ผ่า “กินเจ” ในไทยกับอิทธิพลงิ้ว-สมาคมลับ “อั้งยี่” จากใช้เทศกาลบังหน้า ถึงจุดสิ้นสุด

กินเจ เยาวราช ธงเหลือง
ช่วงเทศกาลกินเจที่เยาวราช เมื่อปี 2004 (ภาพจาก AFP)

เทศกาล กินเจ เป็นประเพณีที่แพร่หลายในไทยอย่างมาก หลายพื้นที่จัดเป็นเทศกาลใหญ่ อิทธิพลซึ่งทำให้การกินเจได้รับความนิยมอย่างสูงในไทย หากอ้างอิงตามข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมไทย-จีนจะพบว่า ไทยได้รับอิทธิพลหลักจาก “งิ้ว” และ “อั้งยี่” ที่เป็นสมาคมทางการเมือง ผสมผสานกับพุทธศาสนามหายานในช่วงหลัง จนมีอัตลักษณ์ชัดเจน

“กินเจ” ในไทย ทำไมเกี่ยวข้องกับ “งิ้ว” 

เนื้อหาในหนังสือ “เทศกาลจีน และการเซ่นไหว้” โดยถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมไทย-จีน ระบุว่า การ “กินเจ” เดือนเก้าในไทย มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าได้รับอิทธิพลมาจาก “งิ้ว” ซึ่งนำการกินเจมาเผยแพร่ในไทย มาจากเนื้อหาที่พระสันทัดอักษรสาร เขียนไว้ในเรื่อง “ประวัติงิ้วในเมืองไทย” เผยแพร่ในนิตยสาร “ศัพท์ไทย” เล่ม 3 ตอน 9 เมษายน พ.ศ. 2467 เนื้อหาระบุว่า

“พวกงิ้วเป็นต้นเหตุที่นำเอาแบบธรรมเนียมการกินเจเข้ามา ได้ตั้งโรงกินเจเรียกว่า ‘เจตั๊ว’ งิ้วนี้เมื่อถึงคราวกินเจต้องกินเจทุกโรง ต่อมาพวกจีนทั้งหลายก็พลอยพากันกินเจไปด้วย แต่ปัจจุบันการกินเจได้เสื่อมลงไปหมดแล้ว”

ผู้เขียนหนังสืออธิบายเพิ่มเติมถึงอิทธิพลของ “งิ้ว” ต่อการ “กินเจ” ในประเทศไทยว่า ผู้ประกอบอาชีพงิ้วจีน (ซึ่งมีมากกว่า 300 ชนิด ที่สำคัญมีกว่า 200 ชนิด) ส่วนมากยึดถือเทศกาลกินเจเดือนเก้าเป็นเทศกาลประจำอาชีพ กลุ่มที่ยึดถือ อาทิ งิ้วปักกิ่ง อานฮุย เซี่ยงไฮ้ แต้จิ๋ว ฯลฯ ในยุคก่อนสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อถึงเทศกาล กลุ่มงิ้วจะแต่งชุดขาวกินเจ 9 วัน

การกินเจในพื้นที่สำคัญอย่างภูเก็ตมีประวัติว่า พวกงิ้วเป็นผู้เริ่มก่อน เมื่อ พ.ศ. 2392 ที่บ้านกระทู้ และมีชาวบ้านร่วมด้วย เมื่อร่วมด้วยและโรคภัยบรรเทาลง จึงทำเป็นประเพณีสืบต่อกันมาตามรูปแบบที่กลุ่มงิ้วสอนไว้

ภาพประกอบข่าว – นักแสดงงิ้วแต่งหน้าก่อนขึ้นเวที เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1998 ณ โรงงิ้วแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง (AFP PHOTO / STEPHEN SHAVER)

สำหรับโรงเจในภาคกลาง ถาวร สิกขโกศล อ้างอิงข้อมูลจากอาจารย์ธีระ วงศ์โพธิ์พระ (ธีรทาส) ซึ่งเป็นผู้ดูแลโรงเจเป้าเก็งเต็งบ่อนไก่คลองเตย ที่อยู่ในหนังสือ “ตำนานศาลเจ้าโรงเจ อายุ 100 ปี เมืองไทย” ว่า วัดจีน ศาลเจ้าจีน โรงกินเจต่างๆ ในไทยกลุ่มที่อายุมากกว่า 100 ปีขึ้นไป ส่วนมากเป็นศิษย์สายวัดเส้าหลิน (เสี่ยวลิ้มยี่) สาขาฮกเกี้ยนประเทศจีน มาก่อสร้างไว้หลายยุค ส่วนมากเป็นภิกษุที่มีความรู้ นักปราชญ์ชาวฮั่นกลุ่มเชื้อสายราชวงศ์หมิงที่หลบหนีภัยสงคราม ท่านเหล่านี้ร่วมขบวนการ “อั้งยี่” สมาคมลับผู้เป็นแกนนำ ชูอุดมการณ์ “โค่นชิงฟื้นหมิง” คือพวก หงเหมิน (洪门) แต้จิ๋วว่า “อั่งมึ้ง” ซึ่งในเมืองไทยเรียกกันว่า “อั้งยี่”

