นอกจากจอมโจร ณัฐฐาวาลา บริษัทอินเดียตะวันออกก็เคยคิดจะขาย ต๊าชมาฮัล (Taj Mahal) ?

ทัชมาฮาล ถ่ายเมื่อ 11 มีนาคม ค.ศ. 2018 (Photo by Ludovic MARIN / AFP)

ณัฐฐาวาลา นักต้มตุ๋นในตำนานของอินเดีย

หาก แฟรงค์ วิลเลี่ยม อแบกเนล จูเนียร์ (Frank William Abagnale Jr.) คือสุดยอดนักต้มตุ๋นชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลอมแปลงเอกสาร ลายเซ็น เช็คเงินสด รวมถึงการปลอมตัว ที่หาตัวจับได้ยากคนหนึ่งของโลก ถึงขนาดที่ฮอลลีวูด (Hollywood) ได้นำอัตชีวประวัติของอแบกเนล ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง Catch me if you can 

ในกรณีของอินเดียก็มีเรื่องราวของสุดยอดนักต้มตุ๋นคนหนึ่งที่มีความสามารถรวมถึงการก่อคดีต่าง ๆ นับร้อยคดีที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับอแบกเนล จนติดอันดับเป็นอาชญากรผู้หนึ่งที่ตำรวจอินเดียต้องการตัวมากที่สุด เขาผู้นั้นคือ มิทริเลศ กุมาร ศรีวาสตวา (Mithilesh Kumar Srivastava) แต่ประชาชนและตำรวจอินเดียจะคุ้นกับเขาผู้นี้ในชื่อ ณัฐฐาวาลา (Natwarlal) และความคล้ายคลึงของเขากับอแบกเนล อีกประการก็คือมีการดัดแปลงเอาอัตชีวประวัติส่วนหนึ่งของ ณัฐฐาวาลา มาใช้เพื่อสร้างเป็นภาพยนตน์อินเดียแล้วถึง 2 เวอร์ชั่นด้วยกัน

หากไม่นับคดีการปลอมลายเซ็นเช็คเพื่อยักยอกเงินจากบัญชีของผู้อื่น ณัฐฐาวาลา ยังมีความช่ำชองในเรื่องการปลอมตัวเพื่อต้มตุ๋นผู้คนในสังคมจนเกิดคดีใหญ่ ๆ มากมาย เช่นการปลอมตัวเป็นนักสังคมสงเคราะห์เพื่อระดมเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้จนประสบความสำเร็จในการเรียกร้องเงินบริจาคจากมหาเศรษฐีของอินเดียอย่าง ธีรุภัย อัมบานี (Dhirubhai Ambani) ผู้ก่อตั้งกลุ่มรีไลแอนซ์ อินดัสตรี (Reliance Industries) ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นกลุ่มทุนอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี และโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของอินเดีย และผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มทาทา (Tata Group)

แต่เรื่องราวที่โจษจันที่สุดของณัฐฐาวาลาก็คือการหลอกขาย ต๊าชมาฮัล (Taj Mahal) อนุสรณ์แห่งความรักอันเรื่องชื่อของอินเดียให้กับนักท่องเที่ยวและเศรษฐีต่างชาติ ด้วยกลวิธีที่แยบยล โดยณัฐฐาวาลาได้แสร้งตนเป็นตัวแทนของรัฐบาลอินเดียที่ทำหน้าที่เจรจาการซื้อขายกับเหยื่อ พร้อมด้วยการสร้างความน่าเชื่อถือเพิ่มเติมด้วยการทำสัญญาการขายพร้อมการลงนามโดย ราเชนทร์ ปราสาท (Rajendra Prasad) ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าเป็นสัญญาการขายและลายเซ็นปลอม

