“มอญขวาง”: ขวางหูขวางตา ขวางทัพ อุปนิสัยหรืออวัยวะที่ว่า “ขวาง”?

เกาะเกร็ด ชุมชนมอญ จังหวัดนนทบุรี
เกาะเกร็ด ชุมชนมอญกลางแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

“มอญขวาง” เป็นคำที่คนไทยกล่าวถึงมอญ พูดกันมานานหนักหนา ที่พูดกันไปพูดกันมามีด้วยกัน 4 เหตุที่มา คือ

1. คนมอญมีนิสัย “ขวาง” ใครพูดอะไรก็ขัดคอไปเสียหมด

Advertisement

2. คนมอญ (ผู้หญิง) มีอวัยวะเพศ “ขวาง” ต่างจากคนชาติอื่น

3. คนมอญทำหน้าที่กองอาทมาต ลาดตระเวน สืบข่าว และ “ขวาง” ทัพพม่าที่จะเข้าโจมตีไทยตลอดมาทุกยุคสมัย

4. คนมอญนิยมปลูกบ้านเรือน “ขวาง” ลำน้ำ

“มอญขวาง” บ้างว่าเป็นนิสัยของคนมอญที่มักไม่ลงรอยกัน ทั้งกับคนมอญด้วยกันเองและกับคนชาติอื่น จะทำอะไรสักอย่างก็ขัดกันอยู่นั่นเอง ไม่รู้แล้ว (ออกแนวสมน้ำหน้า-ถึงได้เสียบ้านเสียเมืองไงล่ะ)

“มอญขวาง” อีกพวกหนึ่งตีความแนวลามกอนาจาร ทำนองว่าอวัยวะเพศของผู้หญิงมอญนั้น “ขวาง” คาดว่าเป็นเรื่องสนุกปากมากกว่าจะเป็นจริงเป็นจัง เพราะเป็นเรื่องที่ผิดหลักกายวิภาคศาสตร์ หากเป็นจริงคงได้ออกงานวัด เก็บเงินกันเพลินไป

เรื่องผู้หญิงมอญขวางนี้เป็นเรื่องเล่าหนาหูแถบเมืองปทุมธานี เคยเป็นคดีถึงโรงถึงศาลกันมาแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน เหตุจากสาวมอญสามโคกนางหนึ่งหน้าตาสะสวยเกล้าผมมวยสวมซิ่นเดินนวยนาดอยู่ในตลาดสามโคก หนุ่มไทยเห็นเข้าคันปากอยากจีบ แต่ทะเล่อทะล่าล้อเลียนของสงวนของเธอเข้า หาว่าอวัยวะในร่มผ้าของเธอนั้นขวางผิดมนุษย์ เธอเกิดฉุนขาดขึ้นมาจึงเปิดท้าพิสูจน์ต่อหน้าธารกำนัล ผลก็คือหนุ่มไทยใจหายวาบไม่กล้ามอง แต่คนอื่นๆ มองและเห็นว่า “ไม่ขวาง” ที่สุดสาวมอญนางนั้นก็ต้องขึ้นโรงพักเสียค่าปรับ

มอญขวางในสายตาคนมอญจำนวนไม่น้อย พยายามตีความไปในทางดีว่า มอญนั้นมีคุณต่อแผ่นดินไทย ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรแผ่นดินอยุธยา สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แผ่นดินธนบุรี จนมาถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อมอญถูกพม่าตีแตกอพยพมาอยู่เมืองไทย ช่วยไทยรบกับพม่า ตั้งกองอาทมาตคอยสอดแนมข่าวศึก และสร้างเมืองรั้งด่านชายแดนระวังศึกทางชายแดนด้านตะวันตก เรียกว่า “รามัญ 7 เมือง” คอยขวางทัพพม่าที่จะเข้าโจมตีไทย เหตุผลนั้นดูดี มีความเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่เหตุผลที่จะเกิดคำว่า “มอญขวาง” ขึ้นในสังคมไทย

