สิริมงคลอย่างจีน ในวัดเทพธิดาราม

หน้าบันพระอุโบสถวัดเทพธิดาราม ประดับตกแต่งเป็นลาย "หงส์คู่"

วัดเทพธิดาราม เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชทานใหม่ทั้งพระอารามเป็นพระเกียรติยศ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เมื่อ พ.ศ. 2379 ในการนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระองค์เจ้าชายลดาวัลย์) เป็นแม่กองก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2382

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงผูกพัทธสีมาแล้วพระราชทานนามว่า “วัดเทพธิดาราม” เนื่องจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์พระราชทานสมทบด้วย

Advertisement

วัดเทพธิดารามเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างในศิลปะแบบจีนหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าศิลปะแบบพระราชนิยม ทั้งหน้าบันและเครื่องประดับสถาปัตยกรรมต่างสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างศิลปกรรมจีนกับศิลปกรรมไทยได้เป็นอย่างดี ลวดลายและสิ่งของต่างๆ ที่เป็นศิลปกรรมจีนซึ่งปรากฏในวัดเทพธิดารามเป็นศิลปะอันเนื่องด้วยสัญลักษณ์สิริมงคลอย่างจีนทั้งสิ้น แต่โดยทั่วไปมักไม่ค่อยได้มีผู้สนใจศึกษามากนัก จึงขอนำมากล่าวถึงในที่นี้ตามลำดับ

สัญลักษณ์สิริมงคลจีนในวัดเทพธิดาราม

ภายในบริเวณวัดเทพธิดารามมีสัญลักษณ์สิริมงคลจีนหลายอย่าง ทั้งลวดลายที่ประดับอาคารของพระอุโบสถ จิตรกรรมฝาผนัง และเครื่องประดับสถาปัตยกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นตุ๊กตาศิลา เสามังกร ฯลฯ ดังนี้

1. หน้าบันพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ

หน้าบันพระอุโบสถวัดเทพธิดาราม ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบจีนเป็นภาพหงส์คู่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สิริมงคลอย่างหนึ่งของจีน ตามความเชื่อของจีนนั้น หงส์ (เฟิงหวง 风凰) เป็นเจ้าแห่งสัตว์ปีกทั้งมวล และเชื่อกันว่า หงส์เป็นสัตว์ที่สามารถล่วงรู้ความวุ่นวายในโลกมนุษย์ได้

ดังนั้นหงส์จะปรากฏตัวต่อเมื่อแผ่นดินสงบร่มเย็น หงส์ของจีนแบ่งออกเป็นตัวผู้และตัวเมีย หงส์ตัวผู้เรียกว่า “เฟิง (风)” ตัวเมียเรียกว่า “หวง (凰)”

กล่าวกันว่าหัวหงส์เหมือนไก่ฟ้า ตัวเหมือนนกเป็ดน้ำแมนดาริน มีปีกที่ใหญ่ ขาเหมือนนกกระเรียนเทวดา ปากเหมือนนกแก้ว หงส์มีขนสวยงามดั่งนกยูง ขนแต่ละส่วนมีค่าและความหมายที่แตกต่างกันออกไป

หงส์มี 5 ชนิด แบ่งตามสีขน คือ ขนแดง ขนม่วง ขนเหลือง ขนดำ และขนขาว หงส์มีเสียงร้องคล้ายขลุ่ย ไม่กินแมลงที่มีชีวิต ไม่จิกต้นไม้ที่ยังเขียวสดอยู่ ไม่อยู่เป็นกลุ่มเป็นฝูง ไม่บินเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ เมื่อหงส์เป็นหัวหน้าของสัตว์ปีกทั้งปวง เมื่อหงส์บิน นกต่างๆ ก็จะบินตาม

ด้วยเหตุนี้ “หงส์” จึงเป็นสัญลักษณ์ของความสวยงาม ความดีงาม ความสงบสุข และสิริมงคล ในสมัยโบราณมักนำ “หงส์” มาใช้เปรียบเทียบกับคนที่มีคุณธรรม นอกจากนี้จีนยังนำ “มังกร” มาเป็นสัญลักษณ์ของฮ่องเต้ และนำ “หงส์” มาใช้เป็นสัญลักษณ์ของฮองเฮา

