ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“หอยนางรมเป็นอาหารเจ” ความเชื่อนี้อ้างอิงมาจากไหน? ทำไมพระมหายานถึงไม่กิน?
“หอยนางรม” เป็น “อาหารเจ” ได้อย่างไร? ความเชื่อเรื่องนี้อ้างอิงมาจากไหน? คำตอบอยู่ในหนังสือ “เทศกาลจีน และการเซ่นไหว้” เขียนโดย ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และประเพณีจีน ได้กล่าวถึงข้อถกเถียงว่า อาหารชนิดใดเป็น “อาหารเจ” หรือไม่ เอาไว้ว่า
“…ในการกินเจมักถือเคร่งครัดกันเรื่องอาหาร จนบางทีมีปัญหาถกเถียงกันว่าอาหารใดเป็นเจหรือไม่เจ เช่น ผักฉุน 5 อย่าง ที่ห้ามกินมีอะไรบ้าง หอยนางรมกินได้หรือไม่ เรื่องผักฉุน 5 อย่าง เมื่อศึกษาที่มาแล้วจะเห็นว่า โบราณไม่กิน เพราะกลิ่นแรงทำให้มึนงง มีผลต่อความสงบของจิตใจ เดิมถือต่างกันไป
ต่อมาในเมืองไทยถือตามแบบพุทธศาสนา และปรับให้สอดคล้องกับผักในเมืองไทย คือ หอม กระเทียม กุยช่าย หอมปรัง (หลักเกี๋ยว) และผักชี มหาหิงคุ์คนไทยไม่ใช้เป็นอาหารอยู่แล้ว การงดเว้นผัก 5 อย่าง จึงเป็นการถือตามประเพณีนิยมที่ปฏิบัติกันมา
ส่วนเรื่องหอยนางรมเป็นอาหารเจหรือไม่นั้น ธนัสถ์ สุวัฒนมหาตม์ เขียนไว้ชัดเจนแล้วดังนี้
‘สิ่งที่น่าแปลกกว่านั้นคือ อาหารบางชนิดแม้จะเป็นเนื้อสัตว์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปกลับถือว่าเป็นของเจ นั่นคือ หอยนางรม ชาวบ้านทั่วไปมีความเชื่อว่า การกินหอยนางรมไม่เป็นการละเมิดข้อห้ามเรื่องกินเจ
ทั้งนี้สืบเนื่องจากตำนานที่เล่ากันเรื่อยมาว่า เมื่อครั้งพระถังซำจั๋งเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกยังชมพูทวีป (ประเทศอินเดียในปัจจุบัน) ระหว่างทางไม่สามารถหาสิ่งใดฉันได้เลย จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า หากมีสิ่งใดที่อาตมาฉันได้โดยไม่ผิดบาป ขอจงปรากฏขึ้นมาเป็นภักษาหารด้วยเถิด ปรากฏว่าหอยนางรมผุดขึ้นมาจากดินเป็นจำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้จึงถือว่า หอยนางรม เป็นของเจ ผู้ที่กินเจจึงสามารถรับประทานหอยนางรมได้
แต่เนื่องจากตำนานดังกล่าวเป็นเพียงวัตถุนิทานที่เล่าสืบต่อกันมาในหมู่ชาวบ้าน ไม่มีหลักฐานอ้างอิง การรับประทานหอยนางรมจึงอนุโลมใช้กับผู้กินเจเป็นกิจวัตร (กินตลอดชีพ) ที่ไม่ใช่พระภิกษุสงฆ์ตามลัทธิมหายานเท่านั้น โดยถือเป็นข้อผ่อนผันให้รับประทานได้บ้างตามโอกาส
แต่สำหรับพระภิกษุสงฆ์ตามลัทธิมหายาน และผู้ที่กินเจในช่วงเทศกาลกินเจยังคงถือเคร่งครัดที่จะไม่รับประทานหอยนางรมอย่างเด็ดขาด’…”
อ่านเพิ่มเติม :
- เทศกาลกินเจ กับ สมาคมลับเพื่อโค่นชิงฟื้นหมิง
- ผ่า “กินเจ” ในไทยกับอิทธิพลงิ้ว-สมาคมลับ “อั้งยี่” จากใช้เทศกาลบังหน้า ถึงจุดสิ้นสุด
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ตุลาคม 2561