สมาคมหงเหมิน ขบวนการ “อั้งยี่” กับเทศกาลกินเจ

สมาคมหงเหมิน ยังมีชื่ออื่นอีกเช่น ซันเหอฮุ่ย (三合会 ซาฮะหวย) แปลว่า องค์สามหรือสามประสานคือฟ้าดินมนุษย์

กำเนิด “สมาคมหงเหมิน” มี 3 ทฤษฎี

ทฤษฎีแรก ซุนยัตเซนและเถาเฉิงเจียงเชื่อว่า ขุนนางเก่าของราชวงศ์หมิงร่วมกันก่อตั้งขึ้นเพื่อโค่นชิงฟื้นหมิง มี เจิ้งเฉิงกง (พ.ศ. 2167-2205) เป็นผู้นำคนแรก โดยถือเอาฟ้าเป็นพ่อ ดินเป็นแม่ จึงเรียกสมาคมฟ้าดิน (เทียนตี้ฮุ่ย-ทีตี่หวย) ช่วงเวลาเดียวกันนี้ขุนนางเก่าของราชวงศ์หมิงร่วมกันตั้งขบวนการต่อต้านราชวงศ์ชิงขึ้นอีกหลายแห่ง ที่สำคัญคือหงอิงร่วมมือกับกู้เอี้ยนอู่และคนอื่นๆ ตั้งสมาคมฮั่นหลิว ซึ่งภายหลังร่วมกับสมาคมฟ้าดิน ใช้ชื่อว่า หงเหมิน ตามแซ่ของหงอิง ตามทฤษฎีนี้มีตำนานเกี่ยวข้องกับวัดเส้าหลินใต้ที่ฮกเกี้ยน เป็นตำนานที่เล่าขานไปทั่วรวมทั้งประเทศไทย สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “เปิดโลกยุทธจักร” ซึ่งอรุณ โรจนสันติ แปลจากภาษาจีน

ทฤษฎีที่สอง มีตำนานว่าในรัชกาลคังซี พระวัดเส้าหลินใต้ที่ฮกเกี้ยนช่วยราชวงศ์ชิงรบขับไล่ศัตรูที่เข้ามาตีจีน แต่แล้วกลับถูกหักหลังล้อมเผาวัด มีหลวงจีนหนีไปได้เพียง 5 องค์ ถึงอำเภอสือเฉิง เมืองฮุ่ยโจว มณฑลกวางตุ้ง ได้พบกับ ว่านหยุนหลง กรีดเลือดสาบานกันตั้งสมาคมฟ้าดินขึ้น ตำนานนี้คล้ายกับตำนานอั้งยี่ ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในนิทานโบราณคดี

ทฤษฎีที่สาม ไช่เส้าชิงค้นคว้าจากเอกสารและจดหมายเหตุปราบกบฏหงเหมินกลุ่มหลินซวงเหวินในไต้หวันในรัชกาลคังซีได้ข้อสรุปว่า หลวงจีนหงเอ้อร์ (อีกชื่อหนึ่งว่าว่านถีสี่) ก่อตั้งสมาคมนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2304 รัชกาลเฉียงหลงโดยรวมศิษย์และสมัครพรรคพวกขึ้นที่อำเภอจางผู่ เมืองจางโจว มณฑลฮกเกี้ยนก่อน มีปณิธานโค่นชิงฟื้นหมิง และร่วมแรงแข็งขันถือว่า “น้ำป่าไหลหลากลงใต้ฟ้า หยดเลือดร่วมสาบานร่วมแซ่หง”

ผู้เขียนหนังสือมองว่า ทฤษฎีที่สามเชื่อถือได้มากที่สุด แต่ทฤษฎีแรกแพร่หลายที่สุดและก็มีความเป็นไปได้มากกว่า สมาคมหงเหมิน คงมีเค้ามาตั้งแต่ยุคเจิ้งเฉิงกง แต่มาสมบูรณ์ชัดเจนในยุคหลวงจีนหงเอ้อร์ตามทฤษฎีที่สาม

เมื่อแรกก่อตั้ง ขบวนการหงเหมินแพร่อยู่ในมณฑลฮกเกี้ยน กวางตุ้งและเจ้อเจียง แล้วค่อยๆ ขยายกว้างออกไป ถึงยุคสงครามฝิ่น (พ.ศ. 2383) แพร่ไปหลายมณฑลตลอดจนโพ้นทะเลถึงอเมริกา มีสมาคมสาขาใช้ชื่อต่างกันมากมายทั้งในและนอกประเทศจีน