ดังนั้นการที่หน้าบันพระอุโบสถของวัดเทพธิดาราม เป็นภาพหงส์คู่ ในที่นี้น่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่มีนัยหมายถึง “พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ” พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง นอกจากภาพหลักของหน้าบันพระอุโบสถวัดเทพธิดารามจะเป็นภาพหงส์คู่แล้ว ด้านข้างของตัวหงส์ ยังมีภาพลวดลายจีนอื่นๆ ที่เป็นสัญลักษณ์สิริมงคลของจีน ปรากฏอยู่ควบคู่กัน ได้แก่ ภาพค้างคาว และลายดอกโบตั๋น

ตามคติสัญลักษณ์สิริมงคลจีน “ค้างคาว” มีชื่อในภาษาจีนออกเสียงว่า “เปียนฝู (蝙蝠)” มีความหมายว่า “โชค วาสนา มงคล ความสุข” เนื่องจากคำว่า “ ฝู (蝠)” พ้องเสียงกับคำว่า “ฝู (福)” หรือ “ฮก” ด้วย เหตุนี้ชาวจีนจึงนิยมใช้ “ค้างคาว” เป็นสัตว์สัญลักษณ์แทนโชควาสนา

นอกจากนี้หากเป็นภาพค้างคาวคู่ จะหมายถึงโชคคู่ หากเป็นภาพค้างคาว 5 ตัว จะหมายถึงโชควาสนา 5 ประการ ได้แก่ อายุยืน ร่ำรวย สุขภาพสมบูรณ์ มีคุณธรรม และมีความยั่งยืนนิรันดร จึงกล่าวกันว่า เมื่อรวมโชควาสนา 5 ประการนี้แล้วก็จะได้แก่ “ซิ่ว” หรือ “โซ่ว (寿)” ซึ่งหมายความว่า “ความยั่งยืน”

ดังนั้นภาพค้างคาวในหน้าบันพระอุโบสถวัดเทพธิดารามซึ่งเป็นภาพค้างคาวคู่ บินอยู่ด้านข้างของหงส์ จึงน่าจะมีความหมายว่า “โชคคู่”

นอกจากนี้ยังมีภาพลายดอกโบตั๋น ซึ่งจีนถือว่าดอกโบตั๋น (หมู่ตาน 牡丹花) เป็นดอกไม้ที่มีความงามมากที่สุดในบรรดาดอกไม้ทั้งปวง ดังนั้นชาวจีนจึงถือว่า ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้แห่งความร่ำรวยด้วย

หน้าบันพระวิหารและศาลาการเปรียญ ของวัดเทพธิดารามประดับกระเบื้องเคลือบจีนเป็นลาย “หงส์” อยู่ท่ามกลางลายพวงดอกไม้ ซึ่งมีความหมายว่า ความสวยงาม ความดีงาม ความสงบสุข และสิริมงคล นั่นเอง

2. เสาศิลามังกร

เสามังกร เป็นเสาโคมไฟ ประดับอยู่ทั้ง 4 ทิศ รอบพระอุโบสถ เป็นลวดลายมังกรดั้นเมฆ ตามคติของจีนนั้น ชาวจีนเชื่อว่ามังกร (หลง ) เป็นสัตว์วิเศษหนึ่งใน 4 ชนิด และสามารถขจัดภูตผีปีศาจและสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ได้

มังกรของจีนมีหลายชนิดและมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ได้แก่ ชีหลง (七龙) เป็นมังกรที่ไม่มีเขา ผานหลง (蟠龙) เป็นมังกรที่ยังไม่ได้ขึ้นสู่สวรรค์ ชิหลง (七龙) เป็นมังกรที่ชอบพ่นน้ำ หัวหลง (华龙) เป็นมังกรที่ชอบพ่นไฟ หมิงหลง เป็นมังกรที่ชอบร้องคำราม และฉิวหลง เป็นมังกรมีเขา มีอำนาจและเป็นใหญ่กว่ามังกรประเภทอื่นทั้งหมด