มอญขวางที่เป็นที่สังเกตและอธิบายความกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว นั่นคือ คนมอญมีคติ (ตามตำราโลกสิทธิ) ในการปลูกบ้านโดยหันด้านกว้างของเรือน (จั่ว) เพื่อห้องที่มีเสาผี (เสาเอก) ของบ้านตรงกับทิศตะวันออก ให้เป็นจุดแรกที่รับแสงอรุณรุ่ง เงาของคนที่อาศัยอยู่ในบ้านจะได้ไม่ทาบทับเข้ากับเสาผี ที่คนมอญเคารพสูงสุดรองจากพระพุทธเจ้า

กรณีการหันเรือนด้านจั่วลงน้ำ ให้ห้องที่มีเสาผีรับแสงตะวันก่อนส่วนอื่นของบ้านนั้น นอกจากเรื่องของผีแล้ว ยังสามารถอธิบายได้แบบวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ ห้องที่มีเสาผีนั้นเป็นห้องเจ้าบ้าน ซึ่งก็คือห้องพ่อแม่อันเป็นประมุขของครอบครัว ควรที่จะได้รับแสงยามเช้าก่อนใคร เป็นแดดอ่อนที่มีวิตามินดีซึ่งมีคุณค่าต่อร่างกาย แต่อันที่จริงพ่อแม่คงไม่นอนกินบ้านกินเมืองจนแดดส่องก้นเป็นแน่

ประโยชน์ที่แท้จริงนั้นคือแสงแดดช่วยสาดส่องฆ่าเชื้อโรคภายในห้อง และในตอนเย็นห้องดังกล่าวก็จะเย็นก่อนใคร เพราะไม่ถูกแดดบ่ายซึ่งร้อนจัดแผดเผายาวนาน พ่อกับแม่จึงเข้านอนได้สบายๆ ส่วนลูกๆ ในวัยหนุ่มสาวร่างกายแข็งแรงอยู่แล้วคงหาเวลานอนที่เหมาะสมได้เอง

ว่าด้วยเรื่อง แสง-เงา ว่าด้วยสิ่งที่มอญนับถือบูชาแล้วเป็นต้องถึงขั้นถวายหัว แม้แต่เงาก็ไม่เหยียบย่ำลบหลู่ เมื่อเห็นพระสงฆ์เดินสวนทางมา จะต้องสังเกตเงาของพระว่าทอดไปทางใด แล้วรีบไปอยู่ยังฝั่งตรงกันข้าม ไม่เหยียบไปบนเงาของพระสงฆ์เด็ดขาด พร้อมกับทรุดนั่งลงพนมมือจนกว่าพระสงฆ์จะเดินผ่านหน้าไป

บ้านเรือนชาวมอญย่านบางตะไนย์ ตรงข้ามวัดเกาะพญาเจ่ง อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี (สังเกตว่า บ้านเรือนมอญดั้งเดิมส่วนใหญ่จะหันด้านจั่วลงน้ำ ผิดกับบ้านเรือนคนไทยที่จะให้ความยาวของบ้านขนานไปกับลำน้ำ)

การปลูกสร้างบ้านเรือน แสง-เงา ผี-พุทธ และสิ่งอันควรเคารพดังกล่าวข้างต้นคือวิถีชีวิตมอญ นอกจากบ้านใหญ่ซึ่งเป็นบ้านพ่อแม่แล้ว เมื่อลูกหลานต้องการแยกเรือนออกไป ก็จะต้องไม่ปลูกเรือนขวางตะวันให้เงาบ้านลูกทาบทับบ้านพ่อแม่อีกด้วย หากไม่เช่นนั้นเชื่อกันว่าลูกหลานจะทำมาหากินไม่ขึ้น

ดังจะเห็นได้ว่า มอญนั้นนิยมปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ หันเรือนด้านกว้าง (จั่ว) ของเรือนทอดไปตามทิศตะวันออก-ตะวันตก มาแต่ไหนแต่ไร เมื่ออพยพมาอยู่เมืองไทยก็ยังคงสร้างบ้านเรือนริมน้ำ และหันเรือนให้ด้านจั่วที่มีห้องเสาผีนั้นไปด้านทิศตะวันออก ประจวบเหมาะกับแม่น้ำเกือบทุกสายในเมืองมอญและไทยต่างก็ไหลจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ด้วยกันทั้งสิ้น จากคติและความคุ้นชินในเมืองมอญ เมื่อมาอยู่เมืองไทยจึงกลายเป็น “มอญขวาง” โดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเพจ: รามัญคดี – MON Studies


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2561