เทียนถาน ที่ที่โอรสสวรรค์วอนขอกับฟ้า ในยามบ้านเมืองเกิดเภทภัย

เทียนถาน คือ หมู่อาคารที่สร้างขึ้น สำหรับใช้สักการะบูชาธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่เหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ สร้างขึ้นสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) และใช้ต่อเนื่องมาจากถึงราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644-1911) รวมเป็นเวลากกว่า 500 ปี เพื่อให้จักรพรรดิ หรือโอรสสวรรค์ติดต่ออ้อนวอนขอกับฟ้า ในยามที่บ้านเมืองต้องเจอกับ “ภัยพิบัติ” ไม่ว่าฝนตกหนักจนน้ำท่วม ร้อนแล้งจนแหล่งน้ำเหือดแห้ง ฝูงแมลงทำร้ายไร่นา โรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คน ฯลฯ

แต่การบูชาธรรมชาติ สื่อสารกับท้องฟ้าในวัฒนธรรมจีนมีมากก่อนหน้านั้น

สมัยราชวงศ์โจวตะวันออก (770-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีบันทึกถึงแท่นบูชาฟ้า ซึ่งในเวลานั้นเป็นเพียงเนินดินลักษณะวงกลม, ราชวงศ์ฉิน (221-207 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีประเพณีเดินทางไปบูชาฟ้าที่เขาไท่ซาน แต่ภายหลังมีการสร้างสถานที่เพื่อการสักการะโดยเฉพาะขึ้นแทน, ราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 220) เริ่มมีก่อสร้างอาคารฐานสี่เหลี่ยม ที่ตั้งอยู่กลางสระน้ำรูปวงกลม สำหรับบูชาฟ้า, ราชวศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) พระนางบูเช็กเทียน มีบันทึกว่า การสร้างวิหารไม้ขนาดใหญ่ (สูงประมาณ 88 เมตร บนฐานกว้าง 90 เมตร) เป็นหอบูชาฟ้า

ส่วน “เทียนถาน” ที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง ในระยะแรกเป็นเพียงหมู่อาคารธรรมดา ไม่ต่างจากวัดจีนทั่วไป จนถึงรัชกาลจักรพรรดิเจียจิ้ง (ค.ศ. 1521-1566) จึงรับสั่งให้สร้าง “แท่นบูชาฟ้า” หรือ “เทียนถาน” และด้วยความเลื่อมใสลัทธิเต๋า หอบูชาฟ้าในรัชกาลนี้จึงสร้างโดยใช้สัญลักษณ์จำลองแทนฟ้า เพื่อสะท้อนจักรวาลของจีนโบราณ

โปสการ์ดภาพ “ฉีเหนียนเตี้ยน” วิหารสำคัญที่สุดในหมู่อาคาร “เทียนถาน”

ทั้งบริเวณลานประตูตะวันออกของเทียนถานยังนำหิน 7 ก้อน มาวางตามคำแนะนำของนักบวชเต๋า เพื่อแสดงสัญลักษณ์ บ้างว่าเป็นสัญลักษณ์แทนหมู่ดาวไถ 7 ดวง (ตามลัทธิเต๋าเชื่อว่าเป็นดาวกษัตริย์) บ้างว่าแทนยอดเขาสำคัญทั้ง 7 จีน แต่ปัจจุบันมีหินวางอยู่ 8 ก้อน ที่หมายถึงยอดเขาฉางป๋ายซาน อันเป็นถิ่นกำเนิดของชาวแมนจู หินก้อนที่ 8 นี้ ถูกนำมาวางตามรับสั่งของจักรพรรดิเฉียนหลง

เทียนถาน ประกอบด้วยหมู่อาคารและสิ่งก่อสร้างดังนี้

หยวนชิวถาน หรือ “แท่นขอพรฟ้า” (ที่เรามักเรียกว่า เทียนถาน) เป็นที่ที่จักรพรรดิจีนใช้ในพระราชพิธีขอพรฟ้า มีลักษณะเป็นแท่นโล่งกว้าง 3 ชั้น แต่ละชั้นปประกอบด้วยแผ่นหินอ่อนสีขาววางเรียงเป็นรัศมีกระจายออก 9 วง แต่ละวงใช้แผ่นหินจำนวนทบ 9 ไปเรื่อยๆ

หวงฉงอี่ว์ คือ อาคารที่ใช้ประกอบพิธีบูชาสวรรค์ อาคารมีสัณฐานกลมนี้มีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะกำแพงที่ล้อมรอบอาคาร ที่แสดงความสามารถของช่างโบราณที่ทำให้เกิดการสะท้อนของเสียงกับกำแพงโค้งโดยรอบ ดังนี้หากมีใครไปยืนกระซิบเบาใกล้ๆ กำแพง คนที่อยู่ริมกำแพงเหมือนกันจะได้ยินเสียงกระซิบนั้น และหากเรายืนอยู่ในตำแหน่งแกนกลางโดยหันหน้าเข้าภายในอาคาร เมื่อปรบมือ 1 ครั้ง จะได้ยินเสียงสะท้อนกลับมา 3 ครั้ง หากในอดีตนี่คือความศักดิ์สิทธิ์ที่เพิ่มบารมีให้กับเทียนถาน

ตันปี้เฉียว ชื่อของสะพานที่ตั้งอยู่ด้านเหนือของหวงฉงอี่ว์ ทางเดินของสะพานนี้ยกพื้นขึ้นเป็นแท่นสูง 2.5 เมตร เวลาเดินจึงให้ความรู้สึกเสมือนกว่ากำลังเดินสู่เบื้องบน ที่ปลายของสะพานเป็นอาคารที่สำคัญที่สุดของเทียนถาน

ฉีเหนียนเตี้ยน วิหารที่สำคัญที่สุด และใหญ่ที่สุดของหมู่อาคารเทียนถาน จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของหอบูชาฟ้าเทียนถาน ฉีเหนียนเตี้ยนเป็นอาคารไม้ โดยไม่มีการใช้ขื่อคานขวางกลาง จึงสามารถมองเห็นฝ้าเพดานสูงสุดของหลังคาได้ ภายในวิหารฉีเหนียนเตี้ยนมีเสา 28 ต้น แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นในสุด 4 ต้น แทนฤดูกาลทั้ง 4 ชั้นถัดออกมามี 12 ต้น แทนเดือนทั้ง 12 เดือน และชั้นสุดท้ายอีก 12 ต้น แทนเวลาทั้ง 12 ชั่วยาม

ไจกง ตำหนักสุดท้ายของเทียนถาน ที่มักเรียกกันว่า “วังต้องห้ามน้อย” เพราะก่อนที่จะมีพระราชพิธีบูชาฟ้า จักรพรรดิจะเสด็จมาประทับแรมถือศีลกินเจที่ตำหนักไจกงล่วงหน้า 3 วัน

ส่วนจักรพรรดิองค์สุดท้ายที่ประกอบพิธีบูชาฟ้ากลับไม่ใช่ปูยี-จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชสำนักจีน แต่เป็น “หยวนซื่อข่าย” ขุนพลผู้ทรยศรชวงศ์จีน ที่สถาปนาขึ้นเป็นฮ่องเต้ 83 วัน

สุดท้ายขณะที่อาคารส่วนใหญ่ในโลกสร้างขึ้นเพื่อมนุษย์ เทียนถานสร้างขึ้นเพื่อ “ฟ้า”

 


ข้อมูลจาก :

นิธิพันธ์ วิประวิทย์. ระหว่างบรรทัด สถาปัตย์แดนมังกร, สำนักพิมพ์มติชน , กันยายน 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2564