เกร็ดการแย่งอำนาจครั้งสำคัญสมัยต้นสุโขทัย “พ่อขุนบางกลางหาว” ถึง “พระยาลิไท”

พ่อขุนรามคำแหง สุโขทัย
พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ภาพจาก Cloudcolors / Wikimedia commons สิทธิ์การใช้งาน Attribution-Share Alike 3.0 Unported)

คำถามคลาสสิกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย มักมีประโยคว่า “แย่งอำนาจ ปฏิวัติ รัฐประหาร” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เกิดขึ้นเมื่อไหร่? ที่ไหน?”

ประเด็นเรื่องแย่งอำนาจ ปฏิวัติ รัฐประหาร ถูกเอ่ยถึงในคอลัมน์ “คำให้การของบรรณาธิการ สุจิตต์ วงษ์เทศ” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2535 สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวว่าเรื่องนี้ ตอบไม่ได้” โดยให้เหตุผลว่า “ยังไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงความหมายทางการเมืองของศัพท์ที่ว่า ‘แย่งอำนาจ-ปฏิวัติ-รัฐประหาร’ ซึ่งมีเงื่อนไขของเวลาและสถานที่ด้วย” ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีประเด็นประวัติศาสตร์ไทยว่าเริ่มกันที่ไหน? เมื่อไหร่? อีกปมหนึ่ง

ในบทความเดียวกัน สุจิตต์นำข้อมูลแบบคุยกันสนุกๆ ยกมาเป็นตัวอย่างเล่าสู่กันฟัง ว่าด้วยเหตุแย่งอำนาจครั้งสำคัญในสมัยต้นๆ กรุงสุโขทัย เท่าที่มีหลักฐานจากศิลาจารึกสมัยสุโขทัย โดยข้อมูลที่สุจิตต์บอกเล่าโดยย่อ มีดังนี้

พ่อขุนศรีนาวนำถุม (เป็นพ่อของพ่อขุนผาเมือง) เป็นผู้สร้างแคว้นสุโขทัย จึงนับเป็นกษัตริย์องค์แรกของแคว้นสุโขทัย (ประวัติศาสตร์ไทยเขียนผิดเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เรื่องนี้พูดกันมาหลายครั้งแล้ว แต่กระทรวงศึกษาฯ ยังไม่แก้ไขให้ถูกต้อง) [ในบริบทเมื่อ พ.ศ. 2535 – กองบก.ออนไลน์]

ต่อมามีผู้ก่อการชื่อ ‘ขอมสบาดโขลญลำพง’ ยกพหลพลโยธายึดอำนาจจากพ่อขุนศรีนาวนำถุมได้ แล้วปกครองเมืองสุโขทัย

ไม่นานนัก พ่อขุนบางกลางหาวกับพ่อขุนผาเมืองร่วมกันยึดอำนาจจาก ‘ขอมสบาดโขลญลำพง’ สำเร็จ

พ่อขุนบางกลางหาวได้เป็นกษัตริย์ในชื่อ ‘ศรีอินทราทิตย์’

(เรื่องราวตอนนี้มีรายละเอียดปลีกย่อยมาก ผมเคยเขียนไว้แล้วในหนังสือชื่อ ‘แคว้นสุโขทัย รัฐในอุดมคติ’…)

จารึกพ่อขุนรามคำแหง เล่าเรื่องต่อไปอีกว่า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด (แม่สอด) ยกไพร่พลมาตีเมืองตาก แต่ถูกปราบปราม

นี่ก็มีเป้าหมายยึดอำนาจ แต่ทำไม่สำเร็จ

อีกตอนหนึ่งอยู่ในจารึกสุโขทัยเหมือนกันเรียก ‘จารึกวัดป่ามะม่วง’ มีความโดยย่อว่า

พระยาลิไท (หลานพ่อขุนรามคำแห่งหรือศรีรามราช) เป็นเจ้าครองเมืองศรีสัชนาลัย

ส่วนเมืองสุโขทัยมีเจ้าครองอีกองค์หนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าใคร?

วันหนึ่งในปี พ.ศ. 1890 พระยาลิไทก็ตบแต่งพลโยธายกออกจากเมืองศรีสัชนาลัยไปยึดอำนาจเมืองสุโขทัยในจารึก (เขียนเป็นอักษรเขมรและภาษาเขมร) กล่าวว่า

(พระยาลิไท) ‘มีพระบัณฑูรให้ไพร่พลทั้งหลายเข้าระดมฟันประตู ประหารสัตรูทั้งหลาย…บัดนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนินเข้าเสวยราชย์…’

ก็ยึดอำนาจนั่นแหละ

ประวัติศาสตร์มักยกย่องว่าพระยาลิไทไม่ฝักใฝ่การสู้รบปรบมือ เพราะฝักใฝ่ทางธรรมแบบ ‘อหิงสา อโหสิ’ แต่จารึกที่พระยาลิไทโปรดให้ทำขึ้นเองกลับบอกว่าทรงได้อำนาจมาจากการสู้รบเพื่อยึดอำนาจ แล้วหลักฐานอื่นๆ ระบุไว้ชัดเจนว่าทรงรักษาอำนาจด้วยการทำสงครามตลอดสมัย

ท้ายที่สุดก็ถูกฝ่ายอยุธยาร่วมมือกับสุพรรณบุรีมายึดอำนาจพระยาลิไทแล้วบังคับให้ออกบวชด้วยซ้ำ (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือชื่อ ‘ศาสนาและการเมืองกรุงสุโขทัย’ ของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ที่ศิลปวัฒนธรรมพิมพ์จำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2528)…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 สิงหาคม 2563