เทศกาลกินเจ กับ สมาคมลับเพื่อโค่นชิงฟื้นหมิง

เทศกาลกินเจ
ดาวเป๋ยโต่ว (ดาวกระบวยเหนือ) ที่ลงมาตรวจโลกมนุษย์ในเทศกาลกินเจ

เทศกาลกินเจ กับ สมาคมลับเพื่อโค่นชิงฟื้นหมิง

สมาคมลับ ผู้เป็นแกนนำชูอุดมการณ์ “โค่นชิงฟื้นหมิง” คือ พวกหงเหมิน (洪门) แต้จิ๋วว่า “อั่งมึ้ง” ในเมืองไทยเรียก “อั้งยี่” คำว่า อั้งหรือหง (洪) ในที่นี้เป็นคนละคำกับ อั้งหรือหง (红) ที่แปลว่า สีแดง อักษร 洪 (หง, อั้ง) ตัวนี้หมายถึง น้ำหลาก, ไหลหลาก และใช้เป็นแซ่คือ แซ่อั้ง ในภาษาแต้จิ๋ว หรือแซ่หงในภาษาจีนกลาง สมาคมลับพวกนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับเทศกาลกินเจ ?

มหาพจนานุกรมจีน (汉语大词典 ) อธิบายคำ หงเหมิน ในแง่องค์กรลับไว้ว่า “หงเหมิน : สมาคมลับพื้นบ้านสมาคมหนึ่งในยุคราชวงศ์ชิง เรียกอีกอย่างว่า หงปัง (พรรคหง) เป็นขบวนการที่พัฒนามาจากเทียนตี้ฮุย (สมาคมฟ้าดิน) มุ่งโค่นชิงฟื้นหมิงเป็นจุดหมายหลัก

Advertisement

ว่ากันว่าใช้คำว่า หง จากชื่อรัชศกหงอู่ของพระเจ้าหมิงไท่จู่เป็นคำเรียกขาน (จึงได้นามว่าหงเหมิน ชาวหง) สมาชิกของสมาคมเรียกกันว่า พี่น้องชาวหง แพร่หลายอยู่แถบลุ่มแม่น้ำแยงซี และลุ่มแม่น้ำจูเจียง ทั้งยังมีองค์กรสาขาที่จัดตั้งในโพ้นทะเลอีกด้วย

หนังสือกำเนิดการปฏิวัติของซุนยัตเซนกล่าวว่า หงเหมินเกิดจากขุนนางเก่าของราชวงศ์หมิงในช่วงรัชกาลคังซี…มุ่งโค่นชิงฟื้นหมิงเป็นเป้าหมายหลัก รวมตัวกันเป็นสมาคมขึ้นมา”

สมาคมหงเหมินยังมีชื่ออื่นอีกเช่น ซันเหอฮุ่ย (三合会 ซาฮะหวย) แปลว่า องค์สามหรือสามประสานคือ ฟ้า ดิน มนุษย์

ดาวเป๋ยโต่ว (ดาวกระบวยเหนือ) ที่ลงมาตรวจโลกมนุษย์ในเทศกาลกินเจ

กำเนิดของสมาคมหงเหมินมี 3 ทฤษฎี

ทฤษฎีแรก ซุนยัตเซนและเถาเฉิงเจียงเชื่อว่า ขุนนางเก่าของราชวงศ์หมิงร่วมกันก่อตั้งขึ้นเพื่อโค่นชิงฟื้นหมิง มีเจิ้งเฉิงกง (พ.ศ. 2167-2205) เป็นผู้นำคนแรก โดยถือเอา ฟ้าเป็นพ่อ ดินเป็นแม่ จึงเรียกสมาคมฟ้าดิน (เทียนตี้ฮุ่ย-ทีตี่หวย)

ช่วงเวลาเดียวกันนี้ ขุนนางเก่าของราชวงศ์หมิงร่วมกันตั้งขบวนการต่อต้านราชวงศ์ชิงขึ้นอีกหลายแห่ง ที่สำคัญคือ หงอิงร่วมมือกับกู้เอี้ยนอู่และคนอื่น ๆ ตั้งสมาคมฮั่นหลิว ซึ่งภายหลังร่วมกับสมาคมฟ้าดิน ใช้ชื่อว่า หงเหมิน ตามแซ่ของหงอิง

ตามทฤษฎีนี้มีตำนานเกี่ยวข้องกับวัดเส้าหลินใต้ที่ฮกเกี้ยน เป็นตำนานที่เล่าขานไปทั่วรวมทั้งประเทศไทย สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “เปิดโลกยุทธจักร” ซึ่ง อรุณ  โรจนสันติ แปลจากภาษาจีน

