ไท่เหอเตี้ยน อาคารที่มีฐานะสูงสุดและขนาดใหญ่ที่สุดในพระราชวังต้องห้าม

ไท่เหอเตี้ยน พระราชวังต้องห้าม ภาพวาด
ไท่เหอเตี้ยน และลานหน้าพระที่นั่ง ที่เหล่าขุนนางแม่ทัพมาเข้าเฝ้า

“ไท่เหอเตี้ยน” เรียกแบบไม่เป็นทางการว่า “จินหลวนเตี้ยน” เป็นอาคารที่ฐานะสูงสุดและขนาดใหญ่ที่สุดใน “พระราชวังต้องห้าม” สร้างเสร็จสมบูรณ์สมัยราชวงศ์หมิง รัชศกหย่งเล่อปีที่ 18 (ค.ศ. 1420) ขณะนั้นมีนามว่าเฟิ่งเทียนเตี้ยน ต่อมาในรัชศกเจียจิ้งปีที่ 41 (ค.ศ.1562) เปลี่ยนนามเป็นหวงจี๋เตี้ยน จนกระทั่งยุคราชวงศ์ชิง รัชศกซุ่นจื้อปีที่ 11 (ค.ศ. 1645) จึงเปลี่ยนมาใช้ “ไท่เหอเตี้ยน” จนถึงปัจจุบัน

คําว่า “ไท่เหอ” หมายถึง “ความผสมผสานกลมกลืนอันยิ่งใหญ่ที่สุด” โดยจารึกอุดมการณ์การปกครองของทั้งราชวงศ์ชิงนี้ไว้เป็นภาษาจีนและภาษาแมนจู พระที่นั่งหลังนี้เป็นพระที่นั่งไม้หลังเดียวที่ขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาสถาปัตยกรรมจีนโบราณที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เมื่อนับรวมชุดฐานแล้วสูง 35.5 เมตร เทียบเท่าตึกสมัยใหม่ 12 ชั้น  หน้าไท่เหอเตี้ยน มีพื้นที่ 30,000 ตารางเมตร นับเป็นลานจัตุรัสในเคหสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งลานไม่มีต้นไม้ใบหญ้าแม้สักต้น

จักรพรรดิทั้ง 24 พระองค์แห่งราชวงศ์หมิงและชิงล้วนจัดพระราชพิธีสําคัญ ณ ไท่เหอเตี้ยน และลานหน้าไท่เหอเตี้ยน เช่น พิธีขึ้นครองราชย์, พิธีอภิเษกสมรสแต่งตั้งมเหสี, ประกาศพระราชโองการให้แม่ทัพออกศึก, ในวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันหยวนตั้น และวันตงจื้อ [คนไทยเรียกเทศกาลขนมบัวลอย] จะมีพระราชพิธีใหญ่ จักรพรรดิรับคําถวายพระพรจากข้าราชสํานัก พระราชทานเลี้ยงแก่เชื้อพระวงศ์และขุนนางชั้นสูง ฯลฯ

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 กองทัพญี่ปุ่นที่บุกจีน จนต้องการประกาศยอมแพ้ พิธีรับคําประกาศยอมแพ้อย่างเป็นทางการของสมรภูมิภาคเหนือจีนก็จัดขึ้นที่ลานจัตุรัสไท่เหอเตี้ยนอีกเช่นกัน วันนั้นมีผู้ร่วมสังเกตการณ์กว่าแสนคน และเป็นครั้งสุดท้ายที่ใช้ไท่เหอเตี้ยนจัดพิธีสําคัญระดับชาติ

