“พระราชวังต้องห้าม” นอกจากนางกำนัล ยังมีโรงเรียน และหอเก็บตำรา

พระราชวังต้องห้าม
พระราชวังต้องห้าม

“พระราชวังต้องห้าม” นอกจากนางกำนัล ยังมีโรงเรียนและหอเก็บตำราเพื่อ “การศึกษา”

บรรพชนของราชวงศ์ชิง เป็นคนจากนอกด่าน แต่เอาใจใส่จริงจังกับการศึกษาไม่ยิ่งหย่อนกว่าราชวงศ์อื่นๆ รัชทายาทต้องเรียนหนังสือตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แม้การพิมพ์หนังสือสมัยราชวงศ์หมิงเจริญรุ่งเรืองและฝีมือละเมียด แต่การพิมพ์หนังสือโดยราชสำนักชิงก็ต้องนับว่าเป็นยุคทองของราชสำนักเช่นกัน

ราชสำนักชิงยังจัดตั้งโรงเรียนที่กรุงปักกิ่งให้ผู้เรียนหนังสือของแต่ละชนเผ่าและแต่ละอาณาจักร ด้วยระบบการศึกษาที่สมบูรณ์ยิ่งกว่าสมัยใดๆ

หลิวฉิวเสวียก่วน ก่อตั้งในรัชศกคังซีปีที่ 23 เป็นโรงเรียนทางการสำหรับนักเรียนจากเกาะริวกิว

เอ๋อหลัวซื้อเสวียก่วน ทรงอนุมัติให้จัดตั้งในรัชศกยงเจิ้งปีที่ 5 เป็นโรงเรียนทางการสำหรับนักเรียนจากรัสเซีย

หุยจื่อเสวียถัง ก่อตั้งในรัชศกเฉียนหลงปีที่ 21 เป็นโรงเรียนทางการสำหรับนักเรียนเผ่าหุยในซินเจียง

เหมียนจื่อเสวียก่วน ก่อตั้งในรัชศกเฉียนหลง ปีที่ 32 เป็นโรงเรียนทางการสำหรับนักเรียนจากอวิ่นหนาน

ส่วนการศึกษาของเชื้อพระวงศ์ และข้าราชสำนักก็มีสถานศึกษาเฉพาะเช่นกัน

เสียนอานกงกวนเสวีย จัดตั้งในรัชศกยงเจิ้งปีที่ 6 เพื่ออบรมลูกหลานขุนนาง 8 กองธง และคัดเลือกนักเรียนที่ผลการเรียนยอดเยี่ยมจากโรงเรียนจึงซานกวนเสวียเข้าศึกษาต่อ

ซ่างซูฝาง โรงเรียนสอนพระโอรสราชวงศ์ชิง อยู่ด้านในประตูเฉียนขิง ตามกฎมณเฑียรบาล เมื่อองค์ชายครบ 6 พรรษา ต้องทำพิธีเซ่นไหว้ป้ายวิญญาณขงจื่อ เข้าเรียนหนังสือที่ซ่างซูฝาง

เหวินฮว่าเตี้ยน เป็นสถานที่เรียนรู้ของจักรพรรดิ ด้วยการฟังอรรถาธิบายคัมภีร์โบราณและอรรถาธิบายรายวัน อรรถาธิบายคัมภีร์โบราณชุนชิวจัดที่เหวินฮว่าเตี้ยน ตั้งแต่รัชศกคังซีจนถึงรัชศกเต้ากวง องค์ชายก็ร่วมฟังได้

ส่วนการพิมพ์หนังสือราชวงศ์ชิง รัชศกคังชีปีที่ 19 (ค.ศ. 1680) อู่อิงเตี้ยนกลายเป็นที่จัดทำแม่พิมพ์, พิมพ์ และเย็บเล่มหนังสือของราชสำนักโดยเฉพาะ ร่วมกับหนิงเต้าเตี้ยนและฮ่วนจางเตี้ยน นอกจากนี้ ในพระราชวังต้องห้ามยังมีอาคารที่ใช้เก็บหนังสือที่มีมากกว่าในมหาวิทยาลัยทั่วไป คลังหนังสือขนาดใหญ่ได้แก่ เหวินยวนเก๋อ, ฉินเจ่าถัง, เจาเหรินเตี้ยน ฯลฯ รวมทั้งจิ่งหยางกงซึ่งอยู่ที่ฝ่ายในก็ใช้เก็บหนังสือมีค่าเช่นกัน และอาคารหอหนังสือสำคัญอื่น เช่น