ณัฐฐาวาลาสามารถหว่านล้อมให้เศรษฐีต่างชาติแต่ละรายหลงกลและยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อต๊าซมาฮัลจากเขาได้สำเร็จถึง 3 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้ครั้งใดเลยที่ต๊าชมาฮัลจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของใครนอกจากรัฐบาลของสาธารณรัฐอินเดีย แม้ว่าตำรวจอินเดียจะมีความพยายามตามจับตัวณัฐฐาวาลาอย่างอุตสาหะแค่ใดก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนว่าเขาจะสามารถรอดพ้นจากกฎหมายได้หลายครั้งเนื่องจากความฉลาดในการใช้เงินจำนวนมหาศาลที่ได้ฉ้อโกงจากการหลอกขายต๊าชมาฮัลในการแจกจ่ายให้กับผู้คนเพื่อแลกกับการหลบซ่อนกบดานนั่นเอง

บริษัทอินเดียตะวันออกกับการวางแผนประมูลขายต๊าชมาฮัล

สำหรับกรณีการขายสถาปัตยกรรมยุคกลางซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กรณีของณัฐฐาวาลาน่าจะเป็นกรณีแรกและกรณีเดียวในประวัติศาสตร์อินเดีย แต่หากย้อนเวลากลับไปในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 19 ในยุคสมัยที่อินเดียยังคงเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ผู้คนบางส่วนโดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้คลุกคลีหรือให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์อาณานิคมอินเดีย อาจจะคาดไม่ถึงเลยว่าครั้งหนึ่งบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ของอังกฤษจะเคยมีความพยายามในการขายต๊าชมาฮัล โดยทุบทำลายและนำหินอ่อนสีขาวดุจงาช้างมาประมูลขายทอดตลาด

เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า แม้ว่ารัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษจะทิ้งมรดกที่เลวร้ายไว้ให้กับอินเดียจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ซับซ้อนและยากเกินจะแก้ไขในสังคมอินเดียร่วมสมัยหลายประการยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของความเป็นปฎิปักษ์กันระหว่างชุมชนฮินดูกับชุมชนมุสลิม (Communalism) ก็ตาม แต่คุณูปการสำคัญในเชิงบวกประการหนึ่งของรัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษก็คือการวางรากฐานด้านโบราณคดีให้กับอินเดีย โดยเฉพาะเมื่อ อเล็กซ์ซานเดอร์ คันนิ่งแฮม (Alexander Cunningham) บิดาแห่งโบราณคดีอินเดีย ได้ก่อตั้งกองสำรวจโบราณคดีอินเดีย (Archaeological Survey of India- ASI) ใน ค.ศ.1861  อันมีผลโดยตรงที่ทำให้โบราณสถานสำคัญของอินเดียได้รับการขุดแต่งบูรณะตามหลักวิชาการและถูกขึ้นทะเบียนเป็นสาธารณะสมบัติ

การใช้ยกพื้นไม้ไผ่เพื่ออำพรางต๊าชมาฮัลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Taj_Mahal)

ซึ่งต๊าชมาฮัลเอง ก็เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่บรรดานักโบราณคดีอังกฤษต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคืออัญมณีล้ำค่าของบริติชราจ (British Raj) แม้แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นช่วงรัฐบาลอังกฤษมีการตัดรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นในอินเดียเพื่อทำสงครามกับนาซีเยอรมนีและป้องกันอินเดียจากกองทัพญี่ปุ่น รัฐบาลอังกษกลับมีการอนุมัติงบประมาณฉุกเฉินสำหรับการป้องกันต๊าชมาฮัลให้รอดพ้นจากภัยที่อาจจะเกิดขึ้นหากอินเดียถูกโจมตีทางอากาศโดยการสร้างโครงยกพื้นที่ทำจากไม้ไผ่เพื่อใช้ในการอำพรางต๊าชมาฮัลให้รอดจากการถูกตรวจตราจากเครื่องบินรบของข้าศึก ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าจะจินตนาการได้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะเคยมีแผนการที่จะทุบต๊าชมาฮังเพื่อนำหินอ่อนไปขายได้อย่างไร

