ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สรีดภงส์ ทำนบพระร่วง เขื่อนอายุกว่า 700 ปี ของสุโขทัย (?)
เขื่อนสรีดภงส หรือที่สมัยก่อนเรียกกันว่า ทำนบพระร่วง เป็นคันดินโบราณ ซึ่งในยุคหลังได้สร้างต่อเติมเป็นแนวระหว่างเขาพระบาทใหญ่ และเขากิ่วอ้ายม้าเพื่อใช้กักเก็บน้ำที่ไหลจากหุบเขาในโซกพระร่วง เป็นที่เชื่อกันว่าแต่เดิมน่าจะสร้างโดยกษัตริย์สุโขทัยพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ดังหลักฐานที่ปรากฏในจารึกพ่อขุนรามคำแหง
อย่างไรก็ดี สุจิตต์ วงษ์เทศ มองว่า ลำพังหลักฐานดังกล่าวไม่อาจบอกได้แน่ชัดว่า “สรีดภงส” หมายถึงสิ่งใด มันอาจเป็นไปได้ทั้งเขื่อนหรือทำนบ หรืออาจเป็นเพียงคันดินที่ใช้เบี่ยงเบนทางน้ำก็ได้ และอาจมีอยู่หลายแห่ง ไม่ได้ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งเดียวโดดๆ ตามความหมายที่ใช้ในปัจจุบัน ดังคำอธิบายต่อไปนี้
“เนื่องจากระบบน้ำของเมืองสุโขทัยมีขนาดใหญ่โต จึงทำให้ร่องรอยระบบชักน้ำและระบายน้ำมีลักษณะซับซ้อน และสร้างความสับสนให้กับผู้ศึกษาค้นคว้าหลายๆ ฝ่าย ดังกรณีชื่อ ‘สรีดภงส’
แม้จารึกพ่อขุนรามคำแหงจะระบุว่า ด้านทิศใต้มี ‘สรีดภงส’ (มาจากภาษาสันสกฤต) ที่เชื่อกันว่าหมายถึงเขื่อนหรือทำนบกั้นน้ำของเมืองสุโขทัย แต่จารึกก็ไม่ได้บอกว่ามีรูปร่างหรือลักษณะอย่างไร?
และไม่ได้กำหนดว่า ‘สรีดภงส’ มีตำแหน่งแห่งหนอยู่แน่ๆ ที่ตรงไหน?
หากพิจารณาเจตนาของจารึกพ่อขุนรามคำแหงแล้ว จะเห็นว่าข้อความในจารึกตอนนี้ (และอาจมีตอนอื่นๆ ด้วย) มีลักษณะ ‘กวีวรโวหาร’ พรรณาบรรยากาศกว้างๆ และอย่างคร่าวๆ โดยบอกแต่เพียงว่ามีสิ่งที่เรียกว่า ‘สรีดภงส’ อยู่ ‘เบื้องหัวนอน’ คือด้านทิศใต้เท่านั้น และจะมีความหมายว่าเขื่อนหรือทำนบกั้นน้ำหรือไม่? ก็ไม่มีใครรู้แน่ๆ
แต่ด้านทิศใต้ต่อเนื่องกับด้านตะวันตกของเมืองสุโขทัย มีร่องรอยคันดินที่มนุษย์ทำขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือสกัดกั้นและทั้งเบี่ยงเบนทิศทางการหลากไหลของกระแสน้ำหลายต่อหลายแห่งด้วยกัน
เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรด่วนสรุปว่า ‘สรีดภงส’ หมายถึงเขื่อนหรือทำนบแห่งใดแห่งหนึ่งแต่เพียงแห่งเดียว“
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงษ์เทศ. แคว้นสุโขทัย : รัฐในอุดมคติ, ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2539
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2560