นอกจากนี้จีนยังแบ่งสัญลักษณ์ของมังกรตามจำนวนเล็บ กล่าวคือหากมังกรมี 5 เล็บ หมายถึงกษัตริย์ มังกร 4 เล็บ หมายถึงพระราชวงศานุวงศ์ และมังกร 3 เล็บ คือ ขุนนาง

เสามังกรของวัดเทพธิดาราม ตรงกลางเป็นลวดลายมังกรดั้นเมฆ

3. ตุ๊กตาศิลาจีน

ตุ๊กตาศิลาจีนที่ตั้งประดับอยู่บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ มีทั้งที่เป็นตุ๊กตาแกะสลักเป็นรูปอย่างจีน และตุ๊กตาที่แกะสลักเป็นรูปหญิงไทยนั่ง หรือยืน ที่ประดับอยู่รอบพระอุโบสถ นอกจากนี้ยังมีตุ๊กตาสิงโตจีนซึ่งประดับอยู่ที่หัวบันไดทางขึ้นพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญอีกด้วย ภาพตุ๊กตาศิลาจีนสำคัญที่สามารถอธิบายได้มีดังนี้

ตุ๊กตาศิลารูปเทพซิ่ว

เทพซิ่ว เป็นภาพชายชราถือไม้เท้า ศีรษะโหนกใหญ่ ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของพระอุโบสถ ซิ่วถือเป็นสัญลักษณ์ของอายุยืน ดังปรากฏในคติความเชื่ออย่างจีนว่า เทพซิ่ว (寿仙) มีรูปลักษณ์ที่ทำให้ผู้คนเบิกบานใจ เพราะมีความสูงไม่มาก หลังค่อม มือถือไม้เท้าหัวมังกร อีกมือหนึ่งถือลูกเซียนท้อ (仙桃) คิ้วและดวงตาแสดงออกถึงความปีติปรานี สนทนาปราศรัยอย่างยิ้มแย้ม เคราสีขาวสยายยาวกว่าเอว และมีกระหม่อมศีรษะโหนกขึ้นมาอย่างเด่นชัด

ตุ๊กตาศิลารูปเทพลก

เทพลก เป็นภาพชายแต่งชุดขุนนางมือข้างหนึ่งอุ้มเด็ก ตามคติเรื่องสัญลักษณ์สิริมงคลจีนนั้น ลก (禄) หมายถึง ตำแหน่งขุนนาง เทพลก (禄仙) มาจากดาวลก (禄星) เทพลกเป็นเทพที่ได้รับความนิยมจากชาวจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเมื่อมีตำแหน่งเป็นขุนนางก็จะมีอำนาจ และอำนาจทำให้มีทรัพย์ มีคำกล่าวว่า “เป็นขุนนางซื่อสัตย์สามปี เงินสิบหมื่นตำลึงสุกปลั่งดังหิมะ” ดังนั้นภาพปีใหม่ ภาพประเพณี หรือรูปมงคลมักจะวาดด้วยหัวข้อ “เลื่อนขั้นเพิ่มเงินเดือน” “ฮก ลก ซิ่ว” “ขั้นเพิ่มขึ้น” “เพิ่มขึ้นเลื่อนตำแหน่ง” “ขึ้นม้าเป็นพระยา” “เลื่อนสามขั้นเป็นปกติ”

ตุ๊กตาศิลารูปสตรีจีนถือแจกัน

ตุ๊กตาศิลาบางส่วน ซ้าย-เทพซิ่ว กลาง-เทพลก ขวา-เทพธิดาถือแจกัน

ตุ๊กตาศิลารูปสตรีถือแจกัน โดยทั่วไปตามคติของจีนนนั้นหากเป็นภาพสตรีถือแจกัน จะหมายถึงนางฟ้ามีหน้าที่เก็บเห็ดหลินจือมาหมักเหล้าเพื่อนำไปถวายในวันเกิดของซีหวางมู่ ดังนั้นเมื่อวาดเป็นเทพซิ่วฝ่ายหญิงจึงวาดเป็นภาพนางฟ้าตนนี้ อย่างไรก็ตามตุ๊กตาศิลารูปสตรีจีนในบริเวณพระอุโบสถวัดเทพธิดารามถือแจกันจึงอาจแทนรูปนางฟ้าถือตะกร้าก็เป็นได้

