พิธีกินเจของจักรพรรดิจีน ในพระราชวังต้องห้าม

ป้าย ถือศีลกินเจ สำหรับ แขวน ติดตัว
ป้ายถือศีลกินเจที่ให้แขวนติดตัว  (ภาพจาก “ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม” )

“พิธีถือศีลกินเจ” ในสมัยราชวงศ์ชิงรับสืบทอดประเพณีมาจากยุคก่อนหน้า จักรพรรดิถือศีล กินเจ ก่อนประกอบพิธีเซ่นไหว้ตามเทศกาลสำคัญ หรือรัฐพิธีต่าง ๆ โดยพิธีใหญ่ถือศีลกินเจ 3 วัน, พิธีกลาง 2 วัน และพิธีรวม 1 วัน พิธีใหญ่มีพิธี 13 รายการ ซึ่งโดยทั่วไปจักรพรรดิเป็นประธานพิธี, พิธีกลางมี 13 รายการ และพิธีอื่น 53 รายการ โดยพิธี 2 ประเภทหลังส่วนใหญ่มอบหมายให้ขุนนางทำพิธีแทน (จากจื่อจิ้นเฉิงเน่ยไจกงเตอะเจี้ยนจื้อเหอสื่อย่ง) รวมแล้วในแต่ละปีจึงมีพิธีถือศีลกินเจประมาณ 100 กว่าวัน

เดิมสมัยราชวงศ์หมิง-ต้นราชวงศ์ชิง ทำพิธีถือศีลกินเจนอกวังมาตลอด แต่สมัยจักรพรรดิยงเจิ้ง มีการชิงบัลลังก์จนเกิดความขัดแย้งรุนแรงในราชสำนัก จึงกังวลว่าอาจมีการลอบปลงพระชนม์หรือล้มราชบัลลังก์ เพื่อความปลอดภัยจึงโปรดให้สร้างไจกงในรัชศกยงเจิ้งปีที่ 9 (ค.ศ. 1731) อยู่บนพื้นที่เดิมของหงเข่าเตี้ยน และเสินเซียวเตี้ยน และทำพิธีถือศีลกินเจในวังแทนเรื่อยมา

ข้อห้ามระหว่างที่จักรพรรดิถือศีลกินเจ เช่น ต้องชำระร่างกาย, เปลี่ยนเครื่องทรง, ห้ามเสวยของโปรด, ห้ามพิจารณาโทษ, ห้ามจัดงานรื่นเริง, ห้ามร่วมหลับนอนกับสตรี, ห้ามเยี่ยมผู้ป่วยและไว้ทุกข์, ห้ามเสวยสุรา, ห้ามเซ่นไหว้เทพเจ้า, ห้ามทำความสะอาดสุสาน ฯลฯ

ในสมัยโบราณ พิธีถือศีลกินเจ จะชำระร่างกายก่อนพิธีเซ่นไหว้ เพื่อแสดงถึงความเคารพ สมัยราชวงศ์หมิงมีกฏให้ทุกจวนคือ การติดป้ายถือศีลกินเจว่า “อาณาจักรมีกฎหมาย เทพเจ้าย่อมดูแลสอดส่อง”

รัชศกยงเจิ้งปีที่ 10 (ค.ศ. 1732) จักรพรรดิทรงเห็นว่า ป้ายถือศีลกินเจหน้าจวนไม่อาจเตือนใจได้ดีพอ จึงออกแบบป้ายถือศีลกินเจตามแบบป้ายห้อยเอวที่นิยมสมัยราชวงศ์หมิง ขนาด 4.9 เซนติเมตร สลักคำว่า “ถือศีลกินเจ” ด้านหนึ่งเป็นภาษาจีน อีกด้านเป็นภาษาแมนจู มีป้ายที่ทำจากวัสดุและรูปทรงหลากหลาย

ซึ่งรวมแบบหนึ่งเป็นป้ายเล็ก ๆ แขวนไว้แนบอก ผู้ที่ต้องเข้าพิธีเซ่นไหว้ในช่วงถือศีล กินเจต้องแขวนป้ายไว้เพื่อเตือนตนเองและผู้อื่นให้สำรวม ขณะเดียวกันป้ายถือศีลกินเจประดิษฐ์ได้งดงาม จนกลายเป็นของขวัญที่จักรพรรดิพระราชทานแด่ขุนนางผู้ใหญ่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

จ้าวกว่างเชา-ผู้เขียน, อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และ ชาญ ธนประกอบ-แปล, ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563


เผยแพร่ในระบบออนลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2564