อิฐจินจวน ก้อนอิฐที่ใช้เวลา 2 ปี จึงผลิตสำเร็จ

พระราชวังต้องห้าม ปักกิ่ง
พระราชวังต้องห้าม กรุงปักกิ่ง (photo by jensjunge, via pixabay.com/)

ราชสำนักชิง มีกฎว่า หากใช้ “อิฐจินจวน” ที่ใช้ก่อสร้างซ่อมแซม “พระราชวังต้องห้าม” ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด เมื่อใช้อิฐใหม่ปูพื้นจนเต็มแล้ว อิฐเก่าที่รื้อออกไปต้องบันทึกไว้ชัดเจน และส่งมอบกลับตามจำนวน ครั้งหนึ่งในรัชศกเฉียนหลงปีที่ 59 จักรพรรดิเฉียนหลง มีรับสั่งถามอย่างจริงจังว่า อิฐจินจวนชุดเก่าที่เปลี่ยนออกไปจากประตูหลงจงและประตูจิงอวิ้นขึ้นอยู่ที่ใด และมีการตรวจสอบอย่างจริงจัง รวมถึงการลงโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ทำไมแค่อิฐเก่า ๆ ต้องตรวจสอบกันถึงเพียงนี้ เช่นนั้นก็ต้องมาดูประวัติ และวิธีการผลิตอิฐจินจวนกัน จ้าว กว่างเชา เขียนอธิบาย (อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และชาญ ธนประกอบ-แปล) ไว้ในหนังสือ “ร้อยเรื่องราว วังต้องห้าม” (สนพ.มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2560) พอสรุปความได้ว่า

ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงก็มีการใช้อิฐจินจวนในพระราชวังแล้ว โดยเมืองซูโจวเป็นแหล่งผลิตสำคัญ ทั้งมีขั้นตอนการผลิตที่พิถีพิถันดังนี้

1. คัดเลือกดินฤดูใบไม้ผลิ มาตากแห้ง ทุบ ตี นวด กรอง หลังจากนั้นเหยียบนวดซ้ำอีกหลายครั้ง

2. ก่อนปั้นขึ้นเป็นโกลนได้นั้น ต้องนำดินไปตากแห้งในร่มไปเรื่อย ๆ 8 เดือน ไม่อาจเร่งรัดลดเวลาได้

3. เมื่อเผาต้องใช้หญ้าคังเป็นเชื้อเพลิง 1 เดือน, อีก 1 เดือนใช้ฟืนแผ่น, อีก 1 เดือนใช้ฟืนลำต้น, และใช้ฟืนกิ่งอีก 1 เดือน 10 วัน ครบ 4 เดือนจึงดับไฟในเตาเผา

อิฐจินจวน ที่ออกจากเตาแล้วผ่านการคัดเลือกต้องมีสีเหลืองบริสุทธิ์ เสียงดังกังวาน รูปร่างสมบูรณ์ไม่บิดเบี้ยว ไม่มีตำหนิใด ๆ จึงจะได้มาตรฐาน กระบวนการผลิตทั้งหมดใช้เวลา 2 ปี

แต่นี่เป็นเพียงกระบวนการผลิต เมื่อต้องการนำมาใช้ ก็มียังมีอีกขั้นตอนหนึ่ง เมื่อจะนำอิฐจินจวนไปใช้ ต้องล้างน้ำ เจาะรู ทาหมึก หลอมขี้ผึ้ง ขั้นตอนการหลอมขี้ผึ้งสำคัญและต้องพิถีพิถัน อากาศต้องแห้ง จึงต้องทำช่วงเดือน 8-9 หากพลาดช่วงนี้แล้วจะต้องรอฤดูใบไม้ผลิปีถัดไป

จักรพรรดิใช้เวลา 4 ปีสถาปนาพระราชวังต้องห้ามได้ ก็ใช้เวลาเกือบ 2 ปี เพื่อขัดเงาอิฐ 1 ก้อนได้ อิฐจินจวนจัตุรัสเล็ก ๆ ขนาด 2 ฟุต แต่ก็คุ้มค่า เพราะแม้จะผ่านเวลาหลายร้อยปี ทว่ายังคงแวววาว ส่วนสนนราคาขนาด 2 ฟุต 1 ก้อน ราคา 9 เฉียน 1 แพงกว่าอิฐคุณภาพดีอย่างอิฐหลินชิง 20-30 สิบเท่าตัว

โดยในพระราชวังต้องห้าม ที่เป็นกลุ่มสถาปัตยกรรมเครื่องไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่วัสดุก่อสร้างที่ใช้มากที่สุดมิใช่ไม้ หากเป็นอิฐที่เผาจากดินเหนียว ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าอิฐปูพื้นในพระราชวังต้องห้าม บางส่วนมีถึง 7 ชั้น หมู่พระตำหนัก 1 หมู่ใช้อิฐ 20 ล้านก้อน ส่วนกำแพงเมือง กำแพงวัง และชุดฐาน 3 ชั้นใช้อิฐประมาณ 80 ล้านก้อนขึ้นไป (จาก หมิงได้กงถิงเจี้ยนจู้สื่อ)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ตุลาคม 2564