ระฆังหย่งเล่อ เจ้าแห่งระฆังโบราณ ที่ตีเฉพาะตรุษจีน และโอกาศพิเศษ

ระฆังหย่งเล่อ
ระฆังหย่งเล่อ (ภาพโดย Patrick20242023, จากwikipeadia)

ระฆังหย่งเล่อ เป็นระฆังโบราณอายุกว่า 600 ปี ที่ตั้งชื่อตามพระนามของจักรพรรดิหย่งเล่อ (ครองราชย์ ค.ศ. 1402-1424) แห่งราชวงศ์หมิง ด้วยพระองค์มีพระราชดำริให้หล่อขึ้น เนื่องจากในสมัยโบราณ ระฆังเป็นของจำเป็นที่ใช้ในงานรัฐพิธีสำคัญๆ

จักรพรรดิหย่งเล่อ (ภาพจาก : wikicommon)

ระฆังใบนี้ยกย่องว่าเป็น “เจ้าแห่งระฆังโบราณ” ด้วยคุณสมบัติหลายประการด้วยกัน

อัจฉริยะของช่างฝีมือผู้สร้าง

ระฆังใบนี้มี ความสูง 6.75 เมตร, เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.30 เมตร, น้ำหนักรวม 46,500 กิโลกรัม หล่อขึ้นมาจากการผสมของ ทองแดง, ดีบุก, โลหะ และตะกั่ว

การหล่อระฆังที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้ ในยุคอดีตที่ไม่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ แม้จะผ่านมาหลายปีระฆังก็คงสภาพดั้งเดิม ไม่เคยเสียหายรุนแรง  ย่อมแสดงถึงความความรู้สามารถของช่างผู้หล่อระฆังใบนี้

ระฆังหย่งเล่อ ระฆัง
คนที่ยืนอยู่ข้างๆ ดูเล้กไปถนัดตาเมื่อเทียบกับระฆังใบใหญ่่ (ภาพจาก http://thai.cri.cn)

อัศจรรย์คุณภาพเสียง

ในด้านคุณภาพเสียงระฆังใหญ่ใบนี้ก็ไม่น้อยหน้าใคร เมื่อตีระฆังจะเกิดดังกังวาน สามารถดังได้ไกลประมาณ 40-50 กิโลเมตร และมีเสียงแว่วของระฆังนานถึง 2 นาที

จนผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ที่เกี่ยวกับเสียงของญี่ปุ่นที่เคยฟังเสียงของระฆังหย่งเล่อชื่นชมว่า “เสียงระฆังนี้เป็นเสียงที่ไพเราะมากที่สุดในโลกเท่าที่เคยได้ยินมา

การออกแบบที่แยบยล

สิ่งที่ล้ำค่าที่สุดของระฆังใหญ่ใบนี้คือ ช่างผู้ออกแบบระฆังที่คิดแกะพิมพ์หล่อตัวระฆังทั้งด้านใน และด้านนอก ด้วยบทพระคัมภีร์และพระสูตรต่างๆ ด้วยกันถึง 4 ภาษา คือ ภาษาฮั่น, ภาษาแมนจู, ภาษามองโกเลีย และภาษาสันสกฤต รวมทั้งสิ้น 230,000 ตัวอักษร ขณะที่ระฆังส่วนใหญ่มักจารบนระฆังเพื่อบันทึกประวัติการสร้างระฆังใบนั้น

ด้วยคุณภาพทั้ง 3 ข้อ เมื่อตีระฆังก็จะเกิดการสั่นสะเทือนผ่านพระคัมภีร์และคาถาที่ตัวระฆัง ประหนึ่งสาธายายมนต์ที่ออกไปกับเสียงระฆัง

ระฆังหย่งเล่อ
พระคัมภีร์และพระสูตรต่างๆ ที่ด้านนอกของระฆัง (ภาพโดย Patrick20242023, จาก wikipeadia)

ระฆังหย่งเล่อในโอกาสพิเศษ

เมื่อสร้างระฆังเสร็จ เคยไปแขวนอยู่ในสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง จนเมื่อปี ค.ศ. 1751 ในรัชกาลจักรพรรดิเฉียนหลง มันได้ย้ายเข้าไปใน “วัดเจวี๋ยเซิง” ที่กรุงปักกิ่ง จากนั้นชื่อของวัดจึงได้เปลี่ยนเป็น “วัดต้าจง (วัดระฆังใหญ่)” โดยแขวนระฆังใบนี้ไว้ที่วัดต้าจงเรื่อยมา ซึ่งปัจจุบันจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ระฆังโบราณต้าจงซื่อ วัดต้าจง และจัดเก็บระฆังโบราณสำคัญจำนวนมาก

ระฆังหย่งเล่อ
วัดต้าจง (วัดระฆังใหญ่) (ภาพ 颐园新居 , จาก wikipeadia)

ส่วนใครที่อยากฟัง เสียงระฆังที่ว่าไพเราะนั้น สมราคาคุยหรือไม่

ต้องบอกว่า ระฆังใหญ่ใบนี้ไม่ได้ตีกันพร่ำเพรื่อ จะตีเฉพาะโอกาสพิเศษเท่านั้น ซึ่งช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะมาถึง ในคืนวันสิ้นปี เวลา 00.00 นาฬิกา จะมีการตี “ระฆังหย่งเล่อ” 108 ครั้ง เพื่ออำลาปี เก่าต้อนรับปีใหม่ ล้างหูรอได้เลย 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วิทยาลัยภาษาจีนปักกิ่ง, มหาวิทยาลัยครูหนานจิง, มหาวิทยาลัยครูอันฮุย. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเทศจีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2550.

“พิพิธภัณฑ์ระฆังโบราณต้าจงซื่อที่กรุงปักกิ่ง (1)”, “พิพิธภัณฑ์ระฆังโบราณต้าจงซื่อที่กรุงปักกิ่ง (2)” ใน http://thai.cri.cn  เผยแพร่เมื่อ 2015-06-15


แก้ไขปรับปรุงในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2568