป็นเพียงภาคหนึ่งของวัฒนธรรมมนุษย์และสามารถ “รั่วไหล” ประสมประสานกับภาคอื่นๆ ได้โดยไม่ขัดแย้งกัน
ในบทความนี้ กรณีวัดแขกสีลมเป็นพยานว่า ไม่มีรั้วกั้นระหว่างวัฒนธรรม “ทมิฬ”, “ไทย” หรือ “จีน” กรณีงานกินเจที่ภูเก็ตและกรณีศาลเจ้าแม่ทับทิมยังเป็นปริศนาเพราะไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอ และผมได้เพียงสันนิษฐานตามตาเห็นและหูฟัง
ความส่งท้าย
การศึกษาแนวนี้มีคนให้ความสนใจน้อยมาก เพราะสถาบันต่างๆ มักให้ความสำคัญกับการศึกษาแนวชาตินิยม (Nationalist Studies) แทนแนวมนุษยนิยม (Humanist Studies) ผมขอชวนคนรุ่นใหม่หันมาศึกษาแนวหลังนี้บ้าง เพราะเป็นการสร้างสรรค์ คือช่วยให้คนชาติต่างๆ หันมารู้จักกัน เข้าใจกัน แทนที่จะเพ้อฝันว่า “ชาติเรานี้โดดเดี่ยว เป็นเลิศ ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน”
คลิกอ่านเพิ่มเติม : “วรรณะ” ของคนรับใช้ชาวอินเดีย สิ่งที่ชาวอังกฤษเจ้าอาณานิคมต้องยอม
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2564