ขบวนการหงเหมินและเครือข่ายเป็นกบฏและก่อจลาจลหลายครั้ง บางส่วนเข้าร่วมกับกบฏไท่ผิง การโค่นล้มราชวงศ์ชิงของซุนยัตเซนได้รับความช่วยเหลือจากขบวนการหงเหมิน (อั้งยี่) ทั้งในและนอกประเทศจีนรวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งไม่ขอกล่าวรายละเอียด

หลี่เทียนซี่มีความเห็นว่าพวกหงเหมิน (อั้งยี่) คงจะใช้เทศกาลกินเจบังหน้า หาพวกพ้องร่วมขบวนการต่อต้านราชวงศ์ชิง ศูนย์กลางอยู่ที่มณฑลฮกเกี้ยน ต่อมาถูกปราบ พลอยให้เทศกาลกินเจเสื่อมไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฮกเกี้ยน พวกหงเหมินเป็นอันมากหนีไปดำเนินการต่อในโพ้นทะเล กิจกรรมสำคัญประการหนึ่งคือสร้างโรงเจ ทำให้เทศกาลกินเจในโพ้นทะเลโดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยกับมาเลย์เซียคึกคักแพร่หลายยิ่งกว่าในจีน โรงเจเหล่านี้ส่วนมากมีกลอนคู่ (ตุ้ยเหลียน-ตุ้ยเลี้ยง) สื่อความหมาย “โค่นชิงฟื้น หมิง” อยู่ด้วย

ผู้เขียนหนังสืออ้างอิงคำบอกเล่าของอาจารย์ธีระ ซึ่งระบุว่า อั้งยี่โพ้นทะเลเหล่านี้อพยพออกมาเป็น 3 รุ่น รุ่นแรกราว พ.ศ. 2400 สายหนึ่งขึ้นที่ภูเก็ต รุ่นสามมีเหลาฉวบซือกง ผู้บวชที่วัดซิงอำยี่ เมืองแต้จิ๋ว เป็นผู้นำสำคัญอีกราย มาขึ้นฝั่งที่ภูเก็ตราว พ.ศ. 2430 และธุดงค์ไปหลายจังหวัด นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำก่อสร้างโรงเจ สอนพิธีกินเจให้โรงเจหลายแห่ง

ชาย-หญิงเลือกซื้ออาหารเจในเยาวราช กรุงเทพฯ ประเทศไทย ( ภาพจาก AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL)

ผู้ร่วมกิจกรรมโรงเจเหล่านี้มักพูดคำว่า “ฮ้วงเช็ง-ฮกเม้ง” หรือ “โค่นชิงฟื้นหมิง” กันติดปาก ซึ่งอาจารย์ธีระ เล่าให้ฟังว่า ช่วงก่อนอายุ 14 ปี เมื่อพบเพื่อนก็ยกมือขึ้น แบมือ และพูดคำนี้ตามโดยไม่รู้ความหมาย ถาวร สิกขโกศล เชื่อว่า ข้อมูลนี้ถือเป็นหลักฐานชี้ว่า โรงเจเหล่านี้เกิดจากพวกอั้งยี่อย่างแน่นอน แต่อุดมการณ์ทางการเมืองค่อยๆ จางหายไป เหลือแต่กิจกรรมทางศาสนา

สำหรับความเสื่อมสูญของขบวนการอั้งยี่ หนังสือ “วัฒนธรรมของสังคมสัญจรชน” เขียนโดยเย่เทา และจางเหยียนซิง ระบุว่า ช่วงสงครามจีนญี่ปุ่น สมาคมฟ้าดิน (อั้งยี่) ต่อต้านต่างชาติที่รุกรานจีน และร่วมมือกับซุนยัตเซน โค่นราชวงศ์ชิงสำเร็จ แต่รัฐบาลก๊กมินตั๋งไม่เหลียวแล ยกเลิกกองทัพซึ่งมีกลุ่มฟ้าดินเป็นแกนหลัก

เมื่อกลุ่มฟ้าดินเห็นว่าราชวงศ์ชิงล่ม อุดมการณ์บรรลุผลแล้วก็ค่อยๆ สลายตัว บางกลุ่มกลายเป็นโจร บางกลุ่มตกเป็นเครื่องมือขุนศึก อั้งยี่ส่วนหนึ่งยังได้เข้าร่วมงานปฏิวัติหลังพรรคคอมมิวนิสต์ก่อตั้ง ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง หลังสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ใน พ.ศ. 2492 รัฐบาลแก้ปัญหาชนชั้นและเศรษฐกิจ ปราบกลุ่มนอกกฎหมายอย่างจริงจัง อั้งยี่ในจีนจึงสลายไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีน และการเซ่นไหว้. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557. หน้า 487-494


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ตุลาคม 2561