การวางแผนทุบทำลายต๊าชมาฮัลโดยอังกฤษ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อราว ค.ศ. 1830 ผู้ที่เป็นตัวต้นคิดของแผนการณ์นี้คือ ลอร์ด วิลเลี่ยม เบนติงก์ (Lord William Bentinck) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดีย (Governor General of British India) หลังจากรับตำแหน่ง ลอร์ด เบนติงก์ ได้รับความคาดหวังอย่างมากจากสภาล่างอังกฤษ (House of Commons) ในการเข้ามากอบกู้สถานะทางการเงินของบริษัทอินเดียตะวันออกที่กำลังซบเซาจากการทำสงครามเพื่อขยายอิทธิพลในอินเดียมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสงครามกับพวกมราฐา (Maratha) ในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 19 หรือแม้แต่สงครามขยายดินแดนในพม่า ด้วยพันธะผูกพันเช่นนี้ จึงอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เบนติงก์ มีความคิดที่จะรื้อต๊าชมาฮัล และนำเอาหินอ่อนไปประมูลขายเพื่อนำรายได้เข้าสู่คลังของบริษัทอินเดียตะวันออก

นักวิชาการอังกฤษกับคำค้าน

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์อังกฤษในสมัยต่อมาโดยเฉพาะในศตวรรษที่ 20 กลับมีความเห็นต่อเรื่องราวดังกล่าวว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เซอร์ เพอซิวัล สเปียร์ (Sir Perceval Spear) ได้เขียนบทความตอบโต้โดยใช้ชื่อว่า Bentinck and the Taj ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland เมื่อ ค.ศ.1949 เซอร์ เพอซิวัล ให้ข้อเสนอว่าหลักฐานส่วนใหญ่ที่พูดถึงเรื่องการประมูลขายต๊าชมาฮัลล้วนแต่เป็นหลักฐานที่ไม่ใช่เอกสารราชการของบริษัทอินเดียตะวันออก และทิ้งท้ายว่าเรื่องราวนี้น่าจะถูกแต่งขึ้นโดยศัตรูทางการเมืองของลอร์ด เบนติงก์ ที่ต้องการทำลายชื่อเสียงของเขา 

นอกจากนี้ ยังมีมุมมองที่น่าสนใจอื่นๆจากนักวิชาการอังกฤษสายอาณานิคม ที่มองว่า หาก ลอร์ด เบนติงก์ มีความคิดเช่นนั้นจริงๆก็นับได้ว่าเป็นสิ่งที่ขัดกับบริบทของชนชาติอังกฤษในขณะนั้นที่มองว่าตนเองคือผู้ที่เจริญแล้ว ฉะนั้นเมื่อผู้ที่เปรียบเปรยตนว่าเป็นผู้ที่เจริญกว่าแล้วเข้ามายังดินแดนของกลุ่มคนที่เจริญน้อยกว่าอย่างอินเดีย การทุบทำลายต๊าชมาฮัลน่าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความป่าเถือนของผู้ที่ล้าหลังทางวัฒนธรรมและไร้ความเจริญ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง นั่นหมายความว่า อังกฤษในขณะนั้นอาจจะกำลังกลืนน้ำลายตัวเอง

อีกประการหนึ่งคือภาพลักษณ์ของลอร์ด เบนติงก์ เองที่มักจะถูกสะท้อนอยู่ในงานประวัติศาสตร์นิพนธ์อินเดียส่วนหนึ่งว่า เป็นผู้มีคุณูปการสำคัญกับการวางรากฐานของการปฏิรูปแนวคิดและวัฒนธรรม ธรรมเนียมปฏิบัติของชาวฮินดูให้เป็นแบบมนุษยนิยมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ลอร์ด วิลเลี่ยม เบนติงก์ (Lord William Bentinck) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดีย ค.ศ. 1828 -1835)

นักประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียกับการเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

แม้จะมีผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องราวของประวัติศาสตร์อินเดียส่วนหนึ่งรวมถึงตัวผู้เขียนเองที่มองว่าเกร็ดประวัติศาสตร์เล็ก ๆ เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่สร้างความอึกทึกครึกโครม ให้แก่ผู้ที่ได้รับฟังเป็นครั้งแรก และน่าจะเป็นโจทย์ตั้งต้นสำคัญสำหรับกระบวนการหาคำอธิบายสำหรับการทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์นี้ ในทางตรงกันข้าม เรากลับไม่พบงานวิชาการในหมู่นักวิชาการอินเดียเกี่ยวกับประเด็นนี้มากนัก ข้อน่าสังเกตอีกประการคือ นักต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียก็ไม่ได้ใช้ประเด็นนี้ในการใช้สร้างเป็นวาทกรรมการเมืองเรื่องการขายทรัพย์สาธารณสมบัติของชาวอินเดียในการให้ร้ายรัฐบาลอังกฤษ

จนกระทั่งในช่วง ค.ศ. 2016-2017 กาวิต้า ซิงห์ (Kavita Singh) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย จากมหาวิทยาลัยจาวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru University) ได้เปิดเผยส่วนหนึ่งของงานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ หลังจากที่ท่านได้ทำการศึกษาและเก็บข้อมูลหลักฐานชิ้นใหม่ ๆ จากหอจดหมายเหตุในประเทศอินเดียและอังกฤษ จนค้นพบเรื่องราวเกี่ยวกับการวางแผนในการประมูลขายหินอ่อนจากต๊าชมาฮัลโดยบริษัทอินเดียตะวันออก

กาวิต้า ซิงห์ ได้ทำการตั้งคำถามกับกรณีที่นักประวัติศาสตร์อังกฤษอย่าง เซอร์ เพอซิวัล สเปียร์ ที่ได้เคยปฎิเสธความน่าเชื่อถือของหลักฐานร่วมสมัยในขณะนั้น เนื่องจากเอกสารส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากทางหน่วยงานราชการของบริษัทอินเดียตะวันออกและรัฐบาลบริติชอินเดีย ซึ่งกาวิต้า ซิงห์ กลับตั้งข้อสังเกตที่สำคัญอย่างหนึ่งว่า แม้หลักฐานเหล่านั้นส่วนหนึ่งจะบันทึกส่วนตัวแต่ผู้บันทึกก็คือคนที่งานในรัฐบาลของบริติชอินเดีย

หนึ่งในบันทึกที่กล่าวถึงการประมูลขายต๊าชมาฮัลที่ กาวิต้า ซิงห์ ยกมาก็คือ Journal of my life in India ของ ลอร์ด มาร์คัส เบเรสฟอร์ด (Lord Marcus Beresdord) นายทหารอังกฤษที่เริ่มเข้ามาประจำการที่อินเดียตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1836 จนกระทั่งถึง ค.ศ. 1840 แม้ว่าลอร์ด มาร์คัสจะรับราชการในอินเดียหลังจากที่ ลอร์ด เบนทิงก์ พ้นจากวาระการเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำอินเดียไปแล้วประมาณ 1 ปีเศษ แต่เขากลับบันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวที่ชาวอังกฤษในอินเดียมักจะนิยมสนทนากันในวงสังคมข้าราชการ