จัตุรัสไท่เหอเตี้ยนแสดงถึงแนวคิดที่สําคัญที่สุดในงานสถาปัตยกรรมจีน ว่า “ความสําเร็จสูงสุดของการมีข้อจํากัด คือการหวนคืนสู่อ้อมกอดของความไร้ขีดจํากัด” ลักษณะของลานกลางบ้านแบบดั้งเดิมของจีนคือตัวอย่างที่ดีประการหนึ่ง การมีอยู่ (อาคาร 4 ด้าน) โอบล้อมความไม่มี (ลาน) จัตุรัสขนาด 30,000 ตารางเมตร เป็นเพียงแค่พื้นที่ส่วนหน้าของไท่เหอเตี้ยนซึ่งตั้งอยู่บนชุดฐาน 3 ขั้นเท่านั้น สิ่งที่กดทับสรรพสิ่งทั้งปวงแท้จริงแล้วคือผืนฟ้ากว้างใหญ่ ซึ่งแบกรับไว้โดยหลังคาพระที่นั่งที่ดูราวโดนลมพัดจนบิดโค้ง

“สีแดง (ผนังกําแพง) สีเหลือง (หลังคา) และสีน้ำเงิน (ท้องฟ้า) คือแม่สีทั้งสาม สามารถผสมให้เกิดเป็นสีสันทั้งหมดทั้งมวล (บนจานสี) ในทางทัศนศาสตร์ การหักเหของแสงทําให้เกิดสายรุ้ง หรือแม้แต่กลายเป็น ลําแสงที่ไม่มีสีใดๆ เลยก็ได้” (จาก หนังสือต้าจื่อจิ้นเฉิง บทว่าด้วยสี)

สวรรค์มองอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ก็มองสวรรค์เช่นกัน การเข้าเฝ้าที่ท้องพระโรงจึงประหนึ่ง พิธีเข้าเฝ้าสวรรค์ ลองจินตนาการดูว่า ในยุคนั้นเหล่าขุนนางคุกเข่าอยู่เบื้องล่าง จึงไม่อาจมองเห็นว่าจักรพรรดิกำลังเผากํายานในติ่ง 18 ใบ และประติมากรรมทองแดงรูปสัตว์ เช่น นกกระเรียน, เต่าทองแดง ขณะที่ควันกํายานลอยออกมา ทั้งหมดนี้ค่อยๆ ลอยเลื่อนเคลื่อนขึ้นไปรวมกับเมฆขาวภายใต้แสงรุ่งอรุณที่สาดส่อง เหล่าขุนนางแหงนมองไท่เหอเตี้ยน แหงนมองโอรสสวรรค์ผู้รับโองการสวรรค์ แหงนมองผืนฟ้ากระจ่างรอบกาย

เมื่อพิจารณาในขอบเขตของพื้นฐานการออกแบบสมัยใหม่ ช่างสามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับการเลือกสีให้สัมพันธ์กับรูปทรง กล่าวคือ หลังคาทรงกรวยมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ซึ่งสร้างความรู้สึกที่ก้าวไปข้างหน้า อาคารพระที่นั่งทรงสี่เหลี่ยมใช้สีแดง ซึ่งร้อนแรงดูเข้มแข็งและมีพลัง ด้านล่างของพระที่นั่งคือฐานสูงสีขาว ซึ่งมีแสงและเงาสีสันสว่างสวยงาม ปลุกให้จัตุรัสกว้างใหญ่แห่งนี้ตื่นจากความหลับใหล ภายใต้ท้องฟ้าแต่ละฤดูกาลของเมืองหลวงอย่างปักกิ่ง

จนปัจจุบันยังไม่พบระบบการสร้างงานสถาปัตยกรรมที่ใช้สีแบบง่ายๆ เช่นนี้บนพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ใช้เส้นสีอันซับซ้อนเช่นนี้มาประคับประคองไว้ด้วย เมื่อองค์ประกอบทั้งสอง (หลังคาและตัวอาคาร) ยิ่งมีขนาดใหญ่ แถบสีที่อยู่ใต้ชายคายิ่งส่องแสง แวววาว เคลื่อนไหวอยู่ภายใต้เงาชายคานั้น ทําให้หลังคาที่ดูหนักลอยสูงขึ้น ขณะเดียวกันนั้นก็ดึงรั้งไว้ให้อยู่ ณ ตําแหน่งเดิม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงจาก จ้าวกว่าเชา เขียน, อชิรัชญ์ ไชยพจน์พาณิช และ ชาญ ธนประกอบ แปล. ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ตุลาคม 2565