ความเชื่อผีสางเทวดาของคนจีนแต้จิ๋ว เรื่องงมงายหรืออุบายควบคุมจริยธรรม?

สื่อตึ๊ง ศาลบูชาบรรพชนของคนจีนแต้จิ๋ว (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2552)

จีนทุกถิ่นเชื่อเรื่องผีสางเทวดาเหมือน ๆ กัน แต่จีนแต้จิ๋วออกจะมีความเชื่อเรื่องนี้เข้มข้นกว่าจีนอื่นจนถูกมองว่างมงาย สาเหตุที่จีนแต้จิ๋วเชื่อเรื่องนี้มาก เพราะถิ่นแต้จิ๋วมีภัยธรรมชาติรุนแรง ในยุคที่วิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญ หาคำตอบไม่ได้ก็ย่อมอาศัยผีสางเทวดาเป็นที่พึ่งทางใจ และเป็นอุบายควบคุมจริยธรรมของผู้คนด้วย

อนึ่งจีนแต้จิ๋วสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าเย่ว์ (หรือไป่เย่ว์) ยุคโบราณ ซึ่งมีความเชื่อเรื่องสิ่งลึกลับสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อประสบภัยธรรมชาติรุนแรง คนมากที่น้อย แร้นแค้น ต้องออกทะเลไปสู้ชีวิตเอาข้างหน้า ย่อมต้องหาที่พึ่งทางใจคือผีสางเทวดาเป็นที่ยึดเหนี่ยว นอกจากนี้จีนแต้จิ๋วมีความเคารพวีรชนและผู้ทรงพระคุณต่อคนจีนและถิ่นแต้จิ๋ว เช่น ขุนนางที่ดีในอดีตสูงมาก คนเหล่านี้ได้รับการเทิดทูนบูชาในฐานะเทพของถิ่นแต้จิ๋ว

Advertisement
บ้านแบบจีนแต้จิ๋ว (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2552)

ปัจจัยทั้ง 3 ประการ คือ ภัยธรรมชาติ วัฒนธรรม ผีสางของไป่เย่ว์โบราณ และความเคารพผู้ทรงพระคุณในอดีต ทำให้จีนแต้จิ๋วมีความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาสูงเป็นพิเศษ มีการเซ่นไหว้ในโอกาสต่าง ๆ อยู่เสมอ เรียกว่า “ไป๊เหล่าเอี๊ย (拜老爷)” คําว่า “เหล่าเอี๊ย” นี้ปกติหมายถึง เจ้านาย หรือขุนนาง ในที่นี้หมายรวมถึงผีสางเทวดาทั้งหมด “ไป๊เหล่าเอี๊ย” คือ ไหว้ผีสางเทวดา หรือไหว้เจ้า คู่กับ “ไป๊เหล่ากง” คือ ไหว้บรรพชน

ผีสางเทวดาที่จีนแต้จิ๋วนับถือมีมาก อาจจัดเป็นประเภทได้ดังนี้

1. เทพยุคโบราณ สืบทอดมาจากพวกไป่เย่ว์ มีหลายองค์ แพร่หลายที่สุดคือ “เทพมังกรเขียว (青龙神)” เป็นเทพประจำเผ่าพวกหมิ่นเย่ว์ซึ่งบูชาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประจำเผ่า (Totem) ปัจจุบันที่แต้จิ๋วยังมีศาลเทพมังกรเขียวอยู่ ในเมืองไทยก็มีอยู่ที่คลองเตย

2. วีรชนและผู้ทรงกิตติคุณในอดีต เช่น กวนอู หั่งบุ่งกงผู้วางรากฐานอารยธรรมแต้จิ๋ว เจ้าแม่ทับทิมหรือเจ้าแม่มาจู่ (妈祖) ซึ่งจีนนิยมเรียกว่า “เทียนโฮ่ว (天后 – เจ้ายอดสวรรค์) วีรสตรีชาวฮกเกี้ยนผู้ได้รับยกย่องเป็นเทพผู้คุ้มครองการเดินเรือ มีศาลอยู่ทั่วไป ในเมืองไทยก็มีหลายแห่ง เป็นองค์เดียวกับแม่ย่านางเรือของไทย ไต้ฮงกงภิกษุผู้อุทิศตนสร้างสาธารณกุศล นอกจากนี้ยังมีคนอื่น ๆ อีกมาก

3. เทพทางศาสนาพุทธและเต๋า ที่แพร่หลายมากได้แก่พระกวนอิม (อวโลกิเตศวรโพธิสัตว์) ของพุทธเทพเหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่ (玄天上帝) ของเต๋า ศาลใหญ่อยู่ที่อำเภอลกฮง ซัวบ้วย มีศาลสาขาย่อยอยู่ทั่วไป เมืองไทยอยู่ศาลเจ้าพ่อเสือ

4. เทพพื้นบ้าน คือเทพที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต เป็นที่เคารพของชาวบ้านทั่วไป เทพพวกนี้มีมาก เช่น โทวตี่กง (土地公 – เจ้าที่) ไฉ่ซิ้ง (财神 – เทพแห่งทรัพย์สิน) หมึ่งซิ้ง (门神 – เทพทวารบาล) เจ่าซิ้ง (灶神 – เจ้าเตาไฟ)