ตุ๊กตาศิลารูปสิงโต (ซือจื่อ 狮子)

สิงโต ในภาษาจีนเรียกว่า “ซือจื่อ (狮子)” พ้องเสียงกับคำว่า “ซือ (狮)” ของคำว่า “ไท่ซือ (太师) ซึ่งหมายถึงมหาเสนาบดี ด้วยเหตุนี้ชาวจีนจึงนำเอาสิงโตมาเป็นสัญลักษณ์สิริมงคลในการอวยพรให้มีตำแหน่งขุนนางสูงที่สุด เช่น ภาพสิงโตตัวใหญ่มีสิงโตตัวเล็กวิ่งตาม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคำอวยพรว่า “ไท่ซือ เส้าซือ (太师  少师)” แปลว่า บิดาเป็นขุนนางมียศสูงสุด บุตรเป็นขุนนางมียศสูงด้วย

ชาวจีนถือว่าภาพสิงโตคู่เป็นภาพมหามงคลที่นิยมใช้เป็นลายฉลุไม้ ลายผ้า หรือใช้เป็นลวดลายผนังด้านหน้าศาลเจ้า นอกจากนี้ชาวจีนยังเชื่อกันว่าสิงโตเป็นสัตว์วิเศษสามารถขจัดภูตผีปีศาจได้ ดังนั้นชาวจีนจึงมักนำรูปสิงโตคู่มาประดับไว้ตามหน้าประตูบ้าน 2 ข้าง หรือที่ปลายหัวเสา หรือฉลุหน้าต่างและประดับตามเครื่องประดับสถาปัตยกรรมอื่นๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล

ดังนั้นการที่ทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ ของวัดเทพธิดารามประดับตุ๊กตาศิลารูปสิงโตจีน จึงน่าจะมีความหมายว่าเพื่อเป็นการขจัดภูตผีปีศาจและเป็นสิริมงคลนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีตุ๊กตาศิลารูปบุรุษสตรีอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถตีความได้ว่าเป็นรูปบุคคลใดในสัญลักษณ์สิริมงคลจีน

4. จิตรกรรมฝาผนังลายหงส์ในพระวิหาร

นอกจากจะมีการนำสัญลักษณ์สิริมงคลรูปหงส์มาใช้ประดับบนหน้าบันพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญของวัดเทพธิดารามแล้ว ยังมีการนำภาพหงส์มาเขียนเป็นจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารอีกด้วย ซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์หมายถึงความมีสิริมงคลนั่นเอง

จิตรกรรมฝาผนังรูปหงส์ในพระวิหารวัดเทะธิดาราม

5. จิตรกรรมที่บานแผละ

ภาพจิตรกรรมที่บานแผละในพระวิหารทุกด้าน เขียนเป็นภาพนกเกาะอยู่บนกอบัว ซึ่งน่าจะตรงกับภาพนกกางเขนจีน เกาะบนดอกบัว ต้นกก และต้นอ้อ ในคติสัญลักษณ์สิริมงคลอย่างจีน

“ดอกบัว” มีชื่อเรียกว่า “เหลียน (莲)” จะพ้องกับ คำว่า “เหลียน (连)” ซึ่งแปลว่า “การต่อเนื่องอย่างไม่จบสิ้น เชื่อมโยง เกี่ยวเนื่อง เกี่ยวข้อง ติดต่อ ต่อเนื่อง” ด้วยเหตุนี้ชาวจีนจึงถือว่าดอกบัวเป็นสัญลักษณ์สิริมงคล

ส่วนคำว่า หลู ซึ่งแปลว่าต้นกก ต้นอ้อ นั้น พ้องเสียงกับคำว่า “ลู่” ที่แปลว่า “หนทาง” ตามปรกติ ต้นกก ต้นอ้อ มักเจริญเติบโตอยู่แทรกต้นบัวแต่ละต้น (ซึ่งภาษาจีนออกเสียงว่า “เคอ”) แต่ละก้าน ดังนั้นจึงพ้องเสียงกับคำว่า “เหลียนเคอ” ซึ่งแปลว่า “สอบรับราชการได้ติดต่อกัน”

