ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ต่างมี “ศาสนสถาน” ตามความเชื่อของคนส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นศูนย์กลาง สำหรับคนไทยเชื้อสายจีนคงหนีไม่พ้นศาลเจ้า, โรงเจ และวัดจีน ยิ่งเป็นช่วงเทศกาลสำคัญอย่างตรุษจีน ที่ไหนๆ ก็ดูแคบลงไปถนัด เมื่อเจอกับศรัทธาของผู้คนที่ไปไหว้พระเจ้าขอพร, ทำบุญ และแก้ชง
แม้จะรีบไป รีบไหว้ รีบกลับ เพื่อหลีกทางให้คนอื่นได้เข้าไป แต่เชื่อว่าหลานท่านคงมองเห็นว่างานศิลปกรรมทั้งภายในและภายนอกของอาคารหลายแห่งสวยไม่ใช่เล่น ไม่เพียงเท่านั้นจิตรกรรมบางภาพยังแฝงข้อคิดอีกด้วย
เรื่องศิลปกรรมในศาลเจ้าจีน วัด และโรงเจ เสี่ยวจิวเขียนไว้ใน “ตัวตนคน ‘แต้จิ๋ว’” (สนพ.มติชน, กันยายน 2554) ขอสรุปมานำเสนอเฉพาะภาพที่พบเห็นบ่อยๆ ขอเป็นสังเขป มาดูกันว่ามีภาพอะไรบ้าง
ภาพหนึ่งที่นับว่าสุดฮิต หลายท่านเห็นและทราบดี ชื่อภาพปลาคาร์พกระโดดข้ามประตูมังกร-หลี่ฮื้อเทียวเล้งมึ้ง ช่างจะวาดมังกร 2 ตัวอยู่ด้านซ้าย/ขวาของภาพ ตรงกลางภาพมีปลาคาร์พ 1 ตัว ด้านล่างของตัวปลามีระลอกคลื่นแทนแม่น้ำฮวงโห ด้านบนของปลามีซุ้มประตูจีน คือประตูอู่มึ้ง (ประตูน้ำ) ที่ไต่อู้ (1 ใน 5 ปฐมกษัตริย์โบราณของจีน) สร้างขึ้นเพื่อจัดระบบการชลประทาน ทำให้เส้นทางของน้ำเปลี่ยน ปลาคาร์พว่ายผ่านไปไม่ได้เช่นที่เคย เดือดร้อนก็โวยวาย ไต่อู้จึงรับสั่งว่า หากปลาตัวไหนกระโดดข้ามไปได้ก็กลายเป็นมังกร ดังนั้นคนส่นใหญ่จึงเรียกอู่มึ้ง-ประตูน้ำ ว่าเล้งมึ้ง-ประตูมังกร มากกว่า (รายละเอียดบางอย่างอาจเพิ่มหรือลดตามสไตล์ของช่างแต่ละคน)
ปลาคาร์พที่พยายามกระโดดข้ามประตูจนได้เป็นมังกรมันเหลือเชื่อเกินจริง แต่มันก็บอกเราว่าถ้ามีความพยายามอะไรก็อาจเป็นไปได้ ไม่ว่าเด็กนักเรียนที่ต้องสอบแข่งขัน ผู้ใหญ่ที่กำลังสอบเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ ชีวิตการงานก็จะสบความสำเร็จ
ภาพปลาคาร์พกระโดดข้ามประตูมังกรนี้มักเขียน, แกะสลักประดับที่ด้านหน้าของโต๊ะที่ของไหว้ต่างๆ เมื่อเราคุกเข่าลงแสดงความเคารพ ทั้งปลาคาร์พและมังกรก็อยู่ตรงหน้า ก็เหมือนกับจะบอกเราว่า “พยายามเข้านะ”, “สู้ๆ”
อีกภาพหนึ่งที่เห็นบ่อยคือ ขุนนางยืนอยู่กับคนแก่ตกปลาริมน้ำ ชื่อภาพ จิวบุ๋นอ๋องเชิญเมธี-บุ่งอ๊วงเจียเหี่ย [บ้างเรียกบุ่งอ๊วงเพลี้ยเหี่ย] ชายที่ใส่ชุดขุนนาง-จิวบุ๋นอ๋อง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จิว, ส่วนคนแก่ตกปลา-เกียงจือแหย เป็นปราชญ์เมธีผู้มีความสามารถ ซึ่งขณะนั้นมีอายุกว่า 70 ปี ไปเป็นกุนซือและแม่ทัพในการล้มราชวงศ์ซาง (ภาพนี้เป็นฉากหนึ่งในวรรกรรมจีนเรื่องห้องสิน) ภาพนี้สื่อความหมายเป็นนัยๆ เรื่องการเลือกใช้คนให้เหมาะสมกับงาน เลือกคนที่ความสามารถ
