วัดเล่งเน่ยยี่ วัดดังที่ “เข้าใจผิด” ว่าเป็นวัดจีนแห่งแรกในไทย

วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ วัดมังกรกมลาวาส
วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ วัดมังกรกมลาวาส (Photo by note thanun on Unsplash)

“วัดเล่งเน่ยยี่” หรือ “วัดมังกรกมลาวาส” วัดจีนที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ทำให้หลายท่านเข้าใจผิดว่านี่คือ วัดจีนแห่งแรกในประเทศไทย แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ วัดจีนแห่งแรกในประเทศคือ “วัดย่งฮกยี่” หรือ “วัดบำเพ็ญจีนพรต”

พระอาจารย์จีนสกเห็ง (พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร) (ภาพจากเพจ วัดบำเพ็ญจีนพรต)

วัดย่งฮกยี่ เดิมเป็นวิหารพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ (ย่งฮกอำ) มีป้ายชื่อลง พ.ศ. 2338 (รัชกาลเฉียนหลง ปีอิกเบ้า ค.ศ. 1795) สันนิษฐานว่าสร้างโดยชาวจีนในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

พระอาจารย์จีนสกเห็ง (พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร) เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปแรกในประเทศไทย และอดีตเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส รูปที่ 1 เมื่อครั้งเป็นบรรพชิตจีนในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน จาริกมาจากเมืองจีน ประมาณ พ.ศ. 2414 พำนักอยู่ที่วิหารดังกล่าว

พระอาจารย์จีนสกเห็งปฏิสังขรณ์วิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “ย่งฮกยี่” มีป้ายชื่อลง พ.ศ. 2430 (รัชกาลกวงสู ปีที่ 13 ค.ศ. 1887) แล้วขอพระราชทานนามวัดจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานนามวัดว่า “วัดบำเพ็ญจีนพรต” มีป้ายพระราชทานนามวัดประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอุโบสถ

วัดย่งฮกยี่ที่ว่าตั้งอยู่ที่ไหน?

วัดย่งฮกยี่ ตั้งอยู่ในไชน่าทาวน์ หรือเยาวราช ซึ่งเป็นศูนย์กลางชุมชนชาวจีน และแหล่งการค้าสำคัญของชาวจีนตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน วัดจึงล้อมรอบด้วยอาคารพาณิชย์ ทางเข้าวัดอยู่ในซอยเยาวราช 8 ถนนเยาวราช แขวงสัมพันธวงศ์ ใกล้ ๆ กับวัดกันมาตุยาราม

วัดย่งฮกยี่ หรือ วัดบำเพ็ญจีนพรต
วัดย่งฮกยี่ หรือ วัดบำเพ็ญจีนพรต วัดจีนแห่งแรกในไทย (ภาพจากเพจ วัดบำเพ็ญจีนพรต)

สถาปัตยกรรมของวัดย่งฮกยี่นี้ เป็นงานฝืมือที่น่าสนใจ อุโบสถของวัดย่งฮกยี่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2380 เป็นอาคารโครงสร้างไม้แบบจีน ผนังก่ออิฐฉาบปูน หลังคาจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินเผากาบกล้วยแบบจีน สันหลังคาก่ออิฐปั้นปูน เป็นจั่วปั้นลมตามแบบสถาปัตยกรรมจีน ในสกุลช่างจีนแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นจีนทางใต้ [คนจีนในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นจีนทางใต้] ขณะที่ศาสนสถานจีนส่วนใหญ่ที่มีการบูรณะยุคหลัง ๆ นิยมในศิลปะจีนทางเหนือ

ภายในอุโบสถประดิษฐาน พระประธาน 3 องค์ (พระศากยมุนีพุทธเจ้า, พระอมิตาภะพุทธเจ้า, พระไภษัชยะคุรุพุทธเจ้า), พระอรหันต์ 18 องค์ ฯลฯ ตามแบบวัดจีน ที่สร้างโดยช่างฝีมือรุ่นเก่า และส่วนใหญ่ทำจากผ้าป่านทารัก ปิดทอง ตามแบบศิลปะงานช่างจีน มีพระอาจารย์จีนสกเห็ง เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัด

ส่วนวัดเล่งเน่ยยี่ ที่เข้าใจว่าเป็นวัดจีนแห่งแรกในไทยนั้น เนื่องจากมีพระสงฆ์จีนนิกายเพิ่มขึ้น วัดยงฮกยี่คับแคบไม่เพียงพอ จึงเริ่มก่อสร้างวัดแห่งใหม่ (วัดเล่งเน่ยยี่) บริเวณถนนเจริญกรุง ใน พ.ศ. 2414 ใช้เวลา 8 ปี จึงแล้วเสร็จ ซึ่งแต่เดิมนั้นชื่อวัดเล่งเน่ยยี่ภาษาไทยจะใช้ว่า “วัดมังกรนารถอุบลราชวราราม” แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก ประชาชนทั่วไปยังคงเรียกว่า “วัดเล่งเน่ยยี่”

จน พ.ศ. 2454 พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (กวยหงอ) เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายเจ้าอาวาสวัดเล่งเน่ยยี่ รูปที่ 2 ขอพระราชทานชื่อวัดเป็นภาษาไทย รัชกาลที่ 6 พระราชทานชื่อใหม่ว่า “วัดมังกรกมลาวาส” ซึ่งเป็นที่เรียกขานเรื่อยมาจนปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

เศรษฐพงษ์ จงสงวน. “ประวัติอดีตเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส” แล “ประวัติวัดมังกรกมลาวาส” ใน, อนุสรณ์เนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน วัดมังกรกมลาวาส 6 ธันวาคม 2562

เอกสารประชาสัมพันธ์วัดบำเพ็ญจีนพรต (ย่งฮกยี่)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16  ธันวาคม 2563