“นกกางเขนจีน” ในภาษาจีนออกเสียงว่า “สวี่เซี่ย (喜鹊)” นกชนิดนี้ชาวจีนเชื่อว่าเป็นนกที่บอกโชค ดังนั้นหากในเวลาเช้าใครได้ยินเสียงนกกางเขนจีน เชื่อว่าจะได้รับข่าวดี จึงเรียกกันว่าเป็นนกแห่งสิริมงคล

ชาวจีนนิยมนำภาพนกกางเขนจีนมาใช้เป็นภาพสัญลักษณ์แทนข่าวมงคล หรือเรื่องสิริมงคล หากเป็นภาพนกกางเขนจีน 2 ตัว จะหมายถึงมงคลคู่ ซึ่งอาจหมายถึงเทพแห่งสิริมงคลหรือเทพแห่งโชควาสนาก็ได้ เพราะชาวจีนถือว่าเทพทั้งสองเป็นสัญลักษณ์แห่งมงคลคู่เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีการนำภาพนกกางเขนจีนเกาะอยู่บนกิ่งต้นถง (桐树) มาใช้แทนคำอวยพรที่มีคำว่า “สี่(喜)” เช่น “ถงสี่ (同喜)” หมายถึง ขอให้มีมงคลด้วยกัน ให้มีความสุขด้วยกัน

นกกางเขนจีนที่บินมาเกาะบนกอบัว จึงมีความหมายถึง “มีความยินดีที่สอบรับราชการได้ติดต่อกัน” จึงใช้อวยพรในการสอบได้ตำแหน่งหรือสอบได้คะแนนที่ดีด้วย

6. ภาพจิตรกรรมบนบานหน้าต่างพระวิหาร

ภาพจิตรกรรมบนบานหน้าต่างพระวิหารวัดเทพธิดาราม วาดเป็นภาพสิริมงคลจีนต่างๆ ได้แก่ ภาพกระถางดอกบัว ภาพอ่างปลาทอง และภาพกระถางดอกโบตั๋น

1. กระถางดอกบัว

ในภาษาจีน “ดอกบัว” มีชื่อเรียกว่า “เหอฮวา(荷花)” หรือ “เหลียนฮวา (莲花)” ทั้ง 2 ชื่อมีความสัมพันธ์กับสิริมงคล เนื่องจาก “เหอ (荷)” จะพ้องเสียงกับคำว่า “เหอ (和)” ซึ่งแปลว่า “ปรองดองกัน, รวมกัน”

ส่วนคำว่า “เหลียน (莲)” จะพ้องกับคำว่า “เหลียน (连)” ซึ่งแปลว่า “การต่อเนื่องอย่างไม่จบสิ้น” ด้วยเหตุนี้ชาวจีนจึงถือว่าดอกบัวเป็นสัญลักษณ์สิริมงคล

นอกจากนี้เมื่อดอกบัว ฝักบัว และรากบัวอยู่รวมกันจะเป็นสัญลักษณ์มีความหมายว่า การได้คู่ครองที่ดี มีลูกหลานสืบสกุลเร็ววัน หรือปรองดองร่ำรวย เนื่องจากคำว่า “รากบัว” ในภาษาจีนออกเสียงว่า “โอ่ว (藕)” พ้องกับเสียง “โอ่ว (偶)” ซึ่งแปลว่า “คู่ครอง”

ภาพกอบัวบาน หมายถึงคำอวยพรว่า “เปิ่นกู้จือหยง (本固枝荣)” แปลว่า “เมื่อมีรากฐานมั่นคงกิจการก็จะเจริญรุ่งเรืองก้าวไกล”

ส่วนภาพบัวบานจะใช้อวยพรขุนนาง ตรงกับคำอวยพรภาษาจีนว่า “อี้ผิ่นชิงเหลียน (一品清廉)” แปลว่า “ตำแหน่งอี้ผิน (一品) (ยศขุนนางใหญ่สุดขั้นเสนาบดี) ที่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม” ซึ่งเป็นคำสรรเสริญที่ชาวบ้านมีให้กับขุนนาง