ภาพเด็กหนุ่มยกอาหารให้ 2 ผู้เฒ่าที่กำลังเล่นหมากรุก ชื่อว่า เตี๋ยง้วงขออายุ-เตี๋ยง้วงขิ่วซิ้ว ผู้เฒ่า 2 คนนั้น คนหนึ่งเป็นเทพถือบัญชีคนเป็น อีกคนถือบัญชีคนตาย เด็กหนุ่มคือเตี๋ยง้วงชายหนุ่มอายุสั้น ที่มีผู้รู้เตือนว่าเขาจะมีอายุเพียง 19 ปี พร้อมแนะนำวิธีแก้ไขให้เอาอาหารและเหล้ามาดักติดสินบนเทวดา เทวดา 2 องค์กำลังเล่นหมากรุกเพลินๆ ไม่ได้ดู เห็นเหล้าปลาอาหารก็เพลอกินเข้าไป พอนึกคิดได้ก็ต้องย่อมช่วยเจ้าหนุ่มอายุสั้นเปลี่ยนอายุขัยจาก 19 ปี เป็น 91 ปี (นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่แทรกอยู่ในสามก๊ก)
ภาพนี้แฝงความหมายไว้ว่า กินของเขาไปแล้วก็ต้องช่วยเขา เราที่เอาของมาไหว้วันนี้เทพเจ้าก็คงเมตตา พูดให้ตรงกว่านั้นหน่อยก็ต้องบอกว่า “ติดสินบนเทวดา” ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์บนโลก
และภาพเด็กหนุ่มที่ส่งรองเท้าให้ท่านผู้เฒ่า คือ ภาพเตียวเหลียงเก็บรองเท้าให้เทวดา เด็กหนุ่ม-เตียวเหลียงซึ่งต่อมาเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของเล่าปัง ผู้เฒ่า-เทวดาแปลงกายลงมาสอนวิชา แต่ทดสอบความอดทนของเตียวเหลียงด้วยการให้เก็บรองเท้าถึง 3 ครั้ง เมื่อนัดให้ไปพบท่านยังเฉไฉให้เตียวเหลียงต้องเดินทางไปหาถึง 3 ครั้ง นัยว่าพิสูจน์ความอดทน, อ่อนน้อม ก่อนจะมอบตำราพิชัยสงครามให้ (นี่ก็เป็นฉากหนึ่งในวรรณกรรมไซ่ฮั่น)
ตัวอย่างภาพที่ยกมานั้นเป็นแค่บางส่วนของงานศิลปกรรมในศาลเจ้า, วัดจีน และโรงเจ ความหมายของภาพที่กล่าวถึงก็ยังเป็นส่วนน้อย และอาจมีการตีความที่เปลี่ยนไปตามความยุคสมัย ตามประสบการณ์ส่วนบุคคล ทั้งบางท่านอาจเข้าใจลึกซึ้งกว่าที่กล่าวมาด้วยซ้ำ ว่าแต่ท่านเห็นอะไรบ้างช่วยเล่าสู่กันฟังสักนิด
อ่านเพิ่มเติม :
- “เจ้าไม่มีศาล” ในวัฒนธรรมจีน “เกียงไท้กง” บุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์
- ศาลเจ้าไม่ได้มีดีแค่ขอพร แต่สอนเรื่องฮวงจุ้ย
- ตำนานเทพเจ้าจีน “มาจู่” สู่ “แม่ย่านาง” พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์จากหัวเรือถึงคอนโซลรถยนต์
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มกราคม 2563