ซึ่งเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งกลายเป็นเหตุบังเอิญที่ทำให้กาวิต้า ซิงห์ ได้สืบทราบว่าก่อนหน้าที่ ลอร์ด เบนทิงก์ จะมีแผนการในการประมูลขายต๊าชมาฮัล เขาได้เคยสั่งให้มีการรื้อเสาและซุ้มรูปโค้งของสถาปัตยกรรมแห่งหนึ่งเพื่อนำหินอ่อนไปประมูลขาย สถาปัตยกรรมนี้คือ ชาฮี ฮัมมัม (Shahi Hammam) ตั้งอยู่ในตัวอาคารชั้นในของป้อมปราการแดงหรือเรดฟอร์ด (Red Fort) เมืองอักรา (Agra) ชาฮี ฮัมมัม แปลตรงตัวคือ ที่สรงน้ำของจักรพรรดิ สร้างจากหินอ่อน, ประดับด้วยเสาหินที่สร้างจากหินทรายสีแดง, ซุ้มโค้งหินอ่อน

สันนิษฐานว่าเป็นของจักรพรรดิ ชาห์ จาฮัน (Shah Jahan) ซึ่งการประมูลขายหินอ่อนและก้อนหินทรายเหล่านี้ว่าไม่ได้ทำกำไรให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกแต่อย่างใด ผู้ประมูลส่วนใหญ่มองว่าลักษณะของหินอ่อนและหินทรายสีแดงไม่เหมาะสำหรับการนำมาใช้ก่อสร้างหรือประดับให้เข้ากับสิ่งปลูกสร้างแบบตะวันตกได้ หากจะใช้ประโยชน์คงใช้ได้เพียงแค่เป็นที่ทับกระดาษราคาแพงเท่านั้นเอง

หลักฐานชิ้นต่อมาที่กล่าวถึงการรื้อต๊าชมาฮัลที่ กาวิต้า ซิงห์ ได้ใช้ในการค้นคว้าคือ บันทึกของ เซอร์       วิลเลียม เฮนรี่ ชลีแมน (Sir William Henry Sleeman) นายทหารมือปราบอาชญากรชื่อดังของรัฐบาลบริติชอินเดีย โดยเฉพาะผลงานสำคัญคือการกวาดล้างกลุ่มโจรปล้นลักพาตัว เรียกค่าไถ่ ในตอนกลางของอินเดีย ที่รัฐบาลอังกฤษเรียกว่าพวกทักกี (Thuggee) เช่นเดียวกันกับ ลอร์ด มาร์คัส ตัวชลีแมน เองก็ได้ระบุถึงการรื้ออาคารในบริเวณเรดฟอร์ดอย่างสั้น ๆ ว่า ถ้าพวกวัสดุที่ถูกรื้อสามารถนำไปขายได้ในราคาที่พึงประสงค์ อาจจะต้องมีการรื้อตัวเรดฟอร์ดทั้งหมดรวมถึงต๊าชมาฮัลด้วย

นอกจากนี้ กาวิต้า ซิงห์ ยังได้อาศัยหลักฐานประเภทอื่น ๆ เช่น บันทึกของนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามาในอินเดียช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 19 และพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษที่พิมพ์ในเมืองกัลกาต้า หลักฐานเหล่านี้นอกเหนือจะช่วยตอกย้ำว่าครั้งหนึ่งบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษจะเคยคิดที่จะประมูลขายต๊าชมาฮัลแล้ว ยังให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติมที่ทำให้พวกเราสามารถหาคำอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดโครงการนี้จึงยกเลิกไป

คำตอบก็คือราคาประมูลต่ำเกินกว่ามูลค่าที่ ลอร์ด เบนทิงก์ คาดหวังเอาไว้ หนังสือพิมพ์จอห์ บูล (John Bull) ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1831 ได้ลงรายละเอียดว่า ต๊าชมาฮัลถูกประมูลไปได้แค่ 2 แสนรูปี ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ต่ำเกินไป