2. อ่างปลาทอง

คำว่า “ปลาทอง” ภาษาจีนเรียกว่า “จินอยวี๋ (金鱼) พ้องเสียงกับคำว่า “จินอยวี๋ (金玉)” ซึ่งหมายถึง “ทองกับหยก” เพราะ “จิน (金)” หมายถึงทอง “อยวี๋ (玉)” หมายถึง “หยก” ดังนั้นชาวจีนจึงนิยมใช้ภาพปลาทองหลายตัวว่ายในอ่างแก้วเป็นสัญลักษณ์แทนคำสิริมงคลว่ามีทองและหยกเต็มบ้าน

3. กระถางดอกโบตั๋น

ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ที่มีความงามมากที่สุดในบรรดาดอกไม้ทั้งปวง ด้วยเหตุนี้ชาวจีนจึงกำหนดให้ดอกโบตั๋นเป็นสัญลักษณ์ของความสง่างาม ความเด่น ความเป็นเลิศทั้งความงามและความสามารถ ซึ่งถือว่าเป็นดอกไม้บรรดาศักดิ์ และเป็น “ราชาแห่งดอกไม้ทั้งปวง” นอกจากนี้ดอกโบตั๋นมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ฟู่กุ้ยฮวา (富贵花)” หมายถึง “ดอกไม้แห่งความร่ำรวย มียศศักดิ์” เนื่องจากคำว่า “ฟู่ (富)” แปลว่า “ความร่ำรวย” และ “กุ้ย (贵)” มีความหมายว่า “ยศถาบรรดาศักดิ์” ดังนั้นชาวจีนจึงถือว่าดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้แห่งความร่ำรวยด้วย ดอกโบตั๋นยังได้รับการกำหนดเป็นดอกไม้ประจำชาติจีนอีกด้วย

บทสรุป

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่า ลวดลายอย่างจีนและเครื่องประดับสถาปัตยกรรมอย่างจีนภายในวัดเทพธิดารามเป็นภาพที่มีความเชื่อมโยงกับคติความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องสัญลักษณ์สิริมงคลของชาวจีนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพหงส์ ที่หมายถึงความเป็นสิริมงคล คู่กับมังกรที่เป็นสัญลักษณ์แทนกษัตริย์ นอกจากนี้ยังมีลวดลายอื่นๆ ที่เป็นเครื่องประดับที่แสดงให้เห็นถึงสิริมงคลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฮก ลก ซิ่ว (โชค วาสนา และอายุยืน) รวมทั้งมีภาพสิริมงคลจีนอื่นๆ อีกหลายอย่าง

อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบสัญลักษณ์ที่ปรากฏกับลักษณะคำอวยพรสิริมงคลอย่างจีนแล้ว สันนิษฐานว่าในการก่อสร้างช่างคงไม่คำนึงถึงความสอดคล้องกันมากนักระหว่างระบบสัญลักษณ์อย่างจีนกับการนำเสนอที่ปรากฏ เนื่องจากพบว่าภาพบางภาพซึ่งเป็นสัญลักษณ์ไม่ได้สอดคล้องกับสถานที่ตั้งของภาพนั้นๆ เช่น ภาพสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการสอบได้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนำมาวาดที่บานแผละในพระวิหาร เป็นต้น

ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าการเขียนภาพหรือการประดับลายจีน ช่างหรือผู้ควบคุมการสร้างน่าจะคำนึงถึงความสวยงามในเชิงสุนทรียศิลป์อย่างจีนเป็นหลัก มากกว่าที่จะต้องการให้ภาพเหล่านี้สื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเพียงการสันนิษฐานซึ่งน่าจะมีการศึกษาเพื่อความลุ่มลึกในเชิงวิชาการต่อไป

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ 1 หมวดวรรณคดี, พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472.

ทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุง รัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2538.

ทิพากรวงศ์ฯ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุง รัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : บริษัทพิมพ์ดี, 2547.

ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2544.

ศานติ ภักดีคำ และนวรัตน์ ภักดีคำ, สิริมงคลวัดโพธิ์. (คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนจัดพิมพ์เป็นที่รฤกฉลองอายุวัฒนมงคล 90 ปี พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ. 4) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และฉลองกุฏิคณะ น. 16 26-27 พฤษภาคม 2549) กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2549.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2566