เจาเหรินเตี้ยน รัชศกเฉียนหลงปีที่ 9 (ค.ศ. 1744) เริ่มเก็บหนังสือต่างๆ กว่า 420 เล่ม

อีว์ซูฝาง อาคารที่จักรพรรดิเฉียนหลงรวบรวมหนังสือเหมาซือ พระนิพนธ์ของจักรพรรดิซ่งฮุยจง และภาพประกอบเหมาซือซึ่งจิตรกรหม่าเหอวาดตามพระราชบัญชาได้ครบ

เหวินยวนเก๋อ เก็บซื่อคู่เฉวียนซู และกู่จินเฉวียนซูจี๋เฉิงรวมหลายหมื่นเล่ม เป็นคลังหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในวังของราชวงศ์ชิง

ฉินเจ่าถัง เก็บซื่อคู่เฉวียนซูฮุ่ยเย่า ส่วนสำคัญจากซื่อคู่เฉวียนซู เลือกโดยคณะเรียบเรียงของจักรพรรดิเฉียนหลงหลังเรียบเรียงซื่อคู่เฉวียนสำเร็จ รวม 463 ประเภท 20,828 ม้วน 11,178 เล่ม

หย่างซิ่งไจ คลังหนังสือแบบเคลื่อนที่ได้ซึ่งสร้างเพื่อชำระซื่อคู่เฉวียนซูโดยเฉพาะ หนังสือที่ได้มาหลังรัชศกเฉียนหลงปีที่ 41 (ค.ศ. 1776) เก็บไว้ที่หยางซิ่งไจเพื่อรอรวมเข้าไปในซื่อคู่เฉวียนซู

อู่อิงเตี้ยน นอกจากเตรียมแม่พิมพ์หนังสือแล้ว ยังใช้เก็บหนังสือ อาทิ “ดัชนีค้นคำ” ทั้งที่รวมไว้และแยกเป็นเอกเทศของซื่อคู่เฉวียนซูจ่งมู่

เน่ยเก่อต้าคู่ ที่เก็บจดหมายเหตุราชวงศ์หมิงและชิง

สํานักหมอหลวง เก็บตำราแพทย์และข้อมูลการรักษา

โซ่วอานกง หลังก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พระราชวังโบราณใน ค.ศ. 1925 เปิดให้โซ่วอานกงเป็นห้องสมุดของพระราชวังต้องห้ามและใช้งานมาจนปัจจุบัน

หย่างซินเตี้ยน ที่ประกอบด้วย ซานซีถัง ห้องหนังสือเล็กที่จักรพรรดิเฉียนหลงเก็บหนังสือของนักเขียนสกุลหวัง สุยอานซื่อ-ห้องหนังสือเล็กของจักรพรรดิเฉียนหลง หมิงชวง-บริเวณที่จักรพรรดิเฉียนหลงอ่านหนังสือช่วงฤดูหนาว อู๋เจวี่ยนไจ-ห้องหนังสือเล็กของจักรพรรดิเฉียนหลง มีชั้นเก็บหนังสืออาทิ สือซานจิง เอ้อร์สือซื่อสือ ฉินเจิ้งชินเสียน-คือที่สำหรับจักรพรรดิตรวจอนุมัติฎีกาและอ่านหนังสือ

ฯลฯ

หลังกำแพงของ พระราชวังต้องห้าม นอกจากการแย่งชิงอำนาจ และเหล่าสนมกำนัลจำนวนมาก ก็ยังมีหอเก็บตำราจำนวนมาก และสถานศึกษาเพื่อ “การศึกษา” ด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

จ้าวกว่าเชา เขียน, อชิรัชญ์ ไชยพจน์พาณิช และ ชาญ ธนประกอบ แปล. ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2564