5. เทพเฉพาะถิ่น จีนแต่ละถิ่นมีเทพเฉพาะท้องถิ่นของตนที่ไม่มีในจีนถิ่นอื่น ของแต้จิ๋วได้แก่ “ซำซัวก๊กอ๊วง (三山国王 – เทพแห่งสามภูผา)” เป็นเทพประจำภูเขาสามลูกที่อำเภอกิ๊กเอี๊ยต่อเนื่องไปถึงถิ่นจีนแคะ เป็นเทพประจำถิ่นที่จีนแต้จิ๋วและจีนแคะบูชาร่วมกัน แพร่ไปถึงไต้หวัน ถิ่นจีนโพ้นทะเลที่มีจีนแต้จิ๋วและจีนแคะ ในเมืองไทยมีศาลซำซัวก๊กอ๊วงอยู่หลายแห่ง

ในกิจกรรมสำคัญของจีนแต้จิ๋วมักมีการไหว้เจ้ารวมอยู่ด้วย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้ผดุงความดีงาม แต่มิได้ฝากความหวังไว้ทั้งหมด คนแต้จิ๋วถือว่าความสำเร็จของคนขึ้นกับความพยายามมากกว่าโชคชะตา ดังมีคำกล่าวว่า “ซาฮุงเหมี่ย ชิกฮุงเบี่ย (三分命 七分拚)” ซึ่งหมายถึง ความสำเร็จของคนขึ้นกับดวง 3 ส่วน ความพยายาม 7 ส่วน

สิ่งที่คู่กับเรื่องผีสางเทวดาคือการถือเคล็ดโชคลาง และข้อห้ามต่าง ๆ ที่ภาษาแต้จิ๋วว่า “กิ๊มกี๋” (禁忌 – ข้อห้ามการถือเคล็ด)” คนแต้จิ๋วเชื่อเรื่องพวกนี้มาก มีกี๋ (忌) คือข้อห้ามต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงเรื่อง “ชง (冲)” คือความขัดแย้งอันเป็นอัปมงคลอยู่มากมาย จะทำอะไรก็ต้องดูฤกษ์ยามเลือกเวลาที่ไม่กี๋ไม่ชง ที่ร้ายก็คือคนตายชง (冲) กับคนเป็นจนไปงานศพกันไม่ได้ ทั้งที่เป็นญาติสนิทกันควรต้องไป เรื่องเหล่านี้ยังเชื่อกันมากในชนบทของจีนแต้จิ๋วและในเมืองไทย

บ้านแบบจีนแต้จิ๋ว (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2552)

การถือเคล็ดโชคลางมากทำให้เป็นอุปสรรคแก่กิจกรรมที่ควรต้องทำ คนจีนหาทางแก้เคล็ดอย่างชาญฉลาด โดยเขียนอักษรว่า “เกียงไท้กงตอชื่อแป๊ะสื่อบ่กี๋ (姜太公在此百事无忌)” หมายถึง “เกียงไท้กงอยู่ที่นี่ ทุกเรื่องไม่มีข้อห้าม (กี๋) ใด ๆ” หรือเขียนย่อ ๆ แค่ “แป๊ะสื่อบ่กี๋ – ทุกเรื่องไม่มีข้อห้าม (กี๋) ใด ๆ” เอาไปติดไว้ที่งาน เป็นอันพ้นเรื่องกี๋และชงทุกประการ

เกียงไท้กง (姜太公) ในที่นี้เสียงภาษาจีนกลางว่า เจียงไท่กง หมายถึง เจียงจื่อหยา (姜子牙) แต้จิ๋วว่า เกียงจื่อเง้ ฮกเกี้ยนตามนิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่องห้องสินว่า เกียงจูแหย เป็นเสนาธิการของโจวอู่หวางปฐมกษัตริย์ราชวงศ์โจว (ก่อน พ.ศ. 503-พ.ศ. 322) ทำสงครามโค่นล้มราชวงศ์ซาง เป็นคนเก่งและคนดีที่เชื่อความพยายามของคนมากกว่าอำนาจผีสางเทวดา

ตามตำนานว่าได้รับอาณัติจากสวรรค์ให้เป็นผู้แต่งตั้งเทพและผีประจำกิจการและสถานที่ต่าง ๆ โดยตัวเองเสียสละไม่ได้รับตำแหน่งใด ๆ เลย เทพและผีทั้งหลายจึงตกลงกันว่า ถ้าเกียงไท้กงไปถึงที่ใด เทพหรือผีในถิ่นนั้นต้องหลีกไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งผีชั่วร้ายอัปมงคลทั้งปวง คนจีนจึงนิยมใช้รูปเกียงไท้กงขจัดอัปมงคลแขวนไว้ที่บ้าน และเขียนข้อความว่า “เกียงไท้กงอยู่ที่นี่ ไม่มีข้อห้าม (กี๋) ใด ๆ” ติดไว้ในงาน เพื่อสวัสดิมงคลแด่ผู้ร่วมงาน

เรื่องนี้เห็นได้ชัดว่าภูมิปัญญามนุษย์เหนืออำนาจผีสางเทวดา

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “อัตลักษณ์จีนแต้จิ๋ว (4)” เขียนโดย ถาวร สิขโกศล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2552


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ตุลาคม 2564