กาวิต้า ซิงห์ ได้นำข้อสนเทศในหนังสือพิมพ์ไปเทียบกับเนื้อหาที่ถูกจดบันทึกโดยชาวต่าชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวอินเดียในขณะนั้น อาทิ บันทึกของแฟนนี่ พาร์ค (Fanny Park) ชื่อ Wanderings of a pilgrim in search of Picturesque แล้วพบความสอดคล้องของข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือ มีการประมูลต๊าชมาฮัลกันจริง ๆ ในช่วง ค.ศ. 1831 ซึ่งมีการประมูลกันอย่างน้อย 2 ครั้ง และผู้ที่เสนอราคามากที่สุดกลับไม่ใช่ชาวอังกฤษแต่กลับเป็นเศรษฐีฮินดู นาม เศรษฐ์ ลักษมีจัน (Seth Laxmichand) นายธนาคารผู้มั่งคั่งจากเมืองมาทุรา (Mathura) เศรษฐ์เสนอราคาประมูลครั้งแรกไว้ที่ 2 แสนรูปี และเสนอครั้งที่ 2 ไว้ที่ 7 แสนรูปี แต่ดูเหมือนว่าทางบริษัทอินเดียตะวันออกยังคงไม่พอใจกับราคา จึงอาจจะทำให้โครงการนี้ต้องปิดตัวไปอย่างเงียบ ๆ ในประวัติศาสตร์อินเดียยุคอาณานิคม

เจ้าหญิงไดอานา (Princess Diana of Wales) ประทับฉายพระรูปที่ทัชมาฮาลเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1992 (Photo by DOUGLAS E. CURRAN / AFP)

บทส่งท้าย

แม้งานศึกษาของกาวิต้า ซิงห์ จะยังไม่ได้เผยแพร่หรือตีพิมพ์ออกมาโดยสำนักพิมพ์ใด ๆ ของอินเดีย แต่สิ่งที่ กาวิต้า ซิงห์ มักจะกล่าวถึงเสมอในระหว่างที่เธอเดินสายบรรยายหัวข้อนี้ตามมหาวิทยาลัยทั้งในอังกฤษและอินเดียก็คือ เธอเชื่อว่าหลักฐานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับการประมูลขายต๊าชมาฮัลของบริษัทอินเดียตะวันออกน่าจะซ่อนตัวอยู่ตามหอจดหมายเหตุทั่วอินเดียและในกรุงลอนดอนของอังกฤษ และกำลังรอนักประวัติศาสตร์ผู้สนใจไปทำการค้นหา และกล่าวถึงประเด็นคำถามสำคัญที่เธอกำลังหาคำตอบอยู่ ซึ่งก็คือ มีสาเหตุอื่นที่นอกเหนือจากราคาประมูลที่ต่ำเกินไปหรือไม่ที่ทำให้บริษัทอินเดียตะวันออกยกเลิกการประมูลขายอนุสาวรีย์อันเป็นสัญลักษณ์ของความรักนิรันดรแห่งนี้

ซึ่งข้อสมมติฐานที่เธอได้ตั้งไว้คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่เกิดกระแสต่อต้านการขายประมูลจากทั้งชุมชนชาวตะวันตกในอินเดียและจากชุมชนของชาวอินเดียจนอาจบานปลายจนก่อให้เกิดการประท้วงและอาจทำให้มีผลกระทบต่อเสียรภาพของรัฐบาลบริติชราจในขณะนั้น

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Bandyopadhyay, Sekhar. 2004. From Plassey to Partition: A History of Modern India.  New Delhi: Orient Blackswan.

Chavan, Akshay. 2018. The Plan to sell the Taj. สืบค้นจาก https://www.livehistoryindia.com/snapshort-histories/2018/04/01/the-plan-to-sell-the-taj [8 สิงหาคม 2562]                                                                          

Koch, Ebba. 1982. The Lost Colonnade of Shah Jahan’s Bath in the Red Fort of Agra. The Burlington Magazine. 124, (951). pp. 331-339

Prakash, Om. 2004. Lord William Bentinck and Metcalfe Era of Reforms. New Delhi: Anmol Publications.

Spear, Percival. 1949. Bentinck and the Taj. The Journal of the Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland. 81(3-4). 180-187.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 สิงหาคม 2562