ทฤษฎีที่สอง มีตำนานว่า ในรัชกาลคังซี พระวัดเส้าหลินใต้ที่ฮกเกี้ยนช่วยราชวงศ์ชิงรบขับไล่ศัตรูที่เข้ามาตีจีน แต่แล้วกลับถูกหักหลังล้อมเผาวัด มีหลวงจีนหนีไปได้เพียง 5 องค์ ถึงอำเภอสือเฉิง เมืองฮุ่ยโจว มณฑลกวางตุ้ง ได้พบกับว่านหยุนหลง กรีดเลือดสาบานกันตั้งสมาคมฟ้าดินขึ้น ตำนานนี้คล้ายกับตำนานอั้งยี่ ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในนิทานโบราณคดี

ทฤษฎีที่สาม ไช่เส้าชิงค้นคว้าจากเอกสารและจดหมายเหตุปราบกบฏหงเหมินกลุ่มหลินซวงเหวินในไต้หวันในรัชกาลคังซีได้ข้อสรุปว่า หลวงจีนหงเอ้อร์ (อีกชื่อหนึ่งว่า ว่านถีสี่) ก่อตั้งสมาคมนี้ขึ้นเมื่อพ.ศ. 2304 รัชกาลเฉียงหลง โดยรวมศิษย์และสมัครพรรคพวกขึ้นที่อำเภอจางผู่ เมืองจางโจว มณฑลฮกเกี้ยนก่อน มีปณิธานโค่นชิงฟื้นหมิง และร่วมแรงแข็งขันถือว่า “น้ำป่าไหลหลากลงใต้ฟ้า หยดเลือดร่วมสาบานร่วมแซ่หง”

ทฤษฎีทั้งสามนี้ ทฤษฎีที่สามเชื่อถือได้มากที่สุด แต่ทฤษฎีแรกแพร่หลายที่สุดและก็มีความเป็นไปได้มากกว่า สมาคมหงเหมินคงมีเค้ามาตั้งแต่ยุคเจิ้งเฉิงกง แต่มาสมบูรณ์ชัดเจนในยุคหลวงจีนหงเอ้อร์ตามทฤษฎีที่สาม

เมื่อแรกก่อตั้ง ขบวนการหงเหมินแพร่อยู่ในมณฑลฮกเกี้ยน กวางตุ้งและเจ้อเจียง แล้วค่อย ๆ ขยายกว้างออกไป ถึงยุคสงครามฝิ่น (พ.ศ. 2383) แพร่ไปหลายมณฑลตลอดจนโพ้นทะเลถึงอเมริกา มีสมาคมสาขาใช้ชื่อต่างกันมากมายทั้งในและนอกประเทศจีน

ขบวนการหงเหมินและเครือข่ายเป็นกบฏและก่อจลาจลหลายครั้ง บางส่วนเข้าร่วมกับกบฏไท่ผิง การโค่นล้มราชวงศ์ชิงของซุนยัตเซนได้รับความช่วยเหลือจากขบวนการหงเหมิน (อั้งยี่) ทั้งในและนอกประเทศจีนรวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งไม่ขอกล่าวรายละเอียด

หลี่เทียนซี่มีความเห็นว่า พวกหงเหมิน (อั้งยี่) คงจะใช้เทศกาลกินเจ บังหน้าหาพวกพ้องร่วมขบวนการต่อต้านราชวงศ์ชิง ศูนย์กลางอยู่ที่มณฑลฮกเกี้ยน ต่อมาถูกปราบ พลอยให้เทศกาลกินเจเสื่อมไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฮกเกี้ยน พวกหงเหมินเป็นอันมากหนีไปดำเนินการต่อในโพ้นทะเล

กิจกรรมสำคัญประการหนึ่งคือสร้างโรงเจ ทำให้เทศกาลกินเจในโพ้นทะเลโดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยกับมาเลย์เซียคึกคักแพร่หลายยิ่งกว่าในจีน โรงเจเหล่านี้ส่วนมากมีกลอนคู่ (ตุ้ยเหลียน-ตุ้ยเลี้ยง) สื่อความหมาย “โค่นชิงฟื้นหมิง” อยู่ด้วย

เทศกาลกินเจ ที่ เยาวราช
ช่วงเทศกาลกินเจที่เยาวราช เมื่อปี 2004 (ภาพจาก AFP)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

หนังสือ “เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้” เขียนโดย ถาวร สิกขโกศล (สำนักพิมพ์มติชน